“เอ็ม-เซนโค” ห้องแช่พ่วงขนส่งสินค้าแช่เย็นในเครือ MK ตั้งเป้าสู่เจ้าตลาด Cold Chain Logistics ภายใน 3 ปี - Forbes Thailand

“เอ็ม-เซนโค” ห้องแช่พ่วงขนส่งสินค้าแช่เย็นในเครือ MK ตั้งเป้าสู่เจ้าตลาด Cold Chain Logistics ภายใน 3 ปี

เปิดเฟสแรกคลังสินค้า "เอ็ม-เซนโค" ธุรกิจโลจิสติกส์ร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นในเครือร้านสุกี้ MK ให้บริการแบบ One Stop Service รับจัดเก็บและขนส่งสินค้าแช่เย็น-แช่แข็งทั่วประเทศไทย ตั้งเป้าสู่เจ้าตลาด Cold Chain Logistics ภายใน 3 ปี พร้อมเชื่อมต่อพันธมิตรญี่ปุ่นในอาเซียน ประเดิมส่งลอตแรกสู่เวียดนาม

หลังการจับมือกันก่อตั้ง บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด เมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ระหว่างบริษัท Senko Group Holdings จากญี่ปุ่น และ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จากประเทศไทย นำไปสู่การลงทุนมูลค่ารวม 1,750 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโกดังสินค้าควบคุมอุณหภูมิบนถนนบางนา-ตราดและลงทุนรถบรรทุกขนส่งอีก 170 คัน ขณะนี้คลังสินค้าดังกล่าวก่อสร้างเสร็จสิ้นและทำให้เอ็ม-เซนโคพร้อมให้บริการ Cold Chain Logistics แล้วอย่างเป็นทางการ โดยมี Yasuhisa Fukuda ประธานบริษัท Senko Group Holdings และ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและซีอีโอ เอ็มเคฯ ร่วมงานเปิดตัว ผู้นำของทั้งบริษัทได้ให้วิสัยทัศน์ระยะยาวร่วมกันว่า บริษัทนี้จะเป็นศูนย์กลางการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รองรับธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยระบบอันทันสมัย เช่น ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (ASRS) ระบบหล่อเย็นโกดังด้วยแอมโมเนีย ตลอดจนรายละเอียดอย่างมารยาทของผู้ขับรถขนส่ง
(ซ้าย) ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและซีอีโอ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป และ (ขวา) Yasuhisa Fukuda ประธานบริษัท Senko Group Holdings
โกดังของ เอ็ม-เซนโค ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับครัวกลางของเอ็มเคฯ โดยมีพื้นที่ก่อสร้าง 53,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่โกดัง 20,000 ตารางเมตร รับสินค้าได้สูงสุด 12,000 พาเลท มีช่องจอดรถตั้งแต่ขนาดรถ 4 ล้อ, 6 ล้อ, 10 ล้อ รวม 64 ช่องจอด ภายในโกดังแบ่งพื้นที่รองรับสินค้า ตอบสนองได้ทั้งกลุ่มแช่เย็นอุณหภูมิ 6-10 องศาเซลเซียส และ 0-4 องศาเซลเซียส รวมถึงกลุ่มแช่แข็ง -25 องศาเซลเซียส และยังมีห้องอุณหภูมิปกติ 25-30 องศาเซลเซียสด้วย ทั้งหมดใช้ระบบอัตโนมัติเป็นหลัก ทำให้ใช้บุคลากรไม่มากเพียง 30 คนในการหยิบสินค้ารายชิ้นออกจากพาเลท
เอ็ม-เซนโค-คลังสินค้า-ภายนอก
คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิของเอ็ม-เซนโค บนถนนบางนา-ตราด
สำหรับรถขนส่งของบริษัทมีทั้งหมด 170 คัน รับและส่งสินค้าได้ 3 รอบต่อวัน โดยจัดส่งภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ทุกวัน ส่วนการขนส่งต่างจังหวัดมีรอบขนส่งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเป็นรถควบคุมอุณหภูมิบุฉนวนกันความร้อนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทมีการลงทุนเฟสแรกแล้วมูลค่า 1,300 ล้านบาท ยังเหลืองบลงทุนอีก 450 ล้านบาทสำหรับเฟสสองที่คาดว่าจะออกแบบเป็นห้องแช่ขนาดเล็กลง ตอบสนองการจัดเก็บสินค้าได้หลายช่วงอุณหภูมิตามที่ลูกค้าต้องการ  

ตั้งเป้าเจ้าตลาด Cold Chain Logistics

Katsunori Sakakibara กรรมการผู้จัดการ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ กล่าวว่า ขณะนี้ลูกค้าหลักยังเป็นเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป และร้านดองกิโฮเต้ เอกมัย (เป็นแฟรนไชส์ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือ Senko) แต่อนาคตคาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มเชนร้านอาหารอื่นๆ และผู้ผลิตอาหารสดที่ไม่มีพื้นที่จัดเก็บเพียงพอ “ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อมีการผลิตมากขึ้น พื้นที่จัดเก็บของโรงงานเองจะไม่เพียงพอ ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนนี้ และดูแลการโลจิสติกส์ส่งออกซึ่งปัจจุบันการทำ Cross-border Logistics ในกลุ่ม Cold Chain ยังไม่มีใครทำมาก่อน”  Sakakibara กล่าวและเสริมว่าเอ็ม-เซนโคมีสัญญาเตรียมเป็นผู้กระจายสินค้าส่งออกไปเวียดนามภายในปีนี้ เขายังกล่าวถึงภาพรวม Senko Group นั้นมีการลงทุนด้านโลจิสติกส์อยู่แล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในกลุ่มอาเซียนมีศูนย์กระจายสินค้าในไทย (บางนาและแหลมฉบัง) เวียดนาม (Hanoi และ Ho Chi Minh) เมียนมา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโลจิสติกส์ในญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย ดังนั้น เอ็ม-เซนโคจึงตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ของกลุ่ม Cold Chain Logistics ของไทยภายใน 3 ปี ด้วยพันธมิตรในเครือที่มีทำให้สามารถขนส่งสินค้าอาหารจากแหล่งผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้
เอ็ม-เซนโค-คลังสินค้า-ภายใน-ระบบอัตโนมัติ
ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ ASRS
พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร รองกรรมการผู้จัดการ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่เชื่อว่าจะทำให้เป็นเบอร์ 1 ได้เนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการ Cold Chain ได้แบบ One Stop Service คือมีทั้งบริการคลังสินค้า (Warehouse) การขนส่ง (Transport) บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า (Forwarding) และการซื้อขายสินค้า (Trading) ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของลูกค้าถูกลงราว 20% ซึ่งต้นทุนค่าขนส่งนี้คิดเป็น 4% ของต้นทุนทั้งหมดในธุรกิจร้านอาหาร “Cold Chain Logistics ในไทยมีหลายเจ้า แต่ส่วนใหญ่จะทำแค่บางขั้นตอน เช่น ทำเฉพาะห้องเย็น ทำกลุ่ม Forwarding หรือทำรถขนส่ง” พงษ์ชัยกล่าว  

วางแผน 6 ปีรายได้แตะ 1,600 ล้านบาท

พงษ์ชัยเปิดเผยว่า ในแง่สัดส่วนลูกค้า ขณะนี้ เอ็ม-เซนโค ยังตอบสนองร้านสุกี้เอ็มเคเป็นหลัก 80% แต่ภายในปี 2568 คาดว่าสัดส่วนจะลดเหลือ 20-25% ด้วยจำนวนลูกค้าภายนอกที่เข้ามามากขึ้น บริษัทยังตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ภายในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นปีละ 15% เป็น 1,600 ล้านบาทภายในปี 2568 การเติบโตของเอ็ม-เซนโคน่าจะสอดคล้องไปกับตลาด จากการประเมินของพงษ์ชัยมองว่าตลาดรวมของโลจิสติกส์ทั้งหมดมีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท เติบโตปีละ 7-8% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่ม Cold Chain เพียง 2.6 หมื่นล้านบาท แต่เป็นกลุ่มธุรกิจมาแรงโดยเติบโตปีละ 10-15%
(ซ้าย) พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร รองกรรมการผู้จัดการ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ และ (ขวา) Katsunori Sakakibara กรรมการผู้จัดการ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์
ปัจจุบันบริษัทยังมุ่งทำตลาดเฉพาะกลุ่ม B2B เท่านั้น ส่วนการบุกตลาด B2C ในสินค้าประเภทวัตถุดิบอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ มีความเป็นไปได้ แต่ยังเป็นวิสัยทัศน์ในระยะยาว ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า จากการประเมินอัตรากำไรของธุรกิจคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิช่วงปี 2556-2560 พบว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงถึง 40% สำหรับคลังสินค้าที่บริการแบบสัญญาเช่าระยะยาว และธุรกิจขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิก็มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 24% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจขนส่งทั่วไปที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 6% อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มขนส่งนั้นมีปัจจัยเสี่ยงคือความผันผวนของราคาน้ำมันที่อาจกระทบอัตรากำไรได้  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine