บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า “พลังงานหมุนเวียน” จากรัฐ - Forbes Thailand

บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า “พลังงานหมุนเวียน” จากรัฐ

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Apr 2023 | 12:23 PM
READ 6335

บี.กริม เพาเวอร์ รุกขยายกำลังผลิต 339.3 เมกะวัตต์ ชู 9 บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียน” ให้รัฐบาลตอบโจทย์กลยุทธ์ GreenLeap-Global and Green มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero


    บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนจำนวน 9 บริษัท ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 และประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 339.3 เมกะวัตต์ จำนวน 15 โครงการ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569-2573 จาก 9 บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน แบ่งเป็นบริษัทย่อย 5 บริษัท ประกอบด้วย

    บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 1 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์

    บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 5 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์

    บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

    บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 88 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 6.3 เมกะวัตต์

    บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 111 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

    นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนจำนวน 4 บริษัท ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 40% ของทุนจดทะเบียน และบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 60% ประกอบด้วย บริษัท ซีแอลพี พาวเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท ซีเอ็มที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท โวลต์ซิงค์ โซลูชั่น จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 108 เมกะวัตต์ และบริษัท พาวเวอร์ ซี.อี. จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 129 เมกะวัตต์

    ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ GreenLeap-Global and Green ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกพลังงาน และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยการจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถเข้าถึงได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี 2050 (ปีพ.ศ.2593)

    ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมเติบโตเคียงคู่ไปกับประเทศไทยและภูมิภาค

    บี.กริม เพาเวอร์ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,338 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2565 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ GreenLeap-Global and Green โดยมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

    ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 3,477.8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่มีสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเปิดดำเนินการ 577.6 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังการผลิต 339.3 เมกะวัตต์ ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ จะทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตที่ได้รับการยืนยันแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา รวม 4,394.7 เมกะวัตต์

อ่านเพิ่มเติม: พีซแอนด์ลีฟวิ่ง จ่ายโบนัสสูงสุด 7 เดือน หลังทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine