เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) เผย 6 เทรนด์ พฤติกรรมผู้บริโภค ในช่วงโควิด-19 ชอบย้อมใจ ใช้สติมากกว่าสตางค์ ใช้ชีวิตอยู่บนโลกสองใบ ออนไลน์กับชีวิตจริง ชี้โอกาสทางธุรกิจ Mental Wellness ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เกมออนไลน์เติบโตสูง
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างเห็นได้ชัดเจน ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่เกือบทั้งหมด บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทวิจัยในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ได้สรุปแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิดมี 6 ประเภทด้วยกัน สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั้งทั่วโลกและประเทศไทย นับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 จนมีการนำวัคซีนเข้ามา พบเทรนด์ผู้บริโภค 6 รูปแบบด้วยกัน เป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคเหล่านั้น เพราะต้องเผชิญกับคู่แข่งเลือดใหม่ เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน คนไม่ต้องปฎิสัมพันธ์กัน เกิดการแข่งขันในรูปแบบใหม่ โดย 6 พฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด มีดังนี้ 1.ชอบย้อมใจ ผลการหาข้อมูลจาก google keyword trend ปี 2020 พบว่า คนไทยพิมพ์คำว่า โรคซึมเศร้า สูงขึ้นถึงร้อยละ 39 และข้อมูลจาก gallup แสดงสถิติด้าน HR ล่าสุด พบว่าเฉลี่ยร้อยละ 67 ของคนทำงานประสบภาวะ burnout (เหนื่อยล้า หมดไฟ) จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่ ภาวะเหล่านี้เชื่อมโยงกับอัตราการฆ่าตัวตายในหลายประเทศสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นถึงร้อยละ 22 จากปี 2019 แนวโน้มการฆ่าตัวตายของประชากรที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพจิต (Mental wellness) มากขึ้น โดยจากรายงานของ global mental wellness ระบุว่า ตลาด Mental Wellness มีมูลค่าสูงถึง 1.21 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 5 เท่าจากปี 2014 มีการลงทุนของสตาร์ทอัพด้าน Mental health and mental wellness สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 จากข้อมูลของทางเอ็นไวโร ไทยแลนด์ พบว่า 51% ของผู้บริโภคจะปล่อยวางมากขึ้น เห็นการเปลี่ยนไปของการอุปโภคบริโภค ที่หันมาเสพสินค้าที่ช่วยย้อมใจ กินใช้อะไรที่จะทำให้รู้สึกดี เช่น สินค้าจากสารสกัดกัญชาเป็นสินค้าอนาคตที่มาแรง เพราะกัญชาเป็นส่วนผสมสินค้าอุปโภค บริโภค ที่หลากหลายและจะทำให้ผู้บริโภคมีภาวะความเครียดที่น้อยลง มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเข้ากับความต้องการในอนาคตเป็นอย่างดี ปัจจุบัน มีนวัตกรรมใหม่ๆ จากสารสกัดกัญชามากมาย เช่น น้ำหอม เครื่องดื่ม เครื่องพ่นไอน้ำ application วัดปริมาณกัญชา มาร์คหน้า เจลแก้ปวดกล้ามเนื้อ โรลออน รวมถึงผ้าอนามัย 2.ชอบพรีเซ็นต์ตัวมากกว่าพรีเซ็นเตอร์ เอ็นไวโร ไทยแลนด์ พบว่า มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ยังเชื่อในพรีเซ็นเตอร์ โดยร้อยละ 62 ของผู้บริโภคเชื่อรีวิว แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคร้อยละ 26 เชื่อตัวเองมากกว่า จึงเห็นผู้บริโภคหันมาผลิตคอนเทนต์ และเป็น influencer เอง และมีการเสพคอนเทนต์ผ่านคลิปสูงมาก โดยร้อยละ 50 ของคนรุ่นใหม่ใช้เวลาในการดูคลิป โดยมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ยังดูรายการทีวี (ร้อยละ 48 ของ gen ที่ยังดูรายการทีวี) คนรุ่นใหม่ gen z และ y จะชอบ influencer ที่มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างจริงใจ เพราะฉะนั้นการเสพสื่อที่เป็นในรูปแบบของ comercial ads ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างการรับรู้ของคนในยุคนี้ได้ “ปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้กลยุทธ์ในการให้ผู้ใช้จริง หรือ influencer มาเป็นคนสร้าง content เพื่อ promote brand เสียเอง เช่น pepsi ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ทำให้มี share of voice ทาง social media นำคู่แข่งอย่างโค้ก และยอดขายโตขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่” สรินพร ระบุ 3.ใช้สติมากกว่าสตางค์ สถานการณ์โควิด ทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป นายจ้างเลือกคนที่มีทักษะ (skill) สูงมากกว่าแรงงาน ดังนั้นผู้บริโภคจึงดิ้นรนที่จะ upskill/reskill/multiskill ผลการสำรวจ พบว่าร้อยละ 52 หันมาเรียนอาชีพเสริม หรือ หาความรู้เพิ่มเติม โดยเจน x และ y มีการไปใช้เวลากับ podcast หรือการดูวีดีโอ เพื่อเสริมความรู้มากขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีแผน transform แรงงานเพื่อฝึกทักษะใหม่ เตรียมพร้อมเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างราบรื่น สำหรับคนไทยถือว่าโชคดีที่มีคนมีฝีมืองาน craft และ มีความรู้เรื่องการทำอาหาร มีพื้นที่เพาะปลูกทำมาหากิน จึงสามารถปรับตัวได้ทันที เช่น ทำขนมทำอาหาร ผลิตสินค้าแฮนด์เมด ส่งเดลิเวอรี่ สอดรับกับยุคที่คนโหยหาความจริงใจ และยุคของการรีวิว ดังนั้นสิ่งที่ได้เห็นคือผู้ประกอบการรายย่อยตั้งใจทำของดีมาเพื่อการแนะนำต่อ ของถูกและดีจึงมีให้ เลือกสรรอยู่มากมาย โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และมีระบบโลจิสติกส์รองรับ สามารถควบคุมตลาดและต้นทุนได้เอง “สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัจจัยการซื้อเปลี่ยนไป โดยร้อยละ 56 มาสนใจเรื่อง สินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 44 ที่สนใจในยี่ห้อ ถึงแม้ Shopee/Lazada จะเป็นช่องทางหลักที่คนซื้อถึงร้อยละ 80 แต่การซื้อผ่านเพจ หรือ มาร์เกตเพลส ก็สูงถึงร้อยละ 48 เพราะการซื้อตรงย่อมหมายถึงได้ของดีราคาถูก แบรนด์ต่างๆ หันมาปรับใช้กลยุทธ์ ใช้ระบบสมาชิก (subscription) ไม่ว่าจะเป็น Unilever, P&G, Neste และ การสร้าง community ของตัวเอง” 4.กระจายไม่กระจุก สรินพร กล่าวว่า จาก megatrend ในเรื่อง Urbanization ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป โควิด ผลักดันให้เกิดการกลับบ้านเกิดมากขึ้น จากข้อมูลของเอ็นไวโร ไทยแลนด์ พบว่าร้อยละ 30 มีการกลับบ้านเกิดหรือมีแนวโน้มที่จะออกไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น และเมื่อกลับบ้านผู้คนจะต้องหันมาประกอบอาชีพ ทำให้มีการกระจายรายได้ รวมถึงความแออัดออกไปจากเมือง ข้อดีคือ คนเหล่านี้กลับมาเพื่อพัฒนาบ้านเกิด และช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนอย่างแท้จริง จากการศึกษาของเอ็นไวโรไทยแลนด์ พบว่า 50% ของผู้บริโภคมีความใส่ใจในเรื่องของดีไซน์มากขึ้น ซึ่งพบว่า ในจังหวัดต่างๆ เริ่มมีการพัฒนาบูติกโฮเทลเก๋ๆ โฮสเทลใหม่ๆ รวมถึงร้านคาเฟ่น่ารักๆ และธุรกิจร่วมสมัย ซ่อนตัวอยู่ในแทบทุกจังหวัด ทำให้การออกไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นไลฟ์สไตล์ และมีความน่าอยู่ โดยเฉพาะ มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ทั้ง 5จี และ 6จี ทั้งนี้ เมื่อผู้บริโภคกระจายตัวมากกว่ากระจุกในเมือง นักการตลาดควรหันมาลงทุนทำ location based มากกว่าการลงทุนในโฆษณา เพราะส่งผลต่อยอดขายมากกว่า 20 เท่า เพราะทำการตลาดได้ตรงเป้ากว่า การหว่านโฆษณาโดยไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ใด และมีความต้องการสินค้าอยู่หรือไม่ เช่น ถ้าผู้บริโภค เดินผ่านร้านค้า แล้วได้รับ ข้อความเตือนว่าน้ำปลาหมด ย่อมทำให้เกิดการซื้อได้ทันที หรือคนหาร้านกาแฟ แล้ว search เจอว่าร้านกาแฟอยู่ใกล้มีอะไรบ้าง ย่อมก่อให้เกิดการขายที่ดีกว่า เพราะการทำการตลาดแบบถูกที่ถูกเวลา 5.ใช้เวลาในบ้านมากกว่านอกบ้าน จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น แน่นอนทำให้คนชอบอยู่บ้านมากขึ้น โดยกิจกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภคไม่ใช่การเดินห้าง ดูหนัง ฟังเพลงอีกต่อไป โดย 41% ของผู้บริโภคบอกว่าใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อน้อยลง และร้อยละ 50 หันมาทำอะไรเองมากขึ้น และอาศัยงานอดิเรกคลายเครียดจากสภาวะ burnout มากกว่าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะงาน DIY เป็นเรื่องของความเพลิดเพลิน ทำให้เห็นว่ามีสินค้า DIY ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มาทำเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธุรกิจบริการ (service industry) เช่น ร้านตัดผม ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์หันมาใช้กลยุทย์ co-create กับผู้บริโภค เช่น ไอศกรีม Magnum แทนที่จะขายไอศกรีมอย่างเดียว หันมาขาย ingredient ด้วย โดยมีแคมเปญ ‘DIY make my Magnum’ คือส่งอุปกรณ์ ส่วนผสมทุกอย่างให้ผู้บริโภคสร้างสรรค์ไอศกรีม และ ท้อปปิ้งของตัวเอง 6.โลกสองใบ สำหรับในยุคที่ผู้บริโภคโหยหา experience หรือ ประสบการณ์ที่ดี แต่นักการตลาดไม่สามารถสร้าง experience ที่ดีให้กับผู้บริโภคด้วย 5 senses (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เหมือนเมื่อก่อน เพราะผู้บริโภคใช้เวลาในออนไลน์มากขึ้น จึงมีเพียง 2 senses หลัก คือ รูป และเสียง ซึ่งการสร้าง experience ที่ดีบนโลกออนไลน์จึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่ารูปแบบเกมส์ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ กว่าร้อยละ 60 หมดเวลาไปกับการเล่นเกม ปัจจุบันมีผู้เล่นเกมกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2020 มีการลงทุนในธุรกิจเกมทั่วโลกกว่า 1.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในประเทศไทย ตลาดเกมมีมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 มีผู้เล่นประมาณ 28 ล้านคน ดังนั้นหลายๆ แบรนด์ได้เปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้เกมส์ หรือ virtual celebrity เช่น แฟชั่นแบรนด์เสื้อผ้า xoxo มีการ tie in ในเกมดังๆ โดยให้ตัวละครในเกมส์ใส่เสื้อผ้า และถ้าผู้เล่นชอบสามารถสั่งซื้อเสื้อผ้าได้จากเกมส์อีกด้วย และกำลังจะมี platform ใหม่ที่เป็น social gaming สามารถเล่นได้หลายคน มีฟีเจอร์ vdo chat, 3d, augmented reality จะออกภายในปี 2020 ที่จะทำให้ผู้บริโภคเพลิดเพลินกับการใช้เวลาอยู่บนโลกใบที่สองอย่างแน่นอน “จะเห็นได้ว่าจากแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้น นักการตลาด เจ้าของแบรนด์สินค้าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันในเวทีใหม่ คู่แข่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แบรนด์จะค่อยๆ ลดความสำคัญลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกกับของดีราคาถูก ดังนั้นแบรนด์จะต้องปรับตัว และติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด” สรินพรกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: 10 อุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้อภิมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2021ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine