ไทยสนโลกร้อน-สังคมแค่ไหน? ผลวิเคราะห์ชี้ บริษัทไทยมี ESG อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง แนะพัฒนาทุกมิติทัดเทียมตลาดโลก - Forbes Thailand

ไทยสนโลกร้อน-สังคมแค่ไหน? ผลวิเคราะห์ชี้ บริษัทไทยมี ESG อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง แนะพัฒนาทุกมิติทัดเทียมตลาดโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Nov 2023 | 02:00 PM
READ 2144

Krungthai COMPASS เผยผลวิเคราะห์และการศึกษาจากต่างประเทศ ชี้ ESG มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งยังมีส่วนในการขับเคลื่อนผลประกอบการของบริษัท โดยบริษัทที่ใส่ใจ ESG มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.7% ตั้งแต่ปี 2563-2565


    การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social และ Governance หรือ ESG) เป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรง บริษัทต่างๆ จึงปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

    สำหรับตัวชี้วัดการดำเนินงานด้าน ESG ที่เป็นรูปธรรมคือ คะแนน ESG ที่จัดทำโดยองค์กรจัดอันดับอย่าง MSCI, S&P Global และ Refinitiv เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่นักลงทุนทั่วโลกยอมรับ


ภาพรวม ESG ไทยอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง

    การวิเคราะห์คะแนน ESG โดย S&P Global ซึ่งครอบคลุม 148 บริษัท ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาพรวมอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยมีเกณฑ์ในการแบ่งบริษัทออกเป็น 3 กลุ่มอิงจากคะแนน ESG เต็ม 100 คะแนน ดังนี้

    1. Low ESG มีคะแนนไม่เกิน 30 คะแนน

    2. Medium ESG มีคะแนนอยู่ในช่วง 31-60 คะแนน

    3. High ESG มีคะแนนมากกว่า 60 คะแนน

    คะแนน ESG ของบริษัทไทยมีการกระจายตัวค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ราว 59% มีคะแนน ESG ต่ำกว่า 30 คะแนน โดยคะแนน ESG สูงสุดอยู่ที่ 93 คะแนน ส่วนต่ำสุดคือ 3 คะแนน


    บริษัทกลุ่ม High ESG มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) สูงซึ่งมีเพียง 28% เท่านั้น แต่ครอง Market Cap. มากถึง 76 คิดเป็น 58% ของ SET Market Cap. อาจเนื่องมาจากความพร้อมในการปรับตัวที่มากกว่า ทั้งด้านการลงทุนในเทคโนโลยีและการรายงานข้อมูล ESG


คะแนน ESG ชี้ศักยภาพบริษัทในการแข่งขันบนเวทีโลก

    บริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีกว่า โดยมีคะแนน ESG เฉลี่ยเท่ากับ 44 คะแนน เป็นกลุ่ม High ESG ราว 35% ขณะที่กลุ่มบริษัทที่มีรายได้เฉพาะภายในประเทศมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 23 คะแนน อยู่ในกลุ่ม High ESG เพียง 9% แต่อยู่ในกลุ่ม Low ESG สูงถึง 84%


    ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศส่วนใหญ่มีความตื่นตัวต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG มากกว่า เนื่องจากอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความเข้มงวดด้าน ESG ของประเทศคู่ค้าที่สูงกว่า

    อีกทั้งอาจมาจากความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก อย่างไรก็ดี มีบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่ม Low ESG ซึ่งน่าเป็นกังวลในแง่ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยังจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการในระยะยาวด้วย


ESG สัมพันธ์การเติบโตของธุรกิจ

    การศึกษาของต่างประเทศจำนวนมากต่างชี้ให้เห็นว่า ESG มีส่วนในการขับเคลื่อนผลประกอบการของบริษัท ผลการศึกษาจาก Journal of Sustainable Finance & Investment ในปี 2558 และ New York University ในปี 2564 ได้ใช้วิธีการ Meta Analytics ในการสังเคราะห์ข้อสรุปได้ว่าการลงทุนด้าน ESG มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท

    การศึกษาของ Moore Global ในปี 2565 เองก็พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีการเติบโตของรายได้และกำไรที่สูงกว่า โดยมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9.7% และ 9.1% ตามลำดับ ในขณะที่บริษัทที่เพิกเฉยต่อ ESG มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% และ 3.7% ตามลำดับ


    สำหรับประเทศไทย Krungthai COMPASS พบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG ดีมีแนวโน้มรายได้เติบโตสูงกว่า ข้อมูลย้อนหลังตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาชี้ว่า บริษัทในกลุ่ม High ESG มีการเติบโตของรายได้ที่ 10.5% ต่อปี กลุ่ม Medium ESG อยู่ที่ 9% ต่อปี และกลุ่ม Low ESG เติบโตเพียง 1.6% ต่อปี

    บริษัทที่มีคะแนน ESG ดี มีแนวโน้มรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า โดยการดำเนินงานด้าน ESG ที่เข้มแข็งจะนำไปสู่ความคาดหวังของนักลงทุนต่อการเติบโตของมูลค่าธุรกิจในอนาคต


ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของไทย ดีพอหรือยัง?

    Krungthai COMPASS ได้เปรียบเทียบคะแนนระหว่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน โดยประเมินจากบริษัททั่วโลกที่มี Market Cap. สูงสุด 30 อันดับแรก (Top 30 Market Cap.) ในกลุ่มตัวอย่าง 2 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่


    1. ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค บริษัทไทยในกลุ่มนี้มีคะแนนเฉลี่ย 53 คะแนน ใกล้เคียงกับบริษัท Top 30 Market Cap. ที่ 52 คะแนน สะท้อนว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มธุรกิจนี้กล่าวมีความเป็นผู้นำ ESG ไม่แพ้ยักษ์ใหญ่ในระดับสากล อาจเพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูงอยู่แล้ว ผู้ประกอบการจึงตื่นตัวมากเป็นพิเศษ

    อย่างไรก็ตาม มีบริษัทไทยในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคกว่า 33% ที่ถูกจัดในกลุ่ม Low ESG เทียบกับกลุ่ม Top 30 Market Cap. ที่มีเพียง 7% ชี้ให้เห็นว่ายังมีบริษัทไทยในกลุ่มนี้อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งกุญแจสำคัญคือการเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากแบบดั้งเดิมมาใช้พลังงานหมุนเวียน



    2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทไทยในกลุ่มนี้มีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดยภาพรวมด้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอย่างชัดเจน บริษัทไทยมีคะแนน ESG เฉลี่ย 23 คะแนน ต่ำกว่า Top 30 Market Cap. ซึ่งเฉลี่ยที่ 54 คะแนน เมื่อพิจารณาจากจำนวนบริษัท พบว่ามีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยมีเพียง 10% ที่ผ่านเกณฑ์เข้ากลุ่ม High ESG

    บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยต่างต้องเร่งปรับปรุงการดำเนินงานด้าน ESG ในทุกมิติ ยิ่งเมื่อเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปัจจัยด้าน ESG ในมิติสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจนี้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด คือการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building)

    ปัจจุบันมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานด้านความยั่งยืนสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทราบถึงแนวทางในการสร้างอาคารที่เป็นมาตรฐานและสอดรับกับหลัก ESG


อนาคต ESG ในแวดวงธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

    Krungthai COMPASS มองว่าผู้ประกอบการควรเร่งพัฒนาการดำเนินงานด้าน ESG ทุกมิติให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญและทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ และกลุ่มที่มีคะแนน ESG ต่ำ

    ทั้งยังแนะผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างครอบคลุม ถูกต้อง และโปร่งใส ใช้มาตรฐานสากลมาเป็นแนวทางในการจัดทำรายงานของบริษัท

    สุดท้าย ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น วางมาตรการยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ของผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้น พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่อยู่ระหว่างปรับตัว ให้ความรู้ คำปรึกษา และการสนับสนุนทุนผ่านความร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน


บทวิเคราะห์โดย: ภวิกา กล้าหาญ, Krungthai COMPASS


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Opensignal เผยผู้ใช้งาน AIS ใช้ 5G ที่เร็วที่สุดไทย และ AIS ยังครองแชมป์เสถียรสุด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine