ผู้นำสิงคโปร์ชี้ ประชาธิปไตยแก้ปัญหาของประเทศในเอเชียไม่ได้ - Forbes Thailand

ผู้นำสิงคโปร์ชี้ ประชาธิปไตยแก้ปัญหาของประเทศในเอเชียไม่ได้

Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์บอกมหาเศรษฐีกลางวงสัมมนา Forbes Global CEO Conference ว่า ประชาธิปไตยอาจไม่ได้นำมาซึ่งรัฐบาลที่สามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายของประเทศในเอเชียได้ พร้อมเรียกร้องให้คนสิงคโปร์ ตื่นตัว และวิตกกังวล ว่า ความสุขที่เคยมีอาจต้องถูกคนชาติอื่นแย่งไป ถ้าไม่พัฒนาตัวเองตลอดเวลา
 
 
Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 14 งานชุมนุม 3 วันของมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญเริ่มขึ้นแล้วที่โรงแรม Shangri-La ในสิงคโปร์ ในคืนวันอังคาร 28 ตุลาคม โดยมี Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ให้เกียรติร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ และสนทนาบนเวทีกับ Steve Forbes บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Forbes  แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 35 นาที ท่ามกลางผู้ร่วมงาน 400 คน จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 
 
ตอนหนึ่งของการสนทนา Lee ถูกถามถึงความเห็นถึงสถานะความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย เขาอธิบายว่า การเมืองในหลายประเทศในเอเชียมีความ “ซับซ้อน” ทั้งโครงสร้างทางการเมือง และบทบาทของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ในประเทศไทย แม้จัดให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง แต่กองทัพกลับมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดมาตลอด บางครั้งออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว 
 
“ถ้าคุณมองมาที่อินเดีย ซึ่งมีประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ที่ได้ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในแง่ของการแก้ปัญหาพื้นฐานที่ประเทศเผชิญอยู่ ระบบแบบนี้ทำให้การแก้ปัญหายากกว่าการจัดการกับปัญหาแบบในจีน” Lee ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2004 กล่าวกับเจ้าของธุรกิจชั้นนำในเอเชีย
 
เขาเสริมว่า ในจีนเอง แม้ไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะไม่ถูกวิจารณ์เรื่องความชอบธรรม การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และการตรวจสอบถ่วงดุล
 
สำหรับสิงคโปร์ ประเทศที่จะมีอายุครบครึ่งศตวรรษในปีหน้า Lee บอกว่า...

“แม้ประเทศนี้จัดให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง มีรัฐสภา มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน แต่ถ้าคุณถามว่าสูตรสำเร็จนี้จะสร้างรัฐบาลที่ดี และสร้างประเทศให้ประสบผลสำเร็จในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือไม่ ไม่มีใครสามารถบอกได้ แต่มันขึ้นกับประชาชน ค่านิยมของสังคม คุณภาพของผู้นำ และความเชื่อมโยงระหว่างผู้นำกับประชาชน ไม่ใช่มาบอกว่า เราจำต้องมีประชาธิปไตยให้มากขึ้น แล้วจะทำให้ประเทศเจริญรุดหน้าขึ้น” 
 
Lee ปัจจุบันอายุ 62 ปี คือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสิงคโปร์ เขาถูกวางตัว แล้วสร้างพื้นฐานการศึกษาและการเมือง ให้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากบิดา คือ Lee Kuan Yew ผู้ประกาศแยกตัวจากมาเลเซียเมื่อ 49 ปีก่อน Lee ผู้ลูก ผ่านตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลก่อนมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีกลาโหม และประธานกรรมการธนาคารกลางของสิงคโปร์ 
 
ต่อคำถามที่ว่าสิงคโปร์จะเป็นอย่างไร หลังการเฉลิมฉลองครบ 50 ปีแห่งการประกาศเอกราชจากมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีตอบว่า “สิ่งที่สิงคโปร์จำเป็นต้องทำคือ ตระหนักรู้ และวิตกกังวลไว้เสมอว่า อาจมีใครมาแย่งอาหารกลางวันของคุณไปได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความมั่นใจว่า ฉันมีพื้นฐานที่ดี มีสถานะที่แข็งแรง และมุ่งมั่นที่จะทำวันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้น” 
 
สันติภาพในภูมิภาคคือ สิ่งที่ทำให้ Lee กังวลมากที่สุด เขามองว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และข้อพิพาทดินแดนระหว่างญี่ปุ่นและจีนกรณีหมู่เกาะ Senkaku/Diaoyu เป็นเรื่องที่ต้องคุมไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งการแพร่ระบาดของแนวคิดของกลุ่มหัวรุนแรง ติดอาวุธ ในตะวันออกกลางเช่น ISIS เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกครั้ง นอกจากนี้ แต่ละประเทศในภูมิภาคยังต้องพยายามสร้างความยึดเหนี่ยวทางการเมืองและสังคมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกที่มีช่องว่างระหว่างรายได้สูง