"อินทรี อีโคไซเคิล" ชูโมเดลธุรกิจแบบยั่งยืนใช้ขยะเป็นพลังงานแทนถ่านหิน ช่วยกำจัดของเสียปีละ 3 แสนตัน - Forbes Thailand

"อินทรี อีโคไซเคิล" ชูโมเดลธุรกิจแบบยั่งยืนใช้ขยะเป็นพลังงานแทนถ่านหิน ช่วยกำจัดของเสียปีละ 3 แสนตัน

อินทรี อีโคไซเคิล เผยโมเดลธุรกิจสร้างสังคมยั่งยืน โดยการรื้อร่อนขยะที่เผาไหม้ได้จากชุมชน รวมถึงขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนถ่านหินในกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ ช่วยลดการรั่วไหลขยะของเสียสู่สิ่งแวดล้อมในไทยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน


    สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียและการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” (INSEE Sustainability Ambition 2030) ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง


    ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ดำเนินการมากว่า 22 ปี โดยให้บริการจัดการของเสียที่หลากหลายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และศรีลังกา ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษา วิเคราะห์ของเสียในห้องปฏิบัติการ ต่อเนื่องไปจนถึงการขนส่ง และกำจัดของเสียด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ ทำให้สามารถจัดการของเสียทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยชุมชนด้วยกระบวนการรื้อร่อนบ่อขยะชุมชนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) สามารถนำพลังงานความร้อนและวัตถุดิบบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ ทดแทนการใช้ถ่านหิน นับเป็นการใช้ประโยชน์จากขยะที่กองทิ้ง สนับสนุนการปิดวงจร หรือ Close the loop ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 

    โดยในแต่ละปีเฉพาะในประเทศไทยสามารถช่วยกำจัดขยะหรือของเสียต่างๆ เพื่อลดการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเล ที่อาจจะกระทบต่อเนื่องไปยังสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน ขณะที่ภาพรวมของการกำจัดของเสียใน 4 ประเทศนั้น จะช่วยลดขยะได้มากถึง 6 แสนตัน


   นอกจากนี้ อินทรี อีโคไซเคิล ยังขยายขีดความสามารถในส่วนบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะงานบริการทำความสะอาดงานบริการเกี่ยวกับท่อส่งและแท็งก์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ทำความสะอาด ตลอดจนจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำความสะอาดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

    "การขับเคลื่อน Circular Economy ต้องทำไปพร้อมกับการจัดการขยะที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ หรือ Value Chain ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจของอินทรี อีโคไซเคิล เรามองว่า 'ขยะ' คือ 'ทรัพยากร' ที่ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง เพื่อใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนนำส่งไปกำจัดที่ปลายทาง” สุจินตนา กล่าว

สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด


    อย่างไรก็ตาม ทางอินทรี อีโคไซเคิล ยังได้ริเริ่มและดำเนินโครงการร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่นำไปรีไซเคิล โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น พลาสติกยืดหยุ่น ถุงพลาสติก ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ลดการรั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อมและท้องทะเล 

    รวมทั้งโครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของกระบวนการเผาร่วมพลาสติกคุณภาพต่ำในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศไทย รวมทั้งทำกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดอย่างต่อเนื่อง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยสนโลกร้อน-สังคมแค่ไหน? ผลวิเคราะห์ชี้ บริษัทไทยมี ESG อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง แนะพัฒนาทุกมิติทัดเทียมตลาดโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine