พวกเขาคือเหล่าอดีตคนหนุ่มสาวไฟแรงแห่ง 30 Under 30 ที่ขึ้นแท่นประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปัจจุบัน
Sean Rad ศิษย์เก่า 30 Under 30 ปี 2014 ceo, Tinder ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2014 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IAC บีบให้ Sean Rad ซึ่งเป็น CEO ของแอพฯ หาคู่แห่งนี้ต้องออกจากตำแหน่ง แต่แทนที่เขาจะออกจากบริษัทไปเลย เขากลับยังอยู่ในบริษัทโดยยอมลดตำแหน่งลงมาเป็นหัวหน้าแผนกผลิตภัณฑ์ เพื่อเปิดทางให้ Christopher Payne ก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้ CEO แทนเขาในเดือนมีนาคม 2015 แต่พอถึงเดือนสิงหาคม Payne ก็ถูกปลด และ Rad ก็กลับมาเป็นเบอร์หนึ่งของ Tinder อีกครั้ง ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Tinder ถึงประมาณ 9.6 ล้านคนต่อวัน และได้ทำการจับคู่ไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านครั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Tinder (และบริการหาคู่อื่นๆ ของ IAC อย่างเช่น Match.com และ OkCupid) ได้ขายหุ้น IPO ในนามของ Match Group เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาด Nasdaq ซึ่งหลังจากที่หุ้นเริ่มเปิดซื้อขายในตลาด ราคาหุ้นได้วิ่งขึ้นมาแล้วถึง 20% ทำให้มูลค่าตลาดขยับขึ้นมาถึงเกือบ 3.5 พันล้านเหรียญ “มีคนโสดหลายร้อยล้านคนที่ใช้สมาร์ทโฟน” Rad กล่าวในงาน Forbes Under 30 Summit “มีคนโสดรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพียงแค่เน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มคนโสดที่มีจำนวนมากมายมหาศาล เราก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดได้” — โดย Steven Bertoni Michelle Phan ศิษย์เก่า 30 Under 30 ปี 2015 ผู้ร่วมก่อตั้ง ipsy ซูเปอร์สตาร์แห่ง YouTube รายนี้อายุแค่ 28 ปี แต่กลายเป็นหนึ่งในเจ้าแม่วงการความสวยความงามซึ่งกำลังจะปรับระดับเป็น unicorn เธอเป็นชาวเวียดนามที่พ่อแม่อพยพมาอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งตอนที่เธออายุ 15 ปี เธอก็เริ่มเขียนเรื่องราวชีวิตในจินตนาการของเธอบนบล็อก และต่อมาเธอก็ก่อตั้ง ipsy ซึ่งเป็นธุรกิจเครื่องสำอางแบบตอบรับสมาชิกขึ้นในปี 2011 ในปี 2015 กิจการของเธอมีสมาชิกถึง 1.5 ล้านคนและกวาดรายได้ไปได้ถึงกว่า 150 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทของเธอระดมทุนได้ถึง 100 ล้านเหรียญ ซึ่งตีเป็นมูลค่าของบริษัทของเธอได้มากกว่า 500 ล้านเหรียญ Phan เพิ่งเปิด Open Studios ขึ้นที่ Santa Monica รัฐ California ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้ชำนาญการด้านความสวยความงามที่ผ่านการตรวจสอบโดย ipsy สามารถมาใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในสตูดิโอของเธอเพื่อสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย “ฉันอยากตอบแทนชุมชนที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้” จนถึงตอนนี้ มีคนมายื่นแสดงความจำนงแล้วถึง 10,000 คน นอกจากนี้ เธอยังได้จัดงานประชุม Generation Beauty ขึ้นที่ New York City ในเดือนตุลาคม ซึ่งงานประชุมนี้เธอเป็นผู้ริเริ่มขึ้นที่ Los Angeles ในปี 2012 โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมเอาบรรดานักสร้างคอนเทนท์ทางด้านความสวยความงาม และเครื่องสำอางแบรนด์ต่างๆ มาพบปะกัน ซึ่งในปี 2016 นี้จะมีการจัดงานนี้ขึ้นในมหานครอีก 4 แห่ง —โดย Susan Adams Austin McChord ศิษย์เก่า 30 Under 30 ปี 2015 ผู้ร่วมก่อตั้ง Datto ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 บริษัท Datto ของเขาระดมทุน 75 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้มูลค่าธุรกิจของ McChord สูงถึง 1 พันล้านเหรียญ McChord ก่อตั้ง Datto ซึ่งให้บริการ back up ระบบ IT ขึ้นในปี 2007 จากชั้นใต้ถุนของบริษัทด้านวิศวกรรมของพ่อของเขา ปัจจุบัน Datto มีพนักงานถึง 550 คน และสามารถทำรายได้เกิน 100 ล้านเหรียญจากการให้บริการป้องกันข้อมูลของธุรกิจนับพันๆ แห่ง ซึ่งในบรรดาลูกค้าของเขาก็มีนักการเมืองชื่อดังรวมอยู่ด้วย ซึ่งในปีที่แล้ว Datto บอกว่าบริษัทได้ให้บริการ back up อีเมล์ส่วนตัวบางส่วนของ Hillary Clinton ด้วย (แต่ McChord กล่าวว่าพวกเขาบอกไม่ได้ว่าผู้ใช้บริการสุดท้ายเป็นใคร) ในการทำให้กิจการของเขาเติบโตไม่อย่างไม่หยุดยั้งถึงระดับ unicorn เขาบอกว่า “ถ้าคนมาทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม มันก็ยากที่กิจการจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้” —โดย Steven Bertoni Aaron Levie ศิษย์เก่าปี 2012 ผู้ร่วมก่อตั้ง Box Levie ยังเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจใน Box ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการจัดเก็บข้อมูลบน Cloud ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว เขาได้นำ Box เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้มีโอกาสเป็นผู้ลั่นระฆังเปิดการซื้อขายหุ้นในตลาด Wall Street ร่วมกับ Dylan Smith ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Box และเป็นอีกคนหนึ่งที่มีชื่อติดอยู่ในทำเนียบ 30 Under 30 ราคาหุ้นของ Box ในช่วงนี้อยู่ที่ประมาณ 14 เหรียญ เท่ากับตอนที่เข้าตลาดหุ้นเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ลดลงจากช่วงที่เข้าตลาดตอนแรกๆ แต่ยังมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.7 พันล้านเหรียญ ในขณะนี้ Levie ซึ่งพูดถึงตลาดหุ้นว่าเป็นเหมือน “รถไฟเหาะ” สามารถที่จะหันความสนใจไปที่การหาลูกค้ารายใหญ่ให้กับ Box อย่างเช่น Southwest Airlines และปรับเปลี่ยน Box ให้เป็นมากกว่าแค่ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูล แต่จะสร้างแพลตฟอร์มที่คนอื่นๆ สามารถสร้างแอพฯ อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ด้วย ถือแม้การเอาหุ้นเข้าตลาดจะไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก แต่ Levie ก็บอกว่าเขาไม่รู้สึกเสียใจเลย “การเข้าตลาดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะในท่ามกลางเสียงร่ำลือต่างๆ นานา เกี่ยวกับมูลค่าของกิจการที่อยู่นอกตลาด มันทำให้คุณรู้ว่าหุ้นของคุณมีมูลค่าเท่าไหร่ และคุณก็จะได้ประเมินสถานะทางการเงินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความได้เปรียบสำหรับกิจการที่อยู่ใน Silicon Valley ในช่วงนี้” — โดย Alex Konradไม่อยากรอ คลิ๊กอ่าน "30 Under 30 เหล่าผู้ประกอบการหนุ่มสาวรุ่นใหม่ผู้ไม่รอความสำเร็จ" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine ไอเดียบรรเจิดรอคุณอยู่