โอกาสที่เล็งเห็นในการใช้ความเชี่ยวชาญและเทคนิคปรับสูตรผสมกาวสร้างแฟล็กชิปธุรกิจสติ๊กเกอร์ระดับ Top 5 ของประเทศ และศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย "เอก สุวัฒนพิมพ์" พร้อมนำพา PMC เดินหน้าการตลาดเชิงรุกขยายฐานปูพรมอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้วยเป้าหมายก้าวสู่บริษัทระดับภูมิภาค
การต่อยอดธุรกิจผลิตและจำหน่ายกาวอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ สู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์ (sticker) หรือฉลากกาว (self-adhesive label) ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับผลิตฉลากสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงต่อยอดการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาและอาหารเสริม งานออกแบบเพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด พร้อมส่งออกต่างประเทศรวมกว่า 15 ประเทศทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง
“เมื่อการเติบโตของ Selic Corp อยู่ในระดับที่เป็นเบอร์ใหญ่ในธุรกิจกาวและการแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม ทำให้การเติบโตบริษัทช้าลง เราจึงเริ่มมองหาธุรกิจอื่นที่สามารถไปต่อ ซึ่งช่วงนั้นมีโอกาสจาก PMC เข้ามา โดยเราศึกษาพบว่าเขาใช้กาวจำนวนมากในแต่ละปี และธุรกิจใกล้เคียงกัน เพราะเขาทำสติ๊กเกอร์ Selic Corp ขายกาว ซึ่งความตั้งใจแรกเราต้องการ synergy ระหว่าง 2 บริษัท โดย PMC เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดีและโอกาสเติบโตสูง” เอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMC กล่าวถึงดีลการซื้อกิจการที่เริ่มต้นขึ้นราวปี 2561
โดย บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือ SELIC ผู้ผลิตกาวอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ เล็งเห็นโอกาสธุรกิจผลิตและจำหน่ายสติ๊กเกอร์หรือฉลากกาวของ Tan Yong Heng และครอบครัวชาวสิงคโปร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ประกอบด้วย บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (PMC) และ PMC Label Materials PTE., Ltd. หรือ PMCS ในประเทศสิงคโปร์ พร้อมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหาร
ผสานเทคนิคส่วนผสม SELIC
ในฐานะทายาทธุรกิจได้สั่งสมความพร้อมในการสานต่อกิจการของครอบครัวด้วยการเริ่มต้นศึกษาปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ University College London (UCL) และปริญญาโท ด้านการจัดการ University of Surrey ประเทศอังกฤษ โดยรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีลิค เคมิคอล จำกัด ในปี 2550 และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) ในปี 2555 จนถึงปี 2564 ก่อนจะขยับไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอทำอาณาจักร PMC หลังจากเข้าซื้อกิจการสำเร็จอย่างเป็นทางการในปี 2562
“เราเลือกใช้ชื่อเดิมเพราะ respect ใน legacy และเรามองว่าทุกแบรนด์มี journey ของบริษัท โดยหลังจากซื้อกิจการได้ไม่นานก็เกิดปัญหาโควิด-19 และยังมีเรื่อง geopolitics ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่จบซึ่งทำให้กระทบทุกอย่างและ disrupt ไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ disrupt ก็จะเกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้น
“ช่วงที่เราเข้ามาถือว่าโชคดีที่ได้ประสบการณ์เต็มกระเป๋า ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ทำให้เราแกร่งขึ้น เพราะทุกครั้งที่แก้ปัญหาเป็นการสร้างประสบการณ์ทำงาน วิธีคิด มุมมองใหม่ โดยสามารถนำไปปรับใช้ไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นอีก”
เอกกล่าวถึงการปรับโครงสร้างการดำเนินงานภายในให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยการว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตและจำหน่ายสติ๊กเกอร์สายงานด้านต่างๆ นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าขยายฐานต่างประเทศด้วยการจัดตั้ง PMC Label Materials (Malaysia) SDN. BHD. หรือ PMCM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศมาเลเซีย สำหรับเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่นในละแวกใกล้เคียง
รวมถึงเข้าลงทุนใน Aquapak Hydropolymers Limited (AQUA) ประเทศอังกฤษ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกโพลีเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะปรับโครงสร้างธุรกิจรวมบริษัทผลิตและจำหน่ายสติ๊กเกอร์ในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ภายใต้กลุ่มเดียวกันเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งมั่นทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองการใช้งานของลูกค้ารูปแบบต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทสามารถคิดค้นสูตรการผลิตสินค้าที่เพิ่มคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ เช่น ความคงทนเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสติ๊กเกอร์ รวมถึงการวิจัยและคิดค้นหาความเป็นไปได้ในการผลิตสติ๊กเกอร์จากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาธุรกิจของบริษัทให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
รุกเปิดตลาดสติ๊กเกอร์ต่างแดน
ความมุ่งมั่นขับเคลื่อนสร้างการเติบโตทางธุรกิจทำให้ในปัจจุบันบริษัทสามารถก้าวเป็นผู้ผลิตสติ๊กเกอร์รายใหญ่ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย ซึ่งจำหน่ายสติ๊กเกอร์รวมกว่า 57 ล้านตารางเมตรในปี 2566 ทั้งลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์ (printer) และผู้ผลิตฉลากสินค้า (converter) ในประเทศและต่างประเทศผ่านศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ด้วยสัดส่วนรายได้จำหน่ายสินค้าในประเทศ 65% และต่างประเทศ 35% ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม โดยมีฐานลูกค้ารายการค้าต่อเนื่อง (active customer) กว่า 700 รายจากการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องนาวนานกว่า 15 ปี และการรับรองมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ระดับสากล
“เรามองเห็นช่องว่างธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตสติ๊กเกอร์ระดับ global และ local ซึ่งเราสามารถเป็น regional player ได้โดยไม่ต้องเป็น global ขยายทั่วโลก เพราะในอาเซียนก็มีโอกาส จากการเป็นฐานผลิตให้สินค้าจำนวนมากและเป็นกลุ่มประเทศที่มีความแข็งแกร่ง เราจึงวางเป้าหมายการเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 50% จาก 35% ด้วยการขยายกำลังการผลิตและเพิ่ม Distribution Centers ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูง จากเดิมที่มีในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ทำให้เรามีความสามารถในการส่งออกและเสนอ regional deal ให้กับบริษัท FMCG ระดับโลกหรือ big consumer ได้”
“เรามองเห็นศักยภาพการเติบโตในทุกประเทศที่มีความแข็งแกร่งแตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์เน้น high quality product สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ มาเลเซียก็เช่นกันจากโรงงานอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ส่วนไทย FMCG แทบจะใหญ่สุดในอาเซียน อินโดนีเซียก็มีเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนที่หลากหลายคล้ายกับเวียดนามที่ได้รับความสนใจเข้าไปลงทุน”
ดังนั้น บริษัทจึงเดินหน้าลงทุนขยายกำลังการผลิต 75 ล้านตารางเมตร เป็น 185 ล้านตารางเมตร โดยหากเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของผู้ประกอบการในไทย ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยของบริษัทลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) และการใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสายการผลิตเดิม เช่น การผลิตสติ๊กเกอร์ที่มีหน้ากว้างเพิ่มขึ้น ความเร็วในการผลิตสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องจักรหลักสำคัญ เช่น เครื่องตัดสติ๊กเกอร์ เครื่องกรอสติ๊กเกอร์ การลงทุนสร้างห้องควบคุมอุณหภูมิ การติดตั้งระบบควบคุมการผลิตด้วยบาร์โค้ด เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่บนพื้นฐานความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสติ๊กเกอร์ที่มีลักษณะพิเศษและคุณสมบัติสูงขึ้น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งมุ่งเน้นทำการตลาดเชิงรุกกับกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพู สบู่ และของใช้ส่วนตัว (personal care) ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สติ๊กเกอร์ฟิล์มมากกว่าสติ๊กเกอร์กระดาษ
“สติ๊กเกอร์เป็นเทรนด์ตามตลาดโลก เมื่อเทรนด์เปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยนตาม ถ้าเราเปลี่ยนตามไม่ทันเราจะเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเราจะโฟกัสสินค้ากลุ่ม specialty และ label ที่มีสเปกเฉพาะมากขึ้น เช่น แสตมป์ 7-11 ฉลากติดยางรถยนต์ สินค้าที่ขายในห้องเย็นซึ่งการผลิตมีความซับซ้อน ด้วยการวิจัยพัฒนาของเรา การให้บริการ และทีมเทคนิคที่ดีทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสร้าง value added ได้”
ซีอีโอวัย 47 ปี ปิดท้ายถึงความสำคัญของบุคลากรที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ถึงเป้าหมายการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์หรือฉลากกาวในภูมิภาคอาเซียน
“สิ่งสำคัญคือ การสร้างคน เพราะคนเป็นผู้สร้างระบบ ถ้าเรามีคนที่ดี เราจะมีระบบที่ดีตามมา ถ้าเราทำงานตรงไปตรงมาเราต้องทำ CG ที่ดี เนื่องจากเป็นรากฐานสร้างความเชื่อถือ โดยการที่เราจะสร้างตัวและเติบโตได้ ต้องมาจากรากฐานสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ดังนั้น เราต้องทำวันนี้ให้ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำกับทีมงานทุกคนที่ต้องการเติบโตไปด้วยกัน”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์' ซีอีโอพลังหญิง ขอ 5 ปีปั้น LPN ขึ้น Top 10 อสังหาฯ