บริติช เคานซิล ชูภารกิจ ‘สะพาน’ เชื่อมต่อสองประเทศ มากกว่าแค่เรื่อง ‘เรียนภาษา’ - Forbes Thailand

บริติช เคานซิล ชูภารกิจ ‘สะพาน’ เชื่อมต่อสองประเทศ มากกว่าแค่เรื่อง ‘เรียนภาษา’

บริติช เคานซิล เป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยเนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำภารกิจในไทยมาตั้งแต่ปี 2495 คนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักบริติช เคานซิลในฐานะสถาบันสอนภาษาอังกฤษ แต่ที่จริงแล้วบริติช เคานซิลมีภารกิจในฐานะสะพานเชื่อมทางภาษาและวัฒนธรรมระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศที่ไปลงหลักปักฐานซึ่งวันนี้ขยายไปแล้ว 110 ประเทศทั่วโลก

ด้วยภารกิจภาพรวมในการประสานประเทศไทยกับอังกฤษ Andrew Glass ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงภารกิจขององค์กรช่วงปี 2559-2563 ว่าไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนภาษา แต่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ การพัฒนาการศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล และ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งบริติช เคานซิลให้น้ำหนักเท่าๆ กันในการทำงานเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้จากอังกฤษมาที่ไทย แต่ได้องค์ความรู้จากประเทศไทยไปเผยแพร่ในอังกฤษเช่นกัน  

สอนอังกฤษให้ครูอังกฤษ

สำหรับภารกิจการยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ นอกจากสถาบันสอนภาษา 6 สาขาในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่แล้ว องค์กรยังมีการทำโครงการความร่วมมือกับภาครัฐ ที่สิ้นสุดไปแล้วคือโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ยกระดับความสามารถครูสอนภาษาอังกฤษไป 17,000 คน ในระหว่างเดือนมีนาคม 2559 - กันยายน 2561
(ซ้าย) ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ (ขวา) Andrew Glass ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย
“โครงการพัฒนาคนต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่าที่จะเห็นผล แต่เราเชื่อว่าแต่ละโปรแกรมจะเป็นรากฐานการพัฒนา ยกตัวอย่างโครงการบูทแคมป์ดังกล่าว จากครู 17,000 คนจะกระจายความรู้ไปสู่นักเรียนอีกมาก และภาษาอังกฤษยังเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา เพราะแม้ว่านักเรียนจะเก่งด้านอื่นๆ แต่ถ้าหากไม่เก่งภาษาอังกฤษ การต่อยอดการทำงานก็จะยากลำบาก” Glass กล่าว  

เชื่อมต่อวิทยาศาสตร์สองประเทศ

ถัดมาเป็นการพัฒนาการศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนงานวิจัยและเทคโนโลยี โดยบริติช เคานซิลเป็นศูนย์กลางเชื่อมการสร้างหลักสูตรระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยและอังกฤษ 21 ความร่วมมือ ที่ทำให้คนไทยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรเหล่านี้ทางออนไลน์ หรือเรียนครึ่งหนึ่งในไทยและอีกครึ่งหนึ่งของหลักสูตรในอังกฤษได้ ในแง่ของการสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ Glass กล่าวถึงการสร้างโครงการเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม ให้งานวิจัยที่สร้างขึ้นได้สนับสนุนงานธุรกิจจริง ไปจนถึงการให้ทุนวิจัยนวัตกรรม Newton Fund ซึ่งเข้าถึงนักวิจัยในไทย 2,000 คน รวมถึงโครงการ FameLab เวทีประกวดการนำเสนอสื่อสารงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงง่าย เป็นต้น
เฌอปราง อารีย์กุล หนึ่งในแอมบาสเดอร์งาน FameLab Thailand 2019 (PHOTO CREDIT: Chanat Katanyu / Bangkok Post)
Glass กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกที่ส่งนักเรียนระดับอุดมศึกษาขึ้นไปไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรมากที่สุด (ไม่นับรวมประเทศในสหภาพยุโรป) โดยปีก่อนมีจำนวนนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่อังกฤษ 6,500 คน จำนวนนี้เติบโตขึ้นปีละ 1-2% สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่ลดจำนวนลง ทั้งนี้ เขาเจาะลึกว่านักเรียนส่วนใหญ่สนใจศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจ แต่ถ้าหากต้องการรับทุนการศึกษา แนะนำว่าสาขาที่เปิดกว้างในอังกฤษจะเป็นกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ขั้นสูง  

สนับสนุนงานคราฟต์ไทย

ด้านเสาหลักเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รับไม้ต่อในการอธิบายงานของบริติช เคานซิลในส่วนนี้ “ไม่ใช่พาฝรั่งมาสอนคนไทยแต่เป็นการแลกเปลี่ยนกันจริงๆ” ดร.พัชรวีร์กล่าว โดยบริติช เคานซิลมี 2 โครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้อง คือ โครงการ Crafting Futures เป็นเป้าหมายภาพใหญ่ของบริติช เคานซิลทั่วโลกที่ต้องการสนับสนุนกลุ่มหัตถกรรมที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิง สำหรับในไทยนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 มีการสนับสนุนกลุ่มช่างฝีมือและผู้ประกอบการด้านศิลปะไปแล้วกว่า 740 คน และอีกส่วนเป็นโครงการ Creative Hubs ซึ่งช่วยอบรมผู้ดูแลฮับด้านงานสร้างสรรค์ไปกว่า 60 คน “สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบริติช เคานซิลเราเน้นไปที่ศิลปะที่เป็นอุตสาหกรรมมากกว่า fine arts โดยมีการจัดแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างช่างฝีมือชาวไทยกับ UK และเป็นสะพานเชื่อมให้สองฝั่งได้รู้จักกัน อย่างเช่นพางานของไทยไปแสดงใน Design Week หรืองานแฟร์ที่อังกฤษ อาจจะไม่ได้ทำในระดับอี-คอมเมิร์ซ แต่มีเครื่องมือที่ส่งเสริมเพราะเราช่วยอบรมเรื่องการออกแบบ การเงิน บัญชี การตลาด” ดร.พัชรวีร์กล่าว ทั้งนี้ Forbes Thailand รายงานเกี่ยวกับการผลิตที่นำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ยึดตามการนิยามขององค์การความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) คือการสร้างสินค้าและบริการที่เกิดจากความคิดมนุษย์ ประกอบด้วย 15 สาขา ได้แก่ งานฝีมือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ อาหารไทย แพทย์แผนไทย ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ การกระจายเสียง เพลง งานออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา และซอฟต์แวร์
ส่วนหนึ่งจาก Lookbook 2018 ของงานสร้างสรรค์ร่วมระหว่างนักออกแบบจากสหราชอาณาจักรกับงานผ้าทอของกลุ่มพัฒนาผ้าทอไทลื้อ จ.น่าน (PHOTO CREDIT: britishcouncil.or.th)
งานส่วนนี้ของบริติช เคานซิลส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านเครือข่ายพาร์ทเนอร์เช่น มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ผ่านมามีการทำงานกับกลุ่มต่างๆ เช่น แบรนด์ภูคราม จ.สกลนคร, กลุ่มพัฒนาผ้าทอไทลื้อ จ.น่าน, กลุ่มวานีตา งานหัตถกรรมกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้องค์ความรู้ท้องถิ่นสูญหาย และต่อยอดให้งานหัตถกรรมเหล่านี้สามารถจำหน่ายได้ เธอกล่าวด้วยว่า ช่วงกลางปีนี้บริติช เคานซิลจะออกเครื่องมือออนไลน์คือ Digital Craft Tools Kit เป็นเว็บไซต์สองภาษาอังกฤษ-ไทยเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจจากหัตถกรรมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ หลักสูตรการสอนในเว็บไซต์จะเริ่มตั้งแต่การค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อทำงานหัตถกรรม ไปจนถึงด้านการตลาด การเงิน ซึ่งเปิดให้ใช้บริการได้ฟรี   Forbes Facts
  • Andrew Glass ให้ข้อมูลว่า บริติช เคานซิลทั้งในไทยและต่างประเทศ มีโมเดลธุรกิจกึ่งบริการสาธารณะกึ่งผู้ประกอบการ โดยเงินทุนในปัจจุบัน 15% มาจากงบประมาณรัฐบาลอังกฤษ อีก 85% มาจากค่าบริการการสอนและจัดสอบในสถาบัน สัญญาจ้างจากรัฐบาล และเงินระดมทุนจากองค์กรอื่นๆ
  • Glass เข้ามาร่วมงานกับบริติช เคานซิลประเทศไทยเมื่อปี 2557 ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้อำนวยการประเทศขององค์กรนี้ในคูเวตและเซอร์เบีย