ชัยวัฒน์ นันทิรุจ Disruptor นวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง - Forbes Thailand

ชัยวัฒน์ นันทิรุจ Disruptor นวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง

เอกา โกลบอล หรือชื่อเดิม เอกา แพค บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปที่กำลังจะมาแทนที่แพ็กเกจจิ้งแบบกระป๋อง เป็นธุรกิจมาแรงของคนไทยที่รุกเข้าเทกโอเวอร์โรงงานในจีน-อินเดีย ก้าวสู่อันดับ 1 ของเอเชียในฐานะ disruptor แพ็กเกจจิ้ง ซึ่งนักสร้างแบรนด์เรียกเขาว่า “Elon Musk แห่งนวัตกรรมหีบห่อบรรจุภัณฑ์”

ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนทางเข้าโรงไฟฟ้าบางปะกง เลขที่ 47 หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้ง บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด ซึ่งที่นี่เป็นทั้งสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด longevity packaging ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (rigid barrier plastic packaging) รายใหญ่ของโลก

บริษัทแพ็กเกจจิ้งแห่งนี้มีฐานลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรป เป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเจ้าของเป็นคนไทย และเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมาก็เพิ่งไปเทกโอเวอร์ บริษัท พริ้นท์แพค เอเชีย จำกัด โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในจีนและอินเดียของชาวอเมริกัน

เอกา โกลบอล ก่อตั้งและบริหารโดย ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด นักธุรกิจหนุ่มวัย 44 ปี ซึ่งเป็นทายาทคนเล็กของ “ร้อยเอ็ดกรุ๊ป” หรือกลุ่มบริษัทแป้งมันร้อยเอ็ดที่บิดาของเขา ประเวศ นันทิรุจ เป็นผู้ก่อตั้งโดยมีธุรกิจโรงแป้งมันสำปะหลัง 6-7 โรงงานในภาคอีสาน แต่ละโรงงานมีรายได้กว่า 1 พันล้านบาท

ชัยวัฒน์ นันทิรุจ

“ตอนจบมาใหม่ๆ ทำธนาคารไทยทนุอยู่ 2 ปี คุณพ่อเรียกกลับมาช่วยงานที่บ้านซึ่งเป็นกงสี เราก็ช่วยคุณพ่อทำ มันเป็นโรงงานผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงมันสำปะหลัง ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตให้กับบริษัทในเครือของเราเอง ทำไปขายบริษัทในเครือและส่งออกเครื่องจักรไปขายเวียดนามเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นตลาดเพิ่งเปิด” ชัยวัฒน์เล่า

เขาบอกว่าไม่มีความรู้สึกสนใจหรือผูกพันใดๆ กับธุรกิจโรงแป้งมันสำปะหลัง แม้กระทั่งการทำโรงงานผลิตเครื่องจักรเขาก็ไม่รู้สึกสนุกกับมัน เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างนิ่ง

 

ชิมลางโรงงานพลาสติก

ในที่สุดชัยวัฒน์ก็เริ่มก้าวออกจากธุรกิจครอบครัว ร่วมทุนกับชาวออสเตรีย ชื่อบริษัท ไทย ออสโตร โมลด์ จำกัด ทำโรงงานแม่พิมพ์พลาสติก อยู่ที่โคราช ปัจจุบันพี่สาวของเขาเป็นผู้ดูแลกิจการนี้ หลังจากนั้นชัยวัฒน์ยังคงมองหาธุรกิจใหม่

แต่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ไม่ได้สวยงามเสมอไป เอกา แพค เริ่มต้นเดินสายแนะนำผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้ากลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ ซึ่งทุกรายรับข้อเสนอ แต่ขอรอพิสูจน์ก่อนว่า เก็บอาหารได้ 2 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็นจริงหรือไม่ สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้นานถึง 6 ปี ในที่สุดบิดาของเขาก็ถอดใจหยุดให้ทุน และถอนหุ้นที่ถือออกทั้งหมด

แต่ชัยวัฒน์ยังคงเชื่อมั่นในมุมมองของตัวเองที่ว่า บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เขาเรียกว่า longevity packaging ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกนี้จะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการแน่นอน และในอนาคตจะต้องมาแทนบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิม

เมื่อครอบครัวหยุดมอบเงินสนับสนุน เขาต้องหาเงินทุนเอง และมีรุ่นพี่สนิทกันมาถือหุ้นชั่วคราว โดยนำเงินมาลงทุนด้วย 30 ล้านบาท ปัจจุบันถอนหุ้นไปแล้วเพื่อเปิดทางให้บริษัทญี่ปุ่นคือ บริษัท นิฮอน เซลลอนแพค จำกัด (Nihon Cellonpack Co., Ltd.) เข้ามาถือหุ้น ปัจจุบันถืออยู่ 9.8% เซลลอนแพคเป็นบริษัททำฟิล์มแพ็กเกจจิ้งเหมือนกัน

 

ออร์เดอร์ญี่ปุ่นพลิกตลาด

ในที่สุดวันที่ชัยวัฒน์รอคอยก็มาถึง เมื่อมีลูกค้ารายแรกเข้ามา คืออินาบะ หรือ Inaba Petfood Corporation บริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของญี่ปุ่น มาสั่งบรรจุภัณฑ์อาหารแมว ออร์เดอร์แรกเปิด 5 แสนถ้วย “อินาบะซื้อถ้วยเรา แพ็กที่ไทยยูเนี่ยนส่งกลับไปขายญี่ปุ่นดังระเบิด เลยครองตลาดเพ็ทฟู้ดถ้วยพลาสติก 80% มาถึงปัจจุบัน"

เมื่อส่งเข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่นได้ ทำให้พลิกสถานการณ์จากที่ลูกค้าลังเลไม่มั่นใจในคุณภาพ ก็กลายเป็นว่าเหมือนได้การรับรองจากลูกค้าญี่ปุ่น ผลประกอบการที่เคยขาดทุนมาตลอดพลิกเป็นบวกทันที

“พอเราขายได้ก็มี reference จากอินาบะ ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโตมาก ทุกคนที่ญี่ปุ่นมาหาเอกา แพค อย่างเดียว ส่งออกญี่ปุ่นตอนนั้น 70% ที่เหลือเป็นอเมริกา น่าจะปี 2551-2552 ทำมา 6-7 ปี ถือเป็น turning point แต่ยังไม่คุ้มทุน เพราะธุรกิจนี้ลงทุนเยอะ”

สินค้าที่เอกา โกลบอลรับทำในปัจจุบันคือบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat ทั้งแบบบรรจุในถุงและพาสเจอร์ไรซ์) อาทิ ซุป อาหารเด็ก อาหารพร้อมรับประทานผักและผลไม้ สลัด น้ำผลไม้ เครื่องดื่มต่างๆ และการบรรจุแบบดัดแปรบรรยากาศ (modified atmosphere packaging) หรือ MAP เป็นเทคนิคการถนอมอาหาร (food preservation) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด หรืออาหารที่แปรรูปขั้นต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับผักสด เนื้อสัตว์ ขนมหวาน ชีส และอาหารปรุงสำเร็จ

 

รุกโกลบอลซื้อโรงงานจีน-อินเดีย

เมื่อผลประกอบการดีขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือออร์เดอร์ที่มีมากกว่ากำลังการผลิต ทำให้ชัยวัฒน์ต้องขยายกำลังการผลิต และรุกเข้าซื้อกิจการบริษัท พริ้นท์แพค เอเชีย จำกัด (Printpack Asia) โดยใช้เงินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อกิจการ พริ้นท์แพคฯ เป็นโรงงานแพ็กเกจจิ้งใหญ่ระดับโลก

ชัยวัฒน์บอกว่า เดิมทีพริ้นท์แพคฯ เป็นคู่แข่งกับเอกา แพค ทำตลาดแข่งกันมาตลอดสนิทสนมในฐานะที่ทำธุรกิจเดียวกัน เมื่อตกลงซื้อกันแล้วก็มีเทคโนโลยีโนว์ฮาวแลกเปลี่ยนกันตลอด และลูกค้าในพริ้นท์แพคฯ มอบให้เอกา แพค เซอร์วิสต่อ การซื้อเป็นลักษณะซื้อหุ้นซื้อกิจการ รับมาทั้งทรัพย์สินและทีมงาน ล่าสุดจึงได้เปลี่ยนชื่อและโลโก้บริษัทใหม่จากเอกา แพค มาเป็นเอกา โกลบอล

“ที่เราไปเทกโอเวอร์พริ้นท์แพค เอเชีย ในจีนมา ตอนนี้กำลังผลิตเยอะมาก เราเดินเครื่องอยู่ 30-40% ผลิต 900-1,000 ล้านบาท จำนวน 800-900 ล้านใบ นี่แค่ 40% ของกำลังผลิตรวมซึ่งเราสามารถทำได้ 2,500 ล้านใบต่อปี” ชัยวัฒน์ย้ำและว่าโรงงานที่จีนแตกต่างจากที่ไทย ซึ่งเอกา แพค โตมาจากอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก จะเป็นไลน์ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 70% ที่เหลือ 30% เป็นอาหารคน แต่โรงงานที่จีน 80-90% ทำอาหารคนเป็นหลัก ตลาดไม่เหมือนกัน แต่ก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

“ผมอยากบอกว่า คุณชัยวัฒน์ เป็น Elon Musk แห่งนวัตกรรมหีบห่อบรรจุภัณฑ์” ดร.สรณ์ จงศรีจันทร์ นักการสร้างแบรนด์ชื่อดังที่เข้ามาช่วยสร้างแบรนด์เอกา โกลบอล กล่าวถึงชัยวัฒน์ว่า เป็นคนหนุ่มที่มีพลังของการเป็น disruptor ชัดเจน มีความขบถในตัวตน กล้าและคิดทำให้สิ่งที่แตกต่างกล้าได้กล้าเสีย และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ของเอกา โกลบอลที่จะเข้ามาทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบเดิมได้ในที่สุด

ขณะที่ชัยวัฒน์บอกว่า ปัจจุบันผู้ผลิต barrier plastic packaging ทั่วโลกมีราว 20 ราย อยู่ที่เมืองไทยมี 2 ราย คือเอกา โกลบอล และอีกรายอยู่ในเครือเอสซีจีที่ซื้อกิจการมาจากประเทศออสเตรเลีย สำหรับเอกา โกลบอล ถือเป็นรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชีย เท่านี้เขาก็ภาคภูมิใจและรู้สึกคุ้มค่ากับความอดทนที่ต่อสู้

    ภาพ: บจ.เอกา โกลบอล
คลิกอ่านฉบับเต็ม ชัยวัฒน์ นันทิรุจ Disruptor นวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine