ในเอเชีย มาลาเรียน่ากลัวกว่าอีโบล่า ถึงเวลาผู้นำในภูมิภาคต้องรับมือ - Forbes Thailand

ในเอเชีย มาลาเรียน่ากลัวกว่าอีโบล่า ถึงเวลาผู้นำในภูมิภาคต้องรับมือ

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Feb 2015 | 01:30 PM
READ 5102
[บทความประจำฉบับมกราคม 2558]


โลกของเรามีโรคร้ายแรงที่อุบัติขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่คาดคิด แต่เรากลับมีความรู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก โรคร้ายดังกล่าวไม่สามารถควบคุมได้ แม้กระทั่งบุคลากรด้านสาธารณสุขที่พยายามควบคุมการระบาดก็ยังหนีไม่พ้นการตกเป็นเหยื่อ ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถคาดการณ์ขอบเขตการระบาดของโรคได้  จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก

 
แต่หากหันมาพิจารณาการระบาดของโรคอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีแล้ว  เรารู้ว่ามันระบาดได้อย่างไรและรู้ถึงวิธีการควบคุม  เราได้มีการพิสูจน์ยืนยันแล้วเกี่ยวกับวิธีการป้องกันที่ได้ผล เรามีวิธีการตรวจวินิจฉัยแบบทราบผลเร็ว รวมทั้งได้ทดลองและทดสอบยารักษาต่างๆ เพื่อใช้ในการดูแลผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้คนเสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 50,000 คนในแต่ละเดือน แม้ว่าประชาคมโลกจะให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อต่างๆ มากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา แต่มีความจริงที่ขัดกับความพยายามเหล่านั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ เชื้อมาเลเรียยังสามารถทนทานและแพร่ระบาดอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน
 
แม้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างอย่างมากมายในการแก้ไขปัญหามาลาเรียทั่วโลกใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน ยังมีประชากรเกือบ 200 ล้านคนที่ติดเชื้อมาลาเรียในแต่ละปี  แม้ว่าผู้ป่วยมาเลเรียส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ในอีก 22 ประเทศที่เป็นพื้นที่การระบาดของมาเลเรียในแถบเอเชียแปซิฟิกก็มีผู้ป่วยมาลาเรียประมาณ 32 ล้านคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 47,000 คน 
 
แม้ว่าบางประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในการแก้ไขปัญหา อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ และศรีลังกา สามารถลดจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียลงได้ถึงร้อยละ 75 มาตั้งแต่ปี 2543 อย่างไรก็ตาม ประชากรถึง 2 พันล้านคนในภูมิภาคนี้ ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะ กลุ่มประเทศที่มีภาระโรคนี้สูงที่สุด ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ปากีสถาน และปาปัวนิวกินี
 
ขณะนี้ เราเดินทางมาถึงระยะต่อไปของการแก้ไขปัญหามาลาเรียระดับโลก โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจและเป็นศูนย์กลางในการรับมือกับปัญหามาลาเรียในระดับโลก ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่มีการดื้อต่อยา artemisinin (อาร์ทิมิซินิน) มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นยาหลักที่มีอยู่เพียงชนิดเดียวทั่วโลกสำหรับการรักษาเชื้อมาลาเรียชนิดที่มีอันตรายมากที่สุด การดื้อยาครั้งแรกพบในภาคตะวันตกของกัมพูชาเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบปัญหาในลักษณะเดียวกันมาโดยตลอดในประเทศลาว พม่า ไทย และเวียดนาม หากไม่สามารถหยุดยั้งเชื้อมาเลเรียชนิดที่ดื้อต่อยานี้ได้ (โดยการร่วมมือกันกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากภูมิภาค) ก็อาจเป็นการกระตุ้นการกลับมาแพร่ระบาดใหม่ที่สำคัญยิ่งของเชื้อมาลาเรียรวมทั้งการเสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงทางเศรษฐกิจและความทุกข์ทรมานขนานใหญ่ต่อมนุษยชาติ    
 
ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเป้าหมายเฉพาะของตนเองเรียบร้อยแล้ว สำหรับการกำจัดมาลาเรียให้หมดไปภายในปี 2573 หรือก่อนนั้น โดยระบุเป้าหมายนั้นไว้ในแผนระดับชาติ ในขณะที่การขยายการดำเนินงานด้านการกำจัดโรคมาลาเรียจะทำให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่ได้ก็คือ หลายๆ ประเทศจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสลงทุนในลักษณะที่ทำให้ประชากรกลุ่มแรงงานของตนมีสุขภาพดี และสามารถชดเชยภาระการดูแลด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหม่ของมาลาเรียได้ การเสียค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมาลาเรียกว่า 32 ล้านคนต่อปีนั้น นับว่าสูงมากอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงสำหรับการวินิจฉัย การดูแล และการรักษา จนถึงผลกระทบทางอ้อมที่ตามมา เช่น ทำให้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขต้องถูกใช้ไปกับโรคระบาดที่สามารถควบคุมได้  ซึ่งยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อผู้คน ครอบครัว และชุมชน จากการมีสภาวะสุขภาพที่เลวร้ายยิ่ง   
 
ปัจจุบันการดำเนินงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับมาลาเรียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีค่าใช้จ่ายประมาณ 280 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และมีการสนับสนุนเงินทุนจำนวนไม่น้อยจากภายนอกประเทศ แม้ว่าจะคำนวณให้ถูกต้องแม่นยำได้ลำบากเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการกำจัดโรคมาลาเรียทั่วภูมิภาค แต่การลงทุนในการกำจัดมาลาเรียก็มีอัตราผลตอบแทนสูงสำหรับค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐเสียไป และส่งผลดีในด้านสุขภาพในแง่ที่ทำให้การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยลดน้อยลง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการกำจัดมาลาเรียคาดว่าจะเกินมูลค่าของเงินที่ลงทุนไป โดยคิดเป็นอัตราส่วนระหว่าง 1.9 และ 4.7 และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1-2
 
หากเราไม่สามารถกำจัดมาลาเรียได้อย่างรวดเร็วแล้ว จะเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ หากการดื้อยาแพร่ออกจากพื้นที่ของไม่กี่ประเทศเช่นเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาก็จะเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง และการลงทุนนับหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐที่ผ่านมาก็ล้วนสูญเปล่า อีกประการหนึ่ง การกำจัดมาลาเรียให้หมดไปไม่ได้เป็นเพียง 'การป้องกันวิกฤตการณ์’ เท่านั้น หากยังทำให้สามารถเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพโดยรวมของภูมิภาค และช่วยเสริมสร้างระบบการเฝ้าระวังสำหรับปัญหาด้านสุขภาพเร่งด่วนอื่นๆ ให้ดีขึ้น
 
จากการที่ผู้นำของทั้ง 18 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าจะกำจัดมาลาเรียให้หมดไปจากทั้งภูมิภาคในปี 2573 แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็งของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหามาลาเรียอย่างจริงจัง และนับแต่นี้ไป ผู้นำของประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม ในฐานะที่เป็นประธานร่วมของ Asia Pacific Leaders Malaria Alliance (APLMA) จะพัฒนาจัดทำแผนงานโดยละเอียดเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย โดยจะนำเสนอในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 10 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในปลายปีนี้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหลายที่มีอยู่ ล้วนชี้ชัดว่าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญและสามารถบรรลุได้ 
 
แต่การจะบรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ ก็ต้องมีการประสานงานในระดับภูมิภาคอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ มีการสนับสนุนเงินทุนอย่างเข้มแข็งและคาดเดาได้  รวมทั้งมีการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงก็คือ เจตจำนงทางการเมืองในการระดมทรัพยากรและประสานกิจกรรมของผู้มีส่วนได้เสียในการแก้ไขปัญหานี้  ซึ่งผู้นำของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกได้ดำเนินขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในการที่จะดำเนินการอย่างสอดคล้องกันเพื่อให้มีการระดมทรัพยากรและการประสานงานดังกล่าว  



Benjamin Rolfe, executive director ของ Asia Pacific Leaders Malaria Alliance ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในประเทศฟิลิปปินส์