2015 ตลาดหุ้นไทยยังหอมหวน - Forbes Thailand

2015 ตลาดหุ้นไทยยังหอมหวน

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Feb 2015 | 08:44 AM
READ 7516
[บทความประจำฉบับมกราคม 2558]


2014 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มีหลากหลายเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในอดีตนั้นเรามักจะพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างมาก 

 
แต่ในปี 2014 นี้เราได้เห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจรวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายของภาครัฐในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจากพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเลขการจ้างงาน ภาคที่อยู่อาศัย การใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานจะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 5.8% จากที่เคยสูงสุดที่ระดับประมาณ 10% ในช่วงวิกฤติ โดยสหรัฐเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ทาง IMF ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นในปีนี้สู่ระดับ 2.2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 1.7% เท่านั้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจทยอยปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ QE1 ในปี 2008 จนสิ้นสุด QE3 ในเดือน ต.ค. 2014 ซึ่งในตอนแรกนักลงทุนค่อนข้างมีความกังวลกันอย่างมากว่า หากธนาคารกลางสหรัฐยกเลิกมาตรการ QE แล้ว จะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกลดลง เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่สุดท้ายภายหลังจากการยุติมาตรการ QE  ตลาดหุ้นสหรัฐก็ยังคงทะยานทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นกัน 
 
ทั้งนี้นักลงทุนได้เปลี่ยนไปให้ความสนใจในประเด็นต่อไปว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อไหร่ และสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางได้ซื้อไว้ในช่วงวิกฤติจนทำให้งบดุลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจะมีการปรับลดลงอย่างไร จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางภาพรวมตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในปี 2015 ได้

 
 
ยุโรป เชื่องช้า
ถัดมาเป็นกลุ่มประเทศในแถบยุโรปที่แม้จะเริ่มผ่านพ้นจากสภาวะถดถอยมาได้ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะในประเทศสำคัญอย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี แถมยังต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความกังวลว่ายุโรปอาจตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาที่เรียกว่าเป็น The Lost Decade ในช่วงปี 1990-2010 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษกิจและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำยาวนาน โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงระดับ 0.05% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนลงจนสู่ระดับติดลบที่ -0.20% และประกาศแผนการที่จะซื้อคืนหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยสินทรัพย์และตราสารหนี้ (ABS and covered bond purchase program) 
 
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอและธนาคารกลางยุโรปอาจต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม แต่จากแนวโน้มค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงอาจช่วยหนุนให้การท่องเที่ยวและภาคธุรกิจส่งออกปรับดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำของยุโรปหลายแห่งที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 
 
ดังนั้น ในปี 2015 แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปอาจยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยังรอคอยอยู่ข้างหน้า แต่การลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความน่าสนใจจากมูลค่าหุ้นที่ยังปรับขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตอีกด้วย ซึ่งหากการดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นผลสำเร็จคาดว่าตลาดหุ้นยุโรปจะกลับมาสดใสได้อีกครั้ง


 
 




ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังร้อนแรง
สำหรับภูมิภาคในฝั่งเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น นั้น ในปีนี้ก็มีพัฒนาการที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยผลจากการปรับเพิ่มภาษีการค้าขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ปี 2014 จาก 5% เป็น 8% ส่งผลให้ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลงจากไตรมาสก่อนถึง -1.8% และ -1.6% ตามลำดับ ซึ่งในเดือน ต.ค. ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้สร้างความประหลาดใจโดยการประกาศขยายฐานเงินจากปีละ 60–70 ล้านล้านเยน สู่ 80 ล้านล้านเยนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่น (GPIF) ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุดในโลกได้ประกาศปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นในประเทศขึ้นจากเดิม 12% เป็น 25% และหุ้นต่างประเทศขึ้นจากเดิม 12% เป็น 25% เช่นกัน พร้อมกับข่าวว่านายกรัฐมนตรี Shinzo Abe อาจตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นภาษีการค้าขึ้นจาก 8% เป็น 10% ในเดือน ต.ค.ปี 2015 ออกไปอีก 18 เดือน และอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มเติม จากปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐทันที และดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น และเชื่อว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นต่อเนื่องในปี 2015 
 
อย่างไรก็ตามเราคงจะต้องจับตาดูผลจากการพยายามปฎิรูปในเชิงโครงสร้างจากมาตรการธนูดอกที่ 3 ของ Shinzo Abe ว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของญี่ปุ่นในระยะยาวต่อไปอย่างไร

 
จีนจะฟื้น
อีกประเทศหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนได้แก่ ประเทศจีน โดยในปี 2014 ถือได้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP ที่ยังคงเติบโตอยู่ในระดับประมาณ 7% และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลง และยังคงมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องมาเป็นระยะ แม้ว่าในปี 2014 นี้ตลาดหุ้นจีนจะไม่ค่อยมีความหวือหวาเท่าใดนัก แต่ในปี 2015 เชื่อว่าตลาดหุ้นจีนจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง จากการที่คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกง ได้รับรองการเชื่อมโยงข้ามตลาดที่ยินยอมให้นักลงทุนใน Shanghai และฮ่องกง สามารถซื้อขายหุ้นได้ในทั้ง 2 ตลาด โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 17 พ.ย. 2014 จากเดิมการลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ Shanghai (A-Share) จะทำได้อย่างจำกัด นักลงทุนต่างชาติทั่วไปไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างเสรี ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีให้ซื้อขายหุ้นประเภท A-Share ได้โดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงตลาดหุ้นจีนได้มากขึ้น
 
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2014 มีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อเนื่องในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป จากสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณบวก แม้ว่าภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ก็ตาม 
 
อย่างไรก็ดีหากรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญให้มีผลเป็นรูปธรรม การพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เชื่อว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวสู่ระดับ 3.5-4.5% ได้ในปี 2015 ทางด้านภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกในระยะกลางถึงยาวจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา

 
ทุ่มในหุ้น
จากแนวโน้มเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นปี 2015 น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนทางด้านตราสารหนี้ ดังนั้น ในแง่ของการจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) จึงเสนอให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุน 70% และตราสารหนี้ 30% โดยให้น้ำหนักตลาดหุ้นไทยมากที่สุดที่ 20% ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และประเทศเกิดใหม่ให้น้ำหนักเท่ากันอย่างละ 10% เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีและเป็นการกระจายการลงทุน ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลังในอดีตมีตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจอันหนึ่งคือผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี ที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นหลักอื่นๆ 
 
อย่างไรก็ตามผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความผันผวนหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และควรมีการทบทวนและติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้



 






ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ Chief Investment Officer บลจ.กรุงศรี ผู้บริหารกองทุนรวมหุ้นและ LTF ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ผู้ริเริ่มและวิทยากรโครงการสัมมนา “ลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมากว่า 5 ปี และมีผู้ฟังแล้วกว่า 8,000 คน