วิชาญ จิตร์ภักดี นำทัพ SCGP ครองบัลลังก์บรรจุภัณฑ์อาเซียน - Forbes Thailand

วิชาญ จิตร์ภักดี นำทัพ SCGP ครองบัลลังก์บรรจุภัณฑ์อาเซียน

ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศความพร้อมแปลงร่างเอสซีจี แพคเกจจิ้งหรือ SCGP เป็นหุ้นมหาชน เพื่อเดินหน้าเติมเต็มดีมานด์ผู้บริโภคไร้ขีดจำกัด ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมและติดอาวุธตลาดทุนเสริมความแข็งแกร่งอาณาจักร 8.9 หมื่นล้านบาท

ภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ผู้นำในธุรกิจโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ครบวงจรของไทยตัดสินใจขยับปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อระดมทุนเพิ่มโอกาสขยายอาณาจักรให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ภายใต้การนำของ วิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมาเราเติบโตค่อนข้างสูง แต่ถ้าต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป เราควรบาลานซ์เรื่องเงินทุนและไม่ควรมีหนี้มากเกินไป ซึ่งหลังจากนี้เราจะมีความเป็นมหาชนมากขึ้น จากเดิม SCG ถือ 100% จะเหลือ 70%” วิชาญกล่าวถึงแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อการลงทุนขยายธุรกิจแพ็กเกจจิ้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางการเงินให้สามารถรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

ในฐานะผู้นำทัพความเปลี่ยนแปลง วิชาญพร้อมแปรเปลี่ยนความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประสบการณ์ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ภายใต้กลุ่มเอสซีจีมากกว่า 3 ทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี President & CEO, United Pulp and Paper Co.,Inc. กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด เป็นต้น รวมถึงการทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ร่วม 10 ปี

สำหรับผลิตภัณฑ์ของเอสซีจี แพคเกจจิ้งในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (integrated packaging chain) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก บรรจุภัณฑ์กล่องพิมพ์สีเพื่อแสดงสินค้า และกระดาษบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (fibrous chain) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แบรนด์เฟสท์” (Fest) และผลิตภัณฑ์จากเยื่อประเภทต่างๆ และกระดาษพิมพ์เขียนเช่น แบรนด์ idea

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฝั่งเยื่อและกระดาษจะถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เราทรานส์ฟอร์มเน้นเพิ่มบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหารมากขึ้นวิชาญกล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทในปี 2562 ซึ่งมีรายได้จากการขาย 8.9 หมื่นล้านบาท และกำไร 5.27 พันล้านบาท

 

รับภารกิจทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

วิชาญกล่าวถึงโจทย์ที่ได้รับในการนำทัพเราต้องการเป็นมากกว่าบรรจุภัณฑ์ ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งในวันนี้เราสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น packaging solution provider อย่างเต็มตัว เพราะผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรและทีมให้คำปรึกษา โดยมีดีไซเนอร์มากกว่า 40 คนให้คำปรึกษาหรือพูดคุยกับลูกค้า เพื่อออกแบบสินค้าจนพอใจ และมี Account Executive ดูแลลูกค้าถึงการทำตัวอย่างและส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าปลายทาง

สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เอสซีจี แพคเกจจิ้งวางไว้ในปีนี้ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการขายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยนำรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไปขยายในต่างประเทศ พร้อมสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าและการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น

ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีการแข่งขัน อยู่ที่เราเตรียมตัวแค่ไหน คนที่แข็งแรงกว่าและทำได้เร็วกว่าก็มีความมั่นใจในการอยู่รอดได้ดีกว่า ซึ่งการทำให้องค์กรเราเร็วและเข้มแข็งเกี่ยวกับ 4 เรื่อง คือ manufacturing หรือการผลิต ได้แก่ คน เครื่องจักรประสิทธิภาพการเดินเครื่อง technology จากการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง market access เข้าถึง เข้าใจ และนำเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้าด้วยคุณภาพและบริการสม่ำเสมอ สุดท้ายคือ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดย 4 องค์ประกอบนี้จะทำให้เราสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันและเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน

ขณะที่ในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ได้เพิ่มความสำคัญในส่วนของ preserve หรือการช่วยยืดอายุสินค้าให้นานขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและลดการทิ้งของเสียให้น้อยลง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การป้องกันอากาศเข้าในบรรจุภัณฑ์ และ perform ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลทั่วโลก

ผมคิดว่าในวันนี้เราเป็น packaging solution company แล้ว แต่ในอนาคตเราจะสามารถขยายทั้ง scope และ scale เพิ่มความแข็งแกร่งได้มากขึ้น ซึ่งการปรับปรุงงานของบริษัททำได้ทั้งหมด 5 ระดับ เริ่มจากการปรับปรุงที่ใช้เงินน้อยที่สุด ใช้แรงอย่างเดียว สองเป็นการปรับปรุงที่ใช้เงินมากขึ้นในการแก้ไขกระบวนการที่มีคอขวด เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

และสามเป็นการขยายกำลังการผลิตในลักษณะติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพิ่มในโรงงานเดิม ซึ่งแชร์ต้นทุนได้ แต่ถ้าต้องการไปตลาดใหม่ ต้องขยายซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่ สุดท้ายคือ M&A เราจะพิจารณาว่าระดับไหนที่ใช้แล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด

 

เสริมทัพขยายฐานต่างแดน

แม้ในวันนี้เอสซีจี แพคเกจจิ้งจะสามารถสร้างการเติบโตเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตในปี 2562 รวม 4 ล้านตันต่อปี (รวมกำลังการผลิตของ Fajar) และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก (corrugated containers) รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตันต่อปี

ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านกระดาษบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดจากปริมาณการขายในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ข้อมูลของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน) แต่ผู้นำทัพธุรกิจยังคงรุกขยายอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง

ผมมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในอาเซียนทั้งจากข้อมูลประมาณการของที่ปรึกษาทางการตลาดให้ตัวเลข GDP เฉลี่ยที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 7% ประมาณ 5 ปีข้างหน้า และประชากรจำนวนมากรวมกันกว่า 500 ล้านคน คิดเป็นอัตราการบริโภคที่ใช้บรรจุภัณฑ์ปริมาณมาก การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ fiber-based และ polymer ยังสามารถเติบโตได้อีก โดยเราจะโฟกัสอาเซียนมากกว่าเมืองไทย เพราะเป็นการกระจายพอร์ตความเสี่ยงในธุรกิจและเสริมให้บริษัทแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคต

ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นบริษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับประเทศถึงภูมิภาค ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์

สำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วยการควบรวมกิจการหรือ M&A ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การควบรวมกิจการ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษ และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศไทย โดยเป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปที่มีมูลค่าสูงระดับสากล

พร้อมเดินหน้าตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการตั้งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ใกล้กับโรงงานของลูกค้า เพื่อให้การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายในเวลาที่เหมาะสม โดยได้ขยายธุรกิจหรือฐานการผลิตให้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนพนักงานมากกว่า 15,000 คน (ข้อมูล วันที่ 30 กันยายน 2562) และกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรวม 1.1 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าประมาณ 2 พันล้านตารางเมตรต่อปี

รวมถึงกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รวม 4 ล้านตันต่อปี และกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวรวม 817 ล้านตารางเมตรต่อปี ตลอดจนกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปรวม 3.6 หมื่นตันต่อปี หรือเทียบเท่าประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปี

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเป็นเจ้าของเครือข่ายศูนย์จัดการวัสดุรีไซเคิล 71 แห่ง และดำเนินการสวนไม้ยูคาลิปตัสพื้นที่ประมาณ 4.8 หมื่นไร่ โดยมีโรงงานผลิต 40 แห่งกระจายอยู่ในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

วันนี้เรามีลูกค้าทั้งอาเซียนมากกว่า 4 พันราย ซึ่งอยู่กับเรามานาน บางรายมากกว่า 40 ปี เพราะเรื่องแบรนด์ การออกแบบ และการบริการ อย่างลูกค้าในไลน์ผลิต ถ้าส่งสินค้าขาด 1 ชิ้น ไลน์ต้องหยุด ดังนั้น การที่เรามี scale ใหญ่ โลเคชั่นหลายโรงงาน จะมาช่วยกันทำให้ผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

    ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม “วิชาญ จิตร์ภักดี นำทัพ SCGP ครองบัลลังก์บรรจุภัณฑ์อาเซียน” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา