เรื่อง: นพพร วงศ์อนันต์ ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
จากลุงและพ่อผู้สร้างชื่อเสียงให้ Beauty Gems เป็นที่รู้จักเลื่องลือในเรื่องอัญมณีคุณภาพเยี่ยมในหมู่นักท่องเที่ยว และเศรษฐีชาวญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทเครื่องประดับชั้นนำของแดนอาทิตย์อุทัย ลูกคนกลางของบ้านศรีอรทัยกุล กำลังศึกษาแนวทางการยกระดับบริษัทเครื่องประดับและอัญมณีวัย 51 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ในญี่ปุ่น...และระดับโลก
ชื่อเสียงของร้านบิวตี้ เจมส์ ที่เปิดในย่านเจริญกรุงเมื่อปี 2507 แหล่งการค้าและรองรับนักท่องเที่ยวจากโรงแรมหรู เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะพลอยคุณภาพสูงที่ดึงดูดทั้งเศรษฐี และร้านค้าเครื่องประดับในญี่ปุ่นให้เข้ามาซื้อหาพลอยเนื้อดี งานปราณีต ราคาเหมาะสม จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของบิวตี้ เจมส์ ตั้งแต่แรกตั้งจนถึงในปี 2531 ที่มียอดขายรวมอยู่ที่ราว 1.4 พันล้านบาท
“สมัยปี ’64 ถึง ’88 เกือบ 75% ของยอดการค้าของเราส่งออกไปญี่ปุ่น” สุริยน ศรีอรทัยกุล ทายาทคนที่ 2 ของพรสิทธิ์และสุณี ย้อนความหลังให้ Forbes Thailand เห็นถึงความสำคัญของตลาดญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1964-1988
การเติบโตของตลาดญี่ปุ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของ Beauty Gems ที่สองพี่น้อง พรศักดิ์ และพรสิทธิ์ ลุงและพ่อของสุริยน ช่วยกันสร้างจากร้านห้องแถว 2 คูหามาเป็นอาณาจักรยักษ์ใหญ่ด้านอัญมณีชั้นนำของไทย เริ่มต้นจากการขายพลอยให้เศรษฐีญี่ปุ่น เมื่อลูกค้ามากขึ้น จึงตั้งโรงงาน บริษัท บิวตี้ เจมส์ แฟกตอรี่ จำกัด ในปี 2516 เพื่อการผลิตและส่งออกเครื่องประดับ ทั้งนี้ สุริยน เข้ามาร่วมบริหารเสริมทัพร่วมงานกับสุรสิทธิ์ พี่ชายเพื่อบุกเบิกตลาดอเมริการ่วมกัน จนสร้างรายได้เป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายในปี 2536
ตลอดครึ่งศตวรรษของการค้ากับญี่ปุ่น บิวตี้ เจมส์ พัฒนาตัวเองจากการค้ากับลูกค้าปลีกมาเป็นค้าพลอยกับ บริษัทขายส่งเครื่องประดับยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในญี่ปุ่นที่มียอดสั่งซื้อและผลิตระหว่าง 1-12 ล้านเหรียญต่อปี จนกระทั่งกลายมาเป็นผู้ผลิตและร่วมพัฒนาสินค้าและแบรนด์ร่วมกับลูกค้า เป็น 2 แบรนด์ ที่จำหน่ายในญี่ปุ่น คือ Lien d’Amour และ Sriora ที่จำหน่ายในญี่ปุ่น
สุริยน ครุ่นคิด หาโอกาส ในการเปลี่ยนผ่านบริษัทไปสู่อีกระดับ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนรุ่นก่อนที่ก่อตั้งบริษัทมา เขาคิดถึงการเอาบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทและทรัพย์สินของครอบครัว แล้วซื้อแบรนด์เครื่องประดับชื่อดังเข้ามาในยัง บิวตี้ เจมส์ แม้ที่ผ่านมา มีแบรนด์เครื่องประดับจากญี่ปุ่นและอเมริกาเขามาเสนอขายให้ บิวตี้ เจมส์ ซึ่งเชนจากอเมริการายนี้ มีเครือข่าย 160 สาขา เสนอขายในราคา 8 ล้านเหรียญ แต่ทั้งเขาและพี่ชายปฏิเสธ
“เรามีลูกค้าญี่ปุ่น 30 ราย ลูกค้าอเมริกา 140 ราย จากจำนวนลูกค้ารวม 200 รายทั่วโลก ถ้าเราจะสร้างแบรนด์เอง เราจะบอกกับลูกค้าญี่ปุ่นที่เหลือว่าไง ถ้าเราเริ่มแตะปุ๊บ เขาก็รู้ว่าโรงงานผลิตมาจากไหน... เราไม่มีนโยบายในการไปตอนนี้ เพราะถือว่าผิดจรรยาบรรณที่รับปากไว้”
แต่อีกแง่หนึ่ง สุริยนยอมรับว่า การจะไปบุกสร้างแบรนด์ในตลาดโลก ย่อมต้องใช้เวลา ทุ่มเท และเดินทางไกลบ่อยครั้ง รวมทั้งบุคลากรที่มีความสามารถสูง ซึ่งเขาและบิวตี้ เจมส์ยังไม่พร้อม
Beauty Gems มองโอกาสสร้างแบรนด์ ในแดนอาทิตย์อุทัย (และทั่วโลก)
TAGGED ON