"อิชิตัน" รุกอินโดนีเซีย เบิกทางสู่อาเซียน - Forbes Thailand

"อิชิตัน" รุกอินโดนีเซีย เบิกทางสู่อาเซียน

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Aug 2014 | 06:49 PM
READ 13205
"อิชิตัน" รายงานตลาดฯ จับมือบริษัทอินโดฯ ลงขั้นครึ่งต่อครึ่งรวมมูลค่า 2,000 พันล้านบาท สร้างตลาดชาเขียวให้กระหึ่มอินโดนีเซีย


ตัน ภาสกรนที ประธานและซีอีโอ บมจ.อิชิตันกรุ๊ป เปิดเผยใน Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2014 ถึงการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ของตนไปยังตลาดอาเซียน โดยยังไม่ยอมระบุประเทศว่า เมื่อประเทศในอาเซียนรวมกันเป็นหนึ่ง กลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ก็เปรียบเสมือนหนึ่้งประเทศที่มีประชาการมากกว่า 600 ล้านคน ประเทศไทยจะเป็นเพียงหนึ่งจังหวัดในประเทศใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสและวิกฤติ
 
"ในตลาด AEC ทุกอย่างสร้างได้ เราสร้าง (แบรนด์) ที่นี่ได้ ก็สร้างที่นั่นได้ แต่สร้างที่นี่ใช้เงินน้อยกว่า... เราแข็งแรงแล้ว พอมีเงินที่จะไป... จุดแข็งและจุดอ่อนเป็นจุดเดียวกัน เขา (คู่แข่ง) มีจุดแข็ง เขาก็มีจุดอ่อน มันมีโอกาสในวิกฤติและมีวิกฤติในโอกาสในเวลาเดียวกัน"
 
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวถึงตลาดใหม่เพียงว่า ต้องเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีอากาศร้อน เหมาะกับธุรกิจเครื่องดื่มที่ต้องการปริมาณการจำหน่ายสูง ซึ่้งไม่ใช่ประเทศลาวที่มีประชากรเพียง 7 ล้านคน
 
ล่าสุด 26 สิงหาคม 2557  บมจ.อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติในวันเดียวกันให้เข้าลงทุนในกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับบริษัท PT Atri Pasifik (AP) บริษัทจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มแบรนด์ “อิชิตัน” ในประเทศอินโดนีเซีย
 
โดยอิชิตันและ AP ถือหุ้นในสัดส่วน 50/50  คิดเป็นมูลค่าร่วมทุนส่วนทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 200,000 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 592 ล้านบาท) รวมมูลค่าร่วมทุนส่วนทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 400,000 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 1,184.0 ล้านบาท)
 
นอกจากนี้ยังได้อนุมัติเงินกู้ยืมในอนาคตให้กิจการร่วมค้าดังกล่าว ตามสัดส่วนการถือหุ้นในส่วนของบริษัท 141,250 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 418.1 ล้านบาท) จากประมาณการจำนวนเงินให้กู้ยืมในอนาคตเบื้องต้นทั้งหมด 282,500 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 836.2 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม เงินให้กู้ยืมจำนวนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อยอดขายสินค้าเป็นไปตามสัญญาที่ระบุ และทางบริษัทจะต้องเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมมูลค่าโครงการ JV ทั้งสิ้น 682,500 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 2,020.2 ล้านบาท)
 
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก CIMB เคยให้ความเห็นว่า อิชิตันส่งออกต่างประเทศเพียง 1% เท่านั้น เพราะปริมาณการผลิตเพียงพอสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่หากโรงงานแห่งที่ 2 เสร็จสิ้นในปี 2557 จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 67% เป็นปีละ 1,000 ล้านขวด หรือ 200 ล้านกล่อง จะทำให้มีสินค้าเพียงพอสำหรับต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการ บมจ.อิชิตันวันเดียวกัน ยังได้อนุมัติให้ลงทุนในระบบติดตั้งภายใน เครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงานเฟส 2 ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมมูลทั้งสิ้น 750 ล้านบาท

ในรายงานยังระบุอีกว่า ผู้บริหารอิชิตันเล็งเห็นถึงศักยภาพและความคุ้มค่าในการลงทุนครั้งนี้ โดยจะช่วยขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่าการเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่มเฉลี่ย 15% ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดชาพร้อมดื่มมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราที่สูงกว่าโดยเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี 
 
บริษัทมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือผู้ที่ชอบดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ และผู้ที่ต้องการความสดชื่นมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภคทุกวัย กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน กลุ่มไลฟ์สไตล์ทันสมัย และกลุ่มรักสุขภาพ  ซึ่งบริษัท AP พันธมิตรทางธุรกิจสัญชาติอินโดนีเซียมีเครือข่ายของช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน Modern Trade ประเภทร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) ครอบคลุมทั่วประเทศอินโดนีเซีย สามารถช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมแผนการขายได้เป็นอย่างดี

ด้านตัน ภาสกรนที เปิดเผยล่าสุดว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจชาพร้อมดื่ม ด้วยประชากรกว่า 250 ล้านคน และนับถือศาสนาอิสลาม 87% ซึ่งนิยมดื่มชาก่อนมื้อแรกของการรับประทานอาหารในช่วงเทศกาลรอมฎอน มูลค่าตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศนี้ประมาณ 73,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าตลาดน้ำอัดลม 2 เท่า
 
ทั้งนี้ อิชิตันได้กำหนดแผนวางจำหน่ายในตลาดอินโดนีเซียภายในไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะมีสินค้าอย่างน้อย 2 รสชาติ  คาดว่าจะมีสินค้าวางจำหน่ายอย่างน้อย 2 รสชาติในช่วงแรก จากการว่าจ้างผลิตในอินโดนีเซียและโรงงานของอิชิตันกรุ๊ป โดยตั้งเป้ายอดขายปีแรก 1 พันล้านบาท และในอีก 5 ปี เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้รวมของอิชิตันกรุ๊ป 5 ปีข้างหน้าเป็น 25,000 ล้านบาท จากตลาดในประเทศ 65%  ตลาดต่างประเทศ 35%  และหากสามารถทำยอดขายถึง 1,000 ล้านบาทเมื่อใด ก็จะเริ่มก่อสร้างโรงงานและติดตั้งสายการผลิตแห่งแรกในอินโดนีเซียทันที
 
“ในอินโดนีเซียยังไม่มีรายใด หรือแบรนด์ใดป็นเจ้าตลาดชัดเจน แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงเหมือนไทยก็ตาม ขณะที่แนวโน้มขวดเพ็ทในอินโดนีเซียเริ่มมาแรง โดยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากขวดแก้วที่มีกว่า 75% ในตลาดแบบเดิมมาเป็นขวดเพ็ท”