การทำค่ายอาสาพัฒนาไปสอนหนังสือเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลเป็นแรงบันดาลใจแรก เมื่อได้ไปเรียนต่อต่างประเทศการเรียนออนไลน์ทำให้เก็บตกห้องเรียนสำคัญที่พลาดมาได้ จุดประกายให้ 2 นักศึกษาไทยก่อตั้งสตาร์อัพด้านการศึกษาออนไลน์ขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกการเรียนที่ไร้ขีดจำกัด
หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อ SkillLane แต่สำหรับองค์กรใหญ่ที่ทำโครงการ reskill, upskill ให้พนักงานชื่อนี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้บริการอบรมเพิ่มทักษะให้พนักงานแม้จะเป็นสตาร์ทอัพรายเล็ก โดยคนหนุ่มสาววัยต่ำกว่า 30 แต่ก็สามารถสร้างการยอมรับให้องค์กรใหญ่เชื่อถือ และว่าจ้างให้เป็นผู้จัดอบรมพนักงานได้อย่างต่อเนื่อง
“SkillLane เป็นผู้จัดอบรมหลักสูตร reskill, upskill ให้ K Bank ซึ่งมีพนักงานมากถึง 20,000 คน” ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สกิลเลน เอดดูเคชั่น จำกัด ผลงานชิ้นสำคัญของ SkillLane ในฐานะผู้ให้บริการสอนออนไลน์ www.skilllane.com ที่ได้ชื่อว่าเติบโตเร็วสุดเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากการจัดอันดับโดย Financial Times
ในวันที่ทีมงาน Forbes Thailand นัดสัมภาษณ์ฐิติพงศ์เป็นช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 2565 การพูดคุยวันนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล บอกเล่าที่มาในฐานะคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ซึ่งค่อนข้างกระตือรือร้น ฐิติพงศ์ เริ่มต้นด้วยการแนะนำว่า เขาเป็น 1 ใน 2 หุ้นส่วนที่ก่อตั้งกิจการขึ้นมากับ เอกฉัตร อัศวรุจิกุล เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทที่ Kellogg School of Management สหรัฐอเมริกา
ฐิติพงศ์เล่าว่า ในช่วงแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเขามีโอกาสเข้าทำงานเป็น Management Trainee ของ Unilever บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ โดยทำอยู่ 3 ปี ตำแหน่งล่าสุดคือ Trade Category Support Manager ฃ
ก่อนจะลาออกเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และทำให้ได้พบกับหุ้นส่วน (เอกฉัตร) ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนปริญญาตรีที่จุฬาฯ ได้การตอบรับเข้าเรียนที่ Kellogg School of Management เช่นเดียวกันและเอกฉัตร ก็เป็นคนสนใจเรื่องการศึกษาเช่นเดียวกับเขา เคยเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยอาจารย์สอนนักศึกษารุ่นน้องในมหาวิทยาลัยมาก่อน
ห้องเรียนปริญญาโทที่สหรัฐฯ เป็นจุดเริ่มต้นให้ฐิติพงศ์และเอกฉัตรร่วมกันก่อตั้งกิจการ SkillLane ขึ้นมา โดยเขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่ทำให้เขาพลาดห้องเรียนวิชาสำคัญ Financial Modeling ที่สอนโดยโปรเฟสเซอร์ดัง
แต่ต่อมาฐิติพงศ์สามารถตามเก็บวิชานี้ได้จากการเรียนออนไลน์ ทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกที่ดีของการเรียนที่ไร้ข้อจำกัด เรียนที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ฐิติพงศ์และเอกฉัตรร่วมกันก่อตั้ง SkillLane ขึ้นในขณะพวกเขายังเรียนปริญญาโทด้วยกันทั้งคู่
“ผมเริ่มทำ Skillane มาตั้งแต่ปี 2557” ฐิติพงศ์เล่าจุดเริ่มต้นจากประสบการณ์และแรงบันดาลใจว่า เริ่มด้วยคอร์สอบรมเล็กๆ เป็นการสอนใช้โปรแกรม Excel จากนั้นก็ทำเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2560 เป็นปีแรกที่กิจการสอนออนไลน์ของเขาเริ่มมีกำไร
- ปลดล็อกระบบการศึกษา -
ในช่วงปี 2557 ที่ทั้งคู่เริ่มทำ SkillLane นั้น การเรียนออนไลน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ใช้ที่สหรัฐฯ แต่ในเมืองไทยยังมีไม่มาก SkillLane จึงเป็นรายแรกๆ ของธุรกิจสอนออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งฐิติพงศ์เล่าว่า ในขณะที่เรียนอยู่สหรัฐฯ นอกจากเรียนตามปกติแล้ว เขามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่นั่นทำให้เห็นแนวทางและก้าวย่างของการเติบโตจึงนำมาใช้กับ SkillLane และสร้างการเติบโตเรื่อยมา
การเติบโตของ SkillLane ฉายแววชัดเมื่อได้รับการจัดอันดับที่ 36 ใน 500 บริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเป็นอันดับ 1 ของบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในธุรกิจการศึกษา (education) จากการจัดอันดับประจำปี 2564 โดย Financial Times, Nikkei Asia และบริษัทด้านวิเคราะห์ข้อมูล Statista
โดยปัจจุบัน SkillLane มีจำนวนผู้เรียนมากกว่า 700,000 ยูสเซอร์และมีลูกค้าองค์กรที่ให้การยอมรับและใช้บริการกว่า 70 แห่งในปี 2560 ฐิติพงศ์ ยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ 30 Under 30 สำหรับอุตสาหกรรม consumer technology ที่จัดอันดับโดย Forbes Asia ซึ่งขณะนั้นฐิติพงศ์อยู่ในวัย 30
เขาเริ่มธุรกิจสอนออนไลน์เป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษาด้วยการระดมทุนทั้งหมด 3 รอบ ได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุน และ VC (Venture Capital) ที่มีชื่อเสียง เช่น 500 Startups และ CyberAgent Ventures หลังจากเริ่มมีผลกำไรในปี 2560 SkillLaneเติบโตมาอย่างรวดเร็ว มียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นมากจนกระทั่ง 700,000 คนในปัจจุบัน และมีคอร์สอบรมหลากหลายมากกว่า 2,500 คอร์ส
รวมทั้งได้รับงานจัดอบรมพัฒนาทักษะให้พนักงานขององค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งมีทั้ง อบรมในวิชาที่มีอยู่แล้วและออกแบบวิชาสำหรับการอบรมให้กับองค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งได้การตอบรับที่ค่อนข้างด
ไม่เพียงองค์กรผู้ว่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่องค์กรที่ดูแลการพัฒนาใหม่ๆ อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยังได้คัดเลือกให้ฐิติพงศ์อยู่ในรายชื่อ 100 คนไทยหัวใจนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเขาและสอดคล้องกับแนวคิดในการเรียนและการทำงานที่ฐิติพงศ์ยึดมั่นคือการมองเรื่องสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ เขาต้องการมีส่วนในการสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจธุรกิจให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโต มีการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ
นอกจากนี้ ฐิติพงศ์ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาที่เขาสนใจมาแต่เดิมเพราะเชื่อว่าการศึกษาช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นได้ และโดยส่วนตัวเขาบอกว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้ส่งต่อความรู้ที่มีให้กับผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด ฐิติพงศ์ต้องใช้ความพยายามในการสร้างหลักสูตรการสอนทำให้คนยอมรับ ยิ่งทำยิ่งมองเห็นโอกาสที่เปลี่ยนไปในด้านการศึกษา
“สิ่งที่เราทำมันมีความหมายเป็นการทลายกำแพงการศึกษามาสู่ยุคใหม่ที่คนสามารถออกแบบการเรียนของตัวเองได้ตามความต้องการใช้จริง” ฐิติพงศ์อธิบายสิ่งที่ SkillLane ทำให้เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาสิ่งที่เขาทำนี้ไม่เพียงการสอนออนไลน์ แต่ SkillLane ยังเป็นเครื่องมือให้ทุกคนสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตัวเองอยากเรียนได้ตามความต้องการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายเพราะการเลือกเรียนได้ตรงกับความจำเป็นและความต้องการสามารถนำไปใช้จริงในอาชีพที่ต้องการ ส่งผลดีทั้งต่อเจ้าตัวและองค์กรที่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไปทำงานด้วย
“การออกแบบการเรียนด้วยตัวเองเป็นการศึกษายุคใหม่ที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด” เขายกตัวอย่างเช่น ถ้านักศึกษาบอกว่า ต้องการจบไปเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ หากดูจากการเรียนปกติหลักสูตรที่มีอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์ 100% ไม่มีหลักสูตรเฉพาะทาง พวกเขาต้องเรียนทั้งพาณิชยกรรมบริหาร และเทคโนโลยี
“ปัญหาที่พบคือบางทีเราเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ใช้ แต่สิ่งที่ต้องใช้กลับไม่ได้เรียน” ฐิติพงศ์ยกตัวอย่างก่อนจะโยงว่า SkillLane เข้ามาตอบโจทย์นี้เพราะปัจจุบันได้พัฒนาและเชื่อมโยงซิสเต็มด้านการศึกษาไว้ครบแล้ว หมายความว่ามีทั้งวิชาเรียนและสามารถได้รับใบปริญญาเพื่อเป็นการรับรองความรู้ในวิชาชีพจากมหาวิทยาลัยชั้นนำได้
- รวมคลังหน่วยกิจแห่งชาติ -
ขณะที่ SkillLane เปิดสอนออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ฐิติพงศ์ได้ก้าวไปข้างหน้าในการต่อยอดการเรียนออนไลน์ให้ได้การรับรองอย่างเป็นทางการ โดยล่าสุด SkillLaneได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำโครงการ TUXSA หลักสูตรปริญญาโทในรูปแบบออนไลน์ซึ่งเป็น online self-paced master’s degree เจ้าแรกของไทย
นอกจากนี้ เมื่อกลางปี 2565 SkillLane ยังได้ร่วมนำร่องจัดทำระบบให้คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System) กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) และรองรับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพเป็นนักศึกษาสามารถนำผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้จากวิชาและหลักสูตรต่างๆ หรือนำประสบการณ์ทำงานมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ
โดยประสบการณ์เหล่านั้นจะสามารถนำมาขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยได้ หรือเพื่อเป็นรายงานผลลัพธ์การเรียนรู้สะสมของผู้เรียน โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่งเข้าร่วมโครงการนี้ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
“การศึกษาจะเปลี่ยนไป คนเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาก็ได้ อาจเป็นคนทำงานที่มีประสบการณ์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาแปลงเป็นหน่วยกิตเพื่อออกใบรับรองทางด้านการศึกษา” เขาหมายถึงใช้ประสบการณ์ในวิชาชีพนั้นๆ มาเทียบหน่วยกิตกับทางมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ทำเรื่องขอประกาศนียบัตรหรือปริญญา โดยอาจจะต้องมีการเรียนเพิ่มเติมเล็กน้อยหรือทำเวิร์กช็อปกับสถาบันที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยก็ได้
การเรียนด้วยการทำเวิร์กช็อปสามารถนำมาเทียบหน่วยกิตได้โครงการนี้จะทำให้การศึกษากว้างไกลยิ่งขึ้นเพราะคนที่มีประสบการณ์สามารถนำการอบรมและการทำงานเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นหน่วยกิตเพื่อออกวุฒิทางการศึกษาได้ภายใต้ระบบระเบียบในการพิจารณาบางส่วน เช่น ต้องเรียนของมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือประกาศต่างๆ ที่เรียนมาต้องได้รับการรับรอง ด้วยหลักการนี้จะทำให้การศึกษาเปิดกว้างมากขึ้น
“พอเริ่มมีคอร์สขึ้นมาก็เหมือน Dominoes ครับ เริ่มจากตัวที่เล็กที่สุดแต่เวลาโน้มด้วยแรงผลักดันสามารถดันสิ่งใหญ่กว่าได้ 1.5 เท่า ก็ทำตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากจุดเล็กและขยายขึ้น” เป็นการยกตัวอย่างการเติบโตของธุรกิจสอนออนไลน์ได้อย่างเห็นภาพ
ฐิติพงศ์บอกว่า เมื่อบริการของเขาขยายตัวมากขึ้นก็ทำให้มั่นใจที่จะช่วยอาจารย์ต่างๆ มาสอน พัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนแบบอาจารย์เต็มที่ เส้นทางการเติบโตที่ว่านี้เขาทำได้ตั้งแต่ปีแรก และทำเรื่อยมาด้วยการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ให้คนเสิร์ชหาเรื่องการสอนเข้ามาเจอ SkillLane ที่มีวิชาการสอนหลากหลายซึ่งในยุคที่เริ่มเติบโตได้มีการขยายพาร์ตเนอร์ โดยร่วมมือกับกลุ่ม Stock2morrow จัดสอนวิชาเกี่ยวกับหุ้นและการลงทุน
ด้วยความที่ Stock2morrow เป็นสำนักพิมพ์เกี่ยวกับการลงทุนมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว มีสัมมนาที่สอนเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน SkillLane ก็ให้พวกเขาสอนออนไลน์แล้วนำไปโปรโมทกับฐานลูกค้าของ Stock2morrow ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้เกิดการรับรู้
ฐิติพงศ์บอกว่า ความใหม่ในการเป็นสตาร์ทอัพของ SkillLane ก็คือ การทำหลายบริการ โดยแต่ละอันที่ทำ ณ วันที่ทำนั้นประเทศไทยยังไม่คุ้นเคย แต่เขาก็ทำและเลือกแพลตฟอร์มแบบ B2C เปิดให้คนทั่วไปเรียน จากนั้นจึงได้ทำกับองค์กร
ช่วงแรกๆ ต้องไปสอนในห้องเพราะการเรียนออนไลน์ยังไม่มี ตอนนั้น SkillLane มีทีมงานอยู่ประมาณ 30 คนให้บริการองค์กรขนาดใหญ่ในการ upskill และ reskill ให้พนักงาน โดยลูกค้าใหญ่สุดตอนนั้นคือธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีพนักงาน 20,000 คน
“เราสอนตั้งแต่เล็กที่สุดไปถึงซีอีโอ” เขาเผยและว่า ปัจจุบันยูสเซอร์ของแพลตฟอร์มนี้เพิ่มมากขึ้น และมีวิชาการสอนหลายหลักสูตรมาก ซึ่งในขณะที่รับงานตอนนั้นส่วนใหญ่
ทีมของ SkillLane เป็นคนหนุ่มสาววัยประมาณ 20-30 ปี จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก “เรามีคำว่ากล้าและลุยอยู่ในดีเอ็นเอมาก เป็นความกล้าหรือบ้ามากที่เด็กอายุ 20 กว่า 30 คน ไม่เคยมีประสบการณ์มาทำเทรนนิ่งให้องค์กรใหญ่อย่าง K Bank” เขาออกตัวถึงงานใหญ่ที่รับทำในครั้งนั้น ซึ่งสอนตั้งแต่พนักงานระดับเล็กสุดไปจนถึงซีอีโอ และเมื่อได้ทำแล้วก็ทำได้สำเร็จ โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นลูกค้าองค์กรใหญ่รายใหญ่แรกๆ ของบริษัท
นักธุรกิจหนุ่มวัย 36 ปี บอกว่า ธุรกิจสอนออนไลน์ที่เขาทำมีฟีเจอร์ให้คนเลือกเรียนคล้ายแพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์ชื่อดัง Netflix ต่างกันที่แพลตฟอร์มนี้คนเลือกหนังที่จะชม แต่ของ SkillLane คนเลือกคอร์สที่จะเรียน
“เรามีคอร์สให้เรียนเป็นรายคอร์สและในทุกเดือนจะมีคอร์สใหม่เข้ามาเพิ่มโดยแรกเริ่มสอนเป็นวิดีโอแต่ตอนนนี้มีสอนผ่านทาง Zoom เป็น virtual แต่ก็มี on-siteบ้างเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าบางกลุ่ม” ฐิติพงศ์ แจกแจงเส้นทางการเติบโตและหลักคิดที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ
เขาบอกว่า นอกจากธนาคารกสิกรไทยแล้วยังมีลูกค้าองค์กรไทยรายใหญ่อีกหลายรายรวมแล้วประมาณกว่า 70 องค์กร ที่เป็นลูกค้าให้ SkillLane ทำการสอน
นอกเหนือจากความตั้งใจแล้ว ฐิติพงศ์บอกว่า อีกเป้าหมายที่ SkillLane วางไว้ซึ่งต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไปคือ การพุ่งเป้าให้ธุรกิจมีกำไรและยืนอยู่ได้ตั้งแต่ต้น ในขณะที่สตาร์ทอัพทั่วไปอาจมองเรื่องของการแจ้งเกิดการตอบรับมากกว่าเรื่องตัวเลขผลประกอบการ แต่สำหรับ SkillLane ผลประกอบการต้องดีด้วยตั้งแต่เริ่มแรก
“สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะมีความคิดว่าเบิร์นเงินเท่าไร ขาดทุนไม่เป็นไรขอให้โตเร็ว แต่เราอยากที่จะทำให้ธุรกิจมันยืนอยู่ได้มีกำไรโดยเร็วที่สุด” ซึ่งฐิติพงศ์บอกว่า ธุรกิจที่มีคุณค่าควรมีความมั่นคง
จากการเริ่มต้นของนักศึกษาปริญญาโท 2 คน ขยายมาเป็นสตาร์ทอัพมีทีมงาน 30 คน เพิ่มมาเป็น 60 คน และปัจจุบัน 85 คน (ไม่รวมผู้สอน) ถือว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจมีกำไรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากความลงตัวกับสถานการณ์ เนื่องจากในช่วงโควิดการเรียนออนไลน์เป็นช่องทางที่ทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการพบปะ
“การโตปกติเปรียบเหมือนเดินขึ้นบันไดทีละก้าว แต่พอในช่วงโควิดเหมือนเราได้ขึ้นลิฟต์” เขาเปรียบเทียบการโตของธุรกิจสอนออนไลน์ที่ได้อานิสงส์จากการล็อกดาวน์
ด้วยการเติบโตดังกล่าวทำให้ฐิติพงศ์มองโอกาส SkillLane ในฐานะสตาร์ทอัพด้านการศึกษาเป็นบริการที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย ลดข้อจำกัดในการเรียนอยู่กับที่ของยุคเดิม มีวิชาหลากหลาย และมีสถาบันรองรับการออกใบรับรองวุฒิบัตรต่างๆ ทำให้ธุรกิจติดลมบน มีโอกาสเติบโตในอนาคตจึงทำให้เขามองโอกาสขยายธุรกิจด้วยการเตรียมนำ บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอภายในปี 2567 ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ได้เปิด IPO
จากธุรกิจสตาร์ทอัพรายเล็ก SkillLane กำลังขยับสู่บริษัทขนาดย่อม มีพื้นฐานทางการเงินดี มีมาตรฐานของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แน่นอนมันย่อมแสดงถึงการเติบโตทางธุรกิจที่มีอนาคตดี มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์