รายการ Shark Tank Thailand เวทีแข่งขันเสนอแผนธุรกิจเพื่อขอเงินลงทุนจากเหล่าผู้ประกอบการของไทยออกอากาศมาแล้ว 7 ตอน Forbes Thailand จึงขอเชิญชวนมาทำความรู้จักกับเหล่า “ฉลาม” ทั้ง 6 คนซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ “ดีล” หรือขอผ่านในรายการ
Shark Tank Thailand รายการที่มีต้นแบบลิขสิทธิ์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มออกอากาศในไทยไปแล้วทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ฉายทุกวันอาทิตย์เวลา 12.15 น. รูปแบบรายการเปิดโอกาสให้เหล่าเจ้าของไอเดียธุรกิจสามารถเข้ามาเสนอโมเดลการทำเงินของตนเอง พร้อมบอกตัวเลขเงินลงทุนที่ต้องการ แลกกับการให้สัดส่วนหุ้นในบริษัทหรือโครงการแก่เหล่า “ฉลาม” หรือก็คือผู้ประกอบการ/นักลงทุนทั้ง 6 คน
ที่ผ่านมามีสารพัดธุรกิจที่เข้ามาร่วมสมรภูมิการนำเสนอไอเดียแลกกับการรับเงินลงทุน ตั้งแต่ธุรกิจเครื่องดื่ม งานบันเทิง สินค้าอุปโภคบริโภค จนถึงแอพพลิเคชั่น แต่ใช่ว่ากรรมการทั้ง 6 คนจะตอบตกลงได้ง่ายๆ ผลที่ออกมามีทั้งคำปฏิเสธและการต่อรองราคา จำนวนหุ้น หรือผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะฉลามทั้ง 6 คนล้วนเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ ซึ่งเราได้รวบรวมประวัติย่อๆ ของพวกเขามา ณ ที่นี้
เฉลิมชัย มหากิจศิริ
ซีอีโอ พีเอ็ม กรุ๊ป
กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นลูกชายคนเดียวในหมู่พี่น้อง 3 คน เขาเคยเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์ก่อนจะก้าวสู่วงการธุรกิจและเป็นผู้รับไม้ต่อตำแหน่งซีอีโอของ
พีเอ็ม กรุ๊ป จาก
ประยุทธ มหากิจศิริ ผู้เป็นพ่อ ภายใต้พีเอ็ม กรุ๊ป ประกอบไปด้วยธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่รู้จักกันดี เช่น เนสกาแฟ ธุรกิจร้านอาหาร บันเทิง อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงธุรกิจเดินเรือ
ผลงานของเฉลิมชัยนั้นเห็นได้ชัดจากการเสี่ยงลงทุนใน
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA เมื่อปี 2555 ซึ่งในวันนั้นยังคงขาดทุนหนักแม้เป็นบริษัทหมื่นล้าน แต่เขาสามารถปรับโครงสร้างองค์กร ตัดขายทรัพย์สินที่ไม่ทำกำไร เข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่ เช่น เชนร้านอาหารอย่างพิซซ่า ฮัท และ ทาโก้ เบลล์ และค่อยๆ พลิกฟื้นจนบริษัทกลับมาทำกำไรได้เมื่อปี 2560 โดยเมื่อปี 2561 นั้น TTA มีรายได้กว่า 1.46 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 210 ล้านบาท
เฉลิมชัยยังให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปีก่อนว่าเขาต้องการตั้งเวนเจอร์ แคปิตอลของตัวเองด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แชนนอน กัลยาณมิตร
พาร์ทเนอร์ Gobi Ventures
ชาริณี “แชนนอน” กัลยาณมิตร เป็นผู้ที่อยู่ในวงการสตาร์ทอัพมานาน 17 ปี เธอก่อตั้งเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของตัวเองในชื่อ
MOXY เมื่อปี 2556 โดยเป็นเว็บไซต์ที่มุ่งเน้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยสาว จนถึงคุณแม่และเด็ก ก่อนที่ MOXY จะควบรวมกิจการไปอยู่ภายใต้สตาร์ทอัพอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียคือ
Orami เมื่อปี 2558 ซึ่งเธอยังคงเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดให้กับ MOXY
นอกจากสตาร์ทอัพของตนเอง เธอยังเคยร่วมงานกับบริษัทที่ปรึกษาและเวนเจอร์ แคปิตอลมากมาย รวมถึง
บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ล่าสุดแชนนอนเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเวนเจอร์ แคปิตอลจากประเทศจีน
Gobi Ventures ซึ่งบริหารกองทุนอยู่ 11 กองทุนในขณะนี้ มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในประเทศจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
จากประสบการณ์ทั้งหมดทำให้เธอเป็นเมนเทอร์แถวหน้าในวงการสตาร์ทอัพไทย โดยมีจุดแข็งด้านการพัฒนากลยุทธ์ การตลาด และสื่อ
รวิศ หาญอุตสาหะ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด
คงไม่มีใครไม่รู้จักเขา
รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่น 3 ของครอบครัวผู้แปลงโฉม “ผงหอมศรีจันทร์” ให้เป็น “แป้งศรีจันทร์” ที่ทันสมัยทัดเทียมเครื่องสำอางต่างประเทศ รวิศยอมลาออกจากงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาเป็น กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เมื่อปี 2550 ในยุคที่ศรีจันทร์ยังไม่มีแม้แต่ระบบคอมพิวเตอร์ในการตรวจคลังสินค้า!
รวิศต้องปรับระบบการทำงานกิจการครอบครัวแบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมด และเริ่มปรับเปลี่ยนแพ็กเกจสินค้าให้ทันสมัยขึ้นในปี 2552 ก่อนจะยกระดับอีกขั้นด้วยการผลิตแป้งฝุ่นสูตรใหม่ออกวางจำหน่ายในปี 2556 เป็นการพลิกโฉมให้แป้งศรีจันทร์ไม่ใช่แป้งโบราณอีกต่อไป
นอกจากทำกิจการของตัวเองแล้ว รวิศยังสร้างเพจแบ่งปันไอเดียการทำงานและชีวิต “Mission To The Moon” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.3 แสนคน
Nishita Shah
กรรมการผู้จัดการ GP Group
ทายาทรุ่น 3 ของนักธุรกิจชาวอินเดียที่เขามาทำกิจการในไทย และเป็น
เศรษฐีไทยอันดับที่ 32 ในปี 2561 Nishita เป็นลูกสาวคนโตผู้กุมบังเหียนอาณาจักรยักษ์ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เดินเรือ ยา อาหารเสริม ก่อสร้าง พลังงาน เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียม โรงแรม ส่งออกสินค้าเกษตร นายหน้าประกันภัย ไปจนถึงซอฟต์แวร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว
เฉพาะ 4 บริษัทในเครือ
GP Group ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บมจ.พรีเชียส ชิปปิ้ง บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น และ บมจ.สุธากัญจน์ ก็มีรายรับรวมกันกว่า 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2560
Nishita ยังคงดำเนินรอยตาม
Kirit Shah ผู้เป็นพ่อ นั่นคือการเล็งหาธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจเพื่อเข้าไปลงทุน โดยเธอมีความสนใจในธุรกิจยา สุขภาพ และการศึกษา เป็นหลัก แต่ก็เปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพด้านอื่นเช่นกันหากมีความน่าสนใจ โดย GP Group มีเม็ดเงินเตรียมพร้อมลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ก่อนจะมาร่วมเป็นฉลามในรายการ Shark Tank Thailand เอ็มดีหญิงของ GP Group กล่าวว่าเธอต้องไปฝึกสนทนาภาษาไทยอย่างเข้มข้นก่อน
กฤษน์ ศรีชวาลา
ซีอีโอ ฟิโก้ กรุ๊ป
แม้ทางบ้านจะมีกิจการกงสีอยู่แล้ว แต่
กฤษน์ ศรีชวาลา เลือกที่จะออกมาทำธุรกิจของตนเองตั้งแต่อายุ 17 ปีโดยหยิบยืมเงินลงทุน 25 ล้านบาทจากคุณปู่ (ซึ่งถูกคิดดอกเบี้ยเป็นบางส่วน) เพื่อทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรสิ่งทอและค้าเส้นด้าย
อย่างไรก็ตาม จังหวะการเติบโตต่อมาของ
ฟิโก้ กรุ๊ป มาจากการลงทุนในที่ดินทำเลทองย่านธุรกิจของกฤษน์ จนปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของโรงแรมและออฟฟิศบิลดิ้งตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ต่ำกว่า 13 แห่ง เช่น อินเตอร์เชนจ์ 21 หัวมุมแยกอโศก, โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต, Hotel Muse โรงแรมบูติกในซอยหลังสวน เป็นต้น
เขายังขยายการลงทุนไปสู่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มโดยเข้าซื้อหุ้น
บมจ.เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล ซึ่งบริหารแบรนด์ร้านอาหาร เช่น คอฟฟี่ บีน แอนด์ ที ลีฟ, โดมิโน่ พิซซ่า, ร้านไก่เกาหลี เคียวโชน
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊กบี จำกัด
“หมู อุ๊กบี” คือฉายานามของเขาในวงการสตาร์ทอัพ เขาเป็นสตาร์ทอัพรายแรกๆ ของไทย โดยเปิดบริการแพลตฟอร์มร้านขายหนังสือและนิตยสาร e-Book ออนไลน์ตั้งแต่ปี 2553 และได้รับเงินลงทุนจาก
บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์
อย่างไรก็ตาม การรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้อ่านทำให้ณัฐวุฒิมีการแตกบริษัทย่อย
อุ๊กบี ยู ในเครือเพื่อทำธุรกิจคอนเทนต์แบบ UGC (User-Generated Content) ด้วย โดยได้รับเงินลงทุนจาก
Tencent ประเทศจีน ภายใต้อุ๊กบี ยู มีแบรนด์สารพัดที่จับกลุ่มลูกค้านักอ่าน-นักเขียนที่แตกต่างกัน เช่น ธัญวลัย, Fictionlog, Storylog, Ookbee Comics, Fungjai และล่าสุดคือ จอยลดา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นนิยายแชทที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
นอกจากบริษัทของตัวเองแล้ว ณัฐวุฒิยังร่วมกับ
เรืองโรจน์ พูนผล ก่อตั้งเวนเจอร์ แคปิตอล
500 Tuk Tuks เพื่อเป็นหนึ่งในระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย สร้างการเติบโตให้เหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ และปัจจุบันยังขยายเรดาร์การลงทุนไปในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย
Forbes Facts
รายการ Shark Tank ในสหรัฐฯ ออกฉายทางช่อง ABC มาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นรูปแบบรายการที่ได้จากรายการ Dragon's Den ของญี่ปุ่น รายการ Shark Tank ได้รับความนิยมอย่างสูงโดยได้รางวัล Primetime Emmy Award สาขารายการเรียลลิตี้ที่มีโครงสร้างโดดเด่น ติดต่อกัน 3 ปี (2014-2017)
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังรายการได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเนื่องจากธุรกิจหลายแห่งเห็นช่องทางสร้างชื่อเสียงผ่านรายการได้ง่ายๆ เพราะธุรกิจบางแห่งที่ได้ออกรายการนี้มักจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 10-20 เท่าไม่ว่าจะได้รับเงินลงทุนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเพราะรายการนี้ในสหรัฐฯ มีผู้ชมระหว่างออกอากาศเฉลี่ย 5-9 ล้านคนในแต่ละซีซั่น ยังไม่นับการชมย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย