ความสุขที่มากขึ้น...มีได้จากการเป็น “เถ้าแก่” - Forbes Thailand

ความสุขที่มากขึ้น...มีได้จากการเป็น “เถ้าแก่”

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Dec 2014 | 09:33 AM
READ 4359
ในฐานะชาวต่างชาติ หรือ “ฝรั่ง” จากเยอรมนีที่เลือกใช้ชีวิต สอน และทำวิจัยในประเทศไทย ผมไม่เคยหยุดแปลกใจในอัธยาศัยที่ดี ไมตรีจิตและการใช้ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและอารมณ์ขันของคนไทย

 
แนวคิดการใช้ชีวิตให้สนุกและพอใจในชีวิตของตนเองเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของคนไทย ซึ่งค่อนข้างเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผมในฐานะชาวต่างชาติ ซึ่งเลือกข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรปเพื่อมาทำงานในฐานะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ช่วงแรกของการทำงานที่เมืองไทย ผมค่อนข้างแปลกใจกับ “รอยยิ้ม” จากคนแปลกหน้าที่เดินผ่าน ทั้งจากแม่ค้า จากเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ในที่พัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
 
เมื่อพูดถึงคำว่า “ความสุข” นิยามคำว่าความสุขของแต่ละคนแตกต่างหลากหลายไปตามความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความต้องการตามบริบทของแต่ละคน และแน่นอนย่อมไม่มีสูตรสำเร็จหรือคำนิยามตายตัวของคำว่า “ความสุข” อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของโครงการ Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นนายตนเอง (self-employment) และสภาพความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) กล่าวคือ อาชีพผู้ประกอบการหรือการเป็นเจ้าของธุรกิจมีความสุขมากกว่าอาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการชายหรือหญิง หรืออยู่ในช่วงอายุใด โดยจากผลการศึกษาของ GEM ปี 2013 พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีระดับความสุขเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากประเทศอินเดียและสิงคโปร์ จากข้อมูลการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 197,000 รายจากประเทศสมาชิกโครงการ GEM จำนวนมากกว่า 70 ประเทศ กลุ่มตัวอย่างทำการให้คะแนนความพึงพอใจในชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง โดยการสำรวจและวิจัยในประเทศไทย คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เป็นตัวแทนของ GEM ในการทำการวิจัย


 

การเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย รายได้ต่อชั่วโมงของการเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉลี่ยมากกว่าการเป็นผู้ที่ทำงานอิสระหรือการเป็นนายตนเอง อีกทั้งผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ทำงานเกือบ 24 ชั่วโมงต่อวันและ 7 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความล้มเหลวของการประกอบธุรกิจส่วนตัว ยิ่งในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทย ย่อมส่งผลลบต่อสภาวะจิตใจของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
แม้ว่าการเป็นผู้ประกอบการจะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องเผชิญกับความกดดัน มีงานวิจัยเชิงวิชาการที่สนับสนุนว่า ผู้ประกอบการมีความพึงพอใจในวิถีชีวิตของตนเองมากกว่าอาชีพอื่นๆ โดยสาเหตุอันเนื่องมาจากอิสรภาพในการควบคุมวิถีชีวิตตนเองหรือการเป็นนายตนเอง
 
ดร.วุฒนิพงษ์ วราไกรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจนั้น เปิดโอกาสให้สามารถที่จะควบคุมวิถีชีวิตและสถานการณ์ทางการเงินของตนเองได้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะจัดสรรเวลาในการทำงาน การให้ความสมดุลระหว่างเวลาทำงานและเวลาครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีอิสระในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจของตนเองตามที่ปรารถนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความพึงพอใจในวิถีชีวิตการเป็นผู้ประกอบการ”
 
แม้ว่ารายงานวิจัยของ GEM ยังไม่ได้ศึกษาถึงเหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดผู้ประกอบการถึงมีความสุขมากกว่าอาชีพอื่น แต่สามารถอธิบายได้ว่าความเป็นอิสระตลอดจนความสามารถที่จะตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ได้เอง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความสุขมากกว่าอาชีพอื่น การคิดในแง่บวกซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประกอบการก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลด้วย และมีหลักฐานยืนยันจากการศึกษาในอดีตว่า ผู้ประกอบการโดยรวมซึ่งประกอบธุรกิจเนื่องจากการมองเห็นโอกาสหรือเพราะความจำเป็นก็แล้วแต่ มีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตมากกว่าอาชีพอื่นๆ จากผลการศึกษาของ Alex Coad และ Martin Binder เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า บุคคลที่เปลี่ยนจากการเป็นพนักงานบริษัทไปสู่สถานะเจ้านายตนเองหรือผู้ประกอบการนั้น มีความสุขมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวได้ว่าความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เป็นปัจจัยสาเหตุของความสุขมากกว่าเป็นผลลัพธ์
 
เรายังต้องการงานวิจัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของผู้ประกอบการให้มากขึ้น แต่จากข้อมูลที่มีแสดงให้เราเห็นชัดเจนว่าผลตอบแทนจากความเสี่ยงในการเป็นเจ้านายตนเองนั้นเป็นสิ่งที่หอมหวาน และสามารถนำไปสู่ความสุขที่มีมากขึ้นนั่นเอง



 

David Achtzehn อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สนใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทด้านผู้ประกอบการ ติดต่อที่ busem@bu.ac.th หรือ 0-2350-3500 ต่อ 1795