เลือก ETF ให้ปังแบบฉบับ Warren Buffett - Forbes Thailand

เลือก ETF ให้ปังแบบฉบับ Warren Buffett

    หากจะพูดถึงการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ชื่อของปู่ Warren Buffett จะโผล่ขึ้นมาเสมอ เพียงแค่คุณกดค้นหาคำว่า Index Fund หรือ S&P 500 ETF ไปในเสิร์ชเอ็นจินในบางครั้งคุณอาจจะเห็นปู่ Buffett โผล่ขึ้นมาก็เป็นได้

    เรื่องราวที่โด่งดังมากที่สุดของปู่ Buffett คือ การเดิมพันครั้งใหญ่ของ Buffett ระหว่าง Passive ปะทะ Active โดยระยะเวลาเดิมพันในครั้งนี้คือ 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวพอเพื่อพิสูจน์ผลตอบแทนว่า การลงทุนอิงดัชนี S&P 500 กับ การลงทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ ที่ซื้อขายหุ้นบ่อยๆ สุดท้ายในระยะยาวการลงทุนแบบไหนจะเป็นผู้ชนะ

    แน่นอนว่า ผลการต่อสู้ทำให้คุณทึ่งถึงขุมพลังแห่ง Passive ซึ่งเป็นการลงทุนแบบเรียบง่ายที่คุณไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ก็ช่วยสร้างความมั่งคั่งและผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาวให้กับคุณได้จริง “ในมุมมองของผม สำหรับคนส่วนใหญ่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือครอบครอง กองทุนดัชนี S&P 500 แน่นอนว่าผู้คนจะพยายามขายสิ่งอื่นให้คุณ เพราะมันจะทำให้พวกเขาได้เงินมากกว่าเดิม”- Warren Buffett

    แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า ปู่ Buffett เป็นตัวแทน S&P 500 Index Fund ขนาดไหน แต่คุณเคยสงสัยไหมว่า Index Fund หรือ S&P 500 ETF ตัวไหนที่อยู่ในพอร์ต Berkshire Hathaway ของปู่บ้าง เราจะพาคุณไปดูพร้อมกัน


หลักการเลือก S&P 500 ETF แบบปู่ Buffett


    ถ้าเจาะลึกไปถึง Index Fund ที่ปู่ Buffett เคยลงทุนในตอนที่ท้าเดิมพัน Passive vs. Active ปู่เลือก Vanguard 500 Index Fund Admiral Shares (VFIAX) โดยสิ่งที่ปู่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ อัตราค่าใช้จ่ายรวม (Expense Ratio) 

    VFIAX มีอัตราค่าใช้จ่ายรวมเพียงแค่ 0.04% เท่านั้น หมายความว่าถ้าคุณลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 4 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีเท่านั้น ค่าธรรมเนียมที่น้อยจะทำให้คุณได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากนำกองทุนแบบ Passive ไปเทียบกับกองทุนแบบ Active จะแตกต่างกันมากเพราะกองทุนแบบ Active ส่วนใหญ่จะมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ประมาณ 1-2% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่จะกัดกินผลตอบแทนไปมากกว่าการลงทุนแบบ Passive 

    แต่เรื่องที่หลายคนอาจจะไม่รู้ VFIAX ได้ถูกออกแตกเวอร์ชันออกมาเป็น ETF ด้วยเช่นกัน นั่นคือ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นหนึ่งใน ETF ที่ปู่ Buffett พกเอาไว้ติดพอร์ต Berkshire Hathaway ของเขา

    สำหรับการลงทุนแบบ Passive การเลือกลงทุน ETF ตามฉบับ Buffett ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่เพราะอะไรที่ทำให้ VOO โดดเด่นถึงขนาดที่ Buffett เลือกลงทุนไปดูพร้อมกัน
Vanguard S&P 500 ETF (VOO)

    กองทุน S&P 500 ETF ค่าธรรมเนียมต่ำการันตีด้วยบริษัทจัดการกองทุนที่แข็งแกร่งอย่าง Vanguard เคลื่อนที่ไปตามดัชนีอ้างอิงเป็นหนึ่งใน S&P 500 ETF ที่ใหญ่ที่สุด และก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีเต็ม

    ETF วันเปิดตัว ETF อัตราค่าใช้จ่ายรวม มูลค่า AUM ผลตอบแทน ย้อนหลัง 1 ปี VOO 7 SEP 2553 0.03% 317,763 +22.33% 
หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจาก etfdb ณ 21 มิถุนายน 2566

    จริงๆ การลงทุนใน VOO ก็ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับการลงทุนที่เคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 ได้สมบูรณ์แล้ว แต่สำหรับปู่ Buffett ที่มีความคิดรอบด้านและต้องการกระจายความเสี่ยงให้ลึกลงไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ VOO เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ

    หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า VOO ไม่ใช่ S&P 500 ETF เพียงตัวเดียวที่อยู่ในพอร์ต Berkshire Hathaway ของปู่ Buffett แต่ยังมี SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ที่อยู่ในพอร์ตด้วยเช่นเดียวกัน ก่อนที่จะไปดูเหตุผลว่าทำไม Buffett ถึงเลือกต้องมี ETF 2 บริษัทในพอร์ต ไปรู้จักกับ SPY กันก่อนว่ามีอะไรที่พิเศษไปกว่า ETF อื่นๆ


SPDR® S&P 500® ETF Trust (SPY)


    กองทุนประเภทเดียวกับ VOO ถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ไปตามดัชนีอ้างอิง SPY เป็นกองทุน ETF แรกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปี 2536 และเป็นกองทุน ETF ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในดัชนี S&P 500 โดย ณ ปัจจุบัน SPY เป็น ETF ที่มีมูลค่า AUM สูงที่สุดในโลก ทำให้มีสภาพคล่องสูงมากสำหรับนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย
ETF วันเปิดตัว ETF อัตราค่าใช้จ่ายรวม มูลค่า AUM ผลตอบแทน
ย้อนหลัง 1 ปี

    SPY 22 JAN 2536 0.094% 411,463 +21.89%
    หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจาก etfdb ณ 21 มิถุนายน 2566

    สำหรับเหตุผลที่ปู่ Buffett เลือกลงทุนใน ETF ทั้ง 2 ตัวแทนที่จะเป็นตัวเดียว สาเหตุแรกอาจจะเพราะว่าปู่ต้องการ กระจายความเสี่ยงระหว่างผู้ให้บริการกองทุน แม้ว่า ETF ทั้งสองจะติดตามดัชนี S&P 500 เหมือนกัน แต่ก็จัดการโดยบริษัทที่แตกต่างกันออกไปหากบริษัทใดเกิดปัญหา (ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากถึงมากที่สุด) ก็ยังมี ETF อีกบริษัทที่ถืออยู่ในพอร์ตให้อุ่นใจมากขึ้น

    อีกเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญคือ สภาพคล่อง (Liquidity) ปู่ Buffett จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสภาพคล่องเช่นกัน สังเกตได้จากพินัยกรรมที่ปู่ Buffett ทิ้งเอาไว้ให้ภรรยา ที่บอกให้กระจายการลงทุน 90% ไปใน S&P 500 Index Fund และอีก 10% ให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งสัดส่วน 10% คือส่วนที่เพิ่มสภาพคล่องให้พอร์ตโดยรวม

    อย่างที่เห็นว่า SPY เป็น ETF ที่มีมูลค่า AUM สูงที่สุดในโลกถึงแม้ว่าจะมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมที่สูงกว่าแต่ด้วยระยะเวลาก่อตั้งที่นานกว่า (เพราะเป็น ETF ตัวแรกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ) ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า SPY จะยังอยู่ไปตลอดและเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
ว่าด้วยเรื่อง "สภาพคล่อง" สำคัญยังไงต่อการลงทุน

    หากจะให้อธิบายถึงความสำคัญของสภาพคล่องต่อนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนรายใหญ่สามารถเข้าใจได้ผ่านงานปาร์ตี้โดยเปรียบเทียบง่ายๆ ได้ดังนี้

    หากคุณอยู่ในปาร์ตี้และคุณมีมันฝรั่งอย่างนึงที่คุณกินจนอิ่มแล้ว และต้องการไปแลกอย่างอื่นมาเช่น โค้กสักกระป๋อง หรือ หมากฝรั่งสักชิ้น หากงานปาร์ตี้มีคนอยู่ในงานหลายคน การหาคนที่ต้องการมันฝรั่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก และคุณจะได้สิ่งที่คุณต้องการได้อย่างรวดเร็ว

    แต่หากไม่ค่อยมีคนอยู่ในงานปาร์ตี้สักเท่าไรนัก คุณอาจพบปัญหาในการหาคนแลกขนมด้วย หรือร้ายที่สุดคือคุณอาจจะแลกขนมกับคนอื่นไม่ได้เลย ซึ่งเหมือนหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยและอาจไม่มีใครต้องการหุ้นตัวนั้นแบบจริงๆ

    ในโลกของการลงทุน "ปาร์ตี้" ก็คือตลาดหุ้น หากหุ้นหรือ ETF มีสภาพคล่องสูง หมายความว่า มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก คุณสามารถขายหุ้นของคุณได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายทุกเมื่อที่คุณต้องการ และคุณจะได้ราคาที่ยุติธรรมสำหรับหุ้นเหล่านั้น

    แต่ถ้าหุ้นหรือ ETF ไม่มีสภาพคล่องมากเหมือน "ปาร์ตี้ที่ไม่ค่อยมีคน" คุณอาจต้องใช้เวลานานเพื่อหาผู้ซื้อเมื่อคุณต้องการขายหุ้นของคุณ และมีโอกาสที่คุณจะต้องลดราคาหุ้นหรือ ETF ของคุณลง หรือขายมันไม่ได้เลยในภาวะตลาดที่ไร้สภาพคล่อง

    ดังนั้น สภาพคล่องจึงมีความสำคัญต่อทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เพราะจะส่งผลต่อความรวดเร็วในการซื้อหรือขายหุ้น รวมไปถึงจำนวนเงินที่คุณจะได้รับจากการขายออกไปนั่นเอง นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ปู่ Buffett ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องด้วยเช่นเดียวกัน

    อย่างที่บอกไปว่าการตัดสินใจเลือกลงทุน ETF ตามปู่เป็นทางเลือกที่ไม่เลวสำหรับผู้ที่ต้องการให้พอร์ตเคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 แต่แน่นอนว่าปัจจุบันมี ETF ที่ถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 มากมายหากคุณสนใจเพิ่มเติม เราก็ได้รวบรวมกองทุน S&P 500 ETF ที่น่าสนใจให้คุณแล้วในบทความนี้

    หวังว่าวันนี้คุณจะได้รู้จักกับ 2 S&P 500 ETF ที่อยู่ในพอร์ต Berkshire Hathaway เหตุผลที่ทำให้ปู่ Buffett เลือกลงใน ETF 2 ตัวแทนที่จะเป็นตัวเดียว และไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้คำตอบแล้วว่าควรเลือกลงทุนใน ETF ตัวไหนดี

    บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ซีอีโอ Jitta Wealth


    อ่านเพิ่มเติม : "เซ็นทรัล" จับมือพันธมิตรแบรนด์นาฬิกาชั้นนำระดับโลก กว่า 20 แบรนด์ จัดมหกรรมเอาใจคนรักนาฬิกา

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine