มิตรภาพระหว่างชาวไทยและชาวอิตาเลียนอันเป็นต้นกำเนิดของสองไม้ใหญ่ที่แตกกิ่งก้านงอกงามจากเมล็ดพันธุ์เดียวกัน ด้วยรากฐานอันแข็งแกร่งสู่อาณาจักรหลายหมื่นล้านในร่มเงาแห่งอิตัลไทย-อิตาเลียนไทย ซึ่งยืนหยัดยาวนานร่วม 6 ทศวรรษ
เส้นทางชีวิตที่พลิกผันของบุตรชายในธุรกิจโรงน้ำแข็ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้เข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) กว่าจะค้นพบตัวเองว่า งานที่ถนัดและชื่นชอบอยู่ในสายธุรกิจก่อสร้าง นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต ใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเป็นผู้ให้ ทั้งศาสตร์ความรู้จากการเป็นอาจารย์ประจำแผนกสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และเป็นผู้อุทิศตัวรับใช้ประเทศด้วยการเป็นแพทย์ประจำกองทัพบกในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะจำยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและเข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อสงครามสงบ ชัยยุทธตัดสินใจเดินทางกลับมารับสืบทอดธุรกิจกงสีของครอบครัวทั้งโรงสีข้าว และโรงน้ำแข็งไฟฟ้า ที่สุพรรณบุรี โดยสามารถขยายกิจการสร้างโรงทำน้ำแข็งใหม่ที่จังหวัดชุมพรและเริ่มสร้างโรงงานผลิตปลาป่นที่ปากน้ำอู่ตะเภา ซึ่งใช้เครื่องจักรทันสมัยจากประเทศเดนมาร์กเป็นแห่งแรกของประเทศ และกลายเป็นต้นแบบในการสร้างโรงงานปลาป่นในประเทศจำนวนมาก จากความสำเร็จในสัญญาสัมปทานการกู้เรือเดินทะเล 5 ลำ บริเวณปากน้ำ ซึ่ง เผด็จ ศิวะทัต น้องเขยของชัยยุทธได้รับ โดยมีชัยยุทธเป็นผู้ค้ำประกันสัญญากลายเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพสองสัญชาติ โดย ประสิทธิ์ นฤทรางกูร เป็นผู้แนะนำ Giorgio Berlingieri ให้เข้ามาช่วยธุรกิจกู้เรือจนสำเร็จกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างชัยยุทธและ Berlingieri และเริ่มต้นธุรกิจสั่งสินค้าจากต่างประเทศประเภทเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ บริษัท อิตัลไทย อินดัสเตรียล จำกัด ในปี 2498ร่วมกันถือหุ้นคนละ 50% ด้วยความตั้งใจให้เกียรติชาวอิตาเลียนที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่นำมายังประเทศไทย แม้กิจการของอิตัลไทยจะเติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านธุรกิจการค้า (trading) ซึ่งเป็นบริษัทรายแรกที่สั่งเตาแก๊สเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย หากแต่การขายแค่เครื่องจักรเพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบสนองความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ได้เพียงพอดังนั้น สองนายห้างจึงเล็งเห็นความสำคัญในการแตกยอดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานทุกประเภท พร้อมให้บริการทางเทคนิคครบวงจร ในชื่อ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ในปี 2501 ซึ่งตรงกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์ในชนบท ทำให้อิตาเลียนไทยสามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักของกลุ่ม ด้วยรายได้ 40 ล้านบาทตั้งแต่ในปีแรก โดยชัยยุทธและ Berlingieri ถือหุ้นในอิตาเลียนไทยฝ่ายละ50% จนถึงปี 2518 Berlingieri ลดหุ้นเหลือ 25% และกลายเป็นของกรรณสูตทั้งหมดหลัง Berlingieri เสียชีวิต ขณะที่อิตัลไทยมีแนวทางการขยายธุรกิจอันหลากหลาย ไม่เฉพาะด้านธุรกิจการค้าแต่ยังเริ่มต้นธุรกิจโรงแรม ด้วยการเทคโอเวอร์โรงแรมนิภาลอดจ์ พัทยา และเข้าถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมโอเรียนเต็ลต่อจาก Louis Thomas Leonowens (บุตรชายของ Anna Leonowens อาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ปรากฏในเรื่อง Anna and the King) แจ้งเกิดในฐานะเจ้าของโรงแรมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้น กลุ่มอิตัลไทยยังเพิ่มการลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง ด้วยการตั้งโรงงานหล่อโลหะผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ รถยนต์ รถแทรกเตอร์ที่อยุธยา รวมถึงร่วมทุนกับ Oriental Marine และ Laminates ตั้งบริษัทอิตัลไทยมารีนดำเนินกิจการอู่ต่อเรือซ่อมเรือขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเป็นผู้ต่อเรือปืนและเรือยกพลขึ้นบกลำใหญ่ที่สุดของประเทศให้แก่กองทัพเรือ และชนะประมูลการต่อเรือให้รัฐบาลเมียนมา รวมถึงขยายธุรกิจหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในไทย โดยซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ และเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (ปัจจุบัน นิจพร จรณะจิตต์ ถือหุ้นในบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) หรือ POST จำนวน 2.37% หรือ ราว 11.87 ล้านหุ้น)

คลิกอ่านบทความทางธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine
