SHARGE ตอกย้ำผู้นำตลาด EV Charging Operator ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ โชว์ยอดผู้ใช้สถานีชาร์จ EV โตแรง 4 เท่าตัว ปริมาณการชาร์จต่อสถานีโตทะลุ 288% หลังภาพรวมยอดจดทะเบียน EV โต-แอปพลิเคชันดี คาดภายในปี 2573 ตลาดรถ EV เชิงพาณิชย์จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.86 ล้านคัน
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ให้บริการสถานีชาร์จภายใต้แบรนด์ RÊVERSHARGER และผู้ให้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เผยว่า กลุ่มธุรกิจขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (Charging as a Service) ของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 (ม.ค.-มิ.ย.2568) มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกด้านเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ได้แก่
1. จำนวนผู้ใช้งานชาร์จรถ EV เป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ (Weekly Active Users) เติบโตจากสัปดาห์ละประมาณ 3,200 รายต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 12,800 รายต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว
2. ปริมาณการชาร์จไฟฟ้าเฉลี่ยต่อสถานีในช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 8,670 kWh เป็น 33,679 kWh หรือเพิ่มขึ้นถึง 288% และ
3. จำนวนครั้งที่ชาร์จเฉลี่ยต่อสถานีในช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 402 ครั้ง เป็น 1,223 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นถึง 205% ในขณะที่บริษัทเพิ่งขยายจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มเติมไม่มาก หรือเพียงราว 25% ในช่วงดังกล่าว

เบื้องต้น บริษัทประเมินว่า ยอดที่เติบโตขึ้นทุกด้านมาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่าง การเติบโตของยอดจดทะเบียน EV เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน มาสู่รถ EV อย่างต่อเนื่อง
และปัจจัยภายใน คือการได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในฐานะ “แอปพลิเคชันด้าน EV Charger ที่ดี” จากความใส่ใจของบริษัท 3 ด้าน ได้แก่
1. การบริการ (Service) ออกแบบระบบการใช้งาน รวมถึงแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานได้ง่าย มีค่าความเสถียรสูง ไม่มีปัญหาแอปล่ม จึงส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
2. ความสอดคล้องกับวิถีชีวิต (Lifestyle) มุ่งพัฒนาสถานีครอบคลุมทำเลสำคัญ เช่น แหล่งท่องเที่ยว สถานีพลังงาน โชว์รูมรถยนต์ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า แหล่งโลจิสติกส์ สถานที่สำคัญ ที่มีความต้องการชาร์จ EV จริง เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค และ
3. ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership) จับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งฝั่งแบรนด์รถยนต์ส่วนบุคคล (Passenger Vehicle) ตลอดจนองค์กรธุรกิจที่มีความต้องการเปลี่ยนผ่านรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Vehicle) ของตนเองเป็น EV ทำให้มีฐานผู้ใช้งานเป็นประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้สถานะของบริษัทในปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ระดับประเทศที่มีบริการที่เกี่ยวข้องกับ EV Ecosystem สำหรับทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและองค์กรอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่ากลุ่มธุรกิจขายพลังงานไฟฟ้าของบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปริมาณการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในช่วงที่ผ่านมา กระจุกตัวอยู่ในฝั่งรถยนต์ส่วนบุคคล (Passenger Vehicle) ในขณะที่ตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Vehicle) เช่น รถแท็กซี่ รถเดลิเวอรี หรือรถขนส่ง ยังอยู่ในช่วง Early Stage ของการเปลี่ยนผ่านสู่ EV เท่านั้น
พีระภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า "ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม Commercial Vehicle เริ่มมียอดจดทะเบียนในไทยเป็นครั้งแรกช่วงปี 2564 ที่ประมาณ 2,000 คัน และค่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนคาดว่าจะขึ้นมาแตะ 199,000 คันในช่วงสิ้นปี 2568"

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังประเมินว่าปี 2568 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการภาคขนส่งและภาคโลจิสติกส์ต่างๆ จะใส่ใจการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถ EV มากขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ยอดจดทะเบียนสะสมรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม Commercial Vehicle จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 4.86 ล้านคัน และส่งผลให้ Commercial Vehicle จะกลายเป็นแกนหลักขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด EV นับจากนี้

ภาพ : บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Nissan เริ่มต้นปรับปรุงสายการผลิต ที่โรงงานในสมุทรปราการ เตรียมพร้อมผลิตรถรุ่นใหม่ในอนาคต
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine