ด้วยสัญชาตญาณของนักลงทุนทำให้สาวน้อยวัย 12 ปีลุกขึ้นมาซื้อหุ้นบริษัทใหญ่เพราะต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตัวเองชื่นชอบ หลังจากนั้น "รัศมี กวาตรา" ก็มีเป้าหมายในชีวิตว่าต้องการเป็นนักธุรกิจด้านการเงินและการลงทุน
Sixteenth Street Capital บริษัทด้านการเงินการลงทุนไทย-สิงคโปร์ที่ก่อตั้งโดย รัศมี กวาตรา นักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 29 ปี โดดเด่นขึ้นมาในการจัดอันดับ 30 Under 30 ของ Forbes Asia 2019 ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปีที่มีความโดดเด่นในการบริหารธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ทั่วภาคพื้นเอเชีย
สำหรับ “ธุรกิจการเงินและร่วมลงทุน” รัศมี นักธุรกิจสาวลูกครึ่งไทย-อินเดีย เป็นหนึ่งเดียวของไทยที่ติดทำเนียบนักธุรกิจรุ่นใหม่ ด้วยความที่เธอเป็นคนที่สนใจเรื่องการลงทุนมาตั้งแต่ยังเด็ก ในวัยเพียง 12 ปี รัศมีได้ลงทุนครั้งแรกด้วยการเข้าซื้อหุ้น CENTEL หรือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ผู้ถือสิทธิการทำตลาดร้านไก่ทอดเคเอฟซีที่เธอโปรดปราน และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในธุรกิจด้านการลงทุนที่เธอมุ่งมั่นในเวลาต่อมา
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ (International School Bangkok : ISB) รัศมีจึงไม่ลังเลที่จะศึกษาต่อด้านการเงิน เธอเลือกเรียนด้านบริหารการเงินที่ Wharton School of the University of Pennsylvania ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย Ivy League เอกชนใน Philadelphia เนื่องจาก Wharton เป็นมหาวิทยาลัยที่โฟกัสเรื่องธุรกิจ ให้ปริญญาด้านธุรกิจและการเงิน รัศมีจึงเลือกเรียนที่นี่เพื่อเดินตามความฝันที่มีมาตั้งแต่เด็ก
หลังจากนั้นประสบการณ์ด้านธุรกิจเงินทุนของเธอก็เริ่มต้นขึ้นที่ Prince Street Capital Management บริษัทบริหารการลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เธอร่วมงานอยู่ที่นี่ 7 ปี ดูแลตลาดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Sixteenth Street Capital เมื่อปลายปี 2560 โดยมีเงินทุนตั้งต้นส่วนหนึ่งมาจาก Prince Street Capital ซึ่งเชื่อมั่นในการทำงานของรัศมี ที่ร่วมกับองค์กรนี้มาตลอด 7 ปี
Sixteenth Street Capital กิจการที่รัศมีก่อตั้งขึ้นใช้เวลาเพียงปีเศษก็สามารถบริหารเงินทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งจุดนี้เองทำให้เธอได้รับเลือกจาก Forbes Asia ให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอายุต่ำกว่า 30 ที่โดดเด่นในธุรกิจการเงิน
ธุรกิจการเงินสำหรับรัศมี ถือเป็นความฝันที่กลายเป็นจริง เพราะจากจุดเริ่มต้นของเด็กหญิงวัย 12 ปีที่สนใจลงทุน ได้นำพาให้เธอก้าวเดินบนถนนสายธุรกิจการเงินกับบริษัทขนาดใหญ่ และต่อมาได้เปิดบริษัทของตัวเอง สร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วและคงไม่หยุดเพียงเท่านี้
รัศมีบอกว่า Sixteenth Street Capital จะบริหารเงินทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไม่น้อยกว่า 200-300 ล้านเหรียญ โดยจะยังคงเน้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหวังว่าจะเพิ่มการลงทุนให้กับผู้ประกอบการคนไทย ซึ่งตอนนี้มีธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมากที่สามารถพัฒนาและมีธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันคนไทยยังมีสัดส่วนในวงเงินลงทุน 100 ล้านเหรียญที่ Sixteenth Street ดูแลอยู่เพียง 5-10% ที่เหลือเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจด้านบริการทางการเงินและคอนซูเมอร์ต่างๆ
“ธุรกิจเราเพิ่งเริ่มและเหตุที่ชอบอุตสาหกรรมนี้ เพราะทุกปีทุกวันได้เรียนรู้ได้คิดสิ่งใหม่ตลอด ซึ่งเราสนุกกับการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ” เป็นความในใจของนักธุรกิจสาววัย 29 ปี กับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นไม่นานแต่มีการเติบโตที่โดดเด่น
View this post on Instagram
“การเชิญชวนลงทุนนั้นไม่ยากแต่ข้อมูลต้องแน่น ต้องทำให้นักลงทุนเข้าใจและมองเห็นภาพในระยะยาว ถ้าคนลงทุนไม่มองระยะยาว โอกาสการเติบโตก็จะไม่เห็น” รัศมีย้ำจุดขายหลักอีกประการที่ทำให้เธอสามารถเชิญชวนนักลงทุนเข้าสู่ธุรกิจในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ซึ่งการเชิญชวนลงทุนอาจต้องใช้เวลาเป็นเงื่อนไขในการช่วยตัดสินใจด้วย
เมื่อถามว่าเธอทำอย่างไรจึงสร้างการเติบโตของ Sixteenth Street Capital ได้ในเวลารวดเร็วก็มีเงินทุนที่บริหารถึง 100 ล้านเหรียญ รัศมีบอกว่าทุกอย่างมาจากการแนะนำบอกต่อแบบปากต่อปากของคนที่เคยใช้บริการ ลูกค้าแนะนำให้เพื่อนของเขาต่อๆ กันไป คือเครือข่ายที่ช่วยสร้างการเติบโต ซึ่งไม่ได้มาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก แม้ยุคนี้จะเป็นสังคมดิจิทัลแล้วก็ตาม
รัศมียังบอกด้วยว่า การที่เธอมีอายุน้อยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ มุมมองและเป้าหมายคือสิ่งสำคัญที่ต้องมี ซึ่งเธอยังได้ฝากบอกถึงคนที่อย่างเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยว่าต้องมองโอกาสให้เป็น เอเชียโอกาสเติบโตทางธุรกิจยังมีอีกมาก
“เอเชียมีโอกาส มีประสิทธิภาพ และการเติบโตสูง” รัศมียืนยันและว่า คนที่คิดจะทำธุริจควรมีสายตายาวไกล มีฝันที่ยิ่งใหญ่และต้องทุ่มเทเพื่อไปให้ถึง “คุณต้องมี passion work hard และต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมในกลุ่มคนดี โอกาสก็จะเกิดตามมา”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine