ความยั่งยืน หรือ Sustainability คือหนทางสู่การรักษาสมดุลโลกและสมดุลการใช้ชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ทั่วโลกต่างตื่นตัวเรื่องนี้ องค์กรค้าปลีกรายใหญ่ของไทยก็เช่นกันมีแผนงาน เป้าหมาย และได้วางรากฐานธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
แนะธุรกิจยึด 4 เสาหลักสู่ SDGs
หลายปีที่ผ่านมาแม้จะมีการกล่าวถึงความยั่งยืนอยู่บ่อยครั้ง ทว่าเพิ่งมีการกำหนดให้เป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนในช่วง 2-3 ปีนี้ และนับตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน 70 กว่าประเทศทั่วโลกตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดเป้าหมายย่อยและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
อะไรคือเหตุผลที่องค์กรควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืน? ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRCระบุว่า มาจากเหตุผลหลายประการ
ประการที่ 1 ข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำดิบ คุณภาพดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งอาหารตามธรรมชาติ และบางประเภทอยู่ในเกณฑ์วิกฤต
ประการที่ 2 หน่วยงานระดับสากลมีการออกกฎหมาย ระเบียบ กติกาต่างๆ มากขึ้นบังคับทั้งทางตรงทางอ้อมให้องค์กรปฏิบัติตาม เช่น TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่กำหนดว่าองค์กรที่จะได้รับการยอมรับระดับสากลต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอน โดยประเทศที่ส่งสินค้าไปขายตลาดร่วมยุโรปต้องบอกว่าสินค้าเหล่านั้นปล่อยคาร์บอนเท่าไร หากปล่อยมากต้องเสียภาษีมาก หน่วยงานของรัฐ เช่น ก.ล.ต. ได้ใช้เป็นแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีวงเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกค้าที่ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ climate change
ประการที่ 3 ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ลูกค้า ตลาดเงิน ตลาดทุน ที่เรียกร้องสิ่งเหล่านี้ เช่น บรรจุภัณฑ์ต้องมาจากวัสดุย่อยสลายได้ ซึ่งโดยรวมองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญ เพราะทำแล้วได้ประโยชน์หลายเรื่อง ทั้งเพิ่มโอกาสและรายได้ ลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงในการปรับตัวเองเข้าสู่กฎกติกาสากล รวมทั้งเป็นโอกาสสำหรับผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
“ยั่งยืนหมายความว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประโยชน์กับคนรุ่นปัจจุบัน แต่อย่าเบียดเบียนคนรุ่นอนาคต อย่าคิดแค่ประโยชน์ระยะสั้น ให้คิดถึงระยะยาว อย่าคิดเฉพาะประโยชน์ของเราคนเดียว ให้คิดถึงคนอื่นและ stakeholders เวลาขยายธุรกิจอย่าคิดเฉพาะเชิงปริมาณ ต้องคิดเชิงคุณภาพด้วย...แนวคิดใหม่ของ sustainability พวกนี้สัมพันธ์กัน ถ้าน้ำทะเลสกปรกคนก็ไม่เข้าพักโรงแรม”
สาระสำคัญของ “ความยั่งยืน” ในระดับสากลและประเทศไทยคล้ายคลึงกัน เพียงแต่มีจุดเน้นที่ต่างกัน เพราะบริบทของปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายนปี 2558 มี 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนภายในปี 2030
โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมายให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน (ระยะหลังมักเรียกว่า 17 SDGs) เป้าหมายสำคัญที่ประชาคมโลกมีร่วมกัน อาทิ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขจัดความยากจน ลดความหิวโหย การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม การผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีเรื่องที่เน้นหลักๆ เช่น ลดความยากจน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเข้าถึงพลังงานสะอาดราคาถูก การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บางเรื่องประเทศไทยทำได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศในแอฟริกาหรือประเทศด้อยพัฒนา เช่น การลดความหิวโหย ส่วนเรื่องการมีสุขภาพชีวิตที่ดียังเป็นปัญหาอยู่
ถามว่า แล้วสถานการณ์ภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นอย่างไร? ดร.ประสารมีความเห็นว่าที่ผ่านมาองค์กรโดยเฉพาะบริษัทที่ประกอบธุรกิจมีการปรับตัวด้านความยั่งยืนได้ดีพอสมควรมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วยกัน
“สิ่งที่เห็นชัดเวลานี้คือ มีความพยายามจะพัฒนาระบบข้อมูลให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ข้อมูลมีความโปร่งใส มีการพัฒนาและให้ความรู้บุคลากรตั้งแต่ระดับท็อป คณะกรรมการผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงต่อไปจะมีการทำ ESG verifiers เนื่องจากกฎต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติทั้งในไทยและสากลจะมีคนมาตรวจสอบ เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิต
“3-4 เดือนก่อนผมไปบรรยายได้รับของที่ระลึกเป็นตันคาร์บอน เขาให้แผ่นกระดาษใส่กรอบและบอกให้ลงทะเบียนกับองค์การก๊าซเรือนกระจก ในนี้มีคาร์บอน 1 ตัน ผมเข้าใจว่าวันข้างหน้าอาจขายหรือยกให้คนอื่นใช้ได้ เหมือนเป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่ง 2-3 ปีที่แล้วบอกยากเกินไป แต่ตอนนี้คนไทยทำได้แล้ว...หรือรัฐบาลสวิตฯ ทำ MOU กับกรุงเทพมหานครว่าให้ทุนสนับสนุนใช้พลังงานไฟฟ้าแทนฟอสซิล หากโปรเจกต์นี้สำเร็จรัฐบาลสวิตฯ จะได้คาร์บอนเครดิตไปใช้”
ระยะ 5 ปีที่ผ่านมาวงการธุรกิจไทยมีความตื่นตัวด้านนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ดร.ประสารมองว่า เรื่องที่องค์กรควรให้ความสำคัญมากขึ้นประกอบด้วย 1. leadership 2. การพัฒนาผู้บริหารและบุคลากร 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบฐานข้อมูล ESG Data Platform หรือสร้างความโปร่งใส สร้างคุณภาพมาตรฐานของข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ และมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดร.ประสารมีคำแนะนำว่า ควรเริ่มจากการพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ 4 เสาหลัก ประกอบด้วยทัศนคติ ค่านิยมในหน่วยงาน ความรู้ และความชำนาญ
“หลายอย่างเริ่มจากทัศนคติ เช่น การสร้างทัศนคติที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโจทย์ส่วนรวม บางโจทย์มีความซับซ้อน คนๆ เดียวหรือรัฐบาลเดียวหวังจะทำให้สำเร็จเป็นไปไม่ได้ เพราะตรงนี้มีธรรมชาติที่ว่าแรงจูงใจของปัจเจกกับแรงจูงใจของส่วนรวมไม่ประสานกันโดยตรง ต้องอาศัยความร่วมมือ พวกนี้เราเจอเยอะใน (ทรัพย์สิน) สาธารณะทั้งหลาย เช่น ห้องน้ำส่วนตัวกับสาธารณะการรักษาความสะอาดไม่เหมือนกัน หรือการจับปลาในมหาสมุทร ส่วนตัวจะจับมากสุดเท่าที่มากได้ แต่ในแง่สาธารณะหากจับมากไป จับตัวเล็กตัวน้อยด้วย ต่อไปประชากรปลาก็จะมีไม่เพียงพอ เรื่องนี้ต้องมองให้เห็นเป็นปัญหาร่วมกัน คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือกัน
“เสาหลักที่ 2 คือ ค่านิยม เวลาทำอะไรอย่าคิดเฉพาะประโยชน์ระยะสั้น ให้คิดถึงประโยชน์ระยะยาวด้วย การทำธุรกิจอย่าหวังเฉพาะกำไรระยะสั้นและสละความน่าเชื่อถือระยะยาว มีตัวอย่างเยอะ เช่น พ่อค้าส่งแป้งมันสำปะหลังผสมทรายไปยุโรป เขาได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่เสียชื่อ คนไม่ซื้ออีก...ต้องคิดถึงความคิดความรู้สึกของ stakeholders ด้วย ต้องคิดว่าลูกค้าพึงพอใจ พนักงานมีความสุขไหม ทำแล้วแต่ละคนแฮปปี้ไหม อย่าคิดเฉพาะ maximize return อย่าคิดแต่การเติบโตเชิงปริมาณอย่างเดียว ต้องคิดเชิงคุณภาพด้วย” นอกจากนี้ ต้องมีความรู้และความชำนาญในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เช่น เทคนิคหรือเทคโนโลยี ไม่ใช่ทำแบบไม่รู้จริง
“ผมคิดว่าถ้าแนวธุรกิจจะทำให้แน่นหนาต้องคำนึงถึงทัศนคติ ค่านิยม knowledge skill แต่ละเสาหลักมี activity ต่างๆ กัน ถ้าเป็นไปได้ทำทั้ง 4 อย่าง” ประธานกรรมการ CRC กล่าวในตอนท้าย
โรดแมปสู่ความยั่งยืน “เซ็นทรัล รีเทล”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “เซ็นทรัล รีเทล” ได้ริเริ่มการพัฒนาธุรกิจบนแนวทางของความยั่งยืนสร้างธุุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคม ด้วยกลยุทธ์ CRC ReNEW โดยการลดใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเพิ่มการใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ และร่วมชี้นำสังคมให้ก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กันราวปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารหลักขององค์กรค้าปลีกรายใหญ่ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC อาณาจักรค้าปลีกที่มีเครือข่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตระกูล “จิราธิวัฒน์” มหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย ที่วันนี้ได้จัดวางทีมผู้บริหารมืออาชีพเข้ามานำทัพเต็มตัว เพราะเชื่อว่าธุรกิจต้องกระชับฉับไว ก้าวทันกับความเป็นไปของโลกและสังคมวิชั่นที่เปิดกว้างนี้ทำให้ CRC มีความโดดเด่นในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกที่เป็นอันดับ 1 ทั้งในแง่ขนาด ด้วยการมีพื้นที่ค้าปลีกทั้งในไทยและต่างประเทศรวมมากกว่า 4 ล้านตารางเมตร อีกทั้งเป็นอันดับ 1 ในแง่กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสำคัญและปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางยุทธศาสตร์การเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน
“ถ้าถามผู้บริหารทุกคนในวันนี้ผมว่ามี 2 เรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ คือ sustainability และ generative AI” ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เปิดประเด็นการพูดคุยถึง 2 เรื่องสำคัญที่เป็นโจทย์หลักในฐานะซีอีโอ โดยเขาบอกว่า วาระสำคัญของเขาในวันนี้คือเรื่อง sustainability เพราะเป็นสิ่งที่เซ็นทรัล รีเทล ให้ความสำคัญและได้ลงมือทำอย่างจริงจัง แม้จะยอมรับว่าความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งใหม่เป็นเรื่องที่คนพูดถึงอยู่แล้ว โดยเฉพาะความยั่งยืนในการทำธุรกิจ แต่เขาต้องการสื่อความหมายที่มากกว่านั้น คือความยั่งยืนของการทำธุรกิจที่เดินควบคู่ไปกับทุกคนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกบริบทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัวที่กำลังจะส่งให้เจเนอเรชั่นต่อไป หรือธุรกิจที่บริหารโดยมืออาชีพเพื่อส่งต่อให้กับซีอีโอคนต่อไป
ความยั่งยืนเป็นหน้าที่ไม่ใช่ภาระ
แม่ทัพมืออาชีพ CRC ย้ำว่า ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ (business sustainability) ต้องโฟกัสไปที่เรื่องยอดขาย รายได้ และกำไร ถ้าจะทำให้ธุรกิจมั่นคง ยอดขาย กำไรและมาร์เก็ตแชร์เป็นสิ่งสำคัญ แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือ การให้ความใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม สิ่งเหล่านี้หากถูกมองข้ามโดยภาคธุรกิจย่อมส่งผลกระทบต่อโลก เพราะยิ่งองค์กรใหญ่ยิ่งใช้ทรัพยากรมาก ดูจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอยู่ที่ 300 ล้านตันต่อปี เท่ากับ 0.8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งปล่อยอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านตันต่อปี “GDP ของไทยที่มีค่าเท่ากับ 0.69% ของ GDP โลก แต่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ซึ่งมากกว่าการเติบโตของ GDP ประเทศ เป็นเรื่องที่น่าซีเรียส” เขาย้ำ
นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ โลกกำลังส่งสัญญาณความผิดปกติผ่านสถานการณ์ของ climate change ที่รุนแรงมากขึ้น สะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรทุกภาคส่วนต้องรวมพลังมาช่วยกันหยุดและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้วยวิธีคิดแบบใหม่ redefine การทำธุรกิจ และลงมือปฏิบัติในการทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก CRC ตระหนักถึงความจำเป็นนี้และยินดีที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาธุรกิจให้เป็นมิตรกับโลกด้วยวิถีของความยั่งยืน โดยมองว่าการลงทุนเพื่อ sustainability เป็นหน้าที่ไม่ใช่ภาระ และมองว่าทุกองค์กรควรใส่ใจเรื่องนี้อย่างเป็นหน้าที่เช่นเดียวกัน
“Internal focus เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง และในเวลาเดียวกันต้องไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายสิ่งเหล่านี้เราต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน” ซีอีโอเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ในส่วนของ CRC มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2573 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ net zero ของ CRC จะทำได้ประมาณครึ่งหนึ่ง และภายในปี 2593 จะเท่ากับศูนย์ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นทำมาได้ประมาณ 1 ปีมีสัญญาณที่ดีและคืบหน้าได้ตามเป้า
แม่ทัพ CRC บอกว่า การทำธุรกิจต้องมองทั้งภายในและภายนอก ภายในขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายความยั่งยืนแล้ว ภายนอกก็ต้องเดินไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับพนักงาน คู่ค้า พันธมิตร และลูกค้า ให้มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนไปด้วยกัน “Central Retail เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่มีทั้งลูกค้า คู่ค้า และชุมชน เราต้องพยายามให้ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรและให้ความร่วมมือกับแนวทางความยั่งยืน” เขายกตัวอย่างโครงการปลูกป่าซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นอีกโครงการที่ CRC ลงมือทำและคิดเรื่องการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การผลิตสินค้าของซัพพลายเออร์ เช่น ปลูกพืชผักใช้ปุ๋ยเคมีหรือไม่ ดูตั้งแต่กระบวนการผลิตเลยว่ามีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้อง และดูว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาลดหรือหยุดใช้เคมีตั้งแต่ต้นทาง เมื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ใส่แพ็กเกจจิ้งก็ต้องคำนึงเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดส่งมาที่เซ็นทรัล รีเทล เพื่อวางจำหน่ายให้ลูกค้า “ความยั่งยืนต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำต้องทำทั้ง whole chain ตลอดจนเรื่องของการใช้ green energy” ซีอีโอเซ็นทรัล รีเทล อธิบายว่า แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในองค์กร แต่รวมไปถึงลูกค้า โดย CRC ให้คำแนะนำและให้ความรู้ลูกค้าในเรื่องการใช้ของรีฟิล ใช้ถุงที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งหลังจากประกาศโครงการออกไปก็เห็นผลที่ดี ลูกค้าได้ปรับพฤติกรรมโดยลูกค้าหลายคนยินดีไม่รับถุง แต่ถึงกระนั้นก็มีสินค้าบางอย่างที่ต้องใส่ถุงพลาสติก ทางห้างก็ปรับมาใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิล ขณะเดียวกันก็ประกาศเรื่องการใช้ถุงผ้าที่กลับมาใช้ซ้ำได้
ตอบโจทย์การใช้ชีวิต
อีกเรื่องที่แม่ทัพ CRC ให้ความสำคัญคือการสร้างศูนย์การค้า ห้าง และร้านค้าใหม่ๆ ต้องเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงาน ปรับให้ใช้พลังงานลดลงและใช้พลังงานที่เป็นกรีนมากขึ้น โดยการปรับแบบอาคารที่สร้างใหม่ให้มีระบบไหลเวียนอากาศที่ดีเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ต้องดีไซน์ตั้งแต่เริ่มแรกโดยเน้นการออกแบบอาคารที่มีรูปทรงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และออกแบบให้ติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาอาคารเพื่อใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ควบคู่กันไป รวมไปถึงรถขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าเข้ามายังห้างและศูนย์การค้าต่างๆ CRC พยายามใช้รถ EV รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมทั้งปรับในเรื่องของแพ็กเกจจิ้งในธุรกิจเกี่ยวกับออนไลน์ เนื่องจากออนไลน์ใช้แพ็กเกจจิ้งจำนวนมาก เช่น กระดาษ กล่องต่างๆ บางครั้งขนาดใหญ่เกินจำเป็นก็พยายามจัดขนาดให้เหมาะสมกับสินค้า ไม่เหลือพื้นที่เยอะเกินไป และกระดาษเหล่านี้ก็นำมารีไซเคิลได้ รวมถึงใช้รถไฟฟ้าเพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่บ้าน โดยทำให้เป็นระบบที่สมบูรณ์
“ในเรื่องของความยั่งยืนเราต้องมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ยิ่ง Central Retail อยู่แถวหน้าของธุรกิจยิ่งต้องเป็นแบบอย่าง และต้องสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนโดยรอบ” ซีอีโอเซ็นทรัล รีเทล กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญการทำธุรกิจไม่ใช่โฟกัสอยู่แต่กำไรเพียงอย่างเดียว ควรจะดูเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจด้วย ต้องดูที่ brand purpose ว่า แบรนด์เกิดมาเพื่อสิ่งใด และจะสร้างอะไรให้กับสังคมบ้างในส่วนของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่า Central Retail “Central to Life” หมายความว่า เซ็นทรัลต้องการเป็นจุดศูนย์กลางชีวิตของทุกคน ทั้งลูกค้าคู่ค้า สังคม และชุมชน เพราะฉะนั้นจึงมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าในการทำธุรกิจเมื่อเซ็นทรัล รีเทล ไปที่ไหนต้องไปสร้างเมืองสร้างชุมชน ยกตัวอย่าง การเปิดศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ที่แม่สอด เซ็นทรัล รีเทล ก็ไปสร้างเมืองเพื่อให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาให้ผู้คนมีงานที่ดีขึ้น ให้ชุมชนมีความสำเร็จ เมื่อชุมชนมีความสำเร็จเติบโตมากขึ้น ธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล ก็ย่อมมีความสำเร็จตามมา ถือเป็นจุดมุ่งมั่นหลักของ CRC
“ความยั่งยืนและ ESG เป็นสิ่งสำคัญ มันจะช่วยให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนในระยะยาว แน่นอนการทำธุรกิจเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาย่อมมี cost เกิดขึ้น แต่มันเป็น short term loss long term gain” ญนน์ย้ำ เขายังบอกด้วยว่า นี่คือการลงทุนรูปแบบหนึ่งเพื่ออนาคต และเป็นความพยายามที่จะสร้าง symbolic change เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง “Central Retail จะเป็น the first mover ในเรื่องความยั่งยืน เช่นเดียวกับที่เป็น the first omni channel retailer รายแรกในเอเชีย” โดยเป้าหมายที่ซีอีโอมืออาชีพผู้นี้วางไว้คือ ต้องการสร้างให้เซ็นทรัล รีเทลเป็น The First Green and Sustainable Retail in Asia ให้ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้องทำภารกิจ 4 ข้อให้เกิดขึ้น
เริ่มจากข้อแรก การลดและหยุดทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ ข้อ 2 หันมาใช้พลังงานแบบใหม่ ข้อ 3 ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือให้คนที่อยู่ในแพลตฟอร์มก้าวเข้าสู่ green energy ได้ทั้งหมด และข้อ 4 การทำเรื่อง sustainability เป็นแผนงานที่ต่อเนื่องจากคำมั่นสัญญาไปสู่แนวทางปฏิบัติ “แนวทางความยั่งยืนต้องทำอย่างมั่นคงและถาวรร่วมกับพนักงานทั้งกลุ่มกว่า 80,000 คน ต้องสร้างความตระหนักเรื่อง green awareness เพื่อเป็น symbolic change” แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าเซ็นทรัล รีเทล จะมูฟไปที่ green and sustainable retail ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามสื่อสารให้ทุกคนรับรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
ญนน์ย้ำว่า CRC หนักแน่นเรื่องแนวทางความยั่งยืน ไม่เฉพาะโครงการที่พัฒนาเอง แต่ยังรวมไปถึงโครงการใหม่ที่บริษัทจะเข้าไปลงทุน หากพบว่าไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนการลงทุนนั้นก็ต้องยุติไป เช่น CRC มีแผนจะเข้าซื้อธุรกิจหนึ่งที่สนใจ แต่พอเข้าไปศึกษารายละเอียดแล้วพบว่าติดเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เป็นไปตาม sustainability factors โครงการลงทุนนี้ก็ถูกยกเลิกไปที่ยกตัวอย่างนี้เพื่อจะให้เห็นว่าเซ็นทรัล รีเทลให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาก หากเห็นว่าเป็นการสวนทางและไม่สามารถปรับตัวได้ก็เลือกที่จะไม่ลงทุน เขายังอธิบายถึงรูปแบบศูนย์การค้าที่มีความยั่งยืนคือ เริ่มต้นตั้งแต่การจะไปสร้างศูนย์ที่ไหนก็ตาม เซ็นทรัล รีเทล จะต้องเข้าไปมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาความยั่งยืนในชุมชนนั้นๆ และต้องมีการศึกษาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน และทำทุกอย่างให้ชุมชนเข้มแข็ง
เดินกลยุทธ์ CRC ReNEW
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การใช้พลังงาน เพราะการทำธุรกิจค้าปลีกการบริหารจัดการเรื่องพลังงานถือว่าเป็นสาระสำคัญ แต่มากกว่าเรื่องพลังงานคือ กลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน CRC มียุทธศาสตร์ 4 เรื่องที่เรียกว่า CRC ReNEW ซึ่งย่อมาจาก Re คือ Reduce Greenhouse Gases ส่วน N คือ Navigate Society Wellbeing หมายถึงการนำพาให้สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น E คือ Eco Friendly Product and Packaging เป็นมิตรตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ และตัวสุดท้าย W คือ Waste Management แน่นอนว่าธุรกิจทุกอย่างที่ทำย่อมมีขยะของเสียหรือ waste เกิดขึ้น แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ของเสียน้อยลง และทำอย่างไรที่จะนำขยะเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น โครงการสมุยโมเดล เซ็นทรัล รีเทล นำของเสียไปเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้เกษตรกรได้ใช้ซึ่งทำแบบครบวงจร
อีกตัวอย่างคือที่เชียงใหม่ CRC ได้พัฒนาโมเดลท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นท็อปส์ กรีน โดยทำคอนเซ็ปต์ใหม่หมดและนำสินค้าทุกอย่างที่ผ่านขั้นตอนเรื่อง sustainability มาขาย เป็นท็อปส์ กรีน คอนเซ็ปต์ โดยตัวแบนเนอร์จะเป็นสีเขียว มีสินค้ามุมออร์แกนิกต่างๆ ไว้เสิร์ฟลูกค้า ซึ่งเป็นเทรนด์ในอนาคตโดยท็อปส์ กรีนสาขานี้เป็นโมเดลทดลองโครงการแรก โครงการที่ 2 เป็นเรื่องตลาดจริงใจ หรือ จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต เซ็นทรัล รีเทล ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นโดยใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ทำได้มาอยู่ที่ตลาดจริงใจ ซึ่งล่าสุดเปิดไปแล้วเกือบ 40 แห่ง สามารถสนับสนุนชุมชนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน สร้างรายได้กว่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมกำหนดเป้าหมายในปี 2573 เป็น 5.4 พันล้านบาทต่อปี และล่าสุดได้จัดงานตลาดจริงใจ มาหา...นคร โดยนำสินค้าทุกมุมเมืองในประเทศไทยมารวมไว้ที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นการทำให้ทุกคนได้เห็นว่าเซ็นทรัล รีเทลมีชุมชนต่างๆ สินค้าต่างๆ ที่เข้าข่ายโครงการนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ที่บางนาก็มีตลาดจริงใจด้วยเช่นกัน
ตลาดจริงใจเป็นตลาดที่ช่วยชุมชนและปลูกฝังเรื่องความยั่งยืน การทำแบบนี้ช่วยลดการทำลายสภาพแวดล้อมต่างๆ และยังเป็นการพัฒนาให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมียอดขายสูงขึ้นและมีกำไรมากขึ้น นโยบายเรื่องการช่วยเหลือชุมชนนี้ใช้กับทุกที่ “เรามี policy ที่ชัดเจนอย่างเช่น ที่เวียดนามเราลงทุนเรื่องของ CSV เยอะกว่าที่ลงทุนทำธุรกิจครั้งแรกในเวียดนาม เพราะถือว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ” ซีอีโอเซ็นทรัล รีเทล บอกว่า “ทุกครั้งต่อจากนี้เวลาจะไปลงทุน เราจะพยายามเข้าไปสื่อสารกับชุมชนก่อนแล้วค่อยลงทุนธุรกิจตาม โดยใช้งบในการเข้าไปพัฒนาต่างๆ ค่อนข้างสูง”
แนวทางเพื่อความยั่งยืนนี้ CRC ไม่ได้ทำโดยลำพัง แต่พยายามสื่อสารให้เป็นวาระของทั้งอุตสาหกรรม ชักชวนเพื่อนร่วมวงการเดินในแนวทางเดียวกัน “ในอีกมุมผมเป็นประธานสมาคมค้าปลีก เราก็เชิญชวนให้สมาชิกของเราทุกคนทำเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน ก็เริ่มกันทุกองค์กร แต่ Central Retail เป็นองค์กรใหญ่เริ่มก่อนเป็นแบบอย่าง” เขาย้ำว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ทุกคนเดินมาในแนวทางนี้เหมือนกัน ทั้งเรื่องรีไซเคิล เรื่องการใช้พลังงานน้อยลง ทุกคนไป green energy มากขึ้น
“เราผนึกกำลังกับคู่ค้าในทุกแพลตฟอร์มเพื่อปรับปรุงธุรกิจ ช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านโลจิสติกส์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้บริโภคมากที่สุด” นอกจากนี้ CRC ยังมุ่งมั่นในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมทุกๆ ด้าน โดยได้จ้างงานคนพิการกว่า 412 คน สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนผู้ยากไร้ รวมทั้งให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนและช่องทางการจำหน่าย ตัวอย่างเช่น โครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ที่เซ็นทรัล รีเทล ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง
เป้า Net Zero ปี 2593
การปรับตัวที่ส่งผลต่อลูกค้าจำเป็นต้องมีการอธิบาย ญนน์เผยว่า ในช่วงแรกที่เริ่มโครงการก็มีคำถามเข้ามาตลอด เช่น ตอนที่จะไม่ใส่ถุงพลาสติกให้ลูกค้าทุกคนก็มีคำถามว่า จะไม่ใส่ถุงพลาสติกหรอ? ช่วงแรกก็ต้องอธิบายพร้อมนำถุงผ้ามาใช้แทนก็เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนถุงพลาสติกต้องมาทำรูปแบบใหม่ที่รีไซเคิลได้ และแพ็กเกจจิ้งผักผลไม้ต่างๆ ก็พยายามไม่ใช้โฟมหรือใช้ให้น้อยลง
นอกจากเรื่องลดการใช้ทรัพยากรแล้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นก็ต้องไปรณรงค์ช่วยในเรื่องของการปลูกป่า ซึ่ง CRC ตั้งเป้าไว้ว่าจะปลูกป่าให้ครบ 50,000 ไร่ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นปีที่ตั้งเป้า net zero เป็นศูนย์ นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสีเขียว เช่น ศูนย์การค้ายุคใหม่จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า 100% ได้ถูกปรับเป็นไฟที่มาจาก green energy แล้ว 30% โดยใช้เวลาปรับตัวภายใน 2 ปี “เราติด solar roof ในอาคารของศูนย์การค้าและร้านค้าของเราเกือบ 90% แล้ว และรถส่งของก็ทยอยเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้ 25%” ญนน์เผยว่าในกรณีของรถส่งของกว่าจะเปลี่ยนได้ครบ 100% อาจใช้เวลาประมาณ 10 ปี เนื่องจากต้องรอเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้รถไฟฟ้าในบ้านเราให้พร้อมมากขึ้นด้วย
ที่ผ่านมาการสร้างห้างสมัยก่อนอาจไม่ค่อยสนใจเรื่องอากาศและการถ่ายเทมากนัก เพราะใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ แต่สำหรับการสร้างห้างสมัยใหม่จะเน้นการออกแบบที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิภายในอาคารไม่ร้อนมาก ส่งผลให้สามารถใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยลง เช่น จากเดิมเคยใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 100 BTU ก็อาจลดเหลือ 60 BTU เป็นต้น โดยเป้าหมายที่เซ็นทรัล รีเทล วางไว้คือ อยากลดการใช้เครื่องปรับอากาศลงให้ได้ครึ่งหนึ่งของขนาด BTU ที่เคยใช้ ขณะเดียวกันก็พยายามหันไปใช้ green energy จากโซลาร์รูฟให้มากขึ้นด้วย
รวมไปถึงการติดตั้งจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้ลูกค้าสะดวกขึ้น ห้างเซ็นทรัลสาขาที่เปิดใหม่การออกแบบจะเปลี่ยนมาเป็นแนวทางนี้เกือบทั้งหมด รวมไปถึงท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไทวัสดุ ส่วนที่เป็นโครงสร้างใหญ่ถูกปรับทั้งหมด เช่น ไทวัสดุติดตั้งโซลาร์รูฟไปแล้ว 80% การสร้างใหม่จะติดตั้งมาเบ็ดเสร็จ
“การปรับเปลี่ยนโดยภาพรวมผมคิดว่าองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Central Retail หรือองค์กรขนาดใหญ่อื่นๆ ควรจะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยน mindset ก่อน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดและปรับไปในทางเดียวกัน” เขาย้ำว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจและการยอมรับ เพราะการปรับเรื่องแนวทางความยั่งยืนในขั้นตอนต่างๆ ของการทำธุรกิจล้วนต้องลงทุน ต้องใช้เม็ดเงิน แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าต้องใช้เท่าไร ขึ้นกับหลายองค์ประกอบ “ความสำเร็จมักจะมาพร้อมความสูญเสีย แต่มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่การลงทุน ซึ่งแน่นอนเรื่องความยั่งยืนเป็นการลงทุนระยะยาว”
ตัวอย่างเช่น การลงทุนเปลี่ยนหลังคาโซลาร์รูฟก็ต้องใช้เงิน แต่การคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่การให้ความสำคัญ CRC มีความตั้งใจและลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ หรืออีกตัวอย่างการเปลี่ยนถุงพลาสติกแบบเดิมมาเป็นแบบรีไซเคิลได้มีราคาแพงกว่ากันเป็นเท่าตัว ถุงกระดาษก็แพงกว่าถุงพลาสติก เพราะฉะนั้นการลงทุนเหล่านี้จึงไม่สามารถประเมินตัวเลขได้
อีกตัวอย่าง การที่จะดีไซน์ตึกแบบใหม่ให้เป็น green energy มากขึ้นต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ได้มาคือ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานสีเขียว ทำให้มี return savingกลับมาแต่ก็ต้องใช้เวลา หรืออย่างบ้านพักอาศัยที่ติดหลังคาโซลาร์ก็ต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะคืนทุน การซื้อรถ EV ก็เช่นกัน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะคืนทุน “อย่างที่บอกทำธุรกิจถ้าหวังกำไรอย่างเดียวก็คงพูดเรื่องของ sustainability ไม่ได้”
ดังนั้น CRC จึงต้องพยายาม redefine sustainability ใหม่ให้ beyond ภายในองค์กร เพราะหากไม่สนใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะทำให้มีปัญหา เปรียบเทียบกลับไปตอนที่มีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ตอนนั้นโชคดีที่วัคซีนมาเร็ว ซึ่งแตกต่างกับสถานการณ์ climate change สมมติกรุงเทพฯ จมน้ำ หรืออุณหภูมิ 50 องศาฯ ติดกันไป 3 เดือนปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบนี้คงไม่มีวัคซีนอะไรมาแก้ปัญหาได้
อย่างไรก็ดีซีอีโอเซ็นทรัล รีเทล บอกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่โดยส่วนตัวแล้วเขาถือว่าเป็นประสบการณ์ในการทำงานที่ไม่เคยพบมาก่อน “ต้องยอมรับว่าโควิดสอนเราในหลายๆ เรื่อง คำแรกเลย resilience ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน สนใจแต่เรื่องการเติบโต โควิดสอนให้รู้ว่าความยืดหยุ่นนั้นสำคัญ” ญนน์ย้ำว่า ก่อนหน้านี้เรื่อง agility และ resilience 2 คำนี้อาจไม่เคยอยู่ในดิกชั่นนารีการบริหารมาก่อน เป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาในช่วงโควิด และช่วยให้เกิดการ reinvent business model ด้วยการทำธุรกิจให้ leaner, firmer และ fitter เพื่อการบริหารที่ดี
ธุรกิจค้าปลีกของ CRC ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน อย่างรีเทลในอิตาลีก็พยายามส่งเสริมเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนให้มากขึ้น ซึ่งยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว ทิศทางต่างๆ จึงเป็นไปได้ด้วยดี “Sustainability เป็น long term commitment เป็นหน้าที่ไม่ใช่ภาระ และ Sustainability is not a destination it is just a journey เป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกันแล้วจะแข็งแรง” เขายังบอกด้วยว่า ความยั่งยืนไม่ใช่ option แต่เป็นเหมือน solution ที่จะสร้างโลกให้สดใสเพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง เพราะหากไม่ปรับปรุงวันนี้คนรุ่นหลังอย่างลูกหลานในอนาคตจะอยู่ลำบาก
ก่อนจบการพูดคุย แม่ทัพ CRC ยังได้ฝากแนวคิดที่น่าสนใจอีกเรื่อง นั่นคือเรื่องของความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งเขาบอกว่า ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติของการใช้ชีวิตและการทำงานมาโดยตลอด อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญและร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชันจะทำให้สังคมดีขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความยั่งยืน
“เรื่อง governance การบริหารธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีจริยธรรม และโฟกัสในเรื่องของการดูแลรักษาและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเป็นอีกหนึ่งความยั่งยืนที่ Central Retail ยึดถือเสมอมา และได้ลงทุนในเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยสูงสุด”
นอกจากนี้ CRC ยังได้สื่อสารและทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย และที่สำคัญ CRC มองว่าเรื่องธรรมาภิบาลนี้ทุกภาคส่วนต้องรวมพลังกันเพื่อสร้างสังคมที่มีความโปร่งใส และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากหลุมดำของการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ ถือเป็นอีกหนึ่งความยั่งยืนที่สำคัญที่จะส่งผลต่อสังคมส่วนรวมอย่างชัดเจน
“Sustainability is not a choice; it,s an imperative to ensure a brighter future for generations to come”
อ่านเพิ่มเติม : เรือนแสนพิเศษ