“มะกันชน” แห่ทิ้งสัญชาติตัวเองเป็นประวัติการณ์ - Forbes Thailand

“มะกันชน” แห่ทิ้งสัญชาติตัวเองเป็นประวัติการณ์

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Feb 2015 | 05:27 PM
READ 4032
ในปี 2014 ที่ผ่านมา พลเมืองสหรัฐฯ ได้ขอถอนสิทธิสัญชาติอเมริกันเป็นจำนวนมาก จนสร้างสถิติใหม่ไปแล้ว แม้จำนวนตัวเลขจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แต่กลับเป็นแนวโน้มที่ควรจับตามองอย่างยิ่ง 

 
แม้ว่ารายชื่อของผู้ขอถอนสัญชาติอเมริกัน หรือขอสละสิทธิพำนักอาศัยในสหรัฐฯ ที่ประกาศเป็นรายไตรมาส จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกรายก็ตาม แต่เท่าที่ปรากฏเป็นทางการ ตัวเลขผู้สละสัญชาติ-ย้ายไปต่างประเทศตลอดทั้งปี 2014 มีถึง 3,415 คน เทียบกับปี 2013 ที่ 2,999 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 14% ซึ่งดูเหมือนไม่มากนัก แต่กระนั้นก็ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขอเพิกถอนสัญชาติ จากเดิม 450 เหรียญ เป็น 2,350 เหรียญ นับเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่แพงเป็น 20 เท่าของค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยด้วยกัน กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า เงินที่เพิ่มขึ้นใช้เป็นค่าตอบแทนให้กับการทำงานพิเศษตามขั้นตอนต่างๆ
 
ทั้งนี้ คนอเมริกันที่ทำงานในต่างแดนต่างวิพากษ์วิจารณ์มาตรการจัดเก็บภาษีสุดแสนจะเข้มงวดของสหรัฐฯ ทำให้พวกเขาต้องรายงานภาษี รวมทั้งเปิดเผยบัญชีธนาคารและรายงานทางการเงินต่างๆ ทั้งหมดในต่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามหรือทำผิดพลาดก็ต้องเจอบทลงโทษสถานหนัก ทั้งคดีแพ่งและอาจจะรวมทั้งคดีอาญาก็ได้ คนอเมริกันในต่างแดนจำนวนมากไม่พอใจที่ทางการไม่เคยเข้าใจชีวิตของพวกเขา ซ้ำร้ายยังบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม


 

ปัจจัยโน้มน้าวให้ผู้หนึ่งผู้ใดยอมสละสัญชาติตัวเองนั้นมีมากมาย ชาวอเมริกันในต่างประเทศนั้นอาจเกิดแรงจูงใจจากครอบครัว และความสะดวกสบายของชีวิต การจัดเก็บภาษีในอัตราสูงและซับซ้อนของระบบภาษีสหรัฐฯ แม้จะเป็นเพียงหนึ่งปัจจัย แต่ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการใช้วิจารณญาณ เพราะคนในต่างแดนจำนวนมากเห็นชัดแล้วว่า การจ่ายภาษีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศ กำลังสร้างภาระและยังเอารัดเปรียบพวกเขา เพิ่มเติมจากที่ต้องจ่ายให้กับประเทศที่เขาพำนักอาศัย
 
นอกจากนี้ คนอเมริกันบางรายอาจจะต้องจ่ายภาษีชดใช้ให้กับการเพิกถอนสัญชาติหรือทิ้งสิทธิการอาศัยในสหรัฐ ที่เรียกว่า exit tax  หลังจากเกิดกรณีของ Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ได้สละสัญชาติอเมริกันแล้วย้ายไปอยู่ที่สิงคโปร์ (ในปี 2014 เขาคือมหาเศรษฐีอันดับ 6 ของสิงคโปร์ จากการจัดอันดับของ Forbes) ทำให้วุฒิสมาชิก Chuck Schumer และ Bob Casey ต้องเสนอออกกฎหมายจัดเก็บภาษี exit tax เพิ่มเป็นสองเท่า แต่ไม่เกิน 30% สำหรับผู้ที่จงใจจะทิ้งสัญชาติด้วยเหตุผลทางภาษี ทั้งนี้ในกฎหมายปัจจุบันระบุว่าผู้จะถอนสัญชาติ ต้องพิสูจน์ว่าจ่ายภาษีเงินได้ครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี
 
ในปี 2014 ผู้ที่ต้องจ่าย exit tax ก็คือคนที่ทรัพย์สินรวมเกินกว่า 2 ล้านเหรียญ หรือจ่ายภาษีเงินได้บุคคลเฉลี่ยในรอบ 5 ปีหลัง ปีละอย่างน้อย 1.57 แสนเหรียญ ส่วนผู้มีรายได้ไม่เกิน 6.8 แสนเหรียญได้รับการยกเว้น  สำหรับผู้พำนักอาศัยระยะยาวที่ขอยกเลิกสิทธิตาม “กรีนการ์ด” ก็ต้องจ่ายภาษีเช่นกัน
 
ไม่ว่าเหตุผลในการเพิกถอน “ความเป็นอเมริกัน” จะเกิดจากประเด็นทางภาษีหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ ที่กำลังเกิดขึ้นในดินแดนที่เป็นจุดหมายปลายทางของการอพยพโยกย้ายถิ่นของคนทั่วโลก แต่กลับมี “คนใน” อีกไม่น้อย อพยพสวนทางออกไปเรื่อยๆ



เรียบเรียงจาก Thousands Renounce U.S. Citizenship Hitting New Record, Not Just Over Taxes โดย Robert W. Wood