"David Attenborough" กับผลงานสารคดีธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งปีบน Netflix - Forbes Thailand

"David Attenborough" กับผลงานสารคดีธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งปีบน Netflix

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Oct 2020 | 06:15 PM
READ 6192

David Attenborough มีเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนใครบนโลกใบนี้ เขาเริ่มต้นใช้ชีวิตวัย 20 ปี ในฐานะผู้ดำเนินรายการสารคดีธรรมชาติของ BBC ตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งปัจจุบัน Attenborough ในวัย 94 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และรู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้เพียงคนเดียว

สำหรับขอบเขตของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น นับเป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางมาก จนยากที่จะสื่อสารออกมาได้หมดภายในสารคดีชุดเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของ David Attenborough เป็นกรอบในการแสดงให้เห็นถึงความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น และนำเสนอภายใต้ชื่อ "David Attenborough: A Life on Our Planet" สารคดีที่จะทำให้ประเด็นที่ดูห่างไกลและเป็นนามธรรม กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในสายตามนุษย์

เปรียบได้กับคุณปู่โรแลกซ์ ที่เป็นตัวแทนของป่าสีรุ้ง ในภาพยนตร์ The Lorax (2012) Attenborough คือ ผู้ที่ยืนกรานต่อข้อเท็จจริงที่ว่า สัตว์ป่าจำนวนมากได้สูญพันธุ์ไปแล้ว อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์กำลังทำในสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเอง เพราะความไม่รู้อะไรเลย

ครั้นภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปได้เป็นเวลาสิบปี ก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งช่วงเวลาการทำงานของ Attenborough เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น ก่อนที่จะนำเสนอจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่า โลกกำลังเข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟู

สำหรับสารคดีเรื่องนี้ การฟื้นฟูผืนป่าให้กลับมาสู่สภาพเดิม คือ กุญแจสำคัญ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มคนที่ทำงานใน Silicon Valley ได้หันมาให้ความสนใจในแนวทางการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (carbon capture) หรือการบล็อคพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยจอขนาดใหญ่ เป็นตเน ทั้งที่ในความเป็นจริง ธรรมชาติก็มีระบบการจัดการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเองอยู่แล้ว

แม้ผืนป่าของโลกใบนี้จะอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายเกินกว่าจะจินตนาการได้ แต่หากนำข้อเท็จจริงที่ว่า ป่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย จะยิ่งทำให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่แท้จริงของป่าไม้ที่มีต่อโลกในอนาคตมากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นปัญหาของต้นไม้ ที่ว่าไม่สามารถสร้างกำไร จนกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ภายในสารคดียังมีอีกหลายประเด็นที่ Attenborough แทบจะไม่ได้กล่าวถึงเลย อาทิ ความโลภที่ไม่มีที่สิ้นสุด การเพิ่มกำลังการผลิตของระบบทุนนิยม และพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกลุ่มคนรวย ซึ่งจาก บทวิเคราะห์ ของ Oxfam ได้กล่าวไว้ว่า คนรวยที่สุดของโลก ที่มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 1 นั้น มีหน้าที่รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเป็น  2 เท่า ของกลุ่มคนที่จนที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 50 ในขณะที่บริษัท 100 บริษัทจะต้องรับผิดชอบในอัตราร้อยละ 71 ของปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา

David Attenborough

อย่างไรก็ดี สารคดี A Life on Our Planet ไม่ได้แตะต้องประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวกับปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เพราะยังเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งจากฝั่งประธานาธิบดี Donald Trump และผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Joe Biden ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) และข้อตกลงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ (Green New Deal)

ในท้ายที่สุด อาจสรุปได้ว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดทำสารคดีดังกล่าว คือ การเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่อาจจะตามมา และสร้างความหวังให้กับมนุษยชาติ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ A Life on Our Planet สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดี

"ตราบใดที่ยังมีแสงสว่างที่ปลายขอบฟ้า ต่อให้วันหนึ่งเกิดไฟป่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์นั้นจะทำให้เราระลึกได้ว่า จุดเริ่มต้นของความตระหนักรู้ทางธรรมชาติได้เกิดขึ้นแล้ว" - แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Netflix’s ‘David Attenborough: A Life On Our Planet’ Is The Most Important Documentary Of The Year เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “CommonPass” โครงการที่ช่วยนับหนึ่งใหม่การท่องเที่ยวทั่วโลก
ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand