ศรีสวัสดิ์ยกระดับสู่สถาบันการเงินทางเลือกใหม่ในการกำกับของแบงก์ชาติ ภายใต้ผู้นำสาวและผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง ธิดา แก้วบุตตา ร่วมบริหารกิจการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าหมายสินเชื่อโตปีละ 20-30% สถาบันการเงินทางเลือกใหม่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือบทบาทที่ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD ซึ่งมี ธิดา แก้วบุตตา หรือ “ไนล์” ผู้บริหารหญิงวัย 35 ปี ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งในสัดส่วน 31.28% (ณ เดือนพฤษภาคม 2560) และผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร กำหนดทิศทางเพื่อวางรากฐานธุรกิจ หลังผ่านอุปสรรคและขวากหนามถึง 38 ปี จนกลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท (ณ มิถุนายน 2560)
“เราเชื่อว่าการเป็นสถาบันการเงินภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติเป็นเรื่องดีกับองค์กรในระยะยาว ทั้งด้านพนักงานก็ถือว่าได้ทำงานกับสถาบันการเงิน ส่วนทางลูกค้าก็สบายใจว่าได้ใช้บริการกับสถาบันการเงินที่เป็นมาตรฐาน ขณะที่นักลงทุนก็เชื่อมั่นตรงที่เราสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อกังขา”ธิดากล่าว เมล็ดพันธุ์แห่ง SAWAD งอกงามขึ้นในนาม บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SI) โดยครอบครัวแก้วบุตตาที่มีหัวเรือใหญ่อย่างฉัตรชัย แก้วบุตตา ผู้เป็นบิดาของธิดาและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SAWAD ซึ่งก้าวสู่เส้นทางให้บริการสินเชื่อในจังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่เมื่อปี 2522 ในรูปแบบสินเชื่อ โดยใช้ทะเบียนกรรมสิทธิ์รถทุกประเภทเป็นหลักประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถขยายธุรกิจ หลังฝ่ากำแพงแห่งความท้าทาย บริษัทเดินหน้าพัฒนาความแข็งแกร่ง พร้อมเริ่มต้นศรีสวัสดิ์รุ่นสอง โดยเส้นทางการเข้ามารับช่วงบริหารกิจการของครอบครัวอย่างเต็มตัว ธิดา เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 จากการดูแลค่าใช้จ่ายการพัฒนาธุรกิจ และเป็นตัวแทนพบนักวิเคราะห์ นักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงสื่อมวลชน ขณะที่ ดวงใจ แก้วบุตตา วัย 37 ปี ผู้ถือหุ้นอันดับ 3 และกรรมการของ SAWAD ผู้เป็นพี่สาวของธิดา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวคนสำคัญได้ร่วมสร้างธุรกิจเคียงบ่าเคียงไหล่โดยรับผิดชอบงานบริหารรายวัน ต้นทุน กู้เงิน และออกหุ้นกู้ สองพี่น้องแก้วบุตตามุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้ธุรกิจจนสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรกเมื่อปี 2557 ในนามบมจ. ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 ก่อนปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งในนาม บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หลังควบรวม บมจ. บริษัทเงินทุน (บง.) ศรีสวัสดิ์ (เดิมคือ บมจ. บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาธร) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในเดือนเมษายน ปี 2560 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขออนุมัติจาก ธปท.เพื่อจัดตั้งกลุ่มธุรกิจการเงินเป็นสถาบันการเงินทางเลือกใหม่ เพื่อให้บริการสินเชื่อสำหรับคนในชุมชนที่ต้องการใช้เงินด่วน ภายใต้การกำกับดูของธปท. ขณะที่บริษัทวางแผนขยายการให้บริการครอบคลุมทุกตำบลในประเทศจากปัจจุบันที่มีจำนวน 2,290 สาขา (ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2560) เป็น 3,500 สาขาในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เข้าถึงชุมชนในวงกว้างและดูแลผู้ใช้บริการได้ใกล้ชิดขึ้น “เรามีนโยบายขยายสาขาเพิ่มไปยังชุมชนเพื่อให้สามารถดูแลลูกค้าได้ใกล้ชิดมากขึ้นและทำให้ลูกค้าสบายใจแวะเวียนเข้ามาใช้บริการที่สาขาของเรามากขึ้น รวมถึงเราวางแผนเสริมบริการให้ครบถ้วนทุกความต้องการ ให้สมกับสโลแกนของเราว่าที่ว่า ‘ถ้าเดือดร้อนเรื่องเงินให้มาหาเรา’ ซึ่งเราให้ความสำคัญในเรื่องความเร่งด่วน และแม้ไม่มีประวัติเครดิตก็สามารถมาหาเราได้เช่นเดิม” เพิ่ม บง. บริการครบเครื่อง บง. ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องใหม่ของเครือศรีสวัสดิ์ที่เข้าไปถือหุ้นในอัตรา 36.35%นับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายเร่งยอดเงินฝากในอนาคตของกลุ่ม SAWAD ดังที่ธิดาให้เหตุผลว่า เพราะต้องการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งจะสนับสนุนให้ SAWAD นำเสนอบริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อสามารถรับฝากเงินจากประชาชนได้ภายใต้ใบอนุญาตของ บง. ศรีสวัสดิ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติของ ธปท.เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบเงินฝากระยะยาว ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า 1 ปีขึ้น เจาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายจำนวนผู้ใช้บริการเป็น 2-3 ล้านรายภายใน 3-5 ปีข้างหน้าโดยพึ่งพาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะเน้นขยายกลุ่มรายย่อยเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตที่ 20-30% ต่อปี เช่นเดียวกับในปีนี้ที่น่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 20 -30% หรือเป็นสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่มียอดสินเชื่อรวมปัจจุบันอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย ภายใต้เครื่องหมายการให้บริการ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้บริการอยู่ราว 4 แสนรายซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มียอดสินเชื่อระหว่าง 7,000 ถึง 10,000 บาทประมาณ 15% กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นเจ้าของกิจการทั่วไปที่ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 100,000-200,000 บาท ประมาณ 75% และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 3,000,000 – 60,000,000 บาท ประมาณ 10% ซึ่งผู้ใช้บริการจะยังคงอัตราส่วนเดิมต่อไปในอนาคตขณะที่ฝั่งสินเชื่อสามารถแบ่งเป็น 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. สินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันประเภท ทะเบียนรถเก่า ทุกประเภท บ้าน และโฉนดที่ดิน 2. สินเชื่อรายย่อยแบบไม่มีหลักประกันภายใต้การกำกับ 3. บริหารสินทรัพย์ 4. รับจ้างติดตามหนี้ 5. บริการที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจสินเชื่อ “ภาพรวมโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบันนับว่าเป็นรากฐานที่ดีเพียงพอต่อการเติบโตในอนาคต กล้าพูดได้ว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบเครื่องแล้ว นั่นคือถ้ามีความต้องการใช้เงินก็มาหาเราได้ เช่นเดียวกับที่หากเงินเหลือก็มาฝากที่สำนักงานสาทรของ บง. ศรีสวัสดิ์ได้” ธิดาเสริม ชิงโอกาส CLMV จากความเชื่อมั่นว่า SAWAD ยืนหยัดในเมืองไทยได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว บริษัทจึงวางแผนสยายปีกเพื่อลงหลักปักฐานสร้างการเติบโตในตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ด้วยความเชื่อที่ว่ามีความต้องการเงินอยู่ในทุกพื้นที่ของกลุ่ม CLMV และวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรยังมีความใกล้เคียงกับประเทศไทยด้วย “ธุรกิจใน CLMV มีโอกาสเติบโตในทิศทางที่ดี ซึ่งในช่วงแรกจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามั่นใจแล้วเราจะขยายการเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันอัตราส่วนธุรกิจกลุ่ม CLMV อยู่ที่ราว 1%เราตั้งเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 15-20%ภายใน 5 ปีข้างหน้า” นอกจากเปิดกิจการในเครือที่เวียดนามแล้ว ล่าสุดบริษัทได้ลงทุนและเปิด บริษัทศรีสวัสดิ์ สินเชื่อ (ลาว) จำกัด ที่สปป.ลาวพร้อมร่วมมือกับกลุ่มตัวแทนจำหน่ายของ Kubota ที่เมียนมา ด้วยการให้สินเชื่อแก่บริษัทดังกล่าวโดยตรงเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ใช้บริการรายย่อย จากรูปแบบการบริหารธุรกิจของกลุ่ม SAWAD ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบตามนโยบายที่วางไว้ บทบาทหน้าที่ของธิดาจึงเน้นหนักที่การควบคุมดูแลให้องค์กรขับเคลื่อนตามระบบอย่างเต็มที่ โดยดูแลในลักษณะเครือญาติ ซึ่งความเป็นผู้บริหารหญิงได้มีส่วนทำให้เข้าใจทีมงานมากขึ้นทำให้บริษัทสามารถเดินตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างดีที่สุด นอกจากนั้น ธิดาเห็นว่า ในปัจจุบันผู้หญิงได้รับการยอมรับให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงขององค์กรมากขึ้น โดยความแตกต่างระหว่างเพศไม่ได้ส่งผลต่อการบริหารงานหรือดำเนินธุรกิจ แต่ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการทำงาน ซึ่งหากทุกคนพยายามแข่งขันทำงาน ด้วยความเท่าเทียม ท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม “การเป็นผู้บริหารหญิงไม่ได้มีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไร ทุกเพศสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกันถ้าตั้งใจจริง และเราเชื่อมั่นในระบบที่วางไว้ และยังสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและไม่น่ามีจุดเสี่ยง เพราะเราก็ตั้งใจทำงานเพียงแต่ด้วยความเป็นผู้หญิงทำให้เรานุ่มนวลกว่า และชอบเจรจากับลูกค้ามากกว่าผู้ชาย” เธอกล่าวสรุปคลิกเพื่ออ่าน "ธิดา แก้วบุตตา สาวแกร่งแห่ง SAWAD" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine