‘เวียตเจ็ท’ MOU แอร์บัส สั่งซื้อเครื่องบิน A330neo 20 ลำ เครื่องลำตัวกว้าง เสริมเส้นทางบินระยะไกล - Forbes Thailand

‘เวียตเจ็ท’ MOU แอร์บัส สั่งซื้อเครื่องบิน A330neo 20 ลำ เครื่องลำตัวกว้าง เสริมเส้นทางบินระยะไกล

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Feb 2024 | 01:10 PM
READ 1304

สายการบินเวียตเจ็ท (เวียดนาม) MOU กับ Airbus ซื้อเครื่องบินลำตัวกว้าง A330neo จำนวน 20 ลำ พร้อมเลือกใช้เครื่องยนต์ Trent 7000 ของโรลส์-รอยซ์ขับเคลื่อน


    สายการบินเวียตเจ็ท (เวียดนาม) บรรลุข้อตกลงสำคัญกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมการบินและเทคโนโลยี ได้แก่ แอร์บัส (Airbus) โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) และ Pratt & Whitney (บริษัทหลักในเครือ RTX) และ Safran ณ งาน Singapore Airshow 2024 เพื่อการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงรองรับฝูงบินและการขยายเครือข่ายการบินเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


1.เวียตเจ็ทและแอร์บัสประกาศคำสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้าง A330neo จำนวน 20 ลำ

    เวียตเจ็ทลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับแอร์บัสเพื่อสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นแอร์บัส A330neo (A330-900) จำนวน 20 ลำ คำสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญที่สุดในงาน Singapore Airshow 2024 นอกจากนี้ การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นคำสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างที่ใหญ่ที่สุดของเวียตเจ็ท เน้นย้ำความมุ่งมั่นของสายการบินในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัยอยู่เสมอ

    เวียตเจ็ทจะปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330neo บนเครือข่ายเส้นทางบินระยะไกลและเส้นทางบินภายในภูมิภาคที่มีผู้โดยสารเดินทางจำนวนมาก นอกจากนื้ เครื่องบินดังกล่าวจะเข้ามาเสริมทัพฝูงบินของเวียตเจ็ทแทนที่เครื่องบินแอร์บัส A330-300 เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายเส้นทางบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

    เครื่องบินแอร์บัส A330neo ถูกออกแบบมาพร้อมกับประสิทธิภาพขั้นสูงซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนับสนุนแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (ESG) ของเวียตเจ็ท ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ทั้งนี้ สายการบินหลายรายต่างตั้งตารอให้บริการเที่ยวบินระยะไกลด้วยเครื่องบิน A330neo ลำตัวกว้างซึ่งมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเพื่อมอบบริการที่เป็นเลิศในราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

    สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A330neo มีห้องโดยสาร Airspace ที่ได้รับรางวัล การันตีประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบายด้วยพื้นที่กว้างยิ่งขึ้นและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันและทันสมัย ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Trent 7000 ของโรลส์-รอยซ์


2.เวียตเจ็ทเลือกใช้เครื่องยนต์ Trent 7000 ของโรลส์-รอยซ์ขับเคลื่อนเครื่องบินแอร์บัส A330neo จำนวน 20 ลำ

    เวียตเจ็ทและโรลส์-รอยซ์ประกาศข้อตกลงในการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A330neo ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Trent 7000 จำนวน 20 ลำ เข้าเสริมทัพฝูงบินลำตัวกว้างที่มีอยู่เดิมจำนวน 7 ลำ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องบิน A330ceo

    เครื่องยนต์ Trent 7000 ส่งเสริมความยั่งยืนด้วยการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ดีขึ้น 14% ต่อที่นั่ง พร้อมทั้งลดการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลให้สายการบินสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าหนึ่งแสนตันตลอดอายุการใช้งานของเครื่องบินแต่ละลำ สายการบินจึงสามารถขยายการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

    ด้วยการใช้เครื่องยนต์ Trent 7000 ขับเคลื่อนเครื่องบินแอร์บัส A330neo รุ่นใหม่ล่าสุดของเวียตเจ็ท เครื่องยนต์เหล่านี้จะเสริมให้ฝูงบินลำตัวกว้างของเวียตเจ็ทก้าวไปสู่จุดสูงสุดทางเทคโนโลยีใหม่ พร้อมปรับปรุงคุณภาพการบินอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน


3.เวียตเจ็ทเลือกใช้ Pratt & Whitney บริษัทหลักในเครือ RTX เพื่อขับเคลื่อนเครื่องบิน A321neo เพิ่มเติมอีก 19 ลำ

    เวียตเจ็ทเลือกใช้เครื่องยนต์พัดลมเทอร์โบ (GTF) จากบริษัท Pratt & Whitney ขับเคลื่อนเครื่องบิน A321neo จำนวน 19 ลำ เพื่อการบํารุงรักษาเครื่องยนต์ผ่านข้อตกลงการบริการที่ครอบคลุมของ EngineWise ภายในพิธีลงนาม ณ งาน Singapore Airshow 2024 เน้นย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างเวียตเจ็ทและ Pratt & Whitney

    เวียตเจ็ทเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของ Pratt & Whitney เพื่อประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนเครื่องบินด้วยเครื่องยนต์พัดลมเทอร์โบ (GTF) นอกจากนี้ เวียตเจ็ทมีเป้าหมายในการใช้เครื่องยนพัดลมเทอร์โบกับเครื่องบินจำนวนทั้งหมด 87 ลำ เพื่อรองรับจำนวนฝูงบินที่เพิ่มขึ้น

    ทั้งนี้ เครื่องยนต์พัดลมเทอร์โบของ Pratt & Whitney จะส่งผลให้ให้เวียตเจ็ทสามารถลดอัตราเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองและอัตราการปล่อยมลพิษสู่ปริมาณต่ำที่สุดในภูมิภาค


4.เวียตเจ็ทและ Safran ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเครื่องบินโบอิ้ง B737 MAX

    เวียตเจ็ท และ Safran AeroSystems ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเครื่องบินโบอิ้ง B737 MAX ของเวียตเจ็ท เกณฑ์การคัดเลือกประกอบด้วยส่วนประกอบด้านความปลอดภัยที่จำเป็น อาทิ แพชูชีพ อุปกรณ์ช่วยหายใจ หน้ากากออกซิเจนสำหรับลูกเรือ และเสื้อชูชีพ รวมถึงบริการด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

    ด้วยการมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและความน่าเชื่อถือ Safran Aerosystems จึงถูกกำหนดให้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทั้งหมดของเวียตเจ็ท ข้อเสนอของ Safran Aerosystems ได้รับเลือกเนื่องด้วยนวัตกรรมและความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการออกแบบอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ล้ำสมัย

    ด้วยฝูงบินกว่า 105 ลำ และจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวียตเจ็ทกำลังขยายเครือข่ายเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วเวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย รวมถึงจุดหมายปลายทางข้ามทวีป สายการบินมุ่งมั่นมอบประสบการณ์การการเดินทางที่ดีที่สุดแก่ผู้โดยสารผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรด้านการบินและเทคโนโลยี



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การบินไทย ปี 66 กวาดกำไร 2.8 หมื่นล้าน หลังปรับโครงสร้างหนี้-ขายทรัพย์สิน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine