การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกระทบหนัก ฉุดรายได้แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ ลุ้นธุรกิจฟื้นปี 65 เร่งสยายปีกตลาดอาเซียน แนวโน้มเติบโตสูง พร้อมฉลอง 60 ปีการดำเนินการในประเทศไทย ชูกิจกรรม “6 of Pride: 6 โครงการส่งเสริมความยั่งยืน” สร้างความเข้มแข็งธุรกิจในระยะยาว
แม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่ามีระบบการจัดการด้านสาธารณสุขดีที่สุดแห่งหนึ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แต่จากการปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ส่งผลต่อเนื่องธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยา เวชกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างบริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ถือเป็นบริษัทไทย ที่ก่อตั้งโดย ฟริทส์ เบอร์แมน นักธุรกิจชาวดัชต์ เมื่อปี 2504 หลังจากหุ้นส่วนตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ เบอร์แมน ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยา เวชกรรม โภชนาการ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัสดุที่ใช้ในโรงพยาบาล รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อย่างนมแพะ DG ด้วยมาตรฐานในระดับสากล ปัจจุบันบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 2 ซีริล เฟรเดอริค เบอร์แมน ประธานกรรมการ พร้อมกับวิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี เร่งสยายปีกตลาดอาเซียน ซีริล กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจของแปซิฟิค เฮลธ์แคร์ ได้ขยายตลาดใน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา ซึ่งทุกตลาดมีการเติบโตค่อนข้างดี โดยบริษัทมองโอกาสขยายการลงทุนเพิ่ม โดยการเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้จัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มเติมในภูมิภาคนี้ เพื่อสร้างการเติบโต หลังจากก่อนหน้านี้ ในปี 2560 ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท ยูโร ดรัก ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้บริษัทเป็นผู้จำหน่ายสินค้ากว่า 50 แบรนด์จาก 10 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากการเข้าซื้อกิจการสำเร็จ คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัว “แม้ปีที่ผ่านมา และคาดว่าปีนี้ ธุรกิจจะประสบกับภาวะยากลำบาก จากโควิด-19 ซึ่งทำให้ลูกค้าของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าธุรกิจจะทยอยฟื้นตัวในปี 2565 การดำเนินการที่ผ่านมา 60 ปี เราได้ผ่านช่วงยากลำบากมาแล้ว อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ด้วยฐานธุรกิจที่มั่นคงในประเทศไทย ที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง” ซีริลกล่าว สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ มีรายได้ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มยาและเวชภัณฑ์รายได้ 40 กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ร้อยละ 30 และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น นมแพะ DG ร้อยละ 30 เนื่องจากกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นรายได้หลัก ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ ทำให้ภาพรวมธุรกิจเฮลธ์แคร์ในประเทศไทย มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท หายไปประมาณร้อยละ 30 แต่ทั้งนี้ธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมายังเติบโตได้ดี ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 20 จากรายได้รวม ขยายฐานธุรกิจทุกช่วงวัย พาทริค โรมัน บรูล์มาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา แม้กลุ่มธุรกิจยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จะได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ บริษัทจึงเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ www.allgenhealth.com ที่มีสินค้าครบทุกช่วงวัย ตั้งแต่แม่และเด็ก จนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปีนี้จะเพิ่มกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน บริษัมีฐานลูกค้าในประเทศไทย ประมาณ 3,000 ราย 1,000 ราย เป็นธุรกิจโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน อีก 2,000 ราย เป็นร้านขายยา ทั้งที่เป็นเชน สโตร์ ร้านขายยาในโมเดิร์นเทรด และร้านขายยาทั่วไป ซึ่งแนวโน้มในปีนี้บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง “แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่การควบคุมโรค รวมถึงการเปิดประเทศต้องรอดู หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่สำหรับแปซิฟิค เฮลธ์แคร์ เราอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของธุรกิจ แม้ในกลุ่มโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบ แต่เรายังมีธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์จำเป็น เช่น ถุงมือยาง ชุด PPE ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยบาลานซ์ธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก” พาทริคกล่าว สำหรับกลยุทธ์หลักที่บริษัทนำมาใช้ คือการปรับวิธีการทำงาน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น ส่วนการเพิ่มสินค้ากลุ่มใหม่มีขั้นตอนในการดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจปกติของบริษัท รวมไปถึงการมุ่งสร้างเข้มแข็งให้สังคม ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี คืนกำไรสังคมผ่าน 3 เสาหลัก 6 กิจกรรม ซีริล กล่าวว่า ในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี ซึ่งหากเป็นคนก็เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ในฐานะบริษัทจึงอยากวางรากฐานที่ยั่งยืนให้สังคม ผ่านกิจกรรม “6 of Pride: 6 โครงการส่งเสริมความยั่งยืน” มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับ 3 เสาหลัก ได้แก่ ด้านสังคม (Social Sustainability) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และด้านเศรษฐกิจ (Econnmical Sustainability) โดยใช้งบประมาณรวม 6,666,666 บาท ตลอดระยะเวลา 6 ปี สำหรับ 6 โครงการ ดังนี้ 1.สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ผ่านการสนับสนุนและส่งเสริมสินค้า OTOP เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ภายในบริษัท เช่น ซื้อผ้ามัดย้อมจากวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จ.แพร่ เพื่อนำมาตัดเป็นเสื้อที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีของบริษัทฯ และจะอุดหนุนสินค้าจาก 36 ตำบลตลอดโครงการ 2.การช่วยเหลือเด็กและเยาวชน (Children and Well-Being) ผ่านมูลนิธิคุณพ่อเรย์ (Father Ray Foundation) โดยการบริจาคเงิน รวมถึงสนับสนุนมอบผลิตภัณฑ์นมแพะ DG เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก รวมถึงสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environmental Conservation) ผ่านกิจกรรม PHC Blue Ocean ปลูกปะการัง คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ทะเลแสมสาร จ.ชลบุรี เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนทางธรรมชาติ โดยจะดำเนินกิจกรรมนี้ต่อเนื่อง 6 ปี พัฒนาเป็น “ธนาคารปะการัง” (Coral Bank) สร้างประโยชน์ให้กับท้องทะเลไทยต่อไป 4.การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Preservation) ผ่านมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า วัดเขาลูกช้าง จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Environmental Conservation) โดย แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ ได้จัดพนักงานจิตอาสาที่จะเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ตลอดจนจัดหาเงินบริจาค อาหารสัตว์ ยาเวชภัณฑ์ ฯลฯ 5.การให้โอกาสด้านอาชีพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (Occupational Opportunities) โดยร่วมกับศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร ที่เปิดอบรมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น การสอนทำเบเกอรี่ ขนมไทย งานศิลปหัตถกรรม สอนตัดผม ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่อาชีพอันมั่นคงให้แก่ประชาชนทั่วไป 6.การดูแลด้านสุขอนามัย (Healthcare) ผ่านโครงการแพทย์อาสา ทีมงานจาก แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ ได้ประสานงานกับ นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และทีมบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เข้าไปทำกิจกรรมออกค่ายแพทย์อาสา ณ 2 หมู่บ้านชาวเขา ได้แก่ บ้านปางคามน้อย และ บ้านผาเผือก “สำหรับ แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ ความยั่งยืนไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่จากกิจกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เรายังได้ปลูกฝังความเป็นจิตอาสาของพนักงานด้วย ทุกกิจกรรมจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน จนเกิดเป็นความรู้สึกที่อยากจะปกป้องดูแลในสิ่งที่ตนเองมีส่วนร่วม เราเชื่อว่าการปฏิบัติตามแนวคิดนี้จะเกิดเป็นความยินดีที่จะทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความยั่งยืน” ซีริล เฟรเดอริค เบอร์แมน กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: “อีตั้น” เผยเทรนด์ 4 กลุ่มธุรกิจลงทุนระบบไฟฟ้ารับนิว นอร์มอลไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine