30 ดาวรุ่งทวีปเอเชีย ปี 2017: ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

30 ดาวรุ่งทวีปเอเชีย ปี 2017: ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Jul 2017 | 02:30 PM
READ 11624

เข้าสู่ปีที่ 2 แห่งการจัดอันดับ 30 Under 30 Asia การรวบรวมรายชื่อผู้นำรุ่นใหม่จำนวน 30 คนจาก 10 อุตสาหกรรม ซึ่งทุกคนล้วนเป็นดาวรุ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มคนเลือดใหม่ระดับหัวกะทิเหล่านี้มีความสนใจในสาขาที่แตกต่างกันออกไป Forbes Asia ได้ทำการรวบรวมรายชื่อโดยมีกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นผู้ตัดสินและจัดอันดับ พบตอนสองของตัวแทนของกลุ่มคนวัยไม่เกิน 30 ปีที่ประสบความสำเร็จ

HyungCheol Lim, Goeun Choe อายุ 26, 25 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Gameberry เกาหลีใต้

หนุ่มสาวซึ่งปัจจุบันได้หมั้นหมายกันแล้วคู่นี้ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อมาไล่ตามความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพหลังจากเปิดบริษัท Gameberry ในปี 2011 เพื่อมุ่งพัฒนาเกมบนมือถือทั้งสองก็พบช่องโหว่ระหว่างผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายแอพฯ รวมทั้งผู้ลงโฆษณาที่เป็นเป้าหมาย พวกเขาเริ่มเบนเข็มจากเกมกลายเป็นเอเจนซี่ทำการตลาดให้กับแอพฯ ต่างๆ โดยในระยะแรกเริ่มจากการทำตลาดให้กับนักพัฒนาแอพฯ ในประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย Jungggle ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกของ Gameberry เปิดโอกาสให้ผู้ลงโฆษณาเข้าถึงผู้ผลิตและจำหน่ายแอพฯ ที่เหมาะสม ส่วน JungggleX ซึ่งเป็นโครงการต่อมาจะพิจารณาเลือกกลยุทธ์ในการสร้าง traffic ที่ดีที่สุดให้กับผู้ลงโฆษณา Lim กล่าวว่า “ผู้ลงโฆษณาเสียเงินเปล่าไปกับ traffic ที่ไม่มีคุณภาพ ผมรู้สึกดีมากๆ เลยเมื่อเห็นว่าผู้ลงโฆษณาทำเงินได้มากขึ้นจากงบประมาณเท่าเดิม เนื่องจากใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และแพลตฟอร์มของเรา” ปัจจุบัน Gameberry มียอดขาย 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตั้งเป้าที่จะทำยอดขายให้ได้ 5 ล้านเหรียญในปีหน้า – รายงาน: Elaine Ramirez  

Gibran Huzaifah Amsi El Farizy, อายุ 27 ปี ผู้ก่อตั้ง eFishery อินโดนีเซีย

Gibran Huzaifah ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ eFishery กำลังเจาะตลาดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอินโดนีเซียซึ่งมีมูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าตลาดอย่างแท้จริง eFishery นำเทคโนโลยีการให้อาหารแบบอัจฉริยะซึ่งอิงกับระบบคลาวด์มาใช้กับฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง 20,000 แห่งในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะและมีอาณาเขตกว้างขวาง สตาร์ทอัพ IoT ซึ่งมี Ideosource และ Aquaspark เป็นจุดขายธุรกิจนี้ไม่เพียงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเก็บรวบรวมข้อมูล (การให้อาหาร การผลิต คุณภาพน้ำ และพฤติกรรมของปลา) เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำอีกด้วย “ทุกวันนี้ การให้อาหารสัตว์น้ำทำกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และค่าอาหารก็คิดเป็น 70-80% ของต้นทุนกำไรดำเนินงานทั้งหมด” Huzaifah กล่าว เป้าหมายสูงสุดของ Huzaifah คือ การต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อต่อยอดนำไอเดียนี้ไปใช้กับการเพาะปลูกด้วย เขากล่าวว่า “ผู้คนยังคงทำการเพาะปลูกด้วยวิธีการแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำกันมาเมื่อหลายทศวรรษก่อน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาความยากจนและการขาดแคลนอาหาร” – รายงาน: Iris Leung    

Kavin Bharti Mittal, อายุ 29 ปี ผู้ก่อตั้ง hike Messenger อินเดีย

เมื่อ Kavin Mittal (บุตรชายอภิมหาเศรษฐี Sunil Mittal ผู้ก่อตั้ง Bharti Airtel) ได้เดินทางกลับประเทศอินเดียในปี 2011 บัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก Imperial College ผู้นี้ก็เป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพถึง 2 ธุรกิจแล้ว (ซึ่งได้แก่ AppSpark และ MoviesNow) Mittal เล่าว่า เขาปิ๊งไอเดียเกี่ยวกับ hike Messenger บริการรับส่งข้อความที่ออกแบบมาเพื่อต่อกรกับคู่แข่งอย่าง WhatsApp ขึ้นมาในระหว่างที่เดินหาของกินตามแผงขายอาหารริมทางใน New Delhi กับเพื่อนๆ เมื่อมองเห็นว่าในขณะนั้นคนอินเดียส่วนใหญ่ยังคงใช้โทรศัพท์มือถือแบบพื้นฐานอยู่ เขาคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าหากว่าสมาร์ทโฟนสามารถเจาะตลาดในอินเดียซึ่งมีประชากรจำนวนมหาศาลได้ “ตอนนั้นผมใช้ iPhone 4S พร้อมแอพฯ ในเครื่องกับสัญญาณ Edge ไม่ใช่ 3G ด้วย... คนที่นี่ไม่รู้จักอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำอินเดียมีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าพวกเขาพากันเข้าใช้งานโลกออนไลน์” ปัจจุบัน hike Messenger มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน มีมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถระดมทุนได้ถึง 175 ล้านเหรียญ – รายงาน: Ambika Behal  

Noor Neelofa Mohd Noor, 28 ปี ผู้อำนวยการ NH Prima International มาเลเซีย

Neelofa นักแสดงและพิธีกรรายการโทรทัศน์สาวชาวมาเลเซียผู้นี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อชนะการประกวดนางงามวัยทีนในบ้านเกิดเมื่อปี 2010 ในมาเลเซียแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักเธอคนนี้ สี่ปีต่อมาเธอตัดสินใจสวมฮิญาบซึ่งจุดประกายให้เธอเริ่มธุรกิจแฟชั่นขนาดกลางเพื่อตอบสนองความต้องการของบรรดาหญิงสาวมุสลิมผู้มีสไตล์ ไลน์สินค้าฮิญาบของ Neelofa ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลาย แบรนด์ของเธอปัจจุบันมีจำหน่ายใน 38 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดได้วางจำหน่ายในเขต Chelsea ซึ่งเป็นย่านของผู้มีฐานะดีในใจกลางกรุง London อีกด้วย ผู้ติดตาม Instagram ของเธอมีส่วนสำาคัญอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจ “การเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นเหมือนโบนัสพิเศษ ฉันไม่ต้องเสียค่าโฆษณาเลย และส่วนใหญ่ฉันอาศัยสื่อออนไลน์ที่มีในการโปรโมทสินค้า” Neelofa กล่าว – รายงาน: R.W.  

Yuki Shimahara, 29 ปี LPixeL ญี่ปุ่น

แต่เดิมรถยนต์เป็นสิ่งที่ Shimahara หลงรักหัวปักหัวปำ แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสเต็มเซลล์และคุณสมบัติในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้วเขาตัดสินใจเลือกเรียนสาขาชีววิทยาเซลล์ในมหาวิทยาลัย แทนสาขาวิศวกรรมยานยนต์ ในปี 2003 Shimahara ได้ร่วมก่อตั้ง LPixel บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งนำเสนอแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์พร้อม AI ซึ่งมีความสามารถในการตีความและจัดหมวดหมู่ภาพถ่ายทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ ซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอ Shimahara กล่าวว่า "ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือบรรดาแพทย์ต่างก็มีข้อมูลที่เป็นภาพถ่ายอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับแพทย์เองก็มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคนไข้ ดังนั้นผมจึงต้องการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ" ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์เองก็มักจะทิ้งข้อมูลการวิจัยความจุหลายกิกะไบต์ไปโดยที่ไม่ได้นำมาวิเคราะห์อย่างเต็มที่ “รางวัล Nobel Prize อาจถูกโยนทิ้งถังขยะไปก็ได้ ใครจะรู้” Shimahara กล่าวเสริม LPixel ซึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชีวภาพใน Tokyo University สถาบันที่ Shimahara ศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก JEFCO และ Toray ธุรกิจด้านคาร์บอนไฟเบอร์ขนาดใหญ่ในปี 2016 และยังได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งในบรรดา “นวัตกรรมแห่งอนาคต” อีกด้วย – รายงาน: James Simms คลิกอ่าน: 30 ดาวรุ่งทวีปเอเชีย ปี 2017: ตอนที่ 1
คลิกอ่าน "30 UNDER 30 30 ดาวรุ่งทวีปเอเชีย ปี 2017" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine