จากจุดเริ่มต้นแบบไม่รู้อะไรเลยในการเป็นตัวกลางปล่อยพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรสู่ผู้บริโภคในยุคโควิดระบาดที่ช่องทางการขายดั้งเดิมถูกปิด ได้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบเต็มตัว ระหว่างทางมีทั้งอึดและอด ถูกหลอกก็มี แต่เธอก็ค่อยๆ ปรับและเรียนรู้ หวังสร้างห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัยให้สังคม บนแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม จนวันนี้เริ่มแกร่งพอที่จะส่งน้ำมะพร้าวออร์แกนิกบุกตลาดยุโรป
นานทีปีหนที่จะเห็นหนุ่มสาวชาวไทยเข้าติดทำเนียบ 30 Under 30 ของ Forbes Asia ในสาขาต่างๆ และในปี 2565 นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นชื่อ สุธาสินี สุดประเสริฐ วัย 25 ปี เข้าติดทำเนียบด้านผลลัพธ์เชิงสังคม (Social Impact) รวมอยู่ด้วย เธอเป็นคนไทยคนเดียวที่ติดสาขานี้ โดยผลงานที่ไปเตะตากรรมการคือ Happy Grocers ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งต่อสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยของเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง
“รู้สึกตื่นเต้น” เธอกล่าวกับพวกเราพร้อมรอยยิ้มและบอกว่า ที่ได้ติดทำเนียบนี้คิดว่าน่าจะไม่ใช่เหตุที่ขายสินค้าจากเกษตรกรหรือเป็นร้านขายผักออร์แกนิก แต่เธอคิดว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เดาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (food security) เมื่อซัพพลายเชนถูกตัดขาดระหว่างโควิดระบาด รวมไปถึงโมเดลธุรกิจของ Happy Grocers ที่ชัดเจนสามารถพัฒนาเป็นขนาดใหญ่ และมีผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้
และบอกอีกว่า เรื่องราวของ Happy Grocers ไม่ได้ถูกปลุกปั้นขึ้นมาโดยเธอคนเดียว แต่ยังมีผู้ร่วมบุกเบิกอีกคนคือ ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย วัย 26 ปี ทั้งคู่บอกว่า เรื่องราวของ Happy Grocers นั้นไม่ได้เป็นเรื่องราวของพวกเธอทั้งหมด แต่เป็นเรื่องราวของเครือข่ายเกษตรกรรวมอยู่ด้วย ที่เชื่อมั่นในตัวของพวกเธอแม้จะไม่มีเงินทุนเลยก็ตาม เป็นเพราะว่าบรรดาเกษตรกรมีความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมเหมือนกับพวกเธอ และอยากสร้างอาหารปลอดภัยเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
บนจุดยืนที่ว่า ธุรกิจเพื่อสังคมนี้ต้องอยู่ได้ด้วยผลกำไรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน ณ จุดนี้ปัทมาภรณ์ย้ำว่า “อยากทำธุรกิจและทำความดีไปในเวลาเดียวกัน ได้ช่วยคนด้วย”
- เริ่มจาก “ศูนย์” -
ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ เฉกเช่นเดียวกับสุธาสินีและปัทมาภรณ์ที่ได้แจ้งเกิดธุรกิจของ Happy Grocers ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ประสบปัญหาระหว่างการระบาดของโควิด-19 ในเวลานั้นสุธาสินีรับรู้จากเกษตรกรที่ตนรู้จักว่า ไม่สามารถจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรเกรดรอง (เกรดดีส่วนใหญ่ถูกคัดเลือกเข้าสู่ระบบค้าปลีกใหญ่ๆ ไปแล้ว) ในตลาดปกติได้
ทำให้เธอคิดหาทางออกเพื่อไม่อยากให้พืชผักเหล่านั้นเน่าเสียและเกษตรกรขาดรายได้ ด้วยความเป็นคนคิดเร็วทำเร็วเธอจึงรับอาสาเป็นตัวกลางส่งต่อสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง โดยใช้หน้าเพจ Facebook ของตนเองเป็นช่องทางการสื่อสาร ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยหลังจากนี้ว่าจะจัดการกับพืชผักอย่างไร หรือบริหารด้านโลจิสติกส์เพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้าอย่างไร คิดเพียงแค่ช่วยระบายสินค้าเท่านั้น
สิ่งที่เธอคิดได้รับผลดีเกินคาดเพราะมีถึง 20 คำสั่งซื้อเข้ามาในวันแรก และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ที่นี่ และจุดนี้เองเธอเริ่มเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อสังคมที่เธอสามารถทำได้และตรงกับความต้องการในชีวิตที่อยากทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว
ดังนั้น จึงโทรปรึกษากับปัทมาภรณ์เพื่อคุยไอเดียเรื่องนี้ ทั้งคู่ตบไอเดียกันไปมา และอีกวันต่อมาก็เริ่มลุยทันที โดยการออกแบบเว็บไซต์ง่ายๆ และสามารถจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตได้ เพื่อสร้างความสะดวกให้ลูกค้าและรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งคู่ไม่ต้องควักเงินทุนทำเพราะทำธุรกิจแบบรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อตัดปัญหาเรื่องต้นทุนการจัดเก็บ เมื่อปัทมาภรณ์มองว่า “ไอเดีย” ธุรกิจนี้น่าจะไปได้ เธอจึงตัดสินใจออกจากงานประจำจากบริษัทจัดหาบุคคลที่ทำมาเกือบปีทันที
“ความไม่มีทำให้เราต้อง creative ทำให้เราใช้ช่องทาง Facebook ในการบอกลูกค้า บางอย่างมากเกินไปเราก็ปรับให้ใหม่ มันเป็นเหมือนเพื่อน เดี๋ยวส่งให้ใหม่” สุธาสินีบอกเล่าความรู้สึกในช่วงแรกของการทำงานที่เต็มไปด้วยหนทางขรุขระ
ด้านพืชผักที่จำหน่ายในช่วงแรก Happy Grocers ก็ไม่ได้กลั่นกรองสินค้าอย่างจริงจัง มีทั้งพืชผักออร์แกนิกและแบบธรรมดาที่ยอมรับความปลอดภัยได้ จุดเปลี่ยนวันหนึ่งคือ รับสินค้ามาจากป้าคนหนึ่งที่บอกว่าเธอสามารถจัดหาพืชผักออร์แกนิกได้ทั้งหมด พวกเธอดีใจเพราะไม่ต้องเหนื่อยหาสินค้าจากหลายๆ แหล่ง แต่หารู้ไม่ว่ากำลังถูกหลอก โดยมีพี่คนหนึ่งซึ่งจบปริญญาเอกด้านปฐพีศาสตร์สะกิดถามว่า ผักโน่นนี่มาจากไหน แต่ทั้งคู่ก็ตอบไม่ได้ถึงแหล่งที่มา
เช่น แครอท ป้าคนขายก็บอกว่ามาจากสระบุรีแต่พี่ผู้หวังดีก็บอกว่าแครอทไม่สามารถปลูกที่ภาคกลางได้ จากจุดนี้เองทั้งคู่ต้องมาทบทวนการดำเนินธุรกิจของตัวเองที่ผ่านมา โดยสุธาสินีตระหนักว่า “เราไม่รู้ในสิ่งที่เราขาย ทำไมเขาถามคำถามมาแล้วต้องไปรอให้อีกคนบอก” หากเป็นเช่นนั้นต่อไปธุรกิจต้องถึงจุดจบสักวัน
ดังนั้น ทั้งคู่จึงพยายามสร้างร้าน Happy Grocers ให้ “โปร่งใส” ด้วยข้อมูล ไม่โกหกลูกค้า โดยทำการจัดเกรดสินค้าเป็น 3 เกรดคือ ออร์แกนิก เกรดปลอดภัย และเกรดธรรมดา เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง สินค้าทั้งหมดส่งตรงมาจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งทั้งสองได้ทำการตรวจสอบแล้ว
ข้อมูลตามเว็บไซต์ของ Happy Grocers บอกว่ากว่า 60% เป็นสินค้าเกรดรองไม่ได้วางขายในชั้นซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดลธุรกิจของเธอยังสามารถช่วยป้องกันเศษอาหารเหลือมากกว่า 40% ในแต่ละชุด โดยสินค้าทั้งหมดราว 99% มาจากไทย ลูกค้าของพวกเธอ 95% เป็นชาวต่างชาติ ส่วนราคาที่ขายก็ถูกกว่า 5-10% เมื่อเทียบกับสินค้าที่วางในซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่ ปัจจุบันมีการส่งสินค้าทุกวัน ปัจจุบันหากลูกค้าไม่อยากสั่งซื้อก็สามารถซื้อได้ด้วยตนเองผ่าน Happy Grocers Truck ที่แวะเวียนไปจอดตามจุดต่างๆ และเวลาที่กำหนดไว้ เช่น แถวสุขุมวิท สาธร และซอยอารีย์ เป็นต้น
- เริ่มนับก้าว -
ทั้งคู่ร่วมกันบุกเบิก Happy Grocers ด้วยความอดทน แม้ไม่มีรายได้จากบริษัทมาใช้จ่ายเพื่อส่วนตัวเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังสู้โดยอาศัยร่วมกินกับต้นทุนของบริษัท เงินที่ได้มาก็ใช้หมุนเวียนสร้างสภาพคล่องและขยายงาน ประสบการณ์สอนพวกเธอหลายๆ อย่างของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะได้เรียนรู้ว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจต้องทำเป็นทุกอย่าง
ท้ายสุดรางวัลของความมุ่งมั่นก็ตอบแทนเธอ มีนักลงทุนที่มีแนวคิดเดียวกันเข้าร่วมทุนด้วย 5 คน ได้เงินทุนมา 5 ล้านบาท แต่ละคนเข้าถือหุ้นกันคนละ 1% ส่วนอีก 95% ทั้งคู่ถือคนละครึ่งเท่าๆ กัน แต่กระนั้นทั้งคู่ตั้งกติกาไว้คือ ไม่ให้เข้ามาถือหุ้นอย่างเดียว ต้องช่วยทำงานและเป็นที่ปรึกษาด้วย เพราะตระหนักเสมอว่าตัวเองเป็นคน “น้ำไม่เต็มแก้ว”
ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 2 ปี เวลาสอนพวกเธอให้แกร่งขึ้น บวกกับวางโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจไว้ค่อนข้างลงตัว เช่น รู้ว่าบริษัทขนส่งไหนให้ความสำคัญกับตรวจจับคาร์บอนฟุตปริ้นท์
วันนี้พวกเธอฝันไกลออกไปอีก ตั้งใจจะเอาน้ำมะพร้าวออร์แกนิกส่งไปจำหน่ายที่ตลาดยุโรป ต่อกรกับผู้เล่นขนาดใหญ่ที่มีสายป่านทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่แน่นในตลาด ความท้าทายเบื้องหน้าคือ ต้องควบคุมการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสินค้าออร์แกนิกจริงๆ
โดยพวกเธอทำหน้าที่เป็นคนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบ เก็บข้อมูล และทำตลาดส่งออก โดยผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวที่ว่ามาจากสวนในจังหวัดราชบุรี 25 ไร่ และตอนนี้ก็ไปชักชวนเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มจากสมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ให้หันมาปลูกแบบออร์แกนิกแทนที่การใช้สารเคมี จนมีพื้นที่เข้าร่วมเพิ่มเกือบเป็น 60 ไร่ โดยพวกเธอให้คำมั่นที่จะเพิ่มรายได้อีก 4 เท่าจากเดิมที่ได้
เมื่อถามสุธาสินีว่า ตอนนี้ทำตามความฝันไปได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว เธอบอกว่า มันยัง “super early” ขณะที่ปัทมาภรณ์เสริมว่า ความสำเร็จของพวกเธอไม่ใช่ขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้น แต่เป็นเรื่องขนาดของพื้นที่ฟาร์มเกษตรที่ขยายออกไปเพิ่มขึ้นของ Happy Grocers เพื่อสร้างผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในวงกว้าง
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานนท์ และ Happy Grocers
อ่านเพิ่มเติม:
>> "โปรตีนจิ้งหรีด" อาหารแห่งอนาคต โอกาสของไทยในวิกฤตอาหารโลก
>> “5 เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก