คมสันต์ ลี “Flash Express” บุกอาเซียน - Forbes Thailand

คมสันต์ ลี “Flash Express” บุกอาเซียน

    ยูนิคอร์นรายแรกของไทยที่ประกาศตั้้งแต่เริ่่มธุรกิจเมื่่อปี 2561 ว่า ต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอี-คอมเมิร์ซโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้หลังสร้างรากฐานในประเทศอย่างแข็งแกร่งแล้ว ปลายปี 2564 “Flash Group” เริ่่มรุกสู่อาเซียน ปัจจุบัน ให้บริการธุรกิจขนส่งใน 3 ประเทศ และธุรกิจคลังสินค้าใน 5 ประเทศ

    จากรายได้ 46 ล้านบาทเศษในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการทำธุรกิจ ขยับมาเป็น 2,122.85 ล้านบาทในปีถัดมา ผ่านไปเพียง 5 ปี ล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และสิ้นปีนี้บริษัทจะมีมูลค่าเฉียดแสนล้านเดือนเมษายน ปี 2566 คมสันต์ ลี ประธาน กรรมการบริหาร แฟลช กรุ๊ป และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ยืนยันว่า ปีนี้บริษัทมีกำไรแล้ววันที่ให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand เขาเพิ่งกลับจากต่างประเทศไม่นาน หลังให้สัมภาษณ์ 3 วันก็มีคิวเดินทางไปฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่ง “แฟลช กรุ๊ป” เปิดสาขาอยู่ที่นั่น “ช่วงนี้เดินทางบ่อย เหนื่อยครับ”



    “ผมก่อตั้ง Flash ตอนอายุ 26 ปี ตอนทำขนส่งระหว่างประเทศ มันเป็นแค่เทคนิคการเจรจาสายการบิน clearing เจรจาคู่สัญญาไม่ได้ซับซ้อนเหมือนปัจจุบัน เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ว้าว! เป็นบทเรียนทั้งนั้น” ผู้บริหารหนุ่มวัย 31 ปีที่มีบุคลิกเรียบง่ายเป็นกันเองพูดด้วยน้ำเสียงนิ่มๆ ไม่ว่าจะถามเรื่องอะไรเขาตอบทุกคำถามอย่างชัดเจน ประเด็นไหนที่ไม่อยากให้เป็นข่าวก็ยังเล่าให้ฟัง เพียงแต่กำชับไว้ตอนท้ายว่า อย่าเขียนถึง

        คมสันต์ใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เพราะครอบครัวลำบากทำให้ทะเยอทะยาน โดยเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ระหว่างเรียนเปิดร้านขายของชำหน้าหอพัก นำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อขายให้นักศึกษาจีน และจัดส่งอาหารสดให้กับร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัย รวมทั้งรับจ้างดูแลบริษัทซึ่งทำธุรกิจค้าทรายและหิน และสามารถแก้ปัญหาให้กับเจ้าของจากกิจการที่ขาดทุนพลิกกลับมากำไร รวมทั้งเป็นครูสอนภาษาจีนด้วย

    หลังเรียนจบปริญญาตรีเขาทำงานหลายประเภท ความที่พูดภาษาจีนคล่องจึงเป็นตัวแทนขาย/ให้เช่าบ้านและคอนโดฯ แก่ชาวจีน ทำธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการคนจีน เคยเปิดโรงแรม 3-4 แห่ง รวมทั้งร้านอาหาร ก่อนจะมาทุ่มเทสุดตัวกับธุรกิจขนส่ง โดยควักเงินเก็บ 400 ล้านบาทหวังสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ กระทั่งปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์อันดับต้นๆ ในประเทศ

    “ตอนจะลงทุนผมขายกิจการอื่นๆ ทั้งหมดรวมทั้งโรงแรมที่เชียงใหม่ ผมค่อนข้างพเนจร เป็นคนเชียงราย ไปเรียนลำปาง ค้าขายที่เชียงใหม่ และมาเติบโตที่กรุงเทพฯ” เขาแนะนำตัวเองไว้อย่างนั้น


E-Commerce ครบวงจร


    คมสันต์ตั้ง บจ. แฟลช เอ็กซ์เพรส ปี 2560 และเริ่มดำเนินธุรกิจในอีก 1 ปีต่อมาจากพนักงานจำนวนไม่กี่ร้อยคน ปัจจุบันมีพนักงานประจำกว่า 60,000 คน และภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้พนักงานจะแตะหลักแสนคน “ธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจบริการ ยังไงต้องใช้คนเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างผู้บริโภคและผู้ขาย”

    ช่วงแรกลูกค้าของแฟลชฯ 90% เป็นธุรกิจ SME ขายผ่านช่องทาง Facebook, LINE, Instagram แบบ B2B และ B2C ต่อมาจึงทำงานร่วมกับ Lazada และ Shopee นอกจาก บจ. แฟลช เอ็กซ์เพรส ซึ่งให้บริการด้านขนส่งด่วนแล้ว ภายใต้ร่มเงาของแฟลช กรุ๊ป ยังมีอีกหลายสิบบริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจครอบคลุมบริการอี-คอมเมิร์ซอย่างครบวงจร เช่น โลจิสติกส์ (Flash Logistics) ที่ให้บริการรับส่งสินค้าขนาดใหญ่, คลังสินค้าครบวงจร (Flash Fulfillment) และบริการด้านการเงิน (Flash Money/Flash Pay)

    แม้บริษัทจะมีอายุเพียง 5 ปี ทว่าแต่ละปีเติบโตด้วยอัตราเร่งสูงมาก เป็นขนส่งเอกชนสัญชาติไทยรายแรกที่ก้าวสู่ยูนิคอร์นระดับสากล ที่ต้องบันทึกไว้คือ เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรม กล่าวคือ เป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มนโยบายรับพัสดุฟรีถึงหน้าบ้าน และให้บริการตลอด 365 วัน

    หลายปีมานี้คนไทยคงคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ มีไรเดอร์จัดส่งสินค้า ทว่า “แฟลช เอ็กซ์เพรส” วางตัวเองว่าเป็น tech company คมสันต์ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและ AI เพื่ออำนวยความสะดวก และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ บริษัทมีพนักงานด้านเทคโนโลยีกว่า 400 คน จ่ายค่าจ้าง 70-80 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งยังลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องปีละมากกว่า 1.5 พันล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่นอกจากธุรกิจขนส่งแล้วยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับบริการอี-คอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น “Flash AI” ซึ่งให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี 4 ชนิด ได้แก่ การรู้จำใบหน้าซึ่งช่วยตรวจสอบว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ เหมาะสำหรับการสแกนใบหน้าเพื่อเข้า-ออกงานแทนการตอกบัตรหรือใช้รหัสตัวอักษร การรู้จำข้อความโดยแปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นไฟล์ข้อความโดยอัตโนมัติ

    การรู้จำภูมิศาสตร์โดยการจำข้อมูลที่อยู่และแปลงออกมาเป็นพิกัด ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งบริษัทนำมาใช้ประมวลผลเส้นทางการขนส่งพัสดุไปยังผู้รับได้อย่างรวดเร็ว การรู้จำเสียงพูดและแปลงออกมาเป็นตัวอักษร สามารถแปลงไฟล์เสียงภาษาอังกฤษและภาษาไทย รวมถึงการให้บริการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างซอฟต์แวร์


    “คลังสินค้าครบวงจร” เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563 เป็นคลังสินค้าอัจฉริยะแห่งแรกในไทย มีจุดแข็งด้านการบริการอย่าง pick-pack-ship อันเป็นรูปแบบใหม่ของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อใช้บริหารจัดการ ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าคลัง การจัดเก็บสินค้าภายในคลัง การจัดเก็บข้อมูล การจัดการออร์เดอร์ การแพ็กกิ้งตามความต้องการของลูกค้า

    การจัดส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งสินค้าของบริษัท รวมถึงพันธมิตรขนส่งรายอื่นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดเก็บข้อมูลและเชื่อมต่อด้วยระบบ API ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะและจำนวนสินค้าภายในคลังได้แบบเรียลไทม์

    จุดเด่นคือ มีการนำหุ่นยนต์ (robot) ซึ่งพัฒนาร่วมกับบริษัทในจีนมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารภายในคลังสินค้า ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้รองรับปริมาณสินค้าหมุนเวียนเข้า-ออกของลูกค้าได้ถึงหลักแสนออร์เดอร์ต่อวัน เป็นคลังสินค้าแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่ไม่ใช้แรงงานคนเลย

    “คลังสินค้าทั่วไปพนักงาน 1 คน ทำได้ 100 ออร์เดอร์ใน 1 วัน ถ้าใช้ robot 1 ตัวทำได้ 300-500 ออร์เดอร์ต่อวัน เครื่องจักร 1 ตัวสามารถยกสินค้า 1.5 ตัน robot ช่วยเคลื่อนย้ายสินค้า หยิบสินค้าแล้วนำเข้าเชลฟ์ ลดระยะการเดินทาง การหีบห่อรวมถึงความแม่นยำ 

    ตอนนี้เพิ่งมีคลังแรกที่บางเสาธง จำนวน 68 เครื่อง หลังจากใช้ในประเทศไทยแล้วจะขยายไปต่างประเทศด้วย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเขาอธิบายถึงข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ว่าคลังสินค้าทั่วไปต้องใช้คนเดินหาสินค้า ทว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นคลังอัจฉริยะเท่ากับสินค้าเดินทางมาหาคน ทั้งการโยกย้าย จัดเรียงสินค้า ทำให้ประสิทธิภาพการห่อและจัดวางสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เพราะไม่ต้องเดินไปหาสินค้าชิ้นนั้นๆ เช่น คลังมีพื้นที่ 15,000 ตร.ม. เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางนับไม่ถ้วนเพื่อห่อสินค้าและจัดส่งผู้บริโภค แต่แฟลชให้สินค้าเดินทางมาหาพนักงาน ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสะดวกสบายขึ้น

    ลูกค้าหลักมี 2 กลุ่ม คือ B2B, B2C และลูกค้าในกลุ่มมาร์เก็ตเพลส เช่น Lazada, Shopee และกลุ่มลูกค้า Facebook Live, TikTok ส่วนธุรกิจการเงินปีที่ผ่านมา Flash Pay (เปรียบเสมือนอี-วอลเล็ต) มีธุรกรรมมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Flash Money เป็นการให้บริการเงินกู้แก่คู่ค้าในระบบ-นิเวศของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นคนขับ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดี


2 ธุรกิจในต่างประเทศ


    แฟลช กรุ๊ป เปิดตัวสู่ต่างประเทศช่วงปลายปี 2564 จากการดำเนินธุรกิจ 2 ประเภทคือ 1. ขนส่ง (แฟลช เอ็กซ์เพรส) เปิดให้บริการที่ สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย 2. คลังสินค้าครบวงจร ให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สปป.ลาว, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

    ส่วนเกณฑ์การเลือกว่าจะไปลงทุนประเทศใดมาจาก 4 ปัจจัยคือ 1. ตลาดมีโอกาสเติบโตหรือไม่ ความต้องการใช้บริการ หรือการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซสูงแค่ไหน 2. อุตสาหกรรมนี้มีผู้ให้บริการกี่ราย pain point คืออะไร อะไรที่เขาทำได้ดีแล้วหรือยังขาด จุดแข็งของบริษัทที่จะเข้าตลาดนี้ได้ 3. คู่ค้าและพันธมิตร ต้องหาพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณ และมีวิสัยทัศน์เดียวกัน 4. เงินลงทุนในประเทศนั้นๆ บางประเทศมีการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซแต่ขนาดยังเล็ก ผลตอบแทนไม่คุ้มทุนก็ไม่ไป

    “โชคดีที่ประเทศที่ Flash ไปแล้วล้วนประสบความสำเร็จ” ถามว่า ทำไมบางประเทศจึงมีแต่ธุรกิจคลังสินค้า คมสันต์อธิบายว่า ธุรกิจขนส่งมีข้อจำกัด ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก



    “ทุกประเทศที่เราไปไม่มีประเทศไหนมีพนักงานต่ำกว่า 10,000 คน เท่ากับว่าก่อนเปิดบริษัทต้องเตรียมผู้บริหารและทีมงานซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย...ธุรกิจคลังสินค้าเปิดง่ายกว่า เพราะจำกัดแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และสามารถขยายเป็นแห่งที่ 1-2-3 ตามความต้องการลูกค้า ส่วนเจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีก็ copy จากไทยไปใช้ได้ทันที นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปิดธุรกิจคลังสินค้าเร็วกว่าธุรกิจขนส่ง”

    เมื่อเอ่ยถึงคลังสินค้าในภาพจำของเราคือสถานที่จัดเรียงรายด้วยสินค้า แต่แฟลชมีบริการมากกว่านั้น นอกจากการจัดเก็บ-พักสินค้าแล้ว ยังดูแลสต็อก เช็กวันที่หมดอายุ รวมถึงความปลอดภัยของสินค้า ประการสำคัญคือ ทุกครั้งที่มีการขายบริษัทจะเป็นผู้หยิบสินค้าใส่กล่องตามออร์เดอร์ นำมาห่อ และจัดส่งถึงมือผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ธุรกิจคลังสินค้าแบ่งเป็น 2 แบบคือ ธุรกิจ


    อี-คอมเมิร์ซแบบแพลตฟอร์มและไลฟ์สด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ เนื่องจากผู้ขายเริ่มเปลี่ยนวิธีการขาย จากการวางสินค้าในเชลฟ์ออนไลน์มาเป็นไลฟ์ขายสินค้า เพราะขายได้จำนวนมากกว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมงขายได้เกือบ 100 ชิ้น ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าจากอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มและลูกค้าจากการไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลคิดเป็นสัดส่วน 70/30 แต่เขาเชื่อว่าจากเทรนด์ที่เป็นอยู่ขณะนี้คาดว่าไม่เกิน 1 ปีสัดส่วนจะกลายเป็น 50/50 เพราะการไลฟ์ 1 ครั้ง มียอดซื้อมากกว่าการขายบนอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม 1 ครั้ง และแฟลชก็ต้องปรับตัวตามลูกค้าเช่นกัน

    “เราโตจาก B2C ซึ่งเป็นผู้ค้ารายย่อยจาก Facebook, Instagram วันหนึ่งเราไปให้บริการลูกค้าแพลตฟอร์ม Lazada, Shopee ต้องปรับตัวเองจากผู้ขายรายย่อยเป็นผู้ขายรายใหญ่ทันที จากเดิมการบริการเป็นแบบ one by one ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของลูกค้ารายนั้นๆ ได้ พอเป็นลูกค้ารายใหญ่เซ็นสัญญา 1 สัญญา บริการลูกค้านับหมื่นราย ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เราต้องปรับภายในเอง”



จากสตาร์ทอัพสู่มืออาชีพ


    คมสันต์วางแผนว่า ตั้งแต่ปี 2565 ถึงเวลาแล้วที่แฟลช เอ็กซ์เพรส จะก้าวข้ามจากบริษัทสตาร์ทอัพสู่บริษัทมืออาชีพระดับสากลด้วย เหตุผลต่อไปนี้

        1. ที่ผ่านมาผู้ร่วมงานส่วนใหญ่มักเป็นผู้สร้างไปบุกเบิกตลาดใหม่ๆ จากพนักงานไม่กี่ร้อยราย ตอนนี้มีมากกว่า 60,000 รายแล้ว (รวมต่างประเทศ)

        2. บริษัทเริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศมากขึ้น การไปตลาดต่างประเทศมีกฎเกณฑ์ มีการแข่งขันไม่เหมือนกัน 

        3. มีเพื่อนร่วมงานมาจากหลายประเทศมากขึ้น ทำให้ได้ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในองค์กร มีการเทรนนิ่ง

    “เนื่องจาก Flash เป็นบริษัทในไทย สัญชาติไทย เรายังมีความเป็นไทย มีวิธีการทำงานแบบไทยๆ เมื่อจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และทำให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มากขึ้น ทีมบริหารแบ่งเป็น 2 ส่วน...เดิมบริษัทมีแค่พนักงานชาวจีนและไทย พนักงานที่เป็นชาวจีนรับผิดชอบ R&D และเทคโนโลยีเป็นหลัก ส่วนพนักงานไทยดูเรื่อง operation ประสบการณ์ การตลาด แต่วันนี้มีคนจากประเทศอื่นๆ มาร่วมงานมากขึ้น คนยุโรปเริ่มมาทำงานกับเรา ทำให้มีทีมบริหารที่มี international view รู้จักหลักสากลมากขึ้น”


    แม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ 1 ชั่วโมง ทว่าผู้บริหารหนุ่มตอบครบทุกคำถามตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแฟลช กรุ๊ป จึงเติบโตและวางรากฐานได้อย่างมั่นคงภายในเวลาไม่กี่ปี เมื่อเอ่ยถึงตอนนี้เขาอธิบายว่า

    “ธุรกิจขนส่งคือการวิ่งผลัด ไม่ใช่คนหนึ่งจับไม้แล้ววิ่งรอบสนาม 1 รอบ ไม่ใช่การวิ่งมาราธอน แต่คือการวิ่งผลัด ทุกๆ ครั้งที่เราส่งต่อต้องเป็นการส่งต่อที่ถูกต้อง แม่นยำ คนที่รับมือต่อจากเราถึงจะส่งต่อได้แม่นยำไปเรื่อยๆ ได้ ถ้าพลาดห่วงใดห่วงหนึ่ง ทั้งห่วงถือว่าล้มเหลวผิดพลาดทั้งหมด การจัดส่งพัสดุก็เช่นกัน ถ้ารับจากบ้านผู้บริโภคผิดตั้งแต่ต้นทาง ปลายทางก็ผิดแน่นอน ธุรกิจขนส่งต้องมีความชำนาญ แม่นยำ และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ

    “สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจทำตั้งแต่วันแรกและมีความสำคัญคือ ต้องการให้ราคาเป็น economy class แต่บริการระดับ first class แม้บริการได้รับการปรับเปลี่ยนยกระดับ เราลงทุนเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น แต่ไม่เคยขึ้นราคา มีแต่ปรับราคาลดลง”

    อย่างไรก็ดีเมื่อแฟลชตกลงใจจะเปิดตัวสู่ต่างประเทศ น่าสังเกตว่าประเทศแรกที่ผู้บริหารหนุ่มเลือกคือ สปป.ลาว ทั้งที่จำนวนประชากรไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน “แฟลช ลาว” เปิดให้บริการปลายปี 2564 โดยเริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์

    “แฟลช ลาว” เป็นความร่วมมือระหว่าง แฟลช เอ็กซ์เพรส กับ AIF Group Laos เปิดให้บริการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ ทั้งนี้ AIF Group เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใน สปป.ลาว มีพนักงานมากกว่า 3,000 คน ใน 17 ประเทศ ธุรกิจหลักของกลุ่ม อาทิ บริการด้านการธนาคารและการเงิน สาธารณูปโภคด้านพลังงาน การก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริการอี-คอมเมิร์ซ โทรคมนาคม และเทคโนโลยี

    “เราเลือกไปลาวก่อนประเทศอื่นเหตุผลคือ ยังไม่มีประสบการณ์ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ การจะลงทุนเงินมหาศาลในต่างประเทศมีความเสี่ยง เพราะไม่รู้กฎหมาย วัฒนธรรม ไม่รู้จักเพื่อนร่วมงานว่าอยู่ร่วมกันดีหรือเปล่า เราจึงเลือกลาวเป็นประเทศต้นแบบเพื่อลองผิดลองถูก ประการสำคัญคือ ไทยกับลาวเป็นเพื่อนบ้านกัน สินค้าส่วนใหญ่ของไทยถูกขายไปยังลาว ผู้บริโภคลาวชอบสินค้าไทย”

    ผู้บริหารหนุ่มมองว่าความใกล้ชิดระหว่างคนไทยและคนลาวคือโอกาส ทว่าในภาคปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากที่คิดว่าเซ็ตระบบไว้ดีแล้ว บริการของบริษัทตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยก็น่าจะตอบโจทย์เพื่อนบ้านด้วย ทว่าสิ่งที่พบคือ พฤติกรรมการบริโภคของคนลาวแตกต่างจากคนไทย

    “เราคิดว่าเพื่อนชาวลาวซื้อสินค้าต้องผ่านออนไลน์ จริงๆ คือคนส่วนใหญ่ยังนั่งรถยนต์มาหนองคายซื้อสินค้าแล้วหิ้วกลับไปเลย กลายเป็นว่าจากเดิมที่เราจะเน้นออนไลน์ต้องเน้นออฟไลน์มากขึ้น และการที่เราไปรับพัสดุฟรีถึงหน้าบ้านเพื่อให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่คนลาวชอบเดินทางมาที่สาขาเอง เพราะเวลา flexible มากกว่า อยากมาก็มาได้เลย ไม่ต้องรอคนมาส่งถึงหน้าบ้าน”

    บทเรียนจากลาวทำให้เขาต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้และนำมาปรับใช้เมื่อแฟลชต้องเดินทางไปยังประเทศอื่น เช่น พฤติกรรม

    ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เป็นอย่างไร ความคาดหวังการยอมรับในบริการ วิธีการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นต้น



ขึ้นแท่น Top 3


    ผู้ก่อตั้งแฟลช เอ็กซ์เพรส มองว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ข้อมูลปี 2565 ระบุว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 89.6% ของจำนวนประชากร ส่งผลให้มีปริมาณการใช้อี-คอมเมิร์ซสูงขึ้น ผู้บริโภคมาเลย์โดยเฉลี่ย 45% มีปริมาณการใช้จ่ายออนไลน์สูงขึ้นถึง 65% นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังมีนโยบายสนับสนุนการค้าออนไลน์ อาทิ Malaysia Digital Economy Blueprint หรือแผนพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียระยะ 10 ปี ที่ใช้เป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงมาเลเซียไปสู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรายได้สูง

    นอกจากบริการด้านขนส่งแล้ว “แฟลช มาเลเซีย” ยังมีบริการอื่นๆ อาทิ การให้บริการด้านซัพพลายเชน บริการทางการเงิน บริการเทคโนโลยี (Flash AI) เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์และมาเลเซียซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเพียง 1 ปีเศษ ทั้งสองประเทศมีผลตอบรับที่ดีและคาดว่าจะกลายเป็นบริษัทขนส่งติดอันดับ top 3 ภายในสิ้นปี 2566

    “มาเลเซียมีพนักงานมากกว่า 7,000 ราย เร็วๆ นี้จะทะลุ 10,000 ราย สิ้นปีเป็น top 3 และน่าจะ break even ได้ ที่มาเลเซียใช้เวลา 2 ปี ถือว่าเติบโตค่อนข้างมาก ส่วนฟิลิปปินส์มีประชากรเยอะ การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ทำให้ธุรกิจขนส่งได้รับการยอมรับ ความต้องการสูงขึ้น Flash ใช้เวลาปีกว่าเช่นกัน ปลายปีเป็น top 3 ตอนนี้มีพนักงาน 15,000 ราย”

    ปลายปีที่ผ่านมา แฟลช เอ็กซ์เพรส ยังประกาศตัวว่าเป็น regional logisticspartner กับ TikTok Shop แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ โดยเป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุภายใน TikTok Shop เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าบนแพลตฟอร์มด้วยคอนเซ็ปต์บริการแบบ Door to Door Service เข้ารับพัสดุฟรีถึงที่ตั้งแต่ชิ้นแรก และเปิดให้บริการ 365 วัน

    แม้จะขยายกิจการไปยังต่างประเทศแต่รายได้หลักมาจากการให้บริการในประเทศไทย และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี


    “ถ้าดูจากผลประกอบการของ Flash Express ไทยเป็นอันดับ 1 ส่งสินค้ามากกว่าวันละ 2 ล้านกล่อง แต่ประเทศที่เติบโตและมี potential มากสุดคือ ฟิลิปปินส์ มีการเติบโตอี-คอมเมิร์ซอันดับ 1 เราส่งพัสดุหลักแสนกล่องต่อวัน ตั้งใจว่าปลายปีจะเป็นล้านกล่อง ส่วนมาเลย์เติบโตในเกณฑ์กำลังดี ไม่หวือหวาเท่าไทยหรือฟิลิปปินส์ แต่โครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อมมาก ทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแรงไม่ swing มาเลเซียประชากรไม่เยอะ แต่การบริโภคไม่น้อยกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะปริมาณการบริโภคต่อคน” และว่า

“บรูไนไม่ง่าย แคมโบเดียไปไม่ได้ เมียนมาร์ไปไม่ได้ ตลาดเล็กจริงๆ กว่าจะลงโครงสร้างพื้นฐานเสร็จไม่ต่ำกว่า 5 ปี...เวียดนามใช้ได้ แต่เราจะมีดีลใหญ่สิ้นปี”


นอกจากประเทศข้างต้น จะไปลงทุนเพิ่มที่ประเทศไหนบ้าง คมสันต์ตอบว่า “พูดไม่ได้ เจ้าถิ่นจ้องเราอยู่ ถ้าแจ้งข่าวก่อน โดนรับน้องเยอะ มีบทเรียนมาแล้ว ทุกประเทศล้วนมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นเจ้าถิ่นอยู่แล้ว เราเข้าไปด้วยความเป็นมิตร แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับเราด้วยความเป็นมิตร” คมสันต์กล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่มๆ ไม่มีท่าทีโกรธขึ้งต่อการถูกรับน้องแต่อย่างใด
ตัวอย่าง “การรับน้อง” เช่น ทำหน้าที่แทนหน่วยงานรัฐแจ้งปัญหาหรืออื่นๆ แน่นอนว่าย่อมทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ กระนั้นก็ตาม เขาบอกว่านี่เป็นเรื่องดี เพราะการที่เราเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ต้องเคารพกฏกติกาและให้ผลประโยชน์ประเทศนั้นเป็นตัวตั้ง

“สำคัญสุดคือเราเป็นผู้สร้างอุตสาหกรรมไม่ใช่ทำลาย คนอยู่ในอุตสาหกรรมจะเห็นว่าเรากำลังมาร่วมพัฒนาให้ดีขึ้น แข็งแรงมากขึ้น มีมาตรฐาน ทุกคนได้กำไร หลังจากที่เราวาง position แบบนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้ประกอบการด้วยกันเอง ผู้บริโภคยอมรับเรามากขึ้น”

ปัจจุบันในประเทศฟิลิปปินส์มีบริษัทขนส่งหลักพันราย กระจายตามอยู่ต่างจังหวัด ชุมชน แต่บริษัทที่ทำได้ครบวงจร เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่มีประมาณ 10 ราย

นอกจากธุรกิจขนส่งที่เปิดให้บริการใน 4 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ภายใน 1-2 ปี จะให้บริการเพิ่มอีกหลายประเทศ รวมทั้งจะขยายไปสู่บริการอื่นๆ ที่มีในประเทศไทยด้วย
“ข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่สำหรับบริษัทลักษณะนี้จะหายไป แต่จะไปได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เราเชื่อว่าจะสามารถขยายไปยังเอเชีย ละตินอเมริกา รวมถึงยุโรปได้”

ส่วนที่ว่าจะเป็นการลงทุนเองทั้งหมดหรือร่วมทุน ผู้บริหารหนุ่มตอบว่าขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศ แต่ส่วนตัวต้องการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย

“การแข่งขันในต่างประเทศ แม้ท้าทายกฎเกณฑ์ วัฒนธรรม แต่การแข่งขันน้อยกว่าไทยมหาศาล เนื่องจากผู้เล่นล้วนเป็นคนประเทศนั้นๆ ไม่เหมือนประเทศไทยที่มีผู้เล่นเป็น international มากกว่า 5 แบรนด์”

นอกจากนี้ “แฟลช กรุ๊ป” ยังเปิดสำนักงานที่สิงคโปร์เพื่อให้บริการลูกค้ารายใหญ่ๆ ถามว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ คมสันต์ตอบแบบเน้นเสียงว่า “ไม่ไปไม่ได้เลย” เหตุผลคือเป็นที่ตั้งของเฮดออฟฟิศ ติ๊กตอก ชอปปี้ ลาซาด้า ก็อยู่ที่นี่ เวลานัดประชุมสามารถเดินข้ามตึกไปพบ หรือนัดกันวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่ค้า


นักลงทุนวางใจ


เมื่อแรกตั้งบริษัทคมสันต์ใช้ทุนตัวเอง 400 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรันธุรกิจ หลังระดมทุนรอบซีรีส์ D ไม่นานก็ระดมทุน ซีรีส์ D+ และซีรีส์ E เพื่อเป็นทุนสำหรับเปิดสาขาที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าการเปิดสาขาที่ฟิลิปปินส์ต้องใช้ทุนไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท
การระดมทุนรอบซีรีส์ D+ กลางปี 2564 ได้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ คือ SCB 10X บจ.จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง ส่วนซีรีส์ E มี Buer Capital กลุ่มทุนจากสิงคโปร์, SCB 10X สนับสนุนทั้งซีรีย์ D+ และ E รวมทั้งผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บมจ. ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก (OR), บจ.เดอเบล (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บจ.กรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ที่ลงทุนเพิ่มในซีรีส์ E ทำให้ Flash Group ระดมทุนได้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

การระดมทุนรอบล่าสุดซีรีส์ F เดือนธันวาคม 2565 เป็นเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ผู้ร่วมทุนเป็นกองทุนต่างประเทศ และผู้ถือหุ้นรายเดิม

อะไรทำให้นักลงทุนมั่นใจ? คำตอบจากผู้บริหารหนุ่มคือ “หนึ่ง-แฟลชได้กำไรและอยู่รอด สอง-อุตสาหกรรมยังเป็นที่ต้องการของตลาด มีการเติบโตต่อเนื่อง สาม-เรามี position ในตลาดค่อนข้างดี ขยายไปต่างประเทศอีกด้วย ทำให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น”



ทั้งนี้ปี 2564 แฟลช กรุ๊ป มีกำไรแล้ว ก่อนจะมาสะดุดลงในปีต่อมาเนื่องจากการระบาดของโควิด
“ปี 2021 เป็นปีแรกที่เราได้กำไร เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ผู้ลงทุนเห็นว่าองค์กรของเราประสบความสำเร็จ อยู่ได้ด้วยตนเอง แต่ปี 2022 ไม่ง่าย เพราะค่าน้ำมัน ค่าเชื้อเพลิงเพิ่มสูงมาก ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุน อีกส่วนที่สำคัญคือต้นทุนการดูแลรักษาเพื่อนร่วมงาน ช่วงโควิดมีเพื่อนร่วมงานติดโควิดมากกว่า 7,000 คน เราให้เขาพักผ่อนเพื่อดูแลตัวเอง และต้องจ้างคนงานใหม่อีก 7,000 คนเพื่อทำงานแทน เป็นต้นทุน ปี 2022 รายได้ยังไม่ออกประมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน ส่วนปี 2023 เรามั่นใจว่ากำไรแล้ว”

“จริงๆ การขาดทุนหรือกำไร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใน 1 วันหรือ 1 เดือน อย่างการขาดทุนเดือนละ 5 ล้าน เหลือ 4 ล้าน 1 จนได้กำไรวันนี้ การขาดทุนของพวกเราช่วงสูงสุดเดือนกรกฎาคมปี 2022 เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจนได้กำไร”

ปัจจุบันรายได้หลักของแฟลชกรุ๊ปมาจากในประเทศไทย เทียบกับสาขาในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 70/30 แต่เขาตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าสัดส่วนจะกลายเป็น 50/50 เมื่อถึงวันที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคมสันต์แพลนไว้ว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จากประเทศไทยจะลดลงเหลือไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ ส่วนที่ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือต่างประเทศนั้น ผู้บริหารหนุ่มมีคำตอบที่ชัดเจนในใจ และให้คำตอบกับทีมงาน Forbes Thailand แล้วเช่นกัน เพียงแต่เขาบอกว่าตอนนี้ยังไม่สะดวกที่จะให้เป็นข่าว
ที่แน่ๆ คือปีนี้และปีหน้าจะมีดีลใหญ่ระดับภูมิภาค และมูลค่าของบริษัทจะทะลุ 1 แสนล้านแน่นอน โปรดอดใจรอ

“เราอยู่ใน position ที่ดี เพราะมีผู้ลงทุน สปอนเซอร์ มีตลาดที่ค่อนข้างแข็งแรง (กิจการ) ในไทยกำไรแล้ว วันนี้อาจยังไม่ดีสุดในการเข้าตลาด เรามีโอกาสทำให้ธุรกิจเติบโตมากกว่านี้ได้ แต่ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของแฟลช เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ผู้ลงทุน แต่ทีม co-founder ยังต้องขยาย ต้องทำงานต่อ”

“ช่วงเริ่มต้นทุกคนคิดว่าหากวันหนึ่งประสบความสำเร็จแล้วจะเป็นไง ถ้าลงมือทำแล้วสิ่งที่คุณคิดมากสุดไม่ใช่การประสบความสำเร็จ แต่จะคิดว่าพรุ่งนี้ควรทำอะไร ส่วนตัวได้รับการหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ถามว่าวันนี้ผมเห็นภาพ 5-10 ปีว่าจะเติบโตหรือใช้ชีวิตแบบไหน ผมตอบไม่ได้ ตอบได้เพียงว่าเติบโตพร้อมกับองค์กร และพร้อมเปลี่ยนแปลงไปกับองค์กรได้ทุกสถานการณ์

ถามว่าด้วยประเภทธุรกิจที่มีอยู่ขณะนี้ ถือว่าครบวงจรของบริการอี-คอมเมิร์ซตามความตั้งใจหรือยัง เขาตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ได้ยินคำตอบนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าบริษัทมีบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดิมไม่มีธุรกิจไลฟ์แต่ธุรกิจนี้ได้รับความนิยม บริษัทก็เพิ่มเข้ามาเพื่อตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภค

“ความฝันของเราตั้งแต่วันแรกยังเหมือนเดิม นอกจากสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้ดีขึ้นแล้ว แฟลชฯ ยังเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจและโอกาสของภูมิภาคนี้เข้าหากัน” ผู้บริหารหนุ่มกล่าวในตอนท้าย


    อ่านเพิ่่มเติม : พริษฐ์ เที่ยงธรรม : แพลตฟอร์มออนไลน์ Edsy เสริมทักษะภาษาด้วยเรื่องราวสนุกสนานให้เด็กไทย

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine