30 UNDER 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชียปี 2019: ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

30 UNDER 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชียปี 2019: ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jul 2019 | 09:58 AM
READ 10389

จากการคัดเลือกรายชื่อกว่า 2,000 ชื่อ ตรวจสอบโดยทีมข่าว และรับรองโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เราขอนำเสนอรายชื่อ Forbes 30 Under 30 Asia ประจำปี 2019

เหล่าผู้ประกอบการและผู้พลิกเกมโลกธุรกิจทั้ง 300 คนนี้ มาจาก 23 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกล้วนโดดเด่นขึ้นมาด้วยเหตุผลอันคู่ควรอย่างแท้จริง ตั้งแต่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและพลิกอุตสาหกรรมเก่าแก่ ไปจนถึงการแสดงความสามารถอันล้นเหลือ และผงาดขึ้นมาบนเวทีโลก กลุ่มหนุ่มสาวดาวรุ่งเหล่านี้เปล่งประกาย ในหลากหลายด้าน หากคุณกำลังมองหาบรรดาผู้นำรุ่นต่อไปแล้ว นี่คือคู่มืออันเหมาะเจาะสำหรับคุณ พบ 5 หนุ่มสาวจากอุตสาหกรรมเด่น  (รายชื่อฉบับเต็มพบได้ที่ นิตยสาร forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562)  

หมวดผู้ประกอบการเพื่อสังคม

Richard Yim, 25 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, Demine Robotics กัมพูชา Richard Yim มุ่งมั่นสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ ชาวกัมพูชา โดยหวังให้เด็กๆ สามารถเดินและวิ่งเล่นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเหยียบกับระเบิด ซึ่งหลงเหลืออยู่จากสมัย สงครามกลางเมืองของกัมพูชา ในปี 2016 เขาก่อตั้ง Demine Robotics ขึ้น เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด Yim เกิดในกัมพูชาเมื่อปี 1993 ซึ่งเป็นปีที่กัมพูชาจัดการเลือกตั้งครั้งแรกเพื่อปิดฉากสงครามกลางเมืองร่วม 3 ทศวรรษ และทิ้ง กับระเบิดกว่า 6 ล้านลูกเอาไว้ โดยเชื่อกันว่ายังคงฝังอยู่ทั่วประเทศ และลูกหนึ่ง ในนั้นได้คร่าชีวิตป้าของเขาไปเมื่อปี 2000 ขณะที่เธอกำลังทำงานอยู่ในฟาร์ม ครอบครัวของ Yim ย้ายไปแคนาดาในปี 2006 ขณะเขาอายุได้ 13 ปี Yim เริ่มต้น Demine ขณะศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่ University of Waterloo ของแคนาดา หนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่สุดในการเก็บกับระเบิดคือ ยังไม่มีวิธีการใดที่มีค่าใช้จ่ายไม่มากในการขุดวัตถุระเบิดขึ้นมาโดยไม่ทำให้ผู้คนโดยรอบได้รับอันตราย ดังนั้น เพื่อจบปัญหานี้ Demine จึงได้พัฒนา Jevit (แปลว่า “ชีวิต” ในภาษาเขมร) หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ควบคุมผ่านทางไกลได้ ซึ่งสามารถดึงระเบิดขึ้นมาจากพื้นดินโดยไม่ทำให้ระเบิดปะทุขึ้น ด้วยเงินทุนจากทั้งรัฐบาลแคนาดาและกัมพูชา Demine เริ่มผลิต Jevit ในกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่บริษัทมุ่งจัดการความท้าทายเรื่องกับระเบิดในกัมพูชา Yim คาดหวังว่าท้ายที่สุุดแล้วจะมีการนำ Jevit ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดความขัดแย้ง เช่น อัฟกานิสถาน โคลอมเบีย และอิรัก “นี่นับเป็นเป้าหมายของผมมาโดยตลอดในการทำาให้โซลูชั่นด้านหุ่นยนต์ของเราเข้าถึงได้มากขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งและเต็มไปด้วยกับระเบิด” Yim กล่าว “ผมเชื่อมั่นอย่างมากว่า ธุรกิจนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้” - Caroline Chen รายงาน  

หมวดการดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์

Manuri Gunawardena 25 ปี ผู้ก่อตั้ง, HEALTHMATCH ออสเตรเลีย ในฐานะนักศึกษาแพทย์ที่ University of New South Wales นั้น Manuri Gunawardena ได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากด้วยตัวเองในการหาผู้ป่วยมาเข้าร่วมการทดลองแนวทางรักษาชีวิตคนที่เป็นไปได้ เธอสังเกตเห็นว่ายังไม่มีหนทางสะดวกๆ ที่จะให้ผู้ป่วยได้ค้นหาวิธีการรักษาทางเลือกสำหรับอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ เธอจึงเริ่มต้น HealthMatch ขึ้นในปี 2017 เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ HealthMatch ตั้งอยู่ใน Sydney ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) กับข้อมูลทางคลินิก เพื่อช่วยบรรดานักวิจัยและบริษัทยาค้นหาผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการศึกษา และช่วยผู้ป่วยค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับตัวเอง“เราทำให้การเข้าถึงการทดลองทางคลินิกเป็นไปแบบอัตโนมัติทั่วโลก และยกระดับอนาคตของการดูแลสุขภาพขึ้นอย่างมากด้วยการลดอุปสรรคด้านการวิจัยและการพัฒนา” Gunawardena กล่าวขณะนี้ HealthMatch ระดมทุนได้แล้ว 1.3 ล้านเหรียญจากนักลงทุน และวางแผนระดมทุนอีกอย่างน้อย 10 ล้านเหรียญในปีนี้ HealthMatch คิดค่าธรรมเนียมจากสถาบันวิจัยและบริษัทยาสำหรับการใช้แพลตฟอร์มของบริษัท และสำหรับการนำผู้ป่วยที่สรรหามาผ่าน HealthMatch ไปเข้าร่วมการศึกษาทดลองทางคลินิก ส่วนผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการในการใช้แพลตฟอร์มบริษัทคาดว่าจะทำยอดขายได้ 5 ล้านเหรียญในปีหน้า โดยหลักๆ มาจากการทดลองทางคลินิกร่วมกับ บริษัทยายักษ์ใหญ่ 2 แห่งจากสวิตเซอร์แลนด์ “การมีอายุน้อยกว่า 30 ปี หมายความว่าฉันมีความสามารถ ในการอ้าแขนรับและนำเทคโนโลยีไปใช้ในรูปแบบใหม่ๆ” Gunawardena กล่าว - Rana Wehbe รายงาน  

ธุรกิจการเงินและร่วมลงทุน

รัศมี กวาตรา, 29 ปี ผู้ก่อตั้ง, Sixteenth Street Capital ไทย รัศมี กวาตรา เข้าใจมานานแล้วเรื่องผลประโยชน์จากการเป็นนักลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนอายุ 12 ปี เธอชอบกินไก่ ที่ร้าน KFC เธอจึงไปซื้อหุ้นในเจ้าของแฟรนไชส์ KFC ในไทย ซึ่งก็คือบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) การลงทุนของเธองอกเงยมูลค่าขึ้นกว่า 1,700% ใน 11 ปี ในปี 2014 เมื่ออายุได้ 24 ปี เธอก็ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอายุน้อยที่สุด ที่เคยมีมาของ Prince Street Capital กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ขนาด 2 พันล้านเหรียญใน New York “จุดแข็งของฉันคือการค้นหาบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตขึ้นอีก 10-20 เท่าจากที่เป็นอยู่” รัศมีกล่าว รัศมีเข้าร่วม Prince Street ในปี 2011 หลังจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จาก Wharton School ของ University of Pennsylvania เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอก่อตั้งบริษัทเฮดจ์ฟันด์ของตัวเองขึ้นในสิงคโปร์คือ Sixteenth Street Capital โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 100 ล้านเหรียญ แม้เธอปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อลูกค้า แต่ก็ได้กล่าวว่านักลงทุนหลักของกองทุนเป็นสำนักงานของครอบครัวชื่อดังแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ Sixteenth Street มุ่งค้นหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนก้อนใหญ่จากตลาดชายขอบประเทศในเอเชีย เช่น บังกลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม ที่อยู่ห่างไกลจากจอเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ การใช้สมาร์ทโฟนที่กำลังเพิ่มขึ้น และการเข้าถึงเทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ช่วยให้บริษัทหลายแห่งในประเทศเหล่านี้นำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ไปยังตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เอเชียใต้และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น “บ้านของประชากร 1 ใน 3 ของโลก แต่เมื่อนับจนถึงปีนี้ ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7% ของจีดีพีโลก เธอกล่าว “แต่ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก” -Pamela Ambler รายงาน

สื่อ การตลาดและโฆษณา

Steven Wongsoredjo 26 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, NUSANTARA TECHNOLOGY อินโดนีเซีย Steven Wongsoredjo กลับมาบ้านในอินโดนีเซียหลังเรียนจบจาก Columbia University ในปี 2016 และได้ทันเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุง Jakarta ที่มีการปลุกกระแสความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อความแสดงความเกลียดชังหรือข่าวปลอม ประสบการณ์ครั้งนั้นได้จุดประกายให้เขาเริ่มต้น Nusantara Technology เพื่อผลิตคอนเทนต์สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นเขา “แทนที่จะเป็นข่าวปลอม เราอยากสร้างคอนเทนต์ที่เชื่อถือได้สำหรับคนยุคมิลเลนเนียลและสื่อสารในภาษาของพวกเขา” Wongsoredjo กล่าวด้วยการเน้นรูปแบบสื่อที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เช่น การ์ตูนช่อง อินโฟกราฟิก และวิดีโอสั้นๆ เว็บไซต์ 2 แห่งของบริษัท คือ Keepo.me และ YuKepo.com ดึงความสนใจของชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้ติดตามโซเชียลมีเดียกว่า 1 ล้านราย และผู้เข้าชมเว็บ 35 ล้านรายทุกเดือน Nusantara Technology ทำกำไร ได้ในปีแรกในปี 2017 เมื่อปีที่แล้ว บริษัทได้รับการยอมรับให้เข้าไปอยู่ใน Y Combinator บริษัทบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เลื่องชื่อจาก Silicon Valley ความสำเร็จของ Wongsoredjo จาก Keepo และ YuKepo ผลักดันให้เขาสร้างผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 3 ขึ้นมาคือ PlayingViral ซึ่งช่วยบริษัทลูกค้าสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ เพื่อดึงดูดใจชาวมิลเลนเนียลและเพิ่มยอดขาย “ผมวาดภาพไว้ให้เป็น Salesforce แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการตลาดที่ผนวกรวมสื่อเข้าไปด้วย” Wongsoredjo กล่าว ปัจจุบัน PlayingViral มีลูกค้าหลายพันแห่งแล้วที่เป็นทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่กว่าเช่น สายการบิน Singapore Airlines และ Garuda Indonesia “บริษัทต่างต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ชาวมิลเลนเนียล และสื่อดิจิทัลคือสะพานเชื่อมบริษัทไปสู่คนรุ่นใหม่” Wongsoredjo กล่าว - David Yin รายงาน  

ค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซ

Neo Nie 27 ปี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ, HEYTEA จีน คุณชอบดื่มชาแบบไหน สำหรับ Nie Yunchen ผู้ใช้ชื่อว่า Neo Nie แล้ว คำตอบคือการใส่ท็อปปิ้งฟองชีสลงไปบนชาแต่ละถ้วย HEYTEA ของ Nie ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ที่เมือง Jiangmen ของจีน ครองใจชาวจีนรุ่นใหม่ไปอย่างท่วมท้น และเริ่มขยับขยายออกนอกประเทศจีน บริษัทรังสรรค์ชารูปแบบใหม่ชื่อ naigai cha ที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า ชาชีส ซึ่งมีท็อปปิ้งเป็นฟองชีสแบบพิเศษอยู่บนชาและน้ำผลไม้หลากหลายประเภท ฟองชีสแบบพิเศษคือสาเหตุชัดเจนว่าทำไม HEYTEA ถึงโดดเด่นออกมาจากร้านขายชานมอื่นๆ ที่คล้ายกัน “เราอยากยกระดับชานม” เขากล่าว “เราใช้นมที่ดีที่สุดเพื่อทำท็อปปิ้งชีส และหลงเหลือรสหวานละมุนในปากหลังดื่มเข้าไปแล้ว ซึ่งเข้ากันได้กับชาแบบดั้งเดิม” ทุกวันนี้ HEYTEA ขายชาได้มากกว่า 2,000 ถ้วยต่อวันในแต่ละสาขาที่มีอยู่ 170 แห่งทั่วจีน ปีที่ผ่านมามีรายได้แตะที่ 1 พันล้านหยวน (150 ล้านเหรียญ) ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเริ่มให้ความสนใจ ซึ่งรวมถึง Longzhu Capital หน่วยธุรกิจการลงทุนของ Meituan Dianping บริษัทจดทะเบียนจากฮ่องกง ที่ได้ลงทุน 60 ล้านเหรียญในบริษัทของเขาเมื่อปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน Nie ขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจกาแฟ โดยเริ่มตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา HEYTEA ขายกาแฟพร้อมฟองชีสที่ร้านบางสาขาในจีน ผู้บริโภคสามารถซื้อกาแฟอเมริกาโน่เพิ่มท็อปปิ้งชีสของ HEYTEA ในราคา 3.20 เหรียญ หรือกาแฟเย็นเพิ่มท็อปปิ้งชีสราคา 3.70 เหรียญ “เราไม่อยากทำกาแฟแบบเดิมๆ เราอยากเสาะหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ” Nie อธิบาย หนึ่งในร้านสาขาที่เพิ่งเปิดเมื่อไม่นานนี้ที่สิงคโปร์ มีท็อปปิ้งฟองชีสผสมแอลกอฮอล์บนชาและน้ำผลไม้ขายด้วย สมัยที่ Nie ยังไปเรียนมหาวิทยาลัย ในปี 2010 เขาสังเกตว่ายอดขายสมาร์ทโฟนในจีนเพิ่งเริ่มทะยานขึ้น เขาเลยลองเสี่ยงดวงด้วยการขายสมาร์ทโฟนที่เมือง Jiangmen บ้านเกิด แต่ก็ปิดร้านไปหลังเรียนจบในปี 2011 เพราะการเร่ขายโทรศัพท์นั้น “ช่างน่าเบื่อ” - Yue Wang รายงาน คลิกเพื่ออ่าน: 30 UNDER 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชียปี 2019: ตอนที่ 1
คลิกอ่าน รายงาน 30 under 30 สุดยอดหนุ่มสาวแห่งเอเชีย ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine