ณ ลานจอดเครื่องบินแห่งหนึ่งในรัฐ North Carolina ห่างจากต้นกำเนิดการบินออกไปเพียง 400 กิโลเมตร Michimasa Fujino วิศวกร Honda ผู้มีใจรักความท้าทายกำลังง่วนอยู่กับงานที่เขามุ่งมั่นทุ่มเทมาตลอด 29 ปีในการทำธุรกิจเครื่องบินเจ็ทให้เกิดขึ้นจริง
Fujino ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานบริหารบริษัท Honda Aircraft Co. กำลังปีนบันไดขึ้นไปบนนั่งร้านเพื่อตรวจดู “แก้วตาดวงใจ” ของเขา ภาพที่เห็นตรงหน้าเป็นเครื่องบินเจ็ทแบบทันสมัยซึ่งมีสายไฟห้อยระโยงและอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ราว 3,000 ชิ้น เขากำลังเก็บข้อมูลความสมบูรณ์ของโครงสร้างขณะที่เครื่องบินต้องเผชิญแรงกระแทกที่มากกว่าน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของตัวเครื่อง
การทดสอบเครื่องบินมีขึ้นในห้องจำลองที่เมือง Greensboro รัฐ North Carolina ซึ่งผลปรากฎว่าลำตัวเครื่องทรงตัวได้ดีแม้ขณะเผชิญแรงกระแทกรุนแรง การทดสอบได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เราจึงไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินแห่งใหม่ที่อยู่ถัดไป ที่เตรียมประกอบ HondaJet เพื่อเตรียมส่งมอบให้ลูกค้าที่เฝ้ารอมากว่า 8 ปี
การรอคอยใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2015 องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ออกหนังสือรับรองแบบเฉพาะกาลให้กับเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งเป็นการรับรองความปลอดภัยในการนำเครื่องขึ้นบิน โดยคาดว่าการให้ความเห็นชอบของ FAA ในขั้นตอนสุดท้ายจะเสร็จสิ้นภายใน 2-3 เดือนนี้
HondaJet วางราคาไว้ที่ 4.5 ล้านเหรียญ โดยเจาะกลุ่มนักธุรกิจที่มีสินทรัพย์เฉลี่ย 20-40 ล้านเหรียญ จังหวะการเปิดตัวของ Honda แสนจะเหมาะเจาะ Rolland Vincent ที่ปรึกษาด้านการบินมองว่า ยอดขายเครื่องบินเจ็ททั่วโลกในปี 2014 เติบโตร้อยละ 6.5 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 722 ลำ แม้ว่ายอดขายเครื่องบินเจ็ทขนาดเล็ก (น้ำหนักประมาณ 4,200 กิโลกรัม) ยังคงรั้งท้ายกลุ่ม แต่เราพอเห็นสัญญาณกระเตื้องบ้างแล้ว ในปี 2014
ด้านอากาศพลศาสตร์ Bruce Holmes อดีตวิศวกรวิจัยที่ NASA และผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์กล่าว “นานๆ จะได้เห็นการปฏิวัตินอกกรอบของเครื่องบิน” ทั้งยังกล่าวเพิ่ม “ผมมองว่า HondaJet เป็นบทพิสูจน์ของการคิดนอกกรอบ” เครื่องบิน HondaJet ดูสวยสะดุดตาแม้ขณะจอดนิ่งอยู่ ส่วนหัวของเครื่องมีลักษณะเป็นจงอยแหลม เครื่องบินส่วนใหญ่จะวางเครื่องยนต์ไว้ใต้ปีกหรือไม่ก็ยึดติดบริเวณลำตัวเครื่องด้านหลัง การออกแบบที่ฉีกข้อจำกัดทางโครงสร้างทำให้เครื่องบิน HondaJet (ซึ่งขนาดใหญ่กว่ารถมินิแวนประมาณ 2 เท่าครึ่ง) มีพื้นที่สำหรับผู้โดยสารและสัมภาระมากขึ้น เฉพาะห้องโดยสารมีพื้นที่มากกว่าเครื่องบินเจ็ทขนาดเดียวกันถึงร้อยละ 20
Honda บอกว่าจุดเด่นของเครื่องบิน HondaJet อยู่ตรงที่สามารถบินได้เร็วกว่าและสูงกว่าเครื่องบินคู่แข่ง ไม่เพียงเท่านั้น HondaJet ยังประหยัดน้ำมันได้มากกว่าร้อยละ 15 และทำความเร็วในการบินได้สูงสุด 483 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยมีเพดานการบินสูงสุดที่ 43,000 ฟุต ซึ่งสูงกว่าฝูงบินพาณิชย์ทั่วไป พิสัยบินที่ 2,185 กิโลเมตร
Fujino หลงใหลเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงศึกษาต่อด้านวิศวกรรมอากาศยานที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แต่เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ได้มีอุตสาหกรรมประเภทนี้มากนัก เขาจึงทำได้แค่เพียงฝึกฝนในเรื่องทฤษฎี เขาเข้าทำงานที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนายานยนต์ของ Honda หลังจบการศึกษาในปี 1984 ด้วยวัย 24 ปี ประวัติการศึกษาของเขาไม่ได้รอดพ้นสายตาผู้บริหาร Honda
โอกาสของเขาก็มาถึงในปี 1986 เมื่อบริษัทมีแผนจะทำโครงการวิจัยและพัฒนา อันเป็นไปตามวัฒนธรรมขององค์กรที่สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อต่อยอด ด้วยวัยเพียง 26 ปีในเวลานั้น Fujino ค่อนข้างประหลาดใจและลังเลเมื่อได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำงานกับทีมพัฒนาเครื่องบินทดลอง และเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ Fujino และทีมพัฒนาเครื่องบินของ Honda ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคในเรื่องขีดจำกัดของเทคโนโลยี
ปี 1997 เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงตอนที่ Fujino ย้ายบ้าน ขณะกำลังรื้อของที่ย้ายมาจากบ้านเก่า สายตาของเขาพลันเหลือบไปเห็นตำราอากาศยานในทศวรรษ 1930 ของ Ludwig Prandtl ซึ่งเป็นวิศวกรอากาศยานของเยอรมนีที่วางรากฐานในเรื่องการศึกษาอากาศพลศาสตร์สมัยใหม่ เขานึกได้ว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ในการจำลองเชิงตัวเลขหรือการคำนวณพลศาสตร์ของไหล Prandtl และทีมงานจึงใช้ทฤษฎีฟังก์ชันที่ซับซ้อนซึ่งเป็นวิธีคำนวณแบบโบราณในการวิเคราะห์การไหลของพลศาสตร์
จุดนี้เองทำให้ Fujino คิดได้ว่า แทนที่จะลดแรงต้านอากาศบริเวณปีกและเครื่องยนต์ ทำไมถึงไม่รวมพื้นที่ๆ กระทบอากาศไว้ด้วยกันและหาตำแหน่งที่ลงตัวที่สุดสำหรับแรงปะทะและแรงต้าน หรือ “จุดที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งเครื่องยนต์บนปีก” Fujino บอกว่า “นั่นเป็นกระบวนคิดที่ฉีกรูปแบบเดิมมาก”
ธันวาคม 1997 Fujino มีโอกาสเข้าไปนำเสนอแนวคิดนี้ต่อคณะกรรมบริษัท เขานำแบบร่างเครื่องบินออกมาแสดงพร้อมโน้มน้าวใจผู้ประชุมว่าเครื่องบินเจ็ทขนาดเล็กมีโอกาสในตลาดอเมริกา ตุลาคม ปี 2000 Honda อนุมัติให้เขาสร้างโรงวิจัยที่สนามบิน Greensboro เพื่อสร้างเครื่องบินต้นแบบ แม้จะประสบความสำเร็จแต่บริษัทยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปี และลงทุนเงินจำนวนพอสมควรเพื่อทดสอบเครื่องบิน
ปี 2005 Honda ยังไม่ได้มีแผนว่าจะสร้างเครื่องบินเจ็ทที่ออกแบบโดย Fujino ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นเพื่อเรียกความสนใจของสาธารณชนและโน้มน้าวใจคณะกรรมการบริษัท Fujino จึงนำเครื่องบิน HondaJet ไปออกแสดงในงาน AirVenture Oshkosh ซึ่งจัดโดยสมาคมเครื่องบินทดลอง งานดังกล่าวจัดขึ้นที่สนามบิน Wittman Regional Airport ในเมือง Oshkosh รัฐ Wisconsin โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าชมงานประมาณ 500,000 คนต่อปีจาก 60 ประเทศทั่วโลก และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2005 ภาพเครื่องบิน HondaJet สีน้ำเงินขาวขณะร่อนโฉบลงมาบนพื้นได้สะกดทุกสายตาที่รอชมเครื่องบินในทันที (มีคนวางเงินมัดจำให้ Fujino ทันที 50,000 เหรียญ)
ด้วยเสียงตอบรับอันล้นหลาม Fujino กลับไปหาคณะกรรมการอีกครั้ง ผมจำได้ว่าตอนนั้นเป็นเดือนมีนาคม 2006 มี Takeo Fukui เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารในตอนนั้น บรรยากาศในห้องประชุมเงียบกริบก่อนที่ Fukui จะพูดขึ้นว่า “อย่างที่ทราบกันดี Honda เป็นบริษัทที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่บริษัทตัดสินใจว่าจะเดินหน้าการผลิตเครื่องบิน HondaJet” ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองเลย
ดูท่าทางแล้วเขาคงอยากจะพูดเรื่องเครื่องบินที่เพิ่งสร้างเสร็จมากกว่าเรื่องอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องบิน พรั่งพรูออกจากปากเขาด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ
อ่านฉบับเต็ม "HondaJet เที่ยวบินชีวิต" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2015