นวัตกรรม…อาวุธเด็ดของผู้ประกอบการ - Forbes Thailand

นวัตกรรม…อาวุธเด็ดของผู้ประกอบการ

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Aug 2015 | 05:51 PM
READ 4877

“วันใดที่ทุกๆ คนคิดเหมือนกัน วันนั้นไม่มีใครสักคนคิดเลย”
-- Walter Lippmann --

นวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากข้อมูลของ “Global Competitiveness Report” ซึ่งทำการสำรวจและประเมินศักยภาพรวมทั้งความได้เปรียบทางการแข่งขันของ 144 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีกว่าประเทศที่มีความสามารถทางนวัตกรรมที่ต่ำ นอกจากนี้ นวัตกรรมยังส่งผลทางบวกต่อการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัท ดังเช่น Steve Jobs ได้สร้างนวัตกรรม สมาร์ทโฟน ที่เรียกว่า Apple จนกระทั่งกลายเป็นผู้นำในปัจจุบัน

นวัตกรรมสามารถแบ่งออกตามระดับความใหม่และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือ นวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป (การพัฒนาหรือต่อยอดจากเทคโนโลยี/สินค้าปัจจุบัน) และ นวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (นวัตกรรมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น สมาร์ทโฟนที่เข้ามามาแทนที่โทรศัพท์มือถือแบบเก่า) ผู้ประกอบการสามารถสร้างธุรกิจใหม่จากทั้งสองประเภทของนวัตกรรมดังกล่าว

นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดหรือเรียกอีกชื่อว่า “นวัตกรรมแบบทำลายล้าง” ผู้อ่านฟังแล้วอาจแปลกใจ แต่จริงๆ แล้ว นวัตกรรมแบบทำลายล้างเป็นสิ่งใหม่ที่ส่งผลให้ธุรกิจเก่าๆ หรืออุตสาหกรรมเก่าๆ ถูกทำลายลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ก่อตั้งบริษัท PayPal, SpaceX, Tesla และ Solar City อย่าง Elon Musk ที่สามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ทั้ง 4 ธุรกิจ

PayPal กำลังจะกลายเป็นคลื่นยุคใหม่ของอุตสาหกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ซึ่งเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทางการเงินเดิมๆ SpaceX เป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปนอกโลกด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการส่งยานอวกาศของรัฐบาลรัสเซียและจีนถึง 10 เท่า บริษัท Elon กำลังโจมตีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (ยอดขาย ณ ปัจจุบัน คือ 60,000 คันและใน 2015 กำลังจะมียอดขายที่มากขึ้นเรื่อยๆ) ล่าสุด Elon Musk กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน ด้วยการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดใน USA และเสนอขายพลังงานไฟฟ้าจำนวน 10kwh (U$3500) ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในบ้านหนึ่งหลังเป็นระยะเวลา 1 เดือน

Steve Jobs และโทรศัพท์ iPhone ปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ iPod และ iWatch ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในตลาด แต่ตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลง คือ iTunes Store ในปี 2003 อุตสาหกรรมเพลงถูกละเมิดลิขสิทธิ์อย่างหนัก มีการโหลดเพลงเถื่อนผ่านเว็บอย่าง Napster, Gnutelle และ Kazaa จน iTunes Store ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถซื้อเพลงได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ โดยเกิดจากความร่วมมือของค่ายเพลงชื่อดังในอเมริกา  

คำถามที่น่าสนใจในวงการวิชาการ คือ ทำไมส่วนใหญ่นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดจึงเกิดจากผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือบริษัทที่ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม กล่าวคือ มวยรองส่วนใหญ่เป็นผู้สร้างและผลักดันนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ในขณะที่เบอร์ 1 กลับอยู่เฉยๆ?

Clayton Christensen นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดย Christensen อธิบายว่าเป็นเพราะองค์กรขนาดใหญ่เป็นเหยื่อของการยึดติดในความสำเร็จของตนเอง โดยองค์กรขนาดใหญ่กลัวว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงโดยนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นการทำลายต่อความเป็นเจ้าตลาดในปัจจุบัน เนื่องจากนวัตกรรมเหล่านั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าให้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ CEO และบอร์ดคณะบริหารขององค์กรขนาดใหญ่ไม่เต็มใจจะทดลองหรือนำเสนอนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาดเพราะโดยปกตินวัตกรรมจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้าอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดหรือนวัตกรรมแบบทำลายล้างจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก/ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีความทะเยอทะยานสูงในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่ตลาดซึ่งเป็นการปฏิวัติตลาดมากกว่าการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในประเทศไทย เรามีผู้ประกอบการอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้ประกอบการเป็นนักนวัตกรอย่างแนวคิดของ Christensen และ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ตามซึ่งลอกเลียนหรือดัดแปลงสินค้าและบริการจากธุรกิจปัจจุบัน มากกว่าการแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ จากข้อมูลล่าสุด โครงการวิจัย Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ของคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) พบว่า มีเพียง 7.3% ของผู้ประกอบการใหม่และ 5.6% ของผู้ประกอบการปัจจุบัน ที่สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีความเป็นนวัตกรรมใหม่ระดับที่มีศักยภาพเป็นนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ในขณะที่จากข้อมูล GEM พบว่า 58.8% ของผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นนักนวัตกร เมื่อพิจารณาจากกราฟการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปยังประชากรไทยและผู้ประกอบการหน้าใหม่ของไทยในริเริ่มไล่ตามความฝันการเป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ริเริ่มทดลองอะไรใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประกอบธุรกิจ มีความปราดเปรียวว่องไวต่อการทำธุรกิจในยุคใหม่และพร้อมเสมอต่อการขับเคี่ยวกับคู่แข่งทั่วทุกมุมโลก

David Achtzehn อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) สนใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทด้านผู้ประกอบการ ติดต่อที่ busem@bu.ac.th หรือ 0-2350-3500 ต่อ 1795

คลิ๊กอ่าน "นวัตกรรม…อาวุธเด็ดของผู้ประกอบการ" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2015