เงินลงทุนที่ได้รับนี้จะเพิ่มประสบการณ์ด้านการชอปปิ้งระดับโลก และระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยว ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในประเทศไทย พร้อมการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"utu" บริษัทเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวที่ยกระดับประสบการณ์ในการชอปปิ้งสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ให้นักท่องเที่ยว ได้รับเงินลงทุน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการเข้าซื้อกิจการ และการได้รับเงินทุนทั้งจาก SC Ventures ซึ่งให้เงินทุนใหม่ และจากกลุ่มนักลงทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่ให้การสนับสนุนบริษัทด้วยเงินทุนมาตลอดช่วงการระบาดของโควิด19 ในช่วงที่ธุรกิจชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์โควิด utu ได้สร้างพันธมิตรระดับโลก ประกอบไปด้วยสายการบิน เครือข่ายธุรกิจโรงแรม และแบรนด์ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ภายใต้เงินลงทุนนี้ utu ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ CardsPal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติสิงคโปร์ที่ให้บริการด้านโปรโมชั่นแบบ hyper-localised rewards เพื่อเข้าถึงความต้องการผู้ใช้บริการ โดยการเข้าซื้อกิจการไม่เปิดเผยมูลค่า การเข้าซื้อครั้งนี้จะช่วยให้ utu สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบนมือถือที่เป็นเอกลักษณ์ของ CardsPal และนำบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กร เพื่อเร่งอัตราการเติบโต ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ utu ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ CardsPal ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจาก SC Ventures โดยพัฒนา CardsPal จากสตารท์อัพให้เป็นแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีเต็มรูปแบบซึ่ง utu สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงบริการด้านการชอปปิ้งสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat refund) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อาซาด จูมาบอย ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ utu กล่าวว่า “ตลาดการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี และภาคธุรกิจการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VAT Refund) ก็มีศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ เรากำลังปรับเปลี่ยนประสบการณ์การซื้อสินค้าจากการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน สร้างโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี และสร้างมูลค่าเพิ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ ด้วยการเพิ่มมูลค่าในการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว กลยุทธ์นี้จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์สินค้า โรงแรม สายการบิน หรือผู้ให้บริการคืนภาษี (VAT Refund) พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายการขอคืนภาษี เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น”
World Travel and Tourism Council ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในพ.ศ. 2566 หรือฟื้นตัว 95% ของมูลค่าที่มีในช่วงก่อนสถานการณ์โควิดในพ.ศ. 2562 รายงานจาก McKinsey ระบุว่าแม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาได้รับเงินทุนเพียงแค่ 1% จากกองทุนร่วมลงทุน โดยส่วนใหญ่เพื่อธุรกิจการเช่าห้องพักในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนภาคธุรกิจการซื้อสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ที่นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในด้านนวัตกรรม การซื้อสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว แต่ต้นทุนของกระบวนการขอคืนภาษีนั้นเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถมอบประโยชน์ให้นักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มศักยภาพ
utu ซึ่ง อาซาด จูมาบอย นักธุรกิจมากประสบการณ์ในด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และการขอคืนภาษี VAT เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและการท่องเที่ยว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้การขอคืนภาษีด้วยสุดยอดนวัตกรรมผ่านทาง B2B และ B2C โดยเชื่อมโยงการชำระเงิน สิทธิประโยชน์ และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน utu สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อสินค้า ร้านค้า ผู้ให้บริการคืนภาษี VAT และห่วงโซ่มูลค่าของการซื้อสินค้าปลอดภาษี
โดยนักท่องเที่ยวที่ใช้ Tax Free Card ของ utu สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของเงินได้ถึง 40% ด้วยการเปลี่ยนจากการรับคืนเป็นเงินสด มาเป็นคะแนนสะสมสายการบินหรือโรงแรมแทน นอกจากนี้ utu ยังสามารถออกคูปองของร้านค้าได้ทันทีเป็นมูลค่าเทียบเท่ากับ 100% ในประเทศไทย และ 120% ในสหภาพยุโรป ของ VAT หรือ GST ที่จ่ายระหว่างการซื้อสินค้าในต่างประเทศ
การเป็นพันธมิตรกับ utu ทำให้ห้างสรรพสินค้า สายการบิน และธุรกิจอื่นๆ สามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้สูงสุดถึง 40% โดยปัจจุบัน utu เป็นพันธมิตรกับสายการบินชั้นนำกว่า 10 แห่งซึ่งรวมถึง การบินไทย แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม เอมิเรตส์ เอทิฮัด กาตาร์แอร์เวย์ และสิงคโปร์แอร์ไลน์ และยังเป็นพันธมิตรกับ Accor ซึ่งเป็นแบรนด์เครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป
อาซาด จูมาบอย กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยีของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งคูปองสำหรับร้านค้าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากเงินหมุนเวียนในประเทศ เราตื่นเต้นที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และนับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในภูมิภาค โดยจะเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ออกมาให้ได้ยินกันมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้”
เขาอธิบายว่า utu ไม่ได้รับผิดชอบดำเนินการคืนเงินภาษี VAT ในประเทศไทย กรมสรรพากรยังเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ และนักท่องเที่ยวต้องผ่านกระบวนการขอคืนภาษีเมื่อออกจากประเทศไทยเช่นเดิมตามปกติ
อาซาด จูมาบอย กล่าวเสริมว่า “บทบาทของเราคือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมจากกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความตั้งใจของเราคือการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีการซื้อสินค้าในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น ด้วยการนำเงินที่ได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวที่เดิมจะถูกนำออกนอกประเทศให้กลับเข้ามาสู่ระบบนิเวศเศรษฐกิจของประเทศ เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยุครุ่งเรืองแห่งการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น”
ด้วยการสนับสนุนและบ่มเพาะของ SC Ventures บุคคลากรด้านเทคโนโลยี และเทคโนโลยีที่เน้นการใช้งานบนมือถือของ CardsPal จะทำให้ utu มีความสามารถในการสร้างตลาดดิจิทัล กลไกด้านโปรโมชั่นที่เป็นเอกลักษณ์ และพอร์ทัลการลงทะเบียนร้านค้าด้วยตนเอง และยังช่วยให้การเข้าสู่ตลาดการซื้อสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของ utu ในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอีกกว่า 50 ประเทศที่มีนโยบายคืน VAT และ GST เป็นไปได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น utu ยังมีแผนที่จะรวมประสบการณ์การซื้อสินค้าด้วยระบบ hyper-localised จาก CardsPal กับการชำระเงินด้วยคะแนนที่ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน
กัวทาม เจน สมาชิกของ SC Ventures กล่าวว่า “CardsPal เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่แสดงว่าทำไมพวกเราที่ SC Ventures เชื่อในพลังของนวัตกรรม และสนับสนุนให้พนักงานของเราทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โปรแกรม Intrapreneurship ของ SC Ventures ทำให้ CardsPal เติบโตเป็นธุรกิจที่ได้รับการนำเสนอชื่อสำหรับรางวัล UX เราหวังที่จะได้เห็น utu ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการขยายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลกโดยใช้เทคโนโลยีของ CardsPal”
อ่านเพิ่มเติม : "อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง" ปี 66 มีแน้วโน้มโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนของต้นทุนพลังงาน และเทรนด์ ESG
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine