ช่องทางระดมเงินในตลาดทุนของธุรกิจครอบครัว - Forbes Thailand

ช่องทางระดมเงินในตลาดทุนของธุรกิจครอบครัว

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Dec 2014 | 10:40 PM
READ 3082
รากฐานธุรกิจทั่วโลกเริ่มจากธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ในประเทศไทยมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของธุรกิจทั้งประเทศ  ล้วนมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดจากธุรกิจขนาดเล็ก สู่ขนาดใหญ่ หลายกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ  

 
ธุรกิจครอบครัวมีจุดแข็งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจและให้ความสำคัญกับการอยู่รอดในอนาคต แต่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาด้านการสืบทอดกิจการ ในขณะที่ยังต้องเผชิญกับกระแสการแข่งขันที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้ง ภายในและนอกประเทศ
 
การเข้าสู่ตลาดทุนเป็นทางเลือกสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวอาจบรรจุไว้ใน “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อแก้ไขและเตรียมพร้อมรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากข้อดีอย่างน้อย 3 ประการ
 
1.การเข้าสู่ตลาดทุนช่วยให้เกิดการจัดระเบียบบ้านใหม่ ให้มีการบริหารจัดการอย่างมีระบบโปร่งใส มีการตรวจสอบภายใน มีระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดึงดูดผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยเสริมทัพ และพนักงานที่มีคุณภาพเข้าร่วมงานกับบริษัทที่ระบบการจัดการที่ดี
 
2.ช่วยลดความขัดแย้งในด้านแนวคิดการบริหารงานระหว่างสมาชิกครอบครัว ซึ่งมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของธุรกิจครอบครัว เพื่อช่วยให้กิจการดำเนินไปได้ โดยยังสามารถสืบทอดปรัชญาหลักของบริษัทที่ครอบครัวได้วางเอาไว้ 
 
3.ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเป็น living organization สามารถดำรงอยู่ได้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ผูกโยงไปกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ไม่อาจอยู่คงทนถาวร 
 
เจ้าของธุรกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดทุนดังกล่าว อาจเลือกระดมทุนได้หลายช่องทาง เช่น ออกเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินพร้อมทั้งคำแนะนำด้านการบริหารงานจาก “กิจการเงินร่วมลงทุน” (private equity) 
 
ผลศึกษาของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยพบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่ม SET 50 มีจำนวน 21 แห่งที่เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดรวมของ SET 50  ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความเป็นธุรกิจที่มีรากฐานจากธุรกิจครอบครัว
 
ก.ล.ต. เล็งเห็นว่าธุรกิจครอบครัวที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดมีศักยภาพอยู่จำนวนไม่น้อย บางแห่งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่หลายแห่งต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการ พร้อมเปิดรับความเชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อปรับปรุงยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น
 
โครงการ “หุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด” จึงได้เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจในต่างจังหวัดเข้าถึงการระดมทุนในตลาดทุน และธุรกิจในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยเป็นธุรกิจครอบครัว โครงการนี้จึงมีส่วนส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัวในต่างจังหวัดได้เรียนรู้เกี่ยวกับการระดมทุนในตลาดทุน และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงการบริหารงาน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจนถึงรุ่นที่ 3 แล้ว มีธุรกิจที่เข้าโครงการร่วม 300 แห่ง ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดย 22 บริษัท จาก 14 จังหวัดได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว  และอีกหลายแห่งกำลังทยอยเข้าจดทะเบียนในเร็ว ๆ นี้
 
เป็นที่คาดกันว่าธุรกิจเหล่านี้และธุรกิจครอบครัวอื่นที่เข้าระดมทุนในตลาดทุนแล้ว จะทวีความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ จนได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ สามารถได้รับประโยชน์จากตลาดทุนได้เช่นกัน ขอเพียงเจ้าของธุรกิจกำหนดทิศทางการบริหารงานด้วย 3 บทบาท คือ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้บริหาร และสมาชิกครอบครัว อย่างสอดคล้องและเหมาะสม ซึ่งจะสามารถสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น เป็นองค์กรที่เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป



วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)