นำ "กลยุทธ์ธุรกิจ" ไปให้ถึงฝั่งฝันในยุค New Normal ด้วยวินัย 4 ประการ - Forbes Thailand

นำ "กลยุทธ์ธุรกิจ" ไปให้ถึงฝั่งฝันในยุค New Normal ด้วยวินัย 4 ประการ

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Sep 2020 | 11:37 AM
READ 9957

หลายท่านคงจำได้ดีถึงคำกล่าวอันเสียดแทงใจของ Albert Einstein อัจฉริยะผู้ค้นพบกฏสัมพันธภาพอันเลื่องลือที่ว่า “Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results” (มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ในสภาวะความปกติใหม่ (New Normal) ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ หลากหลายองค์กรจึงมุ่งเน้นการคิดใหม่ ทำใหม่ และพยายามผลักดันกลยุทธ์ใหม่ออกมาเพื่อความอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางสภาวะวิกฤตแบบนี้ แต่ทางออกของความอยู่รอดกลับไม่ใช่ว่ากลยุทธ์ (Strategy) นั้นดีพอหรือยัง แต่การทำให้กลยุทธ์นั้นเกิดขึ้นได้จริงในระดับปฏิบัติการ (Execution) ต่างหากที่เป็นคำตอบและดูเหมือนเป็นความท้าทายสำคัญที่ผู้นำต้องเจอ จากประสบการณ์ของ PacRim ที่ได้ร่วมทำงานกับองค์กรชั้นนำเป็นเวลากว่า 28 ปี เพื่อช่วยให้ผู้นำในองค์กรสามารถผลักดันกลยุทธ์สำคัญๆให้เกิดขึ้นได้จริงในระดับปฏิบัติการ เพราะที่แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้ต่างหากที่ผลิตผลงานหรือผลประกอบการที่แท้จริงให้กับองค์กร (The frontline produce the bottom line) เราพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ในองค์กร ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในระดับปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า Execution Gap นั้นมีสาเหตุหลักอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้ 1.ผู้นำไม่สามารถสื่อสารให้พนักงานได้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายและทิศทางขององค์กร โดยปกติแล้วในองค์กรส่วนใหญ่จะมีคนจำนวนไม่มากนักที่ทราบและเข้าใจในเป้าหมายสำคัญสูงสุด (Top Priority) หรือทิศทางที่องค์กรจะเดินหน้า บ้างอาจเข้าใจผิดหรือไม่แน่ใจเนื่องจากมีหลายเรื่องที่ต้องมุ่งเน้น หรือเพราะเป้าหมายเปลี่ยนบ่อย อย่าลืมว่าการที่ผู้นำเข้าใจนั้น ไม่ได้หมายความว่าทีมงานที่อยู่ในระดับปฏิบัติการจะรู้และเข้าใจเหมือนกัน และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นผู้สร้างความสำเร็จที่แท้จริงให้กับองค์กร 2.บางครั้งพนักงานอาจจะรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ไม่รู้สึกและเข้าถึงเป้าหมายนั้น หรือพูดให้ฟังง่ายคือ “รู้ว่ารู้แต่ก็ไม่อิน” สาเหตุหลักคือ การไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ไม่รู้สึกว่าเขามีส่วนช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ 3.คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าตัวเองยุ่งมาก ไม่มีเวลาให้กับเรื่องที่สำคัญที่แท้จริง แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องเร่งด่วนซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่า วอกแวกกับเรื่องด่วน จนละเลยสิ่งสำคัญสูงสุด ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่เราบอกว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญแต่เราก็มักบอกว่าเรายุ่งและไม่มีเวลาออกกำลังกาย 4.พวกเขาอาจรู้ถึงเป้าหมายสำคัญสูงสุดและต้องการช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย แต่ก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับมัน หรือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ ถ้ากลับไปที่คำพูดของ Albert Einsteinในตอนต้น ประเด็นคือการจะบรรลุเป้าหมายที่คุณไม่เคยทำได้มาก่อนนั้น คุณก็ต้องเริ่มทำในสิ่งที่คุณไม่เคยทำมาก่อน ทั้งตัวผู้นำเองและก็ทีมงาน และก็ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นจนกลายเป็นนิสัย หรือจนเป็นวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนให้ได้ ซึ่งก็คือการสร้างวินัยให้กับทีม (Team Discipline) จากประสบการณ์ที่ PacRim มีโอกาสได้ทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทยได้ช่วยปิดจุดอ่อนในการปฏิบัติงาน (Execution Gap) ผ่านกระบวนการที่ Chris Mc Chesney, Jean Covey และ Jim Huling  ผู้เขียนหนังสือ The 4 Disciplines of Execution (4DX) ® ได้ให้คำแนะนำไว้ และพบว่าเราสามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายสูงสุดขององค์กรให้ประสบความสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยม ผู้เขียนหนังสือ The 4 Disciplines of Execution (4DX) ® ได้กล่าวไว้ว่า “ลองนึกภาพถึงผลที่ตามมาเมื่อทุกคนเข้าใจชัดเจน และมุ่งมั่นกับเป้าหมายสำคัญสูงสุด นึกถึงพลังและความคิดสร้างสรรค์ที่จะถูกปล่อยออกมา เมื่อทุกคนในองค์กรมุ่งมั่นทุ่มเท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ทุกคนในทีมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเป้าหมายสำคัญสูงสุด คิดดูว่าเราจะได้อะไร เมื่อทุกคนในทีมรู้ดีว่าต้องทำอะไร แล้วตั้งใจ จดจ่อหาวิธีการทำจนสำเร็จ” หลักการของ (4DX) ® เรียบง่ายแต่ทรงพลัง โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า เรามักไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่เราคาดหวัง (Execution Gap) เพราะแรงต้านจากสิ่งที่ผู้เขียนใช้คำว่า Whirlwind หรือ “พายุหมุนในการทำงาน” Whirlwind คืองานประจำ คือสิ่งที่เราต้องทำให้เสร็จเพื่อให้งานเดินต่อไปได้ มันคือระบบงานมากมายที่เรามีอยู่ในองค์กรที่ต้องทำให้ได้ (Operational Performances) อาจมีมากจนคนสับสนไม่เข้าใจว่าเรื่องไหนกันแน่ที่สำคัญกว่ากัน เรื่องไหนที่ขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจ (Business Performances) เมื่อมีเรื่องจำนวนมากที่ต้องทำในแต่ละวัน คนในองค์กรจึงใช้เวลาและพลังงานทั้งหมดไปกับเรื่องที่เร่งด่วน โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเรื่องไหนหรืออย่างไร 4DX ® จึงเริ่มต้นด้วยการให้ผู้นำสร้างหลัก 4 ประการดังต่อไปนี้   Discipline 1: Focus on Wildly Important Goal (WIG) มุ่งเน้นกับเป้าหมายสำคัญสูงสุด: เลือกเป้าหมายสำคัญสูงสุดหรือ WIG 1 ถึง 2 เรื่อง ที่เราต้องมุ่งเน้นให้สำเร็จท่ามกลางงานประจำหรือพายุหมุนมากมายในแต่ละวัน โดยที่เป้าหมายสูงสุดที่เลือกมา (Operational Performances) ในแต่ละทีมนั้นต้องสอดคล้องกันเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจ (Business Performances) สำคัญที่สุด 1 ถึง 2 เรื่องที่องค์กรต้องการ ในแต่ละวันที่เราทำงานเราอุทิศเวลาร้อยละ 80 ให้กับการจัดการงานในมรสุมงาน แต่อย่างน้อยอีกร้อยละ 20 ของเวลาเราต้องสร้างวินัยให้ทีมในการวางแผน มุ่งเน้นและสร้างความสำเร็จให้กับ WIG ของทีม เคล็ดลับสำคัญของวินัยข้อนี้คือ การเลือกเป้าหมายที่สำคัญ ท้าทาย ทำให้ทีมรู้สึกว่ามันเป็นเกมมากกว่าแค่งานชิ้นนึง ที่สำคัญการชนะเกมนี้ให้ความหมายบางอย่างทางจิตใจ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกได้ว่าความสำเร็จนั้นมีคุณค่าต่อ ผู้อื่น ทีมงาน และองค์กร   Discipline 2: Act on the Lead Measures มุ่งเน้นกับพฤติกรรมที่สร้างความแตกต่าง พฤติกรรม (Behaviors) อะไรที่จะช่วยผลักดันให้ทีมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ “วินัย” นี้บอกว่า นอกจากเราโฟกัสที่ตัวเลขปลายทางหรือ ตัววัดตามหลัง (Lag Measures) เช่น ผลกำไร ขาดทุน ความพึงพอใจของลูกค้า หรือ ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกว่าเราจะรู้ผลว่าทำสำเร็จหรือไม่ ก็ไปรู้เอาตอนสิ้นไตรมาสหรือตอนสิ้นปี และเราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว เราควรต้องโฟกัสไปที่พฤติกรรมสำคัญของทีมด้วย ว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ทีมเลือกทำต่างจากเดิม 1-2 ข้อ ที่ทำนายความสำเร็จของ WIG โดยวัดผลของพฤติกรรมนั้นในทีมเราด้วยสิ่งที่เรียกว่า ตัววัดนำ (Lead Measures) ความท้าทายของ “วินัย” นี้ คือ บางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า พฤติกรรมนั้นหรือสิ่งนั้นคืออะไร นอกจากนี้ เมื่อรู้แล้วว่าต้องทำอะไร เราก็ยังต้องรู้ด้วยว่า แต่ละคน แต่ละทีมทำสิ่งนั้นได้ดีแค่ไหน และมันช่วยทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายจริงหรือไม่ ซึ่งนำเราไปสู่ “วินัย” ต่อไป นั่นคือ   Discipline 3: Keep a Compelling Scoreboard มุ่งเน้นกับคะแนนที่สร้างความสำเร็จ อะไรคือสิ่งที่ทำให้แต่ละทีมเกิดความรู้สึก “อิน” หรือรู้สึกร่วมกับเป้าหมาย มีความอยากชนะราวกับกำลังแข่งกีฬานัดสำคัญ ไม่ใช่เพราะโดนสั่งมาหรือทำไปเพราะค่าจ้างงานที่ได้รับในแต่ละเดือนเป็นแน่ ความรู้สึกที่ว่าทีมของตัวเองอยู่ที่จุดๆ ไหน เรากำลังชนะหรือกำลังแพ้ กำลังเข้าใกล้เป้าหมายหรือถอยห่างไปทุกทีต่างหากที่เป็นตัวกระตุ้น ปลุกเร้า นั่นแปลว่า เราจะต้องมีการวัดผลตลอดระยะทาง ตลอดเวลา และในสถานที่ที่ซึ่ง ให้ทุกคนในทีมได้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างทันท่วงที คำกล่าวที่ว่า “ทุกคนอยากเป็นผู้ชนะ ทุกคนอยากรู้สึกมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น” เป็นจริงเสมอและนั่นคือเหตุผลที่ไม่มีใครอยากเห็นคะแนนของความพ่ายแพ้เกิดกับตารางคะแนนของทีมตัวเอง ความท้าทายของ “วินัย” นี้ คือ การทำ Scoreboards หรือการเก็บแต้มที่เร้าใจ ซึ่งต้องไม่ใช่เร้าใจ   ในมุมของหัวหน้าทีมหรือผู้บริหารเท่านั้น แต่ต้องเร้าใจในมุมของ “ผู้เล่น” หรือพนักงานในแต่ละทีม โดยถ้าทำตรงนี้ได้ดี แน่นอนว่าทีมก็จะเกิด Engagement หรือความ “อิน” ในการมุ่งสู่ชัยชนะ เช่นเดียวกับนักกีฬาที่เห็นแต้มของทีมตัวเองบนป้าย Scoreboard ในขณะแข่งขันนั่นเอง   Discipline 4: Create a Cadence of Accountability มุ่งมั่นรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ วินัยที่ 1-3 คือการออกแบบสร้างเกมที่ชนะได้ เกมที่มีความสำคัญ ส่วนวินัยที่ 4 คือทีมจะเล่นเกมนี้อย่างไร วินัยนี้เน้นให้ทีมสร้างความรับผิดชอบในผลลัพธ์ร่วมกันผ่านการประชุมทีมรายสัปดาห์ มีกลไกติดตามผลที่ทำได้จริง และทำได้อย่างสม่ำเสมอ เน้นสร้างทีมสปิริตให้สมาชิกของทีมได้เห็นว่า ตัวเองมีความสำคัญและมีผลต่อชัยชนะของทีมแค่ไหน ความท้าทายของหลักการนี้ คือการออกแบบกลไกที่จะช่วยติดตามผลได้อย่างมีประสิทธิผล และสร้างทีมสปิริตได้อย่างแท้จริง   คำว่าสร้างวินัย หรือ Discipline เป็นเหมือนยาขมของหลายคนหรือหลายองค์กร มันไม่เคยง่ายเลยในการสร้างสิ่งนี้ คนเราล้วนต้องเจ็บปวดหรือเผชิญความยากลำบากในการสร้างมัน แต่ถ้าให้คุณเลือกระหว่างต้องเจ็บปวดหรือเผชิญความยากลำบากกับการมีวินัย หรือ การไม่มีวินัย คุณคิดว่าคุณจะเลือกอะไร? ติดตามอ่านเนื้อหาดีๆ จาก PacRim พาร์ทเนอร์ที่คุณไว้วางใจได้ ในการช่วยเร่งสปีดการ Transform และเพิ่มผลลัพธ์ให้กับธุรกิจ (Trusted Partner in Accelerating Transformation & Performance Improvement) ในทุกวันที่ 1 ของเดือนทาง forbesthailand.com ครับ กฤตย์ ลีลาเลิศอำไพ Senior Consultant, PacRim Group