นับถอยหลังสมรภูมิ AEC ประเทศไทยพร้อมรบ? - Forbes Thailand

นับถอยหลังสมรภูมิ AEC ประเทศไทยพร้อมรบ?

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Oct 2014 | 04:41 PM
READ 2298
ราว 20 ปีที่แล้ว ลูกชายวัยรุ่นของผมเป็นผู้ทำให้ผมได้รู้จัก และเข้าใจถึงความคลั่งไคล้ของเขาในเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับลูกชายมากขึ้น อีกทั้งยังได้สังเกตปฏิกิริยาการโต้ตอบของเขา การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ รวมถึงความเครียดที่ตามมาในขณะที่กำลังเล่นเกม ดูว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับชัยชนะ หรือพ่ายแพ้

 
ลูกชายผมใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ บางครั้งก็เล่นคนเดียว บางครั้งก็เล่นกับเพื่อนๆ หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับการที่จะต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ มีการระดมสมอง คุยกันว่าจะต้องใช้ชั้นเชิงและลวดลายอย่างไรจึงจะพิชิตชัยได้มากกว่าในครั้งต่อไป ผมได้เห็นภาพต่างๆ นี้จนเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการเล่มเกมของเขา กระทั่งทนไม่ได้และต้องทดลองเล่นด้วยตนเองบ้าง เชื่อไหมว่า การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ให้ได้ดีมันยากกว่าที่คิดมาก โลกทัศน์ใหม่ได้เปิดขึ้นบนถนน online gaming ทั้งโลกเป็นของผม และผมสามารถเล่นเกมอะไร เมื่อไรก็ได้
 
เมื่อได้เล่นไปซักพัก ผมก็เริ่มรู้จักการเล่นแบบ PvE ผู้เล่น (player) กับการเล่นตามเนื้อเรื่องเกมต่างๆ (environment) และการเล่นแบบ PvP ผู้เล่นปะทะกับผู้เล่น 
 
ในรูปแบบ PvE โหมดเกมจะช้ากว่าโดยเน้นไปในเชิงที่มีกฎเกณฑ์กติกามารยาทควบคุมอยู่แล้ว มีการปะทะโต้ตอบแบบอัตโนมัติมากหน่อย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารธุรกิจ ก็จะเสมือนการที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของเรานั่นเอง
 
PvE เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่น ดังเช่นเรียนรู้ทุกองค์ประกอบในธุรกิจก่อนเริ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวหน้าอย่างแท้จริง แต่บางคนก็ไม่สนใจที่จะท้าทาย และพัฒนาต่อไป เพราะคุ้นเคยกับกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว และรู้ว่าต้องโต้ตอบอย่างไร ในแง่มุมบริษัท พนักงานประเภทนี้คือผู้ที่ทำงานเฉพาะด้าน หรือ specialist มีบทบาททางด้านบริหารงานในระดับกลาง ซึ่งก็คือ 95% ที่ต้องใช้ชั้นเชิงปฏิบัติงาน (tactics) และ 5% ในเชิงกลยุทธ์ (strategy)
 
ส่วน PvP ก็เหมือน PvE แต่ยกกำลังการเล่นให้ยากขึ้น รวดเร็ว ตื่นเต้นเร้าใจ ปะทะกับผู้เล่นอื่น รบกันโดยไม่มีตัวช่วยในการโต้ตอบอัตโนมัติ ซึ่งปฏิกิริยาการโต้ตอบจากเกมเป็นไปอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ เราไม่รู้จริงๆ ว่าเราจะโดนคู่แข่งบุก รุม หรือถูกท้าทายจากที่ใดบ้าง และมากน้อยขนาดไหน ผู้เล่นจึงต้องคิดเร็วและตัดสินใจแม่นยำโดยที่สายตาต้องจดจ้องอยู่ที่ชั้นเชิงในการเล่นที่ต้องปะทะกับเหตุการณ์และคู่แข่งหลากหลายรูปแบบ กลยุทธ์ต้องหลากหลายแพรวพราวเสมือนผู้บริหารระดับอาวุโส
 
ทว่าในทั้งสองแบบ ต่างต้องหาวิธีแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่และได้มา เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง และความสามารถขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ บทเรียนที่ได้จากการเล่นเกมนำมาใช้ได้ในเชิงธุรกิจเสมอ เมื่อต้องวางแผนการเงิน การคาดการณ์ และการวางกลยุทธ์ เพื่อโต้ตอบกับความท้าทายต่างๆ
 
ภายในเกม เรามีตัวละครให้เลือกมากมาย มีพลังที่แตกต่างกัน มีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อน  ส่วนใหญ่เราเลือกตัวละครจากบทบาท อุปนิสัยตนเอง และความเสี่ยงที่รับได้ บทที่ลุยแบบถึงลูกถึงคน  กระหน่ำกระสุนลุย หรือบทที่ค่อนข้างระมัดระวัง สุขุม ล้ำลึกเต็มไปด้วยชั้นเชิง หรือชอบการเผชิญหน้าที่ไม่ต้องกระชั้นนัก ไม่ต่างกับบริษัทต่างๆ ที่มีการปฏิบัติในเชิงรุก หรือเชิงรับในหลากหลายบทบาท เฉกเช่นสุภาษิตที่ว่า “รู้จักตนเอง” หรือ know thyself  เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
 
เราต้องรู้เวลาที่จะรบ และเลือกเวลาที่จะต้องถอยเพื่อตั้งทัพใหม่ จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญไม่ว่าเราจะเล่นเกมหรือดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจเลือกกลยุทธ์จะถอยจัดทัพ ปรับกลยุทธ์เพื่อชัยชนะในอนาคต เพื่อความอยู่รอดในวันนี้เมื่อเผชิญกับคู่แข่งที่เกินตัว
 
ธุรกิจเกมส์ออนไลน์ใหญ่มหาศาล มีผู้เล่นมืออาชีพมากมาย เช่น ในเกาหลีมีทีมระดับมือฉกาจเต็มไปด้วยเยาวชนที่ทุ่มเทเวลาซ้อมประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และทำเงินจากการแข่งขันระดับนานาชาติถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 3.2 ล้านบาทต่อปี เขาเล่นกันเป็นทีม มีทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่คอยให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยง วิเคราะห์วิธีเล่นของแต่ละคนเพื่อนำทีมสู่ความสำเร็จสูงสุด เยาวชนที่แล้วรู้สึกเสมือนขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แต่เล่นอย่างจริงจัง ทุ่มเท และพยายามให้ได้ถึงที่สุดในบรรยากาศการแข่งขันที่เคร่งเครียด ประหนึ่งคือสูตรสำเร็จของการทำธุรกิจ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการเล่นหรือในการทำธุรกิจก็ไม่ใช่องค์ประกอบที่จะบอกคุณได้เสมอไปว่าสามารถจะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้
 
เฉกเช่นกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 31 ธันวาคม 2558 มีผู้เล่นเช่น บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ลงสนามเพื่อแข่งขันด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมีการให้เสรีด้านต่างๆ เช่น การค้าขาย, การบริการ, เสรีในการลงทุน,  เสรีในแหล่งทุน และเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะทาง หากเทียบกับการอยู่ในเกมแบบ PvE คงต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดในประเทศ และการเตรียมกลยุทธ์เพื่อโต้ตอบด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน ย่อมมีคู่แข่งรุ่นยักษ์ในระดับภูมิภาค และระดับโลกเข้ามาเพื่อฉวยโอกาสในตลาดใหญ่นี้อย่างแน่นอน และหากเรายังไม่พร้อมรบ ก็เท่ากับว่าเราได้พ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเปิดศึก
 
การเปิดเสรีขยายตลาดสู่อาเชียนเป็นโอกาสทองที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับนักลงทุนที่มองหาตลาดใหม่ๆ แต่ความเสี่ยงครั้งนี้เป็นความเสี่ยงแบบ PvP “Fools rush in where angels fear to tread” หรือ “คนเขลาผลีผลามเข้าไปในที่ซึ่งแม้แต่เทพยังเกรง” หากรีบเสียจนไม่ได้ทำการบ้านให้ดี การเข้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ ก็ทำให้เราเปรียบเสมือนเด็กใหม่ที่ต้องเร่งเรียนรู้กฎเกณฑ์ กติกา อีกมากมายภายในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อป้องกันปัญหา ที่ไม่คาดคิด ควรคิดถึงการหาพันธมิตรในตลาดนั้นๆ เพื่อจะทำให้การเปิดตลาดใหม่เป็นประสบการณ์ที่ดี การเลือกพันธมิตรจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการเข้าสู่ตลาดใหม่ เพราะการที่ต้องถอยทัพออกมาจากตลาดเพียงเพราะพันธมิตรไม่ดีนั้น คงเสียมากกว่าได้
 
ในความจริง บริษัทไทยมีความได้เปรียบมากมายเมื่อเข้าสู่ AEC เพราะประเทศไทยมี GDP อยู่อันดับ 2 รองอินโดนีเซียซึ่งยึดอันดับ 1 (ข้อมูลปี 2555) นอกเหนือจากนี้ ภาษาอังกฤษได้ถูกคัดเลือกให้เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการในประชาคมอาเชียนมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ประเทศไทยเราก็ยังต้องพัฒนาความรู้ และทักษะทางด้านภาษาอังกฤษอีกมาก
 
และเราก็คงได้เห็นผู้ชนะ และผู้พ่ายแพ้ในการแข่งขันนี้อย่างแน่นอน การนับถอยหลังได้เริ่มขึ้นแล้วคุณละ พร้อมแล้วยังที่จะเดินเข้าสู่สังเวียน
 
 

Rowan D’Arcy กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์ด้านประกันภัยมากว่า 30 ปี โดยร่วมงานกับ Allianz ในประเทศต่างๆ มาก่อน