“เมียนมาร์” อุปสรรคคือโอกาสทองทางธุรกิจ - Forbes Thailand

“เมียนมาร์” อุปสรรคคือโอกาสทองทางธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2015 | 06:46 AM
READ 8049
ด้วยที่ตั้งประเทศอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะขนาบประชิดด้วยพรมแดนของประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรมหาศาล และด้วยการโดดเดี่ยวตัวเองมาช้านาน จนคล้ายเป็นคลังสะสมทรัพยากรธรรมชาติไว้มากมาย ทำให้หลังเปิดประเทศในปี 2011 ดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดีจึงกลายเป็น “แผ่นดินทอง” ที่นักลงทุนจากนานาชาติรวมทั้งไทยจับจ้องมองหาโอกาสทางธุรกิจ

 
ทว่าโอกาสทองย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย   Yasuhide Fujii, Managing Director แห่ง KPMG Advisory (Myanmar) Ltd. กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่า การทำธุรกิจในเมียนมาร์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะโครงสร้างพื้นฐานแตกต่างจากไทยอย่างมาก ปัญหาเบื้องต้นก็คือระบบขนส่งคมนาคมที่ยังขาดประสิทธิภาพ ถนนหนทางยังขาดแคลนไม่เพียงพอ
 
“หากจะสร้างอาคารสำนักงาน ก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์ เหล็ก สุขภัณฑ์ พรม หรือเก้าอี้ เพราะฉะนั้นแล้วต้นทุนในการทำธุรกิจจะสูงกว่ากรุงเทพฯ 2-4 เท่า” Fujii ย้ำว่า มีเพียงค่าแรงเท่านั้นที่เป็นข้อได้เปรียบ แต่โอกาสทางธุรกิจที่มีสูงก็เพราะในหลายสาขา ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดได้อย่างแท้จริงนั่นเอง 
 
จากรายงาน Myanmar: ending poverty and boosting shared prosperity in a time of transition ของ World Bank ระบุว่า แม้เมียนมาร์จะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศแห่งนี้เคยมีพัฒนาการเทียบเท่ากับประเทศไทยและมาเลเซีย แต่ในวันนี้กลับมีสถานการณ์ในระดับเดียวกับลาวและกัมพูชา
 
ปัจจุบันเมียนมาร์มีประชากร 51.4 ล้านคน มีรายได้ต่อตัวต่อปีอยู่ที่ 1,105 เหรียญ อัตราความยากจนอยู่ที่ 37.5% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในภูมิภาค คนยากไร้ส่วนใหญ่ 76% อาศัยอยู่ในภาคชนบท สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าได้เพียง 1 ใน 3 ของประเทศ  ความหนาแน่นของถนนมีเพียง 219.8 กิโลเมตร ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีเพียง 0.3% ขณะที่การใช้โทรศัพท์มือถือ 1.1% ของทั้งประเทศ เมื่อเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน ประชากรพม่ามีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด
 
Fujii ยกตัวอย่างว่า ในไทยนั้น บริษัทญี่ปุ่นสามารถเข้ามาตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่กระจายหรือจัดจำหน่ายสินค้าในไทยได้ แต่จะดำเนินธุรกิจแบบนี้ในเมียนมาร์ไม่ได้ รัฐบาลมุ่งเน้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานมากกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทำให้มีกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้ง Trading company เพื่อนำเข้าและจำหน่ายสินค้าในเมียนมาร์โดยเด็ดขาด 
 
“การตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าต้องเจออุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องของที่ดินที่มีราคาสูง ระบบคมนาคมและการขนส่งที่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และการขาดแคลนกำลังไฟฟ้า”
 
ข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลก็เป็นอีกอุปสรรคที่นักลงทุนควรตระหนัก Fujii กล่าวว่า  แม้ตลาดแรงงานในเมียนมาร์จะเป็นข้อได้เปรียบด้านต้นทุน แต่สำหรับแรงงานที่มีทักษะความชำนาญ หรือ skilled labor ยังขาดแคลนอยู่มาก และที่สำคัญบางสาขาอาชีพเป็นอาชีพสงวนสำหรับชาวเมียนมาร์เท่านั้น เช่น ผู้สอบบัญชี เป็นต้น  บุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเลือกทำงานในต่างแดน แต่บางส่วนเลือกที่จะอยู่ในประเทศ ทำให้ยังขาดประสบการณ์ ทาง KPMG จึงเห็นว่าบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ ควรต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ด้านนี้ด้วย
 
นอกจากนี้แล้วประชาชนคนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย และถึงขั้นหวาดกลัวกับการทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคาร ทำให้นิยมทำธุรกิจบนพื้นฐานของเงินสด เหตุเพราะเมียนมาร์เคยประสบวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสถาบันการเงินมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นในระบบธนาคารเริ่มฟื้นกลับคืนมา
 
ขณะที่ทางการได้อนุญาตให้ธนาคารต่างชาติกลับเข้ามาประกอบกิจการในประเทศได้อีกครั้ง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2014 หนึ่งในนั้นก็คือธนาคารกรุงเทพจากประเทศไทย แต่กว่าที่สถาบันการเงินเหล่านี้จะเริ่มเปิดดำเนินการได้จริง ต้องใช้เวลาในการติดตั้งระบบทุกอย่างใหม่หมด รวมทั้งการหาสถานที่ตั้งสำนักงาน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในกลางปี 2015   แต่ยังไม่ให้ธนาคารต่างชาติเปิดบริการธนาคารแบบเต็มรูปแบบได้ ให้เฉพาะบริการด้าน  corporate banking เท่านั้น และยังไม่สามารถเปิดสาขาได้
 
Myo Aung Lwin, Executive Director KPMG Advisory (Myanmar) กล่าวว่า มีหลายอุตสาหกรรมจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ แต่ที่โดดเด่นในปี 2014 ที่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก และยังพึ่งพากำลังแรงคนในการผลิตเป็นหลัก เหมาะกับข้อจำกัดด้านกำลังไฟฟ้าของประเทศในเวลานี้ 
 
นอกจากนี้ยังเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีน ไทย และเวียดนามเป็นจำนวนมาก เพื่อที่รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเมื่อส่งสินค้าไปยุโรป หรือ “GSD Status” 
 
นอกจากนี้ การลงทุนที่กำลังเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติคือโรงไฟฟ้า เนื่องจากเมียนมาร์ยังมีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก ที่ผ่านมาต่างชาติหลายรายได้ลงนาม MOU กับรัฐบาล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการตั้งโรงงานแล้ว และธุรกิจอีกสาขาหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือธุรกิจด้านโทรคมนาคม โดยปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเพียง 2 รายเท่านั้นที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเทศ
 
ทั้งนี้สัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาร์ แยกเป็นรายอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ/พลังงาน 22% เทเลคอม 22% โรงงานผลิตสินค้า 12% สาธารณูปโภค 11% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 8% ก่อสร้าง 6% โรงแรม 5% การบิน 5% อสังหาริมทรัพย์ 4% อาหารและเครื่องดื่ม 2% และอื่น 3%
 
นอกจากนี้ทั้งคู่ยังกล่าวถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa ซึ่งไม่คุ้นหูคนไทยเทียบเท่า “ทวายโปรเจ็คต์” แต่กลับเป็นโครงการพัฒนาที่ทางการพม่าให้ความสำคัญมาก เพราะตั้งอยู่ชานเมือง Yangon และโครงการส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน มากกว่าโครงการทวา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาสร้างนาน และห่างไกลจากศูนย์กลางประเทศ
 
“Thilawa ยังอยู่ในช่วงการพัฒนา มีหลายบริษัทแสดงความสนใจ มีนักลงทุนจากนานาประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ไทย สหรัฐฯ สวีเดน รวมทั้งจากเมียนมาร์ ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจคือ ยานยนต์ อะไหล่ สินค้าอิเลคทรอนิกส์ อาหาร เครื่องใช้ในบ้าน และสิ่งทอ”
 
แม้ว่าระบอบการเมืองเมียนมาร์จะเปิดตัวรับการเปลี่ยนแปลง หลายฝ่ายต่างเฝ้าติดตามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญก็ยังคงมาจากโครงสร้างทางสังคมของเมียนมาร์นั่นเอง
 
 ในรายงานของ World Bank ระบุว่า แม้ประเทศจะมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ที่ยังคงเปราะบางและไม่มีท่าทีว่าจะยุติอย่างไร ก็คือความขัดแย้งที่มาจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งความรุนแรงครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมิถุนายน 2014
 
และเหมือนจะเป็นปัญหาที่ยากจะหาคำตอบได้ในเร็ววัน