คนไทยอยู่ตรงไหนในดัชนี “เถ้าแก่” เอเชีย - Forbes Thailand

คนไทยอยู่ตรงไหนในดัชนี “เถ้าแก่” เอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Nov 2014 | 01:12 PM
READ 9052
ความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) หรือหากพูดในภาษาที่เข้าใจง่าย คือ การประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือการเป็น “เถ้าแก่” เป็นสิ่งที่ทุกคนในวัยทำงานใฝ่ฝัน การประกอบธุรกิจเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง
 
 
ความหมายของคำว่า “ผู้ประกอบการ” หรือ entrepreneur มีต้นกำเนิดมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า entreprendre ซึ่งหมายถึง “to undertake” ในบริบทของธุรกิจแปลว่า "การเริ่มต้นทำธุรกิจ” ดังนั้น ผู้ประกอบการ คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เสาะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ กล้าที่จะเสี่ยง และมีความทะเยอทะยานอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการมักจะมองหาโอกาสที่จะทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำอยู่เสมอ 
 
การประกอบธุรกิจส่วนตัวให้ประสบความสำเร็จนั้นจะอาศัยเพียงความตั้งใจจริงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ที่ริเริ่มคิดจะประกอบธุรกิจส่วนตัวจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ และติดอาวุธให้กับปัญญาของตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ 
 
สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอคือ การก่อตั้งธุรกิจใหม่ย่อมมีความเสี่ยง ความเสี่ยงในที่นี้อาจหมายถึงความเสี่ยงที่จะขาดทุนหากสินค้า หรือบริการไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ความเสี่ยงที่เกิดจากการแข่งขันของธุรกิจคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในตลาด เป็นต้น 
 
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะลงมือเริ่มต้นทำธุรกิจ ผู้ประกอบจำเป็นที่จะต้องศึกษาธุรกิจที่ตนเองจะเข้าสู่สนามอย่างรอบด้าน ทั้งการศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การศึกษาตลาด การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงิน เช่น ระยะเวลาคืนทุน การประมาณการรายรับของธุรกิจ การประมาณการผลตอบแทนของโครงการ ความเป็นไปได้ในการผลิต ตลอดจนความเป็นไปได้ทางด้านข้อกฎหมายในการจัดตั้งธุรกิจ
 
 
การเป็นผู้ประกอบการดีอย่างไร 
 
หากพิจารณาในแง่มุมมองด้านจุลภาค (micro perspective) ท่านผู้อ่านสามารถคิดถึงข้อดีของการทำธุรกิจส่วนตัวได้มากมาย เช่น ผลตอบแทนที่ (อาจจะ) มากกว่าการเป็นลูกจ้าง การได้เป็นเจ้านายของตัวเอง ความอิสระในการบริหารชีวิตของตนเองทั้งเวลาส่วนตัวและเวลาทำงาน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว (ที่ประสบความสำเร็จ) ส่วนใหญ่ได้รับสิ่งเหล่านั้น 
 
อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ หากธุรกิจส่วนตัวดังกล่าวเกิดล้มเหลวไม่เป็นท่า ผู้ประกอบการย่อมที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงและความล้มเหลวดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
หากพิจารณาในแง่มุมมองในเชิงเศรษฐกิจด้านมหภาค (macro perspective) จากรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2556 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 2,739,142 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 11,783,143 คน หรือร้อยละ 80.4 ของการจ้างงานรวมทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ผลผลิตมวลรวมของ SMEs มีมูลค่าเท่ากับ 4,211,262.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.0 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) กล่าวได้ว่า การเป็นความผู้ประกอบการ (entrepreneurship) มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
 
จากบทเรียนของวิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ.2540 หรือที่รู้จักกันว่า “วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง” รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้นเพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืน ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ สสว. และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
 
ในโลกการแข่งขันดังเช่นปัจจุบัน การเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา การเป็นผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สามารถ “เรียนรู้ได้” ศาสตร์การเรียนการสอนด้านการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการได้รับการต่อยอดองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปี เช่นที่ Babson College ในสหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับ 1 ของโลกในศาสตร์นี้ และโครงการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (Global Entrepreneurship Monitor: GEM) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินระดับความเป็นผู้ประกอบการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 
 
สำหรับประเทศไทย คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Babson College ในการพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยในบริบทสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
 
จากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในประเทศไทย BUSEM ได้สังเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั่วโลกในลักษณะที่เข้าใจง่ายผ่านทางดัชนีผู้ประกอบการ (BUSEM INDEX) ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทย” ในมุมมองระดับเอเชียและระดับโลก โดยตารางข้างล่างได้ศึกษา “สัดส่วนความเป็นผู้ประกอบการในเอเชีย” ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย คิดเป็นกว่า 46% ของประชากรวัยทำงานในประเทศ โดยกว่า 18% ของผู้ประกอบการไทยกำลังอยู่ในช่วงก่อตั้งธุรกิจใหม่ หรือดำเนินธุรกิจเป็นระยะเวลาต่ำกว่า 3 ปีครึ่ง 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีสัดส่วนธุรกิจที่ก่อตั้งสำเร็จที่สูงที่สุดในเอเชียคิดเป็น 28% ของประชากรไทยวัยทำงาน โดยธุรกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบธุรกิจเจ้าของคนเดียวขนาดเล็ก ผู้ประกอบการเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เนื่องจากก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชากรไทย
 
โครงการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการ (Global Entrepreneurship Monitor: GEM) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินระดับความเป็นผู้ประกอบการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก  โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นำจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม โครงการ GEM ริเริ่มขึ้นในปี 1997 โดยความร่วมมือของ Babson College สำหรับประเทศไทย คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เป็นตัวแทนแห่งเดียวของประเทศเข้าร่วมศึกษา ตั้งแต่ปี 2011 



 

สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สนใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทด้านผู้ประกอบการติดต่อที่ busem@bu.ac.th หรือ 02-350-3500 ต่อ 1795