ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประคอง Thai AirAsia ยืนหยัดสู้วิกฤต - Forbes Thailand

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประคอง Thai AirAsia ยืนหยัดสู้วิกฤต

2 ปีที่ผ่านมาคือสถานการณ์เลวร้ายสุดของธุรกิจการบินทั่วโลก เมื่อโรคระบาดลุกลามสายการบินต้องหยุดชะงัก บริษัทขาดทุน พนักงานสายการบินทั่วโลกนับล้านคนได้รับผลกระทบ สายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังของไทยก็เช่นกัน แม้ก่อนหน้านั้นผลประกอบการดี มีเงินสดหมุนเวียนถึง 8 พันล้านบาทยังแทบประคองกิจการไม่รอด


    สายการบินโลว์คอสต์อันดับ 1 ของไทยอย่าง “ไทยแอร์เอเชีย” ต้องปิดกิจการชั่วคราว ไม่มีรายได้ขณะที่มีพนักงานถึง 6,000 คน และฝูงบิน 63 ลำ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเกือบ 600 ล้านบาท ปัญหาใหญ่จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะผ่านมาได้ โดยยังมีแขนขาที่แข็งแรงแม้ธุรกิจต้องหยุดชะงักหยุดบินไปเกือบ 2 ปีในช่วงสถานการณ์โควิด-19

    “เรามีเงินสดหมุนเวียน 8 พันล้านบาท ในปี 2561 ได้รับผลกระทบตลาดจีนหาย เงินสดลดเหลือ 6 พันล้าน มาเจอโควิด-19 ปี 2563 ต้องหยุดบินไปอีกปีครึ่ง เงินหมดเกือบไปต่อไม่ได้” ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์การบินของไทยแอร์เอเชียเริ่มกลับมาได้ 50-60% หลังเผชิญวิกฤตใหญ่ต้องหยุดบินไปกว่าปีครึ่ง

    เพิ่งผ่านวิกฤตใหญ่มาไม่นาน แต่แม่ทัพไทยแอร์เอเชียก็เปิดประเด็นการสัมภาษณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความหวัง เพราะแม้หยุดบินไปถึงปีครึ่งแต่เขาเชื่อมั่นว่าการเดินทางไม่ว่าจะท่องเที่ยวหรือธุรกิจต้องกลับมาอย่างแน่นอน 

    “ตอนนี้เท่ากับทั้งโลกที่เราเคยบินอยู่กลับมาแล้ว เหลือแค่จีน แต่ในช่วงที่จีนยังไม่มา ก็เป็นโชคดีของไทยเพราะอินเดียเปิดให้เราบินก่อน” ธรรศพลฐ์บอกว่า ตารางบินไทย-อินเดียมีมากขึ้นมีทั้งการเพิ่มความถี่จำนวนเที่ยวบินและเพิ่มจำนวนเมืองไม่ว่าจะเป็น Mumbai, Bangalore เพิ่มเที่ยวบินวันละ 1-2 เที่ยว และยังขยายไปยังเมืองเล็กๆ ที่ต้องการให้ไทยแอร์เอเชียเข้าไป ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 2 เมืองที่ Bodh Gaya และ Varanasi


ทยอยฟื้นเที่ยวบินใน-นอก

    ธรรศพลฐ์ยังกล่าวถึงตลาดอินเดียว่า เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเมืองใหญ่ค่อนข้างดีมีกำลังซื้อ แม้นักท่องเที่ยวอินเดียไม่ค่อยซื้อของกลับประเทศ แต่พวกเขาใช้จ่ายในการรับประทานอาหาร 

    แต่หากเทียบกับนักท่องเที่ยวจีนทั้งรับประทานอาหารและซื้อของกลับ เพราะจีนเป็นครอบครัวใหญ่เวลาซื้อของจะซื้อยกโหลฝากคนในหมู่บ้าน ทำให้ยอดขายร้านค้าและร้านดิวตี้ฟรีดีตามไปด้วย จีนยังคงเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญ

    ไทยแอร์เอเชียมีเที่ยวบินในประเทศ 50% แต่ปัจจุบันตลาดในประเทศบินอยู่ราว 30-40% บางจังหวัดเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เช่น ภูเก็ต ปัจจุบันบินอยู่ประมาณ 7-8 ไฟลท์จากก่อนหน้านี้เคยบินวันละ 15 ไฟลท์

    เมื่อต้นไตรมาส 4 ปี 2565 สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์กลับมาให้บริการ 2 เส้นทาง บินตรงจากกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) สู่ Seoul ประเทศเกาหลีใต้ และ Tokyo ประเทศญี่ปุ่น พร้อมขยายเส้นทางบินสู่ Osaka เเละ Sapporo ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม ปี 2565 

    และทยอยเปิดเส้นทางบินในตลาดอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เขายังกล่าวถึงเชียงใหม่ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้เป็นฐานขยายเส้นทางบินสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นเดียวกับภูเก็ต 


“จริงใจ” สู้วิกฤตโควิด-19

    แม้วันนี้ไทยแอร์เอเชียฟื้นตัวกลับมาได้ แต่ก่อนหน้านี้ 1 ปีกับอีก 6 เดือนถือเป็นช่วงเลวร้ายเพราะกระแสเงินสดที่มีหมุนเวียนอยู่ 6 พันล้านบาทไม่สามารถเลี้ยงกิจการได้จนต้องระดมทุนเพิ่มและขอสินเชื่อสถาบันการเงินมากอบกู้สถานการณ์ 

    “ธุรกิจการบินต่างจากคนอื่น เพราะมีบุคลากรที่แพงค่อนข้างเยอะ low cost ไม่ได้แปลว่า low pay เราจ่ายเท่าบริษัทในตลาดฯ ระดับเดียวกัน” ธรรศพลฐ์ย้ำ

    เขาผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้อย่างไร ธรรศพลฐ์ยอมรับว่าไม่ง่าย แต่เขาใช้ “ความจริงใจ” ในการแก้ปัญหา โดยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้ว่าเรื่องบุคลากรสำคัญที่สุด 

    เขาพยายามรักษาคนไว้ทั้งที่รายได้ไม่มี การไม่ได้บินทำให้ไม่มีต้นทุนค่าน้ำมัน ไม่มีค่าเช่าสนามบินแต่ยังมีค่าเช่าเครื่องบิน ค่าผ่อนเครื่องบินที่ซื้อมาก่อนหน้านี้ มีภาระค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาทต่อเดือน ต้องหันมาลดค่าใช้จ่ายลดการจ่ายเงินเดือนเพื่อให้ภาระต่อเดือนลดลง

ลดค่าจ้างสลับจ่ายรักษาทีม

    “ผมคุยกับ CFO เราไม่ควรใช้เงินมากกว่าเดือนละ 200 ล้านบาท เพราะต้องประคองให้ยาวที่สุด" และถ้าให้พนักงานออกเราก็ไม่มีเงินจ่ายชดเชย” ธรรศพลฐ์อธิบายพร้อมเผยสิ่งที่คิดในใจช่วงนั้น “ผมบอกทุกคนว่า เราจะไม่ให้ใครออก เราจะสู้ไปด้วยกัน ใครไม่ไหวบอก ติดปัญหาบอก และช่วยคุยกับแบงก์ให้” ถือเป็นคำมั่นจากซีอีโอที่แสดงถึงความจริงใจต่อสถานการณ์

    ในวันนั้นพนักงานส่วนใหญ่ยอมรับและยินดีให้ความร่วมมือ แต่สถานการณ์ก็ยังเดินมาถึงจุดเลวร้าย เมื่อเงินสดสำรองไม่พอ ธรรศพลฐ์บอกว่า เขาตัดเงินเดือนตามฐานรายได้ คือนักบินและลูกเรือโดนตัดมากสุดเพราะไม่มีไฟลท์บิน ไม่ได้ค่าบินเงินเดือนก็เหลือนิดเดียว 

    แต่พนักงานออฟฟิศถ้าระดับเงินเดือน 10,000 บาท ตัด 30% ก็เหลือ 7,000 บาท แลกกับการไม่ต้องเดินทางมาทำงานเท่ากับเสมอตัว อาจไม่ 100% แต่เงินที่เหลือใกล้เคียงกัน

    ในเฟส 2 เขาใช้มาตรการแรงขึ้น ตัดเงินเดือน 75% จ่ายแค่ 25% เข้าเนื้อพนักงานทุกคนรวมถึงผู้บริหาร แต่ถึงกระนั้นคนออกก็มีไม่ถึง 1% “วิกฤตที่ผ่านมาโควิดเลวร้ายที่สุดเราเสียบุคลากรไปไม่ถึง 5% 

    แต่ช่วงหลังเราลดเครื่องบิน 6 ลำจำเป็นต้องตัดคนออก มีคนที่สมัครใจและ performance ไม่ดีออกไปราว 200 คน” กลุ่มนี้บริษัทจ่ายชดเชยตามกฏหมายแรงงาน 

    อีกส่วนเป็นความสมัครใจเมื่อบริษัทถามว่า ใครอยากพักยาว เพราะฐานะพออยู่ได้ให้บอกมาเลยจัด leave without pay เป็นเวลา 1 ปี ส่วนคนที่อยู่จ่ายเงินเดือน 25% ทุกคนทั้งผู้บริหารและพนักงาน


เร่งฟื้นฟูไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

    “เครื่องของ AirAsia X เราเป็นเช่าหมดไม่ได้ซื้อเลย ตอนนี้คืนเครื่องไปเกือบหมดเหลืออยู่ 5 ลำ เราใช้เครื่องแค่ 2 ลำในช่วงโควิด เป็น cargo ล้วนๆ บรรทุก 20-30 ตัน” 

    เส้นทางบินยาวฝรั่งเศส Paris, Munich, Frankfurt, Dubai, Melbourne, Sydney และ Tokyo บินแทบทุกวัน รวมถึงฮ่องกง Shanghai, Incheon, และ New Delhi บินคาร์โก้อย่างเดียวไปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มสแกนดิเนเวียก็บินคาร์โก้จากภูเก็ต ทำให้พอมีเงินสดเลี้ยงบริษัท พนักงานของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มี 1,000 คน

    ปรับตัวมาได้ระยะหนึ่งไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็ต้องเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อขอลดหนี้ที่มีอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาทลง ซึ่งต้องยื่นแผนฟื้นฟูตามกฎหมายและทยอยปรับตัวเพิ่มบริการกลับมา 

    “เดือนกุมภาฯ Thai AirAsia X จะมีเครื่องบิน 7 ลำไปจนถึงช่วงกลางปี 2566 รอให้สถานการณ์นิ่งกว่านี้ค่อยทยอยเพิ่มเครื่องอีก 2-3 ลำ” ธรรศพลฐ์เผยว่า จะพยายามเพิ่มเครื่องบินสำหรับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้ครบ 20 ลำโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

    “Thai AirAsia X ยังไม่ได้ IPO ผมคาดว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าอาจจะ IPO ได้ เครื่องบินมันใหญ่ค่าเช่ามันแพง มีค่าใช้จ่ายหลายอย่างเราต้องการตัดลดหนี้ จำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟู” เขาอธิบายเหตุผลการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ธุรกิจการบินไม่ได้หยุดชะงัก

บทเรียนชีวิต-งานไปด้วยกัน

    เรื่องราววิกฤตของทั้งสองบริษัทที่ธรรศพลฐ์นั่งเป็นซีอีโออยู่ในปัจจุบันถือว่าปัญหาค่อนข้างใหญ่ หลายคนอาจสงสัยว่าเขาแบ่งเวลาในการใช้ชีวิตและการทำงานกับการแก้ปัญหาอย่างไร 

    เขาตอบข้อสงสัยนี้โดยไม่ต้องคิดว่า “ชีวิตผมกับการทำงานไม่ค่อยได้แยกกันเท่าไร ต่อให้อยู่บ้านยังไงผมก็คิดแต่เรื่องงาน เวลาจะนอนก็คิดแต่เรื่องงาน จะมีแค่บางโมเมนต์ที่ไม่คิดเรื่องงานคือช่วงที่ดูหนัง ผมเป็นคนชอบดูหนัง” 

    เขาบอกว่า ชอบการดูหนังในโรงภาพยนตร์มันทำให้เขาหลุดเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ และยังบอกด้วยว่า ดูทุกเรื่องจาก Hollywood ยกเว้นหนังผีและดราม่าอินเลิฟร้องไห้คือไม่ชอบ

    “ปรัชญาผมไม่มี ก็แค่บอกว่าเจอความลำบากต้องอดทน ท้อแท้ไม่ได้เพราะเราเป็นผู้นำองค์กร ต้องให้ความเชื่อมั่น” อีกสิ่งที่นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 55 บอกคือ ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็งจากภายใน เพราะเรื่องกำลังใจไม่มีใครช่วยได้

    อีกสิ่งที่ซีอีโอไทยแอร์เอเชียให้ความสำคัญเสมอในการทำธุรกิจคือเรื่องคน “บุคลากรสำคัญมาก”โดยเฉพาะเมื่อต้องมาต้องทำงานกับวิศวกร เขาพยายามอธิบายบุคลิกสไตล์ของนักบินว่าต่างไปจากอาชีพอื่น 

    ถ้าซีอีโอไม่เข้าใจบริหารบุคลากรไม่ได้ก็ไม่รอด ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร การศึกษาเป็นอย่างไร ครอบครัวเป็นแบบไหนทหารอากาศมีความประพฤติอย่างไร นักบินเอกชนประพฤติอย่างไร เพราะนักบินมีทั้งทหารอากาศ ทหารบก ตำรวจ ทหารเรือ และประชาชนทั่วไป


​เทคออฟรอบใหม่เร็ว-แรง
สถานการณ์ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียเปิดบินกลุ่มประเทศ CLMV ราว 80% ยังรอเฉพาะตลาดจีนให้เปิดปกติ ช่วงก่อนโควิดไทยแอร์เอเชียบิน Macao วันละ 5 เที่ยวบิน ฮ่องกง วันละ 3 เที่ยวบิน และในจีนหลายเมืองที่บิน 2-3 เที่ยว เมืองใหญ่บิน 2 เที่ยวบิน เมืองเล็กบินวันละ 1 เที่ยวบิน 

    “แต่ก่อนจีนบินเยอะ 40-50 ไฟลท์ พอโควิดเป็น 0 เลย แต่เดี๋ยวคงทยอยกลับมา” ธรรศพลฐ์แจกแจงรายละเอียดพร้อมบอกว่า นอกจากเส้นทางบินที่จะปรับตัวแล้วกลยุทธ์การบินเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ลงมือทำอย่างจริงจังจากจังหวัดใหญ่ในไทย เช่น เชียงใหม่ไปเวียดนาม ไปลาว จะทยอยเปิดเพิ่ม

    นอกจากนี้ อีกประเด็นที่เขาได้บทเรียนจากวิกฤตครั้งใหญ่ในรอบ 18 ปีคือ การบริหารจัดการทางการเงินและการสำรองกระแสเงินสด ก่อนหน้านี้เขาเคยคิดว่าเงินสด 8 พันกว่าล้านบาทน่าจะพอเพียงรองรับความมั่นคงกรณีเกิดวิกฤตใหญ่ๆ ได้ 

    แต่โควิดวิกฤตที่ยาวนานเกือบ 2 ปีทำให้เขารู้ว่าเงินเท่านี้ไม่พอ “ต่อไปผมคงต้องมองการสำรองเงินสดให้มากขึ้น อาจเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท เผื่อเกิดเหตุการณ์ยาวๆ แบบนี้จะได้รับมือไหว” ธรรศพลฐ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยตัวเลขที่น่าตื่นเต้น 

    ซึ่งหากดูจากตัวเลขเม็ดเงินในอุตสาหกรรมการบินแล้วไม่ได้มากเกินไป เพราะนับวันผู้คนจะเดินทางมากขึ้น และแน่นอนสายการบินคือทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และยิ่งสายการบินโลว์คอสต์เป็นอะไรที่จับต้องได้ ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

    รันเวย์ของไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดแล้วอย่างเต็มตัว ส่วนจะเติบโตได้รวดเร็วเพียงใดอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นในเบื้องต้นว่าธรรศพลฐ์คิดถูกคือ 

    การเก็บพนักงานไว้ทำให้วันที่การเดินทางกลับมาสายการบินทั้งสองบริษัทเดินหน้าได้เลยทันที พร้อมบริการครบครันเหมือนก่อนหยุดบิน ออกตัวได้เร็วกว่าสายการบินอื่นที่พบปัญหาไม่พร้อมบริการ ทำให้ติดปัญหาอุปสรรค การเทคออฟที่ออนไทม์ย่อมนำผู้โดยสารถึงเป้าหมายได้ตรงเวลา ธุรกิจก็เช่นเดียวกันโอกาสในการช่วงชิงตลาดย่อมมีภาษีที่ดีกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัดเจน

ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และไทยแอร์เอเชีย

อ่านเพิ่มเติม:

>> นพพร วาทิน ต่อยอดธุรกิจ “Thai Fight” ดังไกลทั่วโลก



คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine