"อิชิตัน กรุ๊ป" เจ้าของเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มแบรนด์อิชิตัน กำลังเดินหน้าขยายธุรกิจเครื่องดื่มไปได้สวย โดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำผลไม้ Bireley’s ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง แต่อาจจะช้ากว่ากำหนดการเดิมไปเล็กน้อยจากแผนเดิมที่จะออกในช่วงไตรสุดท้ายเลื่อนไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าอย่างช้าสุด ย้ำยังมีรายละเอียดเยอะที่ต้องดูแลจำหน่าย ขณะการขยายการลงทุนไปในอินโดนีเซีย คาดจะโกยรายได้ถึง 1 หมื่นล้านใน 5 ปี ก่อนที่จะมองหาประเทศต่อไปขยายเครือข่าย
ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการและ CEO บมจ. อิชิตัน กรุ๊ป กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะรีแบรนด์ Bireley’s ที่มีอายุเกือบร้อยปีให้มีความทันสมัยและคลาสสิกในเวลาเดียวกัน บริษัทให้ความสำคัญกับรายละเอียดทุกอย่างเพื่อให้สินค้าออกมาดี ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบออกสู่ตลาดถ้าสินค้ายังไม่พร้อม นอกจากแล้ว เนื่องด้วยบริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตลอดชีวิต บริษัทจึงอยากจะให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดังกล่าวออกมาดูดีและยั่งยืนในสายตาผู้บริโภคในระยะยาวมากกว่า
“เราทำ mould (สำหรับ Bireley’s) มากกว่า 200 แต่ยังไม่ถูกใจ พวกเราต้องแก้แบบตลอด” ตันกล่าวและเสริมว่า ปัจจุบันได้จ้างบริษัทโฆษณาเพื่อรีแบรนด์ให้สินค้าตัวนี้เป็นที่เรียบร้อย
ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์ CIMB ระบุไว้ในรายงานสำหรับลูกค้า เมื่อกลางมิถุนายนว่า ผู้บริหารอิชิตันได้แจ้งแก่นักวิเคราะห์ของบริษัท และผู้จัดการกองทุนว่า ทางอิชิตัน เตรียมออกผลิตภัณฑ์ Bireley’s ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายสำหรับในไตรมาสนี้ ที่ 200 ล้านบาท และ 1 พันล้านบาท ในปี 2558
ด้านการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นที่ชื่อ PT Atri Pasifik ในอัตราส่วน 50:50 มีทุนจดทะเบียน 1.18 พันล้านบาท ตั้งบริษัท Ichitan Indonesia ขึ้นมา ตันบอกว่า การร่วมทุนนี้ทำให้การเข้าตลาดอินโดนีเซียนั้นง่ายขึ้นเพราะผู้ร่วมทุนมีระบบการจัดจำหน่ายที่แข็งแรงและกว้างขวาง โดยเป็นเจ้าของร้านค้าสมัยใหม่กว่า 10,000 สาขา โดยเฉพาะร้านค้าสะดวกซื้อ
“ไปต่างประเทศ ระบบการจัดจำหน่ายเป็นเรื่องสำคัญมาก ปกติถ้าเราไปต้องไปลงทุนมากกว่าหมื่นล้านบาท แต่สำหรับตลาดอินโดนีเซีย เราให้เขามาเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้น 50% มันทำให้การทำงานง่ายขึ้น” เขากล่าว
ช่วงแรกบริษัทจะนำสินค้าบางส่วนจากเมืองไทยเข้าไปจำหน่ายและจ้างผลิตที่นั่นในเวลาเดียวกัน โดยเน้นขายชาเขียวและชาดำก่อน จากนั้นจะมีการสร้างโรงงานผลิตที่นั่นหลังที่ธุรกิจลงตัวและเห็นอนาคต ตลาดชาพร้อมดื่มของประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้มีศักยภาพมาก เนื่องจากเป็นประเทศดื่มชาและยังมีประชากรมากถึง 250 ล้านคน มูลค่าของชาพร้อมดื่มที่นั่นราว 7.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าเมืองไทยกว่า 4 เท่า
ตันบอกว่า ที่นั่นยังมีโอกาสอีกมาก แต่บริษัทต้องปรับรสชาติของชาให้เข้ากับรสนิยมคนท้องถิ่น เขาบอกว่า ชาวอิเหนาดื่มชาหวานคล้ายกับคนไทย แต่ชาของเขาจะมี “กลิ่นหอม” มากกว่า สำหรับประเทศเป้าหมายต่อไป ตันปฏิเสธที่จะพูดถึง แต่กล่าวว่า เขาให้ความสำคัญกับตลาดอินโดเนีซียมากที่สุด ณ เวลานี้ เหมือนชื่อบริษัท “อิชิ” ที่แปลว่าหนึ่งเดียว นั่นหมายถึงทำหนึ่งเดียวตลาดนี้ก่อน รวมไปถึง “commitment” ไว้กับกับผู้ร่วมทุนอีกด้วย ถ้าตลาดนี้มีตัวเลขเป็น “บวก” ให้เห็น เขาบอกว่าก็จะเริ่มลุยประเทศต่อไปทันที หลังจากทีเริ่มต้นเดินเครื่องในเมืองอิเหนาในไตรมาสแรกปีหน้า