อุทิศทุ่มเทเพื่อกีฬาและศิลปวัฒนธรรมมาตลอด วิถีแห่งการให้ของสุภาพสตรีผู้ได้ชื่อว่า มีอิทธิพลสูงในแวดวงกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และดนตรี เริ่มต้นมาตั้งแต่เธอจำความได้ จวบจนกระทั่งปัจจุบันภารกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ยิ่งเพิ่มพูนและแผ่ขยายไปไกลระดับนานาชาติ
อาคาร 7 ชั้นบนที่ดิน 1 ไร่ในซอยร่วมฤดี เป็นบ้านหลังที่ 2 ใจกลางกรุงเทพฯ ของนักธุรกิจรุ่นใหญ่ ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล คู่สามี-ภรรยานักธุรกิจแถวหน้าของไทย เจ้าของกิจการเหล็กขนาดใหญ่กลุ่มจี สตีล, โรงแรมอโนมา และอีกหลายธุรกิจ ซึ่ง Forbes ฉบับภาษาจีนในฮ่องกงเคยกล่าวไว้เมื่อปี 2537 ว่า ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ในประเทศไทย
ปัจจุบันทั้งคู่วางมือจากงานบริหารแบบรายวันโดยวางใจให้นักบริหารมืออาชีพดูแลธุรกิจ ทำให้มีเวลาสำหรับภารกิจส่วนตัวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคุณหญิงปัทมาซึ่งปัจจุบันเธอเป็นกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แค่ตำแหน่งเดียวก็แทบดึงเวลาส่วนตัวไปเกือบหมด แต่ทว่าเธอไม่ได้มีเพียงภารกิจเดียว ยังพ่วงตำแหน่งบริหารองค์กรการกุศล และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมอีกนับสิบ เป็นตัวจริงของผู้อุทิศเวลาให้กับการทำงานเพื่อสังคมแทบจะทุกรูปแบบ โดยเน้นที่การกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และดนตรี
“เวลาว่างแบบไม่ทำอะไรเลยแบบนั่งเฉยๆ ไม่มีค่ะ เพราะเมื่อมีเวลาก็มักจะทำในสิ่งที่ชอบไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา และกิจกรรมอื่นอีกมากมาย แต่เอาจริงก็ไม่ค่อยมีเวลาแบบนี้สักเท่าไร” คุณหญิงปัทมาตอบคำถามทีมงาน Forbes Thailand ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ในฐานะ Power Woman พลังผู้หญิงเก่งซึ่งเป็นธีมเรื่องปกฉบับเดือนสิงหาคม คำตอบนี้สะท้อนตัวตนและสิ่งที่เธอทุ่มเทมาตลอดหลายปีได้เป็นอย่างดี ซึ่งเธอย้ำว่า ไม่เหนื่อยและยินดีจะทำงานเพื่อสังคมต่อไป
การพูดคุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมในฐานะที่คุณหญิงปัทมาเป็นผู้หญิงเก่งอีกคนที่เปิดตัวด้วยภารกิจเพื่อสังคมชัดเจน ไม่เพียงปัจจุบันแต่เธอได้ทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี ด้วยจิตวิญญาณของการช่วยเหลือ แบ่งปัน และเกื้อกูลที่ติดตัวมาตั้งแต่จำความได้วิถีแห่ง “การให้”
“ปัทมาได้รับการปลูกฝังแนวความคิดจากคุณพ่อคุณแม่มาตั้งแต่เด็กในหลักการว่าชีวิตของเราแต่ละคนควรจะต้องสร้างประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” เธอเรียกชื่อตัวเองแทนสรรพนามเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดเป็นกันเองกับคู่สนทนา และคำบอกเล่าของเธอทำให้เห็นที่มาว่า ทำไมสุภาพสตรีผู้นี้จึงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมอย่างมาก เพราะเธอได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวซึ่งย้ำกับเธอตั้งแต่ยังเยาว์ว่า “แม้เป็นเด็กเราก็ควรที่จะมุ่งมั่นในการที่จะเสียสละรับใช้ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เขามีโอกาสด้อยกว่าเรา ให้ฝึกความมีเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ส่วนคุณแม่จะย้ำว่า ให้พูดจาสุภาพไพเราะ” เธอยังคงยึดมั่นคำสอนนี้มาถึงปัจจุบัน แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการระดับหมื่นล้าน และมีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมมากมายเธอยังคงพูดจาไพเราะ ให้เกียรติผู้ร่วมสนทนาโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะเธอเล่าว่า มารดาพร่ำสอนอยู่เสมอแม้แต่สรรพนามที่เรียกผู้อื่นว่า “แก” หรือเรียกบุคคลที่ 3 ว่า “มัน” ก็ถูกห้ามมาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่บิดามักจะพาเธอไปร่วมงานช่วยเหลือ
ผู้ด้อยโอกาส งานสาธารณกุศลต่างๆ และมีนักบวชและซิสเตอร์ที่โรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมพาไปเข้าค่ายจัดเล่นเปียโนแสดงเดี่ยวเปียโนเพื่อให้ความสุขกับผู้คน เธอได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาหลายอย่าง เช่น ไปสอนนักเรียนตาบอด เล่นดนตรี เล่นกีฬา ไปอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ไปเยี่ยมเด็กกำพร้า คนพิการ คนชรา ผู้ป่วยและผู้ยากไร้ตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รักในกิจกรรมเพื่อสังคม
บ่อยครั้งที่ได้ยินเธอเรียกสรรพนามผู้อื่นว่า “พี่” ไม่ใช่เพราะคู่สนทนามีวัยอาวุโสกว่า หากแต่เป็นการเรียกแบบให้เกียรติตามวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ทุกคนรับรู้ถึงการให้เกียรตินี้จนกลายเป็นบุคลิกประจำตัวที่สะท้อนความนอบน้อมแบบไทย นอกจากนี้เธอยังเป็นคนที่เน้นสาระในการเจรจาต่างๆ โดยเธอมักขมวดคำถามไตร่ตรองก่อนจะตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำด้วยเนื้อหาที่ตรงประเด็น
ความอ่อนน้อมถ่อมตนและมีสาระตรงประเด็นนี้เอง คือจุดเด่นที่ส่งให้คุณหญิงปัทมาสามารถทำงานใหญ่และก้าวไกลไปถึงระดับนานาชาติได้ เพราะความอ่อนน้อมเปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลแทรกซึมเข้าไปได้ทุกที่ ผ่านได้กับวัตถุทุกประเภท และอีกหัวใจสำคัญคือ ทุกครั้งที่ได้ร่วมงานเธอจะมีคำว่า “เพื่อน” เป็นจุดเชื่อมสายสัมพันธ์อยู่เสมอ ทำให้สามารถต่อยอดโครงการต่างๆ จากแวดวงที่เคยสัมผัสได้โดยไม่ขาดตอน
เธอเล่าย้อนไปถึงกิจกรรมในวัยเด็กว่าได้ไปร้องเพลงคริสต์มาสตามบ้านในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนที่ค่อนข้างลำบาก เธอเป็นผู้นำ เป็นประธานนักเรียนคาทอลิก ที่ไหนมีงานมีกิจกรรมที่ต้องพูดบนเวที ต้องบรรยายหรือต้องโต้วาทีเธอจะได้รับการสะกิดให้ขึ้นไปพูดตั้งแต่เด็ก และถูกปลูกฝังมาตลอดว่า “การที่เราอยู่ในสังคมแล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครยังไม่พอค่ะ เราต้องเสียสละ ต้องแบ่งปัน ต้องทำประโยชน์ให้กับสังคม” โดยคำว่าแบ่งปันไม่ได้หมายความว่า ต้องใช้เงิน แต่หมายถึงการอุทิศแรงกายแรงใจ แบ่งปันความสามารถ เสียสละเวลา และต้องทำด้วยหัวใจ ทำด้วยความรัก
“เวลาถูกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมอบหมายให้ทำอะไรก็จะพิจารณาว่างานนี้ กิจกรรมนี้จะส่งผลบวกต่อสังคมส่วนใหญ่มากน้อยแค่ไหน ส่งผลต่อพี่น้องคนไทยจำนวนมากเพียงใดจึงจะตัดสินใจทำ” เธอข้ามมาเล่าเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งบ่อยครั้งที่ได้รับคำร้องขอจากภาครัฐ มีหลายโครงการที่เธอรับปากช่วยเหลือ และเมื่อตัดสินใจทำแล้วเธอมักมองหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำ ด้วยเป้าหมายว่า ทำเพื่อพี่น้องร่วมชาติ เพื่อผู้ขาดโอกาส และเพื่อประเทศไทย โดยเลือกทำโครงการที่เกิดประโยชน์กับสังคมและยั่งยืน เมื่อรับงานมาแล้วก็จะทุ่มเททำอย่างเต็มที่ พยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ และทุ่มสุดแรงกายแรงใจ สมอง เวลา และทุนทรัพย์ เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนที่จะรับงาน
สร้างสรรค์ดัชนีความดี
งานล่าสุดที่เธอบอกเล่าคือ การเป็นประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม “ปัทมาได้รับการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานศูนย์คุณธรรมตั้งแต่ปี 2565” โดยเธอทำหน้าที่กำกับดูแลส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์คุณธรรม ทำให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งศูนย์คุณธรรมนี้เป็นหน่วยงานรัฐมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมคุณธรรม
“ปัทมาได้มีบทบาทในศูนย์คุณธรรม ทำให้คนดีได้มีพื้นที่ยืน ทำให้ความดีมีพื้นที่ในสังคม ผลงานคงจะได้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันแล้วทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ” เธอเล่าว่า ได้ร่วมงานกับหลากหลายภาคีเครือข่ายในสังคม ได้พัฒนาคุณธรรมให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สัมผัสได้ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์คุณธรรมทำตลาดนัด “โชว์ แชร์ เชื่อม” คือ การโชว์ความดี แชร์ความดี และเชื่อมความดี โดยขับเคลื่อนคุณธรรมให้อยู่ในสังคมและให้เกิดสังคมคุณธรรมด้วยแนวทางของรังผึ้ง Honey Bee คือนำความดีเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละคนเหมือนผึ้งที่ไปตอมเกสรดอกไม้เก็บน้ำหวานเล็กๆ น้อยๆ มารวมกันก่อให้เกิดเป็นรังผึ้ง สร้างมิติที่ยิ่งใหญ่เป็นผลผลิตที่ยิ่งใหญ่ เป็นน้ำหวาน น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์และมีคุณค่า ลองนึกถึงหลักการรังผึ้ง
การที่คนเรามีนิสัยที่ดีประโยชน์ตกกับที่ตัวเราคนแรก ต่อด้วยคนรอบข้าง คนรอบตัวคนที่เรารัก สังคมที่เราอยู่ “ศูนย์คุุณธรรมเรามีแอปพลิเคชันด้วยชื่อ Moral Touch เราทำแอปพลิเคชันในมือถือเพื่อบันทึกการทำความดีให้เป็นที่ประจักษ์” ต้องเข้าไปโหลดแล้วจะเข้าใจ เพราะในแอปจะมี Moral Index เพื่อสำรวจความดีของประชากรทั่วประเทศ “เวลาเรามอง GDP เรามองในแง่เศรษฐกิจ แต่ในอนาคตเราจะมี Moral Index ดัชนีความดีให้ได้รับรู้ด้วย”
คุณธรรมเป้าหมายที่เธอตั้งไว้มี 4 ประการด้วยกันคือ พอเพียง วินัย สุจริต และจิตอาสาโดยทางศูนย์คุณธรรมไม่ได้ทำดัชนีเพื่อเปรียบเทียบว่าใครดีหรือใครไม่ดี แต่จะทำการวัดความดีในแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องที่ในประเทศไทยทั่วประเทศ โดยทำสิ่งที่เรียกว่า “เครดิตความดีทางสังคม” โดยพยายามทำให้คุณธรรมหรือความดีเหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การไปบริจาคเลือดสามารถนำข้อมูลการบริจาคนั้นไปใช้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ฟรี จากที่ทุกวันนี้ได้เพียงเข็มบริจาค ได้เหรียญบริจาค “ในอนาคตทางศูนย์ฯ กำลังประสานงานให้ผู้บริจาคเลือดได้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี เรากำลังเจรจากับร้านสะดวกซื้อให้สามารถนำไปแลกของในร้านได้ ไม่ต้องใช้เงินซื้อแต่ใช้แต้มความดีแทน”
มากไปกว่านั้นยังมองไปถึงการมีธนาคารความดี “เราจะทำเป็นสมุดความดีที่คนในท้องถิ่นตรวจสอบกันเองว่า มีจำนวนอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับหมู่บ้าน” โดยในระดับโรงเรียนครูช่วยกันวัด และในระดับหมู่บ้านผู้ใหญ่ช่วยกัน และพยายามขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาว่า เวลานักเรียนจบปกติการวัดเกียรตินิยมดูที่คะแนนการเรียน แต่ต่อไปนี้ให้ดูที่ความดีด้วย
“เราเป็นประธานกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมด้วย ทำงานด้านวัฒนธรรมโดยเป็นประธานมาตั้งแต่ปี 2552 เราส่งเสริมให้ความรู้เผยแพร่งานด้านศิลป-วัฒนธรรม สืบสานงานศิลป์” นอกจากนี้ยังส่งเสริมงานสร้างสรรค์ งานวิจัย และอนุรักษ์ฟื้นฟู เผยแพร่ภูมิปัญญา ผลงาน ประสบการณ์ และการดำเนินงานของเหล่าศิลปินแห่งชาติ ของผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงผลงานของผู้คนต่างๆ ในภาครัฐและเอกชน ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ทำทุนทางวัฒนธรรมไปสร้างคุณค่าเพิ่ม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งเศรษฐกิจและสังคม ทำอย่างไรให้สังคมรับรู้กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ให้ได้รับความรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรม โดยเน้นความภาคภูมิใจและความเป็นไทย “เราสนับสนุนสวัสดิการให้แก่ท่านศิลปินแห่งชาติด้วยในรูปแบบต่างๆ ของการดำเนินชีวิตของแต่ละท่าน”
ภารกิจใหม่ล่าสุด คุณหญิงปัทมาเป็นประธานบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยโดยมีหนังสือแต่งตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี 2566 มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเธอบอกว่า เป็นสิ่งที่ชอบ ได้ทำงานที่ชอบอย่างจริงจังซึ่งครอบคลุมงานศิลปะ 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ การแสดง การดนตรี วรรณศิลป์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป เรขศิลป์ ภาพยนตร์ และการออกแบบเครื่องแต่งกาย
คุณหญิงปัทมาบอกว่า ยังมีโครงการสำคัญๆ อีกมากมายคล้ายกับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มีโครงการและกิจกรรมมากมายในท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่และต่อยอด ทำอย่างไรให้เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะเน้นไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพิ่มมูลค่าและเน้นคุณค่าของศิลปะ
ดันไทยสู่แผนที่ดนตรีโลก
งานศิลปะที่เกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติเป็นภารกิจที่เพิ่งรับมาดูแลไม่นาน แต่งานเกี่ยวกับเรื่องดนตรีคุณหญิงปัทมาทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอเกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรีในหลายองค์กร “ขอรวมเอาทุกองค์กรที่เกี่ยวกับดนตรีมาเล่าให้ฟัง คุณพ่อ คุณแม่ของปัทมาตั้งแต่ปัทมายังเป็นเด็กแบเบาะท่านพาไปมิสซาวันอาทิตย์ที่โบสถ์ เพราะนับถือศาสนาคาทอลิก ทำให้ได้คุ้นกับบทเพลงไพเราะ” เป็นประสบการณ์คุ้นเคยในการเข้าร่วมมิสซาวันอาทิตย์และการขับร้องประสานเสียง
นอกจากนี้ ในชั้นเรียนระดับประถมถึงมัธยมคุณหญิงปัทมาได้เรียนเปียโนในทุกเวลาอาหารกลางวันและเวลาเลิกเรียนจากนักบวชคาทอลิก และซิสเตอร์ได้ผลักดันให้เธอไปทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งกับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน และทางโรงเรียนในเครือคาทอลิกทั่วประเทศ ดังนั้น ชีวิตประจำวันจึงมีดนตรีเกี่ยวข้องมาตลอด ได้แบ่งปันการร้องเพลงและการเล่นดนตรีอยู่ตลอดเวลาในทุกกิจกรรมของเด็กวัยรุ่น
คุณหญิงปัทมาได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวงดนตรีและวงขับร้องประสานเสียงโดยก่อตั้งหลายวง รวมทั้งเป็นประธาน เป็นหัวหน้าวงดนตรีหลายวงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา “ดนตรีเป็นกิจกรรมที่ปัทมาทำในยามว่าง เป็นสิ่งที่สามารถผ่อนคลายความเหนื่อยจากงานหนักในแต่ละวัน” เธอบอกว่า การได้ร้องเพลงได้ฟังดนตรีทุกวันช่วยให้ผ่อนคลาย และเมื่อมาทำงานก็เป็นโอกาสอันดีที่ได้แบ่งปัน ได้พูดคุย ได้ร่วมกิจกรรมและเสวนากับท่านศิลปินที่มีความสามารถในด้านดนตรีในหลายโอกาส ทำให้ได้ทราบชัดถึงความตั้งใจดีของท่าน ความมุ่งมั่นของท่าน ความประสงค์ของท่านที่อยากพัฒนาดนตรี ทำให้เกิดความรักจากศิลปินเหล่านั้น และทำให้ตัวเองเกิดความรักในสาขาดนตรีมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้เธอจึงให้ความสำคัญกับวงการดนตรี และได้อุทิศทำงานผ่านการเป็นประธานในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับดนตรี เช่น วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra: TPO) ซึ่งคุณหญิงปัทมาเป็นประธาน นอกจากนี้ เธอยังเป็นประธานที่ปรึกษามหาอุปรากรกรุงเทพ เป็นนายกกิตติมศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมขับร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทย และเป็นประธานกิตติมศักดิ์สมาคมครูดนตรีแห่งประเทศไทย
“ดนตรีอยู่ในชีวิตทุกวันค่ะ ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน ช่วยให้งานที่ทำในแต่ละวันผ่อนคลาย โดยมีดนตรีเป็นยาชูกำลังของตัวเอง” เธอยืนยันและว่า ดนตรีทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ มีคุณภาพ ช่วยผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า ทำให้รู้สึกมีความสุข ทำให้มีพลัง ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานหนักได้เรื่อยๆ การทำวงดนตรีเป็นงานที่รักอีกอย่าง ยิ่งได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของวงนี้มาตลอดยิ่งทำให้รู้สึกดี
“วง Philharmonic บางคนเรียกว่า Thai-land Phil บางคนเรียกว่า TPO เป็นวงที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในระดับประเทศและระดับโลก ได้รับเชิญไปแสดงในหลายประเทศทั่วยุโรป” เป็นการรับจ้างแสดงซึ่งทำให้เห็นว่านานาชาติยอมรับผลงาน ในขณะที่บางวงของบางประเทศต้องขอไปเล่นฟรีเพื่อให้ยุโรปได้ฟังการแสดงในต่างประเทศเป็นการนำวัฒนธรรมไปแบ่งปันแลกเปลี่ยน ส่วนนี้ถือว่าทางวงได้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย นอกจากนี้ วันชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งมีสถานทูตอยู่ในประเทศไทยหลายแห่งได้หันมาขอให้วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกจัดแสดงเฉลิมฉลองวันชาติ ตัวอย่าง เช่น สถานทูตอิตาลีที่จัดมาแล้วที่มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกหลายประเทศกำลังจะจัดตามมาในรูปแบบเดียวกัน คือให้ทางวงจัดการแสดงเฉลิมฉลองวันชาติ เช่น ประเทศจีน เกาหลีใต้ และฮังการี
“เราเป็นวง orchestra ขนาดใหญ่ สมาชิกกว่า 120 ชีวิต เน้นทำงานยาก งานท้าทาย ทำอย่างมืออาชีพ เรามีศิลปินกับผู้อำนวยเพลงรับเชิญที่โด่งดังระดับโลกมาร่วมแสดงอย่างต่อเนื่อง” คุณหญิงปัทมาย้ำว่า กิจกรรมและผลงานทางดนตรีเหล่านี้มีส่วนทำให้ประเทศไทยมีตัวตนทางด้านดนตรีและอยู่บนแผนที่ดนตรีโลก ทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีอารยธรรมด้านดนตรีเทียบชั้นนานาชาติ
นำกีฬาไทยก้าวล้ำสากล
จากดนตรีมาถึงกีฬา คุณหญิงปัทมาเล่าว่า กีฬาก็เช่นเดียวกับดนตรี เป็นสิ่งที่เธอคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังเด็ก “นอกจากชอบร้องเพลงและเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ปัทมายังชอบกีฬาด้วย ตั้งแต่เด็กจนทุกวันนี้ก็เล่นแบดมินตัน ว่ายน้ำ แข่งรถ ยิงปืน พายเรือคายัค พายเรือแคนู กอล์ฟด้วย” เธอเล่นกีฬาหลากหลาย เคยถูกเชิญไปแข่งรถที่สนาม Monza Circuit เมือง Milan ประเทศอิตาลี และได้เข้าร่วมแข่งรถในรายการนี้
“รักการเล่นกีฬา รักการออกกำลังกายตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาหลายๆ องค์กรเกี่ยวกับกีฬา และนำมาสู่การมีโอกาสได้เป็นผู้จัดการทีมแบดมินตันทีมชาติไทยในการแข่งขัน SEA Games 2010” โดยปีนั้นจัดขึ้นที่เมือง Guangzhou สาธารณรัฐประชาชนจีน และหลังจากนั้นอีก 2 ปี ในปี 2555 คุณหญิงปัทมาเป็นผู้จัดการทีมแบดมินตันประเทศไทยนำทีมไปแข่งขันโอลิมปิกที่ London สหราชอาณาจักร London 2012 Olympic Games ทำให้เธอใกล้ชิดกับนักกีฬา “ทำหน้าที่ตอนนั้นได้ใกล้ชิดคลุกคลีกับนักกีฬาเป็นเหมือนพี่น้องกัน ทานอาหารด้วยกัน นอนด้วยกัน ทำให้รักกีฬาแบดมินตันมากขึ้น” โอกาสที่ได้ใกล้ชิดผูกพันนี้เองนำให้คุณหญิงปัทมาก้าวสู่การเป็นนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (BAT) ตั้งแต่ปี 2556 ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกสมาคมแบดมินตันครั้งแรกถัดจากโอลิมปิกเกมส์ที่ London มา 1 ปี และยังคงเป็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
คุณหญิงนักกิจกรรมเผยว่า เวลาที่เธอทำอะไรต้องการทุ่มเทเต็มที่ทั้งแรงกาย แรงใจและทุนทรัพย์ ที่สำคัญต้องการทุ่มเทเรื่องของนวัตกรรมให้กับวงการนั้นๆ ด้วยหลักการที่ตัวเองมีอยู่ เมื่อได้มาทำจึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ให้กับ BAT ด้วยยุทธศาสตร์ 3B หรือ B ยกกำลัง 3 โดย B แรก Build World Champion, B ที่ 2 คือแบดมินตันสำหรับทุกคน Badminton for Everyone, และ B ที่ 3 คือ
Best Practice Management การบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์ ซื่อตรง
Build World Champion คือ การพัฒนานักกีฬาในทุกรุ่นตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เน้นการพัฒนาฝีมือนักกีฬาไปสู่ระดับโลกเปิดโอกาสให้นักกีฬาได้เข้าแข่งขันในรายการระดับต่างๆ เป็นเส้นทางสู่การพัฒนาน้องๆ นักกีฬา จัดการแข่งขันระดับโลกในประเทศไทยในหลายๆ ทัวร์นาเมนต์
Badminton for Everyone คือ ทำอย่างไรให้แบดมินตันเป็นกีฬาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ให้คนทั้งประเทศไทยได้เล่นแบดมินตัน โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเธอบอกว่า ใน 2 ข้อนี้ก็มีหลายมิติทั้งด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนาทักษะ ซึ่งมีรายละเอียดมาก สรุปว่าต้องทำอย่างทุ่มเทและตรากตรำมาตลอดเพื่อพัฒนาทั้งสองข้อนี้ โดยทางสมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันทุกระดับในประเทศไทย
โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดรุนแรง หลังจากโควิด-19 ระบาดรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้กิจกรรมทุกอย่างหยุดหมด ไม่มีการแข่งขันที่ไหน สปอนเซอร์ไม่มี ธุรกิจไม่มีการสนับสนุนเงิน “ช่วงโควิด-19 โลกกีฬาก็หยุดนิ่งเช่นเดียวกับทุกเซกเตอร์ในโลก คนในวงการกีฬาไม่มีรายได้ บางสหพันธ์ กีฬาโลกต้องปิดตัวลง นักกีฬาไม่มีรายได้ ทุกทัวร์นาเมนต์ ทุกกีฬายกเลิกหมด” นั่นคือสถานการณ์เลวร้ายในวงการกีฬาจากผลกระทบการแพร่ระบาด
“เราจึงเสนอไปที่รัฐบาลไทยและสหพันธ์แบดมินตันโลกขอจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศไทย โดยไทยเป็นเจ้าภาพ เอาทุกรายการโดยเฉพาะ 3 รายการใหญ่ระดับโลกเข้ามาจัดในไทย” ซึ่งเรียกว่า Super 1000 เป็นรายการแข่งขันใหญ่ที่สุด “เรากราบขอความช่วยเหลือจากภาคสาธารณสุขของรัฐบาลไทย ประสบความสำเร็จมากกลายเป็นต้นแบบไปยังทุกชนิดกีฬาทั่วโลกตอนนั้นทั่วโลกหันมามองประเทศไทยว่าจัดได้อย่างไร” จัดการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลกโดยไม่เป็นแหล่งระบาด ไม่มีการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อเลยตลอดการจัดแข่งขัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลนำเอารูปแบบการจัดงานของไทยไปเป็นต้นแบบ ไทยจึงมีชื่อเสียงเป็นต้นแบบการจัดแข่งขันที่ปลอดภัย ถูกนำไปใช้ในการจัดโอลิมปิกเกมส์ที่ Tokyo จากเดิมที่จะจัดในปี 2563 เลื่อนไปจัดในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ทำให้ทุกชนิดกีฬาทุกสหพันธ์กีฬาโลกนำการจัดแข่งขันของไทยเป็นต้นแบบในการจัดแข่งขันทั่วโลก
การจัดแข่งขันขึ้นในไทยท่ามกลางการแพร่ระบาดทำให้วงการกีฬาไม่หยุดชะงักเพราะโควิด ขณะที่นักกีฬาฝึกซ้อมมีเป้าหมายในการแข่งขัน ภาคธุรกิจเข้ามาสปอนเซอร์สนับสนุนทางด้านการเงิน ทำให้จัดได้ต่อเนื่อง และต่อยอดมาถึงปัจจุบัน โดยรายการที่ 3 เป็นรายการ World Tour Final เป็นทัวร์-นาเมนต์สุดท้ายของปี ซึ่งผลที่ได้จากการจัดแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ออกมาดูดี กลายเป็นต้นแบบให้นานาประเทศ แต่คุณหญิงปัทมาบอกว่า คนจัดต้องเตรียมการในรายละเอียดเยอะมาก
“ช่วงที่เตรียมจัดเรานอนวันละ 2 ชั่วโมง ก่อนจะถึงการแข่งขันหลายเดือน จัดแข่งขันเป็นระบบปิด ทำบับเบิ้ลทั้งโรงแรม สนามแข่งที่พักนักกีฬา ไม่ให้คนนอกเข้า มีแต่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกอย่างปิดหมด ที่ทานอาหาร ที่ฝึกซ้อม” เป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จมาก ไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเลยหลังจากเหตุการณ์ในปี 2563 ต่อมาในปี 2565 ปลายปี เมือง Guangzhou ประเทศจีนต้องจัด World Tour Final เป็นการแข่งขันทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของการแข่งขันแบดมินตันมาทั้งปี แต่เกิดการระบาด โควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นที่เมือง Guangzhou “ขณะนั้นเราอยู่ในสำนักงานใหญ่ของสหพันธ์แบดมินตันโลกที่มาเลเซีย มีข่าวเข้ามาว่ามีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาล Guangzhou ได้เอาสถานที่แข่งขันที่เตรียมไว้ไปเป็นที่พักของผู้ติดเชื้อและเตรียมยกเลิกการแข่งขัน”
ตอนนั้นที่ประชุมสหพันธ์แบดมินตันโลกเตรียมประกาศยกเลิกรายการแข่งขันนี้แล้ว แต่คุณหญิงปัทมาได้ขอร้องที่ประชุมว่า อย่ายกเลิกและขอให้จัดในไทยโดยยืนยันว่าไทยทำได้ จากนั้นไทยก็ได้จัดรายการแข่งขันนี้และเตรียมตัวด้วยเวลาอันสั้นเพียง 3 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการหาสนามแข่งขัน การจัดเตรียมรายการแข่งขันซึ่งมีรายละเอียดมาก ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกตื่นตะลึงเช่นเดียวกับเมื่อครั้ง 3 ทัวร์นาเมนต์ ในปี 2563 ว่าไทยทำได้อย่างไร ในที่สุดไทยก็ทำออกมาได้อย่างสวยงามโดยครั้งนั้นนักกีฬายอดฝีมือระดับท็อปของโลกบินมาแข่งขันที่ประเทศไทย พี่น้องชาวไทยจำนวนมหาศาลไปชมด้วยตัวเองที่สนามแข่ง เข้าแถวยาวมาก พี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านก็บินมาเข้าชมการแข่งขัน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีรายการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีมชายทีมหญิงด้วย ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพมา 2 ครั้งในรายการ Thomas & Uber Cup 2018 กับ 2022 ทำให้เห็นว่า อิมแพ็ค อารีน่าที่มีความจุ 10,000 กว่าคนแน่นเต็มทุกที่นั่ง และคนรอซื้อตั๋วแถวยาวเป็นกิโลเมตร เธอบอกว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่พี่น้องชาวไทยหันมาสนใจการแข่งขันกีฬา กีฬาอะไรก็ได้ขอให้ใช้เวลากับการกีฬาซึ่งนำไปสู่การออกกำลังกายของคนในชาติ ทั้งการออกกำลังกายปกติและการปลูกฝังให้ลูกหลานเข้าสู่เส้นทางแห่งความเป็นเลิศในฐานะนักกีฬาระดับชาติและระดับโลกสิ่งเหล่านี้อยู่ในยุทธศาสตร์ 3 ข้อที่กล่าวมา
คอนเนคชั่นระดับโอลิมปิกหลังจากทำงานด้านการกีฬามาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 คุณหญิงปัทมาได้รับเลือกเป็นกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC: International Olympic Committee) ซึ่งเป็นแม่ใหญ่ของโลกกีฬา ดูแลบริหารจัดการรับผิดชอบทุกมิติของกีฬาบนโลกใบนี้ “ปัทมาได้รับการลงคะแนนเสียงเมื่อปี 2560 ให้เป็นหนึ่งในกรรมการของ IOC ตอนนั้นมีการประชุมที่เมือง Lima ประเทศเปรู” เธอได้ทำหน้าที่กรรมการ IOC มาจนถึงปัจจุบันในฐานะกรรมการอิสระผู้ทรงคุณวุฒิด้านกีฬา ซึ่งกรรมการในกลุ่มนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้จนถึงอายุ 70 โดยไม่ต้องคัดเลือกใหม่
ปัจจุบันเธออายุ 58 ยังเหลือเวลาที่จะทำงานให้กับ IOC ได้อีกไม่น้อยกว่า 12 ปี ซึ่งเธอบอกว่า “คงทำไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องที่อยากทำ และอยากพัฒนวงการกีฬาอีกหลายอย่าง” หนึ่งในความต้องการนั้นคือ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชน Youth Olympic Games 2030 หรือ YOG 2030 ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ การจัดโอลิมปิกเกมส์ทั่วโลกจะได้รู้จักเจ้าภาพ จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว เกิดการจ้างงาน สร้างงานอย่างมหาศาลในช่วงก่อนและขณะจัดโอลิมปิก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คนทั้งในประเทศและนอกประเทศเกิดการตื่นตัว อยากมีส่วนในการจัดและการร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก ท่องเที่ยวและขนส่ง จะมีผู้ใช้บริการอย่างมหาศาล เป็นโอกาสทองในการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
“IOC ทุกวันนี้เน้นย้ำว่า ประเทศเจ้าภาพอย่าก่อสร้างสิ่งใหม่ อย่าจ้างนายหน้ามาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ให้เน้นการประหยัดงบประมาณในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ” เธอขยายความว่า การไม่ให้สร้างสิ่งใหม่นั่นหมายความว่าจะทำให้ประเทศไทยนำสนามกีฬาที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาซ่อมแซม เมื่อกีฬาผ่านพ้นไปก็จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปและเยาวชนเข้าไปใช้บริการสนามกีฬาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในด้านสังคม โอลิมปิกไปที่ไหนจะสร้างการพัฒนาสังคม สร้างการรับรู้ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ความรัก ความสามัคคี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการรับผิดชอบต่อสังคม มีการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ พัฒนาคุณภาพคนทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิด healthy and active society ซึ่งจะช่วยอย่างเป็นรูปธรรมและเมื่อคนในชาติหันมาออกกำลังกาย คนป่วยจากโรคต่างๆ ก็จะน้อยลง
รัฐบาลจจะใช้งบประมาณไปแก้ปัญหาน้อยกว่าเดิม นำงบมาใช้สำหรับการป้องปรามเมื่อคนหันมาออกกำลังกาย เล่นกีฬา สุขภาพก็จะดีขึ้นโดยรวม เยาวชนจะได้มาเรียนรู้ทักษะของชนิดกีฬาอย่างถูกต้อง และจะสามารถพัฒนาตัวเองอย่างเป็นระบบ นำมาสู่การเป็นนักกีฬาระดับอาชีพ ระดับโลกได้
นอกจากนี้ IOC ยังจัดโปรแกรม Olympic Value Education Program ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ ที่กำลังดำริจะเป็นเจ้าภาพหรือประเทศที่ด้อยโอกาสในหลากหลายรูปแบบ โดยจะสอนให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงคุณค่าของโอลิมปิก ซึ่งหมายถึงความเป็นเลิศ มิตรภาพ และความเคารพ ผ่านการเล่นกีฬา เด็กจะรู้จักการอยู่ร่วมในสังคมผ่านการรู้คุณค่า 3 ข้อนี้ ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดความรัก ความสามัคคี และสันติสุข “กีฬาคือ สะพานสร้างความสงบ สร้างสันติสุข สร้างความเจริญให้กับชุมชนทั้งระดับใหญ่จนถึงระดับท้องถิ่น”
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ YOG 2030 คุณหญิงปัทมาเผยว่า ประเทศไทยต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ต้องใช้ความพยายามมาก “ไทยได้ยื่นความจำนงไปแล้ว และได้ยื่นผลงานของประเทศไทยส่งไปเรื่อยๆ ส่วนการพิจารณาโดยปกติจะมีการตัดสินประมาณ 4 ปีก่อนจะถึง Olympic นั้นๆ” นั่นคือในปี 2026 YOG จะจัดที่ประเทศเซเนกัล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดในทวีปแอฟริกา ทั่วโลกพยายามผลักดัน “4 ปีต่อมาของ YOG ฤดูร้อน ปี 2030 พวกเราพยายามพัฒนาในทุกๆ มิติเพื่อให้ประเทศไทยถูกเลือกเป็นเจ้าภาพ”
นั่นคือความคาดหวังและทุ่มเทอีกผลงานหลักด้านการกีฬา ซึ่งคุณหญิงปัทมาลงทั้งแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์อย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน จะได้ผลเพียงใดคงต้องติดตาม แต่โดยส่วนตัวแล้วคุณหญิงปัทมามีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถพิเศษคือ สามารถพัฒนาตัวเองในขั้นกว่าไปอีกไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คือเร็วขึ้น สูงขึ้น แข็งแกร่งขึ้น faster higher and stronger together และการกีฬาคือ การสร้างมิตรภาพ (friendship) เมื่อไปแข่งขันกีฬาที่ไหนทุกคนทุกภาคส่วนคือ “เพื่อน” การได้เจอและแข่งขันในครั้งแรกก็คือเพื่อนใหม่ คู่แข่งขันหลังแข่งขันจบแล้วก็คือเพื่อนรัก นักกีฬาเดียวกันจะมีความผูกพันกันเป็นพิเศษ
ประการสำคัญ กีฬาทำให้คนเคารพซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความเคารพ ทำให้คนเคารพกฎของกีฬา กฎกติกามารยาท เคารพกรรมการที่ควบคุมการแข่งขัน เคารพไปถึงการฝึกซ้อม ผู้ฝึกสอน เมื่อเรามีความเคารพในจิตใจ เคารพระเบียบของสังคมชุมชน เคารพกฎหมายของประเทศชาติ เคารพผู้มีพระคุณ กตัญญูต่อพ่อแม่ เคารพผู้ฝึกสอน ครูอาจารย์ที่โรงเรียน เคารพคนทั้งหลายที่ดีกับเรา สังคมก็จะน่าอยู่ อยากให้กีฬาสร้างคน เพราะแค่ 3 คำนี้ ความเป็นเลิศ มิตรภาพ และความเคารพ ยิ่งหากลงลึกในรายละเอียดจะเห็นว่า กีฬาเป็นครูสำคัญที่จะสอนเยาวชนจะทำให้เกิดผลที่ดีมีอิทธิพลต่อสังคมและจับต้องได้
ก่อนจบการสัมภาษณ์ภายในเวลาเพียงสั้นๆ คุณหญิงปัทมายังได้เล่าประสบการณ์ล่าสุดที่ได้มาจากคำว่า “เพื่อน” จากการทำงานให้ IOC มาหลายปี กรณีที่ประเทศไทยจะไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2023 ได้เนื่องจากงบประมาณไม่พอ เธอได้รับการร้องขอจากภาครัฐให้ช่วยเจรจากับประธานฟีฟ่าเพื่อขอให้ช่วยเหลือ ในที่สุดด้วยความที่เป็นเพื่อนกันทำให้ไทยได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด ทำให้คนไทยได้ชมฟุตบอลโลกปีนี้แม้จะมีงบประมาณจำกัด นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของคอนเนคชั่นและคำว่า “เพื่อน” ที่คุณหญิงปัทมาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จากความตั้งใจ จากผลงาน และความมุ่งมั่น ยังมีอีกหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่สุภาพสตรีผู้นี้ทำให้กับสังคมด้วยความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ด้วยพลังความสามารถและเจตจำนงที่ชัดเจน
อ่านเพิ่มเติม : ธีระชัย พงศ์พนางาม SAV เปิดน่านฟ้ากัมพูชา