Nishita Shah Federbush ทายาทสาววัย 38 ปี ผู้มั่งคั่งอันดับ 32 ในไทยปี 2561 เตรียมจัดพอร์ตการลงทุนครั้งใหญ่ให้กับ GP Group มุ่งหน้าสู่ธุรกิจยุคใหม่เพิ่มความมั่งคั่งอีก 5 เท่าตัว สู่เป้า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 10 ปีข้างหน้า
GP Group of Companies ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4 แห่ง และกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในและต่างประเทศอีกกว่า 100 แห่ง กำลังก้าวเข้าสู่จุดพลิกผันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 150 ปีของพวกเขา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากชมพูทวีปเมื่อ Khetsee Khinsi Harbham เดินทางรอนแรมจากบ้านเกิดในเมือง Kutch อันยากจนข้นแค้น มาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองใหญ่อย่าง Bombay เริ่มกิจการค้าข้าวขนาดเล็กที่ได้เติบโตและแผ่ขยายอาณาจักรออกไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา และประเทศไทย
สมาชิกตระกูล Shah 3 คนซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลสินทรัพย์และการลงทุนของครอบครัวในปัจจุบัน ได้แก่ Nishita Shah Federbush ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พ่อของเธอ Kirit Chimanlal Shah ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และ Ishaan Kirit Shah น้องชายคนสุดท้องวัย 30 ปี ร่วมกันเปิดเผยถึงแผนการปรับพอร์ตการลงทุนของครอบครัว ซึ่งอาจจะมีการขายหุ้นในกิจการดั้งเดิมบางแห่ง เพื่อเดินหน้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ปัจจุบัน GP Group ครอบคลุมกิจการตั้งแต่ธุรกิจเดินเรือ ยาและอาหารเสริม ก่อสร้าง พลังงาน โลจิสติกส์ เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ โรงแรมและการท่องเที่ยว การผลิตแท่งอะลูมิเนียมอัลลอย นายหน้าประกันภัย ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ไปจนถึงธุรกิจซอฟต์แวร์ บริการเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และอื่นๆ
โดยมีกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4 แห่ง ได้แก่ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (Mega) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) และ บมจ.สุธากัญจน์ (SUTHA) ซึ่งมียอดรายรับรวมกันมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทในปี 2560
GP Group เพิ่งฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อร่างกิจการในไทย และ 150 ปีทั่วโลกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ทางธุรกิจที่น่าตื่นเต้นของตระกูล Shah ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในเดือนมิถุนายน 2517 เมื่อ Kirit ตัดสินใจยุติการเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเดินทางจาก Bombay มากรุงเทพฯ เพื่อมาขอทำงานกับ Chimanlal Shivjee Shah คุณพ่อของเขาซึ่งยุคนั้น เขาเป็นผู้ค้าข้าวชาวอินเดียเพียงรายเดียวในไทยท่ามกลางหมู่พ่อค้าชาวจีน
Chimanlal ยื่นสมุดเก็บนามบัตรรายชื่อลูกค้าที่เก็บสะสมมาเป็นเวลา 50 ปี และขอให้ลูกชายวัย 20 ต้นๆ ของเขาออกเดินทางไปเยี่ยมลูกค้าและคู่ค้าที่เขามีอยู่หลายร้อยรายทั่วโลก รวมเบ็ดเสร็จแล้ว Kirit ใช้เวลาทั้งหมด 9 เดือนในการเดินทางไปเยี่ยมลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท Gangjee Premjee & Co ของคุณพ่อ การเดินทางครั้งนั้นเป็นที่มาให้ Kirit ได้แนวคิดการขยายธุรกิจเทรดดิ้งไปสู่สินค้าอื่นนอกจากข้าว เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่ว รำข้าวสาลี มันสำปะหลัง ผลไม้และอาหารกระป๋อง กระเบื้องเซรามิก ท่อเหล็ก ท่อพีวีซี ฯลฯ
“ล้มละลาย” จากวิกฤตต้มยำกุ้ง
Kirit เป็นนักสร้างธุรกิจที่ใช้โมเดลการลงทุนคล้ายคลึงกับ “angel investor” ที่รู้จักกันในปัจจุบัน เขาได้สร้างธุรกิจขึ้นมาจำนวนมาก ผ่านวิธีการให้เงินทุนตั้งต้นแก่พาร์ทเนอร์และทาเลนต์ผู้ฉายแววในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ
ทว่าข้อแตกต่างที่สำคัญของ Kirit กับ angel investor ในยุคนี้คือ Kirit ไม่เคยขายธุรกิจของเขา จนกระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่สถานการณ์บังคับให้เขาต้องขายและปิดกิจการธุรกิจไปนับร้อยแห่ง
แม้อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทขณะนั้นจะอยู่ในระดับประมาณ 1:1 เท่านั้น แต่การไหลร่วงลงของค่าเงินบาทก็ทำให้ความมั่งคั่งของเขาต้องสูญสิ้นไปจนอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ล้มละลาย”
อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้อุตสาหกรรมส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลดีให้ธุรกิจเดินเรือของ PSL สามารถพลิกฟื้นและจ่ายคืนหนี้ให้สถาบันการเงินได้เป็นบริษัทแรกของเครือ
View this post on Instagram
หลังจากนั้น Nishita จึงถูกเรียกกลับมาช่วยพลิกฟื้นกิจการของครอบครัวในทันทีที่เธอเรียนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจจาก Boston University สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2545 Kirit ประกาศเกษียณตัวเองในปีถัดไป แม้ในความเป็นจริงเขายังเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแต่เช้าทุกวันจนถึงปัจจุบัน
เล็งหาธุรกิจใหม่
Nishita กล่าวว่า GP Group สนใจลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยา สุขภาพ หรือการศึกษา
“พ่อพูดอยู่บ่อยๆ ว่า เราไม่ต้องรอถึง 50 ปีเพื่อสร้างความมั่งคั่งอีกต่อไปแล้ว ในโลกยุคนี้ คุณสามารถสร้างฐานะได้ภายใน 5 ปีหรือน้อยกว่านั้น” Ishaan กล่าวเสริม
Kirit เปิดเผยว่าปัจจุบันทางครอบครัว Shah ได้เริ่มเข้าไปลงทุนในบริษัทเทคที่มีศักยภาพเติบโตเร็วแล้วหลายสิบบริษัท โดยลงเงินเฉลี่ยประมาณบริษัทละ 1 ล้านเหรียญ ซึ่งทั้งหมดเป็นสตาร์ทอัพในต่างประเทศ อาทิ สตาร์ทอัพด้าน smart agriculture ที่ใช้เทคโนโลยี analytics มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตร
Nishita กล่าวว่ากรุ๊ปพร้อมจะลงเงินในระดับ 200 ล้านเหรียญหากพบกิจการที่ดี อย่างไรก็ตามพบว่าปัญหาหลักคือการหาทีมงานที่มีความแข็งแกร่งที่จะเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
“ตราบใดที่มีทีมงานที่ดี เราไม่สนใจว่าจะเป็นธุรกิจอะไร เราพร้อมที่จะพิจารณาทุกๆ ธุรกิจ”
ธุรกิจดั้งเดิมแข็งแกร่ง
Kirit เน้นว่าธุรกิจดั้งเดิมของกรุ๊ปยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ Mega ซึ่งมีความโดดเด่นที่สุดในขณะนี้ด้วยอัตราการเติบโตถึง 20% ต่อปี
เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมจะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยาในประเทศต่างๆ ซึ่งขั้นตอนการอนุมัติต้องใช้เวลาหลายปี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ผลิตรายใหม่จะเข้ามาแข่งขัน ขณะที่ Mega ได้จดทะเบียนผลิตภัณฑ์ไปแล้ว 200-300 ผลิตภัณฑ์ใน 45 ประเทศทั่วโลก และกำลังจดเพิ่มอีกในอัตราเฉลี่ย 20-30 ผลิตภัณฑ์ต่อประเทศในแต่ละปี
Mega ยังมีความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในออสเตรเลียซึ่งองค์การอาหารและยาที่นั่นโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาในการอนุมัติผลิตภัณฑ์ยาเพียงประมาณ 6 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยใช้เวลาถึง 2 ปี จึงทำให้บริษัทสามารถเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัทกำลังสร้างโรงงานใหม่ในเมียนมาซึ่งได้รับสิทธิพิเศษจากการเป็นประเทศในโลกที่สามที่ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายด้านสิทธิบัตรยา
เคล็ดลับความสำเร็จ
สำหรับ Kirit แล้วเขามองว่าไม่มีทางเลี่ยงอื่นใดสำหรับผู้ต้องการประสบความสำเร็จ นอกจากการอุทิศตนทำงานหนัก ยังต้องแวดล้อมตัวเองด้วยคนที่ซื่อสัตย์และให้รางวัลตอบแทนที่ดีแก่พวกเขา ซึ่งในส่วนตัวเขาเองใช้วิธีการให้เงินทุนตั้งต้น 100% แก่หุ้นส่วนที่ไว้ใจได้เหล่านี้เพื่อร่วมกันสร้างธุรกิจและให้หุ้น 5-20% ในกิจการแก่พวกเขา
ตัวอย่างเช่น GP Group มีบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ Eka ซึ่ง Kirit ให้เงินตั้งต้น 1 ล้านเหรียญแก่ Manav Garg อดีตเทรดเดอร์ประจำสำนักงาน G Premjee Trading ของเขาในสิงคโปร์ เพื่อไปทำการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ CTRM (Commodity Trading Risk Management) ช่วยผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในการเทรดและบริหารความเสี่ยง Kirit กล่าวว่า Eka กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตรา 40-50% ต่อปี
“ด้วยซอฟต์แวร์ analytics เวอร์ชั่นใหม่นี้ เราสามารถนำเสนอลูกค้าแทบจะทุกบริษัทที่มีข้อมูล และมีความจำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบ...และแทนที่จะเป็นโปรแกรมราคา 5 ล้านเหรียญที่ใช้เวลา 3 ปีในการวางระบบ โปรแกรมนี้มีราคาเพียง 200,000 เหรียญและสามารถนำมาติดตั้งใช้งานได้ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์
ผู้บริหารตระกูล Shah ทั้งสามคนมองว่าความท้าทายสำคัญของ GP Group คือการสร้างทีมงานรุ่นใหม่ โดยพวกเขากำลังร่วมกันเฟ้นหาทีมงานคนรุ่นใหม่จำนวน 40 คน ที่จะมาเป็น “A-team players” ช่วยสรรหาธุรกิจใหม่และขับเคลื่อนธุรกิจของเครือต่อไปในอนาคต คุณสมบัติ A-team players ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา practical สามารถพูดได้หลายภาษา ยินดีทำงานหนัก ชอบเดินทาง สามารถปรับตัวและชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
Kirit เชื่อว่า GP Group จะหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดได้อย่างน้อย 6-12 ธุรกิจภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นรากฐานใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเครือได้ต่อไปอีก 20-30 ปี
เรื่อง: พิชญ ช้างศร และเอกรัตน์ สาธุธรรม ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี, GP Group
คลิกอ่าน “มหาเศรษฐีตระกูล Shah เล็งปรับพอร์ตสินทรัพย์ โล้คลื่นดิสรัปชั่น โต "ยกกำลัง” ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2561