ผู้นำองค์กรไทย-ต่างชาติ แนะทางออกธุรกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 เร่งยกระดับความสามารถด้านการแข่งขัน ห่วงเกิดหลุมดำทางเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กถูกกว้านซื้อ ชี้ทางรอดใช้ความยั่งยืนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป แนะ 6 ทางรอดก้าวข้ามโควิด-19
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน
“Thailand Competitiveness Conference 2020” ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด 3 ด้านคือ Reality Check, Understanding the Future และ Shifting the Strategy เพื่อเสนอแนะแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีผู้นำองค์กรทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมบรรยาย
ศาสตราจารย์ Stephane Geralli ผู้ก่อตั้ง
สถาบัน IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกระทบหนักที่สุดต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งโลก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คน ในภาคธุรกิจสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเกิดหลุมดำทางเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะถูกบริษัทที่ใหญ่กว่ากว้านซื้อ ทำให้เกิดภาวะการลงทุนมากเกินความจำเป็น (Overcapitalization) ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
จากภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เช่น กรณี Grab, Uber, Tesla ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่กลับไม่ทำกำไร จึงอาจนำไปสู่การพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ยังมีกระแสการนำแหล่งผลิตกลับสู่ประเทศต้นกำเนิด แทนการ Outsource ไปยังประเทศที่ค่าแรงถูก เพื่อสร้างอาชีพให้คนในประเทศ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยในภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังเกิดวิกฤตโควิด สิ่งที่ผู้คนจะต้องการมากที่สุดจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ ความปลอดภัย ความโปร่งใส จริยธรรม และความยั่งยืน
ศาสตราจารย์ Arturo Bris ผู้อำนวยการสถาบัน IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า จากวิกฤตโควิด-19 จะเห็นได้ว่าเกือบทุกประเทศต่างไม่มีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง
สำหรับประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศขนาดกลาง สิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและอยู่รอดได้คือ การปรับโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืนและใช้ความยั่งยืนนี้เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงเป็นแนวโน้มความต้องการของคนยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างความแตกต่าง และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ ถือเป็นความท้าทายและโอกาสดีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือของทางภาครัฐที่จะช่วยกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการต่างๆ ที่ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้เอง” ศาสตราจารย์ Arturo กล่าว
BCG แนะ 6 ทางออกก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19
อิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วน
บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BCG) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 มีคำแนะนำ 6 ประการสำหรับองค์กรธุรกิจที่ควรมองไปข้างหน้าเพื่อก้าวออกจากวิกฤตครั้งนี้ ได้แก่
1.ภาพรวมองค์กรโดยเฉพาะในเรื่องบุคคล จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ธุรกิจ ยอดขายอาจกลับมาไม่เหมือนเดิม แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องบุคลากรยังคงถือเป็นต้นทุนคงที่ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น บางองค์กรปกติมีลูกค้า 1,000 ราย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 อาจเหลือลูกค้า 100 ราย จึงจำเป็นต้องกำหนดแผนงานด้านบุคลากรเพื่อรองรับกับจำนวนลูกค้าที่ลดน้อยลง
2.ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า เพื่อรักษาปริมาณยอดขายและคำสั่งซื้อในอนาคต
3.บริหารการผลิตและซัปพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีเสถียรภาพเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การจัดการค่าใช้จ่าย โดยคำนึงหลักการว่าหากในวันหนึ่งต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่จะมีอะไรที่จำเป็นต้องใช้จ่ายบ้าง หรืออาจต้องใช้จ่ายแตกต่างจากเดิมอย่างไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหมือนเดิม
5.การพัฒนาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ หรือ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในสถานการณ์ที่ทำลำบากที่สุดเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตได้
6.การให้ความสำคัญในเรื่อง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ซึ่งจะต้องทำให้ทุกๆ ฝ่ายทั้งพนักงานและลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำงานที่รวดเร็ว ตลอดจนเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
“ดุสิตธานี” ชี้แนวทางปรับโมเดลธุรกิจ
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในวงการธุรกิจต้องเจอกับภาวการณ์หยุดชะงัก หรือ Disruption มาแล้วมากมาย ทั้ง Digital Disruption และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นองค์กรต้องพิจารณาว่าโมเดลธุรกิจที่จะเดินหน้าต่อไปควรจะเป็นอย่างไร ขอยกตัวอย่างกรณีธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน เช่น ผู้ปฏิบัติการ หรือเจ้าของทรัพย์สินจะสร้างความสมดุลอย่างไรระหว่างทรัพย์สินขององค์กร หรือทรัพย์สินที่ต้องเช่า รวมถึงทรัพย์สินที่ต้องบริหารงาน และอาจมีทรัพย์สินบางอย่างที่ต้องลงทุนเพิ่มด้วย
นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงพันธมิตรธุรกิจเพราะในสถานการณ์โควิด-19 การดำเนินธุรกิจเพียงลำพังบนโลกธุรกิจคงไม่เพียงพอในการตอบโจทย์การให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจเห็นภาพธุรกิจโรงแรมร่วมมือกับสายการบิน โรงพยาบาล หรือประกันภัย เป็นต้น
สิ่งสำคัญถัดมาคือเรื่องสุขอนามัย ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานใหม่ที่ผู้คนจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาให้บริการที่ตรงความต้องการลูกค้าและสามารถนำมาใช้ในการทำงานในทุกสถานที่ ตลอดจนเรื่องของความยั่งยืน โมเดลธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ 1.การช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดและให้ความยืดหยุ่นในการให้บริการ 2.การให้บริการที่ประทับใจ และ 3.การให้ความคุ้มค่าแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ
“ในวิกฤตมีข้อดีคือทำให้เราต้อง Rethink ทั้งในเรื่องการการปรับโครงสร้างการเงิน การปรับโมเลธุรกิจ และการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งยังทำให้คนในองค์กรและทุกภาคส่วนตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงในสภาพปรกติหลายคนอาจไม่ยอมรับและต่อต้าน แต่จากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี” ศุภจีกล่าว
สำหรับเวทีสัมนาที่มีผู้นำองค์กรจากหลายธุรกิจ อาทิ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัด
พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษั ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อริยะ พนมยงค์ กรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ต่างเห็นตรงกันว่าไม่ใช่แค่วิกฤตโควิดเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีฟ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจไทย คือการยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันในอนาคต โดยผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะต้องพัฒนาให้ตัวเองมีความทันสมัยในรูปแบบที่คนรุ่นใหม่ยอมรับ ตลอดจนมีทักษะในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ยอมรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้นำเป็นโค้ชชิ่งในทุก ๆ ด้าน
นอกจากนี้ ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรและวิธีคิดของคนทำงาน ตลอดจนการกำหนดกลยุทธ์และแผนการตลาด จากเดิมที่เคยกำหนดแผนระยะยาว 5 ปีอาจใช้ไม่ได้ผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ควรเป็นแผนระยะสั้นรายไตรมาส สิ่งสำคัญขอให้คำนึงว่าทุกวิกฤตมีโอกาส จะทำอย่างไรให้มีโอกาสและสร้างโอกาสนั้นให้มีความเข้มแข็งโดยใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นอาวุธ พร้อมกับใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการตลาด
อ่านเพิ่มเติม: นำ “กลยุทธ์ธุรกิจ” ไปให้ถึงฝั่งฝันในยุค New Normal ด้วยวินัย 4 ประการ