พริษฐ์ เที่ยงธรรม : แพลตฟอร์มออนไลน์ Edsy เสริมทักษะภาษาด้วยเรื่องราวสนุกสนานให้เด็กไทย - Forbes Thailand

พริษฐ์ เที่ยงธรรม : แพลตฟอร์มออนไลน์ Edsy เสริมทักษะภาษาด้วยเรื่องราวสนุกสนานให้เด็กไทย

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในโลกปัจจุบันเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกทั้งเพื่อการทำงาน ติดต่อธุรกิจ หรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวนั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ


    ทีมงาน Forbes มีนัดสัมภาษณ์ในช่วงเช้ากับ พริษฐ์ เที่ยงธรรม หนุ่มนักธุรกิจสตาร์ทอัพวัย 30 ปี ซึ่งเป็นซีอีโอผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเรียนภาษาอังกฤษผ่านออนไลน์ Edsy และยังเป็น 1 ในคนไทยที่มีรายชื่อติดอยู่ในลิสต์ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ และผู้สร้างแรงบันดาลใจสู่เอเชีย "30 Under 30 Asia 2023" ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Forbes เอเชีย

    บรรยากาศการพูดคุยในวันนั้น ณ ห้องประชุมรับรองของคอนโดใจกลางเมืองย่านพร้อมพงษ์ เป็นไปด้วยความผ่อนคลาย สบายๆ ดูเป็นกันเอง ซึ่งบริเวณโดยรอบของสถานที่ที่ซีอีโอหนุ่มกำลังบอกเล่าเรื่องราวด้วยความคาดหวังที่จะยกระดับการศึกษา “ภาษาอังกฤษ” ผ่านออนไลน์ของเด็กไทยทั่วประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นรายล้อมไปด้วยความเขียวชอุ่มของต้นไม้และไม้ยืนต้นอายุเก่าแก่ที่ตั้งตระหง่านขนาดใหญ่อยู่ใจกลางสวน ถือเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของความเป็นคนเมืองและยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายใกล้ชิดกับธรรมชาติของเขาได้อย่างสมดุล 


    พริษฐ์ หรือ เฟิร์ม เรียนจบระดับชั้นปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สั่งสมประสบการณ์การทำงานด้าน Management Consultant โดยทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจจากประเทศเยอรมนี Roland Berger ซึ่งดูแลทั้งโปรเจ็กต์จากภาครัฐและภาคธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การบริหารและการวางคอนเซ็ปต์กลยุทธ์ธุรกิจต่างๆ ให้แก่ทาง ทรูดิจิทัล พาร์ค เป็นต้น 

    หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ 2 ปีกว่า เขาได้ย้ายไปทำงานฝ่ายที่ปรึกษาให้กับแต่ละ Business Unit ของซีอีโอคนดัง ทศ จิราธิวัฒน์ ซี่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของเซ็นทรัล กรุ๊ป และเมื่อเริ่มอิ่มตัวกับสายงานดังกล่าว พริษฐ์จึงตัดสินใจไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท MBA ที่ Yale University ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังระดับ Top 3 ของสหรัฐอเมริกา

    ช่วงปี 2020 พริษฐ์ต้องเจอกับสถานการณ์หวั่นไหวที่หลายคนทั่วโลกต่างก็ไม่เคยคาดคิดนั่นก็คือการแพร่ระบาดโควิด-19 เขาจึงต้องบินกลับมายังประเทศไทยเพื่อเรียนปริญญาโท MBA ผ่านออนไลน์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ First Time Experience เรียนผ่านออนไลน์เป็นครั้งแรก และยังเป็นที่มาของการจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เขาฉุกคิดได้ว่า “ถ้าเราอยากจะเป็นสตาร์ทอัพหรืออยากทำธุรกิจ การเรียนผ่านออนไลน์ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และยังมีส่วนช่วยให้ผู้คนเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีแบบเป็นวงกว้างได้ง่ายยิ่งขึ้น”


“Edsy” It is Not Easy!

    แม้จะอยู่ในสังคมและฐานะที่ดี แต่เมื่อมองกลับไป พริษฐ์ได้เห็นสังคมรอบตัวที่แวดล้อมไปด้วยญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่พ่อแม่ต่างเลือกส่งลูกเรียนที่โรงเรียนนานาชาติเพื่อให้มีโอกาสที่ดีกว่าและได้เปรียบในอนาคตยิ่งกว่าความได้เปรียบของเด็กไทยที่ได้เรียนในโรงเรียนอินเตอร์หรือได้ไปเรียนศึกษาต่อในต่างประเทศเทียบกับเด็กที่เรียนในโรงเรียนธรรมดาคือการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษตลอดการเรียน

    ยิ่งใครสามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่าก็จะยิ่งมีโอกาสที่ดีได้สืบเนื่องถึงอนาคตที่ดีกว่าในการได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำทั่วโลก “การพูดคุยด้วยภาษาอังกฤษ” จึงเหมือนเป็นโอกาสที่จุดประกายในเขาลงมือสร้างสตาร์ทอัพด้านการศึกษาผ่านออนไลน์ที่ชื่อ “Edsy”

    โดยเขาได้วางโมเดลสตาร์ทอัพของ Edsy และเดินเข้าร่วม Iterative โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยรายแรกและรายเดียวที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

    ณ ช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ค่อยๆ เติบโตมาเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง พริษฐ์เล่าว่า เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมมากมาย ทั้งการฝึกพิทช์ การทำเวิร์กชอปที่หลากหลาย รวมถึงการได้รับคำแนะนำเพื่อนำไปปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์ว่า จะหาวิธีการอย่างไรที่จะดึงดูดให้เด็กนักเรียนสนใจเรียนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากที่ได้เรียนมาแล้วตลอดระยะเวลา 3-6 เดือน รวมทั้งแนะนำให้คอยสังเกตการณ์เฝ้าดูนักเรียนในแต่ละคลาสเรียนอยู่บ่อยๆ เพื่อนำฟีดแบ็กต่างๆ มาพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น และได้รับเงินทุนตั้งต้นเป็นจำนวน 150,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อจบโครงการ

    กลางปี 2021 เขาเริ่มต้นลงมือสะกดภาษาธุรกิจของตนเองอย่างจริงจัง สร้าง Edsy ให้เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่สร้างสรรค์มิติใหม่ให้เด็กๆ เกิดความสนใจคลาสเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ผ่านการสอนในรูปแบบ Story Line ได้อย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน

    เขาได้ร่วมกับ ณัฐธิดา ตันศิริคงคล ศิษย์เก่าจาก Wharton ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม ก่อนที่เวลาต่อมาจะได้ ณพล รัชตสัมฤทธิ์ อดีตวิศวกรผู้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Microsoft สหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานถึง 4 ปี มานั่งตำแหน่ง CTO ดูแลด้านเทคโนโลยี

    ทั้ง 3 ต่างมีเป้าหมายหลักที่ตรงกันในการผลักดันให้เยาวชนไทยทั่วประเทศสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจมีประสิทธิภาพพร้อมก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก

    อย่างไรก็ตาม ซีอีโอหนุ่ม วัย 30 ปี ยังให้ความเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยยังเล็กมากนักหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือ จีน และอินเดีย ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพไทยจะต้องอดทนให้มากและกัดฟันสู้ไม่ถอย 

    ซึ่งในต่างประเทศเองก็ยังมองว่าตลาดธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยไม่เหมาะกับรูปแบบ funding model อีกทั้งทิศทางการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนอย่าง Venture capital เองต่างก็ต้องการผลตอบแทนเป็นจำนวนไม่น้อยในระดับ 300-500 ล้านเหรียญเป็นอย่างต่ำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพไทยหาเงินระดับทุนได้ยากตามไปด้วย

    “ช่วงแรกก็ต้องกัดฟันสู้เยอะหน่อย เราต้องอยู่ได้ด้วยการพึ่งเงินทุนให้น้อยที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้ก็มีข้อดีเพราะการที่ startup เงินทุนน้อยจะทำให้เราครีเอทีฟมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีเงินเยอะก็เอาไปยิง facebook ads ทำให้เงินสูญเปล่า ช่วง 2 ปีก่อนโควิดอาจเป็นสิ่งที่ทำได้เพราะว่าตลาด fund raising ค่อนข้างบูม จนกลางปี 2022 ที่ตลาดเปลี่ยนกลายเป็นนิ่งลงเยอะ ทุกวันนี้ VC ต่างพยายามให้ startup หาทางเติบโตในแบบ organic growth”

    ขณะเดียวกันยังช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดที่ผ่านมา พริษฐ์เล่าว่า ช่วงนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากในการคัดสรรทีมงานที่จะเข้ามาร่วมทีม เพราะเขาและณัฐธิดาต่างก็มีประสบการณ์การทำงานในด้านที่ปรึกษาธุรกิจ การเงินการธนาคาร แต่ไม่มีแบ็กกราวน์ความรู้ในด้านไอทีที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์แต่อย่างใด

    ดังนั้นการคัดเลือกสัมภาษณ์คนที่จะเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมงาน ตลอดจนรูปแบบการทำงานต่างๆ จึงถูกจำกัดให้เจอและสื่อสารกันได้แค่ทางระบบออนไลน์เท่านั้น ทุกขั้นตอนการทำงานจึงต้องอาศัยความเชื่อใจกันเป็นอย่างมากเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งกว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ก็ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาปรับปรุงทั้งระบบการทำงานรวมถึงทีมงานผู้สอนอยู่ปีกว่า

    ขณะที่การได้ ณพล ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีซึ่งกำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้าน AI Engineering จาก Carnegie Mellon University มานั่งแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี หรือ CTO ด้วยทุกอย่างจึงเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

    นอกเหนือจากการคัดสรรหาครูที่จะมาสอนนักเรียนผ่านออนไลน์ พริษฐ์ยังต้องพยายามหาเด็กๆ มาทดลองเรียนกับแพลตฟอร์มของเขาด้วยการแจกโบรชัวร์ไปตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งในช่วงแรก target market หรือ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายในรูปแบบ B2C ซึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองที่เลือกจ่ายคอร์สเรียนให้บุตรหลานของตนเองเป็นหลัก โดยคลาสเรียนออนไลน์ของ Edsy จะมีให้เลือกทั้งแบบเรียนตัวต่อตัว สนนราคาคลาสละ 420 บาท/40 นาที และเรียนแบบกลุ่มละ 4 คน ราคาคลาสละ 280 บาท/40 นาที


    หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มซาลงทางธุรกิจจึงเริ่มมีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังรูปแบบ B2B โดยการเน้นกระจายความร่วมมือไปตามโรงเรียนเอกชนชั้นนำต่างๆ ตามจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลักมากขึ้น ซึ่งในส่วนของคลาสการเรียนการสอนตามโรงเรียนเหล่านี้ ทางโรงเรียนสามารถเลือกเซ็ตเมนูในแต่ละ 10 คลาสเรียน ได้ตามต้องการในราคาเพียง 2,500 บาท เช่น เซ็ตเมนูเกี่ยวกับเรื่องราวการผจญภัย adventure 10 คลาส ทาง Edsy จะจัดสรร 10 คลาสเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และดึงดูดความสนใจแก่เด็กนักเรียนในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่างๆ มาให้

    พอถึงเวลาคลาสเรียนที่ทางโรงเรียนกำหนดเวลาไว้ นักเรียนของคลาสดังกล่าวที่มีประมาณ 30-40 คน ก็จะมานั่งประจำกลุ่มในห้องคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งกลุ่มๆ ละ 4 คน เรียนกับครูผู้สอน 1 ท่าน ผ่านระบบออนไลน์ซึ่งดูแลนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ เด็กๆ ก็จะสามารถพูดคุยสนทนาโต้ตอบกับครูได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่แตกต่างจากการเรียนการสอนของเด็กๆ ในโรงเรียนอินเตอร์ เขากล่าวเสริมว่าราคาดังกล่าวถือเป็นราคาที่ถูกมากหากเทียบกับอัตราการจ้างครูภาษาอังกฤษมาสอนแทนซึ่งความทั่วถึงในการดูแลเด็กจำนวนมากในแต่ละคลาสอาจไม่เท่ากันและประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอาจลดลง 



    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Edsy ได้ดำเนินการเรียนการสอนไปแล้วกว่า 30,000 คลาส และมี 10 โรงเรียนเอกชนรายใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ เลือกใช้บริการเสริมทักษะภาษาให้เด็กนักเรียนผ่านออนไลน์ เช่น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กทม. , โรงเรียงเชียงใหม่คริสต์เตียน และโรงเรียนแสงทองวิทยา อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา เป็นต้น ขณะที่สัดส่วนของเป้าหมายการตลาดในปัจจุบันมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ 50:50 ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C

    “เราเริ่มธุรกิจปีแรกในช่วงกลางปี 2021 พอมาปี 2022 ถือเป็นการทำธุรกิจแบบเต็มรูปแบบตลอดทั้งปีของจริง สถานการณ์โควิด-19 ตอนนั้นส่งผลให้นักเรียนไม่มีเวลาเรียน ตลาด fund raising ก็ไม่ดี แต่ Edsy ก็ยังทำรายได้ให้เติบโตได้เป็นอย่างดี หลังจากเป้าหมายธุรกิจในแบบ B2C ที่พ่อแม่นิยมจ่ายค่าเรียนเสริมทักษะให้ลูกๆ ลดลง เราก็หันไปหาธุรกิจในรูปแบบ B2B ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ มากขึ้น และคาดว่ารายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวและน่าจะได้เงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจาก VC”




บทเรียน เล่าเรื่อง แสนสนุก

    หากเจาะลึกถึงระบบการเรียนการสอนในช่วงแรกของ Edsy รูปแบบที่จัดทำขึ้น ณ ตอนนั้น ดูแล้วอาจจะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนอย่างในปัจจุบันเท่าไรนัก จนวันหนึ่งพริษฐ์ได้ลองเฝ้าสังเกตการณ์ดูการเรียนการสอนของคลาสที่มีเด็กนักเรียนวัยประถมชั้น ป.6 ซึ่งแต่เดิมเด็กคนนี้ดูจะเป็นคนพูดน้อย ไม่ค่อยกล้าพูดกล้าแสดงออก แต่เมื่อครูเปิดบทสนทนาด้วยการพูดคุยถึงศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวง K-Pop อย่าง Blackpink เด็กก็เริ่มมีแววตาเป็นประกาย ให้ความสนใจ และพร้อมเปิดใจพูดคุยกับครูด้วยการโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น

    Edsy จึงหันมาสร้างจุดเด่นและความแตกต่างให้กับการเรียนภาษาผ่านออนไลน์ ด้วยการเปิดกว้างให้เด็กๆ สามารถเลือกเรียนและฝึกสื่อสาร-พัฒนาทักษะในหัวข้อที่ตรงตาม Passion ความชื่นชอบของนักเรียนแต่ละคนได้ในรูปแบบ Virtual Adventure เช่น การร่วมผจญภัยในคลาส “Exploring Pokemon s World” การทำกิจกรรมในคลาส “How to Become a TikTok Star” หรือแม้กระทั้งคลาสที่เกี่ยวข้องกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงอย่าง “Public Speaking with Greta Thunberg” 

    การปรับเปลี่ยนสไตล์รูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ดังกล่าว ช่วยกระตุ้นความสนใจให้เด็กๆ สนุกไปกับการเรียนภาษาอังกษผ่านออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนการสอน แบบเดิมที่โรงเรียนต่างนิยมสอนเด็กในรูปแบบ English Text Book ซึ่งก็คือการเน้นเรียนไปตามขั้นตอนตามตำราทีละบทที่อาจทำให้เด็กๆ เบื่อง่าย ให้ความสนใจได้ไม่เต็มที่


    “เราเน้น motivation passion ของเด็กๆ ก็เลยเปิดโอกาสให้เขาได้เลือกอย่างมีอิสระ คลาสสดของเราจะเหมือนหมวดหมู่หนังใน netflix ที่มีให้เลือกหลากหลาย ใครอยากเรียนอะไรก็เลือกได้เลย ไม่ว่าจะเป็น โปเกม่อน แฮรี่ พอตเตอร์ หรือใครที่ชื่นชอบการเดินทางก็มีคลาสเที่ยวฝรั่งเศส สอนทำซูชิ ทำกิมจิ และถ้าเด็กชอบศิลปะ ก็จะมีคลาส art & craft ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนของเด็ก ก็ควรเลือกให้ตรงกับคลาสที่เขาชอบแล้วเสริมเขาไปเด็กก็จะสนใจ สนุก และมีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น”

    กลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ Edsy คือเด็กนักเรียนระดับประถมชั้นปีที่ 4-ระดับมัธยมต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ณ ปัจจุบัน มีผู้ปกครองต่างสนใจสนับสนุนให้ลูกๆ ได้เสริมทักษะภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1-3 โดยหัวข้อที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่นิยมเลือกเรียนกันมากที่สุด ก็คือ Story Line ของคลาสการเรียนการสอนที่สอดแทรกเรื่องราวต่างๆ 

    อาทิ เรื่องราวของศิลปินและวัฒนธรรม K-Pop อย่าง “how to become the k-pop idol” ที่จำลองเรื่องของการฝึกเดบิวต์เป็นศิลปินเกาหลี หรือ welcome to Hogwarts ซึ่งเป็นเรื่องราวของเหล่าพ่อมดแม่มดน้อยและไม้กายสิทธ์ในโลกจินตนาการแห่งเวทมนตร์ ที่ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้น สนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจไปกับแต่ละบทบาทและบททดสอบภาษาอังกฤษที่พวกเขาได้รับ เมื่อเด็กๆ ชื่นชอบ เกิดความสนใจ ก็จะช่วยให้เกิดความกล้าแสดงออก แสดงความคิดเห็น และโต้ตอบสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

    การเรียนภาษาผ่านออนไลน์ที่นักเรียนมีอิสระในการเลือกคลาสต่างๆ ตามความชอบจากตัวเลือกที่มีหลากหลายนับพันคลาส นอกจากจะส่งผลดีในการสร้างแรงจูงใจแก่เด็กๆ แล้ว ยังเป็นผลดีต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่ต้องพยายามเคี่ยวเข็นให้บรรดาลูกๆ ต้องเรียนภาษาเพิ่มเติมแบบแต่ก่อน ซึ่งอุปสรรคและปัญหาหลักของธุรกิจสถาบันสอนภาษาไม่ว่าจะเป็นแบบออฟไลน์หรือออนไลน์นั้น ก็คือ จะทำการวัดผลนักเรียนว่ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อย่างไร

    โดยการวัดผลที่สถาบันอื่นๆ ส่วนใหญ่เลือกใช้ก็คือการคำควิซตอบแบบสอบถาม ที่เน้นในเรื่องของการท่องจำคำศัพท์หรือการใช้หลักไวยากรณ์ แกรมม่าให้ถูกต้องมากกว่า จึงอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่แท้จริงว่านักเรียนแต่ละคนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

    ทาง Edsy จึงมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ทั้งก่อนและหลังการเรียนในแต่ละคลาส โดยการอัดเสียงให้เด็กๆ แต่ละคนพูดภาษาอังกฤษโต้ตอบ บอกเล่าเรื่องราว หรือคำศัพท์ต่างๆ ที่เรียนมา แล้วจึงให้ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ประเมินผลได้ว่านักเรียนแต่ละคนมีจุดอ่อนทางภาษาในด้านใดแล้วจึงทำการเลือกเรียนคลาสเพื่อเสริมทักษะให้ตรงเป้าหมายและตรงกับความชอบของแต่ละคน รวมถึงการประเมินหลังจากเรียนจบในแต่ละคลาสด้วยว่าเป็นอย่างไรในการพัฒนาทักษะต่างๆ


เป้าหมายชัด ยกระดับ “ภาษา” ให้เด็กไทย

    “ทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เครียด เหนื่อย มีหลายเรื่องให้ต้องคิดและวางแผนอยู่ตลอดเวลาและอาจส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยน ต้องคิดให้ดีๆ ว่าเป็นสิ่งที่ใจเรารักและชอบจริงๆ ไหม ไม่ใช่แค่หวังรวย เพราะสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจริงๆ มีน้อยมาก เราจะทนได้ไหมกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไขตลอดเวลา” ประโยคที่พริษฐ์บอกเล่า ตอกย้ำกับเรื่องราวที่เขาบอกว่า จากเดิมที่เคยเป็นคนชิลๆ ใจเย็น พอต้องมาทำธุรกิจรับผิดชอบหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง

    เวลาส่วนตัวใช้เวลาเจอเพื่อนฝูงจึงน้อยลงและกลายมาเป็นคนที่ทำอะไรไวขึ้น และค่อนข้างใจร้อนขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องรีบคิดตัดสินใจเรื่องงานหลายๆ อย่าง ส่งผลให้กลายเป็นคนนอนดึกและนอนหลับยากเพราะจะมีภาพงานวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดเวลา เขาจึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตนเองด้วยการหาเวลาไปออกกำลังกาย มีเทรนเนอร์คอยดูแลสร้างความสมดุลเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น

    การเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพยังแตกต่างจากประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับบริษัทองค์กรใหญ่ๆ อย่างเห็นได้ชัด พริษฐ์ให้ความเห็นว่า เพราะการเป็นสตาร์ทอัพรายเล็กๆ จึงไม่มีแหล่งเงินทุนที่สำคัญเพื่อคอยซัพพอร์ตอยู่ในมือ พอคนน้อย ทุนไม่เยอะ ประกอบกับการตั้งต้นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ เหล่าบรรดานักธุรกิจสตาร์ทอัพจึงต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทีมงานทำการวิจัย research สนับสนุนข้อมูลต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงค่อยนั่งวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่และยังมีเวลาวางแผนการจัดการต่างๆ ได้มากกว่า

    เมื่อรู้ว่าเส้นทางที่เลือกเดินจะต้องฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ อย่างมากมาย พริษฐ์จึงตั้งเป้าหมายของธุรกิจ Edsy ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยความแน่วแน่อย่างเห็นได้ชัด แม้ธุรกิจจะเพิ่งเริ่มเพาะบ่มให้ค่อยๆ เติบโตมาได้ในระยะเวลาแค่ 2 ปี แต่เขาก็มีความพิถีพิถันในการคัดสรรบุคลากรที่เก่งๆ ให้ความสำคัญต่อการศึกษา และมีแบ็กกราวด์ที่ดีมาเป็นครูสอนผ่านออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นครูที่มีประสบการณ์การทำงานมาหลายปี

    รวมถึงครูที่เพิ่งจบใหม่ไฟแรง และสไตล์การทำงานที่ละเอียด รอบคอบ ซึ่งเมื่อทุกอย่างประกอบรวมเข้าด้วยกัน เทคโนโลยีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ที่ทันสมัย บุคลากรผู้สอนที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ รูปแบบสไตล์การสอนที่ดึงดูดใจและสามารถวัดประสิทธิผลของเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี จึงเป็นผลให้โรงเรียนต่างๆ เปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันด้วยความเชื่อมั่น ธุรกิจในแบบ B2B ที่เชื่อมโยงกับโรงเรียนต่างๆ จึงค่อยๆ โตเพิ่มขึ้นเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ 


    ปัจจุบัน Edsy มีทีมงานแบบ full time ทั้งสิ้นจำนวน 15 คน และมีเหล่าบรรดาครูผู้สอนระดับโปรไฟล์ดีมากประสบการณ์แต่ทำงานในรูปแบบ freelance จำนวน 100 คน ซึ่งคอยสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่สนุกสนานผ่านออนไลน์ให้แก่เด็กๆ ตามโรงเรียนชั้นนำต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาแล้วหลักหมื่นรายทั่วประเทศ

    โดยระหว่างนี้ทีมงานของพริษฐ์ยังเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาโปรดักส์ AI รูปแบบใหม่อีก 2 ตัว ซึ่งคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 นี้ พร้อมตั้งเป้ากระจายโอกาสการเข้าถึงคลาสเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพและมีราคาถูกลงให้แก่เด็กๆ นักเรียนทั่วประเทศจากหลักหมื่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนด้วยเช่นกัน

    “ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ได้ขึ้นได้สักอย่างหนึ่ง ก็อยากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่คนหนึ่งคน แต่ยังมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะไทยก็พึ่งการท่องเที่ยว การส่งออกนำเข้าจากต่างประเทศเยอะ ถ้าอยากจะเป็น true digital economy, Advance Economy ภาษาอังกฤษก็น่าจะช่วยได้” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย


    อ่านเพิ่มเติม : ชูเดช คงสุนทร WICE เปิดทางเชื่อมยูโรเอเชีย

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine