CPTPP คิดให้ดี ก่อนเข้าร่วม - Forbes Thailand

CPTPP คิดให้ดี ก่อนเข้าร่วม

#CPTPP เป็นหัวข้อที่ติดอันดับเทรนด์ ทวิตเตอร์ในประเทศไทยขณะนี้ และมีกระแสคัดค้านจากผู้นำทางความคิดในสังคมจำนวนมาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอผลศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยจะได้หรือเสียประโยชน์จากการเข้าร่วมCPTPP ครั้งนี้ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือCPTPP ชื่อเดิมคือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไป พร้อมเปิดสงครามการค้ากับหลายๆ ประเทศสมาชิกที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่าCPTPP ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม และมีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ที่ลงสัตยาบันแล้ว ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ขณะที่ไทยโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีดำริที่จะเข้าร่วมเวที CPTPP เช่นเดียวกัน และได้ให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาข้อดี ข้อเสีย และระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน

ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPPจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดยจีดีพี จะขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPPจะส่งผลกระทบทำให้จีดีพีไทยลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท และกระทบการลงทุน 0.49% คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกแล้ว ทั้งนี้ จากผลการศึกษา พบว่าตั้งแต่ที่ความตกลง CPTPP หาข้อสรุปได้ในปี 2558 จนถึงปี 2562 การส่งออกของเวียดนามไปประเทศสมาชิกCPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.85% และของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.92% ขณะที่การส่งออกของไทยไปCPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23% ส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 2562 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิกCPTPP ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสมาชิกCPTPP มาโดยตลอด ในปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้าที่ 9,605.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และไตรมาสแรกปี 2563 ได้เปรียบดุลการค้า 3,934 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าCPTPP เป็นตลาดที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดสมาชิกCPTPP เช่น ญี่ปุ่น (เนื้อไก่แปรรูป เนื้อสุกรแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ข้าว น้ำตาล) แคนาดา (อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ผลไม้ปรุงแต่ง ยางพารา ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องทำความร้อน) เม็กซิโก/เปรู/ชิลี (ข้าว น้ำตาล เนื้อไก่สด ตู้เย็น รถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องซักผ้า ยางรถยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องปรับอากาศ) เป็นต้น สำหรับสาขาบริการและการลงทุน กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สาธารณสุข ก่อสร้าง ท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยต้องเตรียมปรับตัว จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตน้อยกว่าประเทศสมาชิก CPTPP เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าต้นทุนต่ำ

เอฟทีเอวอทช์-ผู้นำสังคมรุมค้าน

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม FTA WATCH และ Bio Thai ออกมารณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมCPTPP โดยระบุว่าการเข้าร่วมครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ได้แก่ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงทางยา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย รวมทั้งการจำกัดพื้นที่สาธารณะของรัฐในการคุ้มครองประชาชน รวมทั้งยังไม่มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤติโควิด-19 แคมเปญดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสส่งต่อในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง และล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมCPTPP และได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณาสุข ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายนนี้ “ไม่มีหลักประกันว่าการเข้าร่วมข้อตกลงCPTPP ไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์” อนุทินระบุ ขณะที่ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน เจ้าของกิจการ โดยเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตเพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตโลก ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้า ที่มีกำลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลกในสินค้าต่างๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ดังนั้น การที่ไทยจะเข้าร่วมเวทีCPTPP อาจจะต้องรอดูรูปแบบการค้าและการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สงครามการค้าที่เคยดุเดือดอาจจะเบาบางหลังจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤตการณ์ร่วมกัน หรือไม่สงครามนั้นจะยิ่งดุเดือดยิ่งขึ้น เพื่อแย่งชิงทรัพยากรอันมีจำกัด เพราะฉะนั้นไทยควรเตรียมความพร้อม และคิดให้รอบคอบ ก่อนการตัดสินใจ เพื่อเผชิญกับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุค New Normal