สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ดเผยเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2025 พบว่่าเมืองท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับความนิยมช่วงหน้าร้อนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ญี่ปุ่นยังครองแชมป์จุดหมายปลายทางยอดนิยม ในขณะที่เวียดนามติดอันดับเป็นครั้งแรก โดยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวใช้พิจารณาประกอบการเลือกจุดหมายปลายทาง
รายงาน Travel trends 2025 ล่าสุดที่จัดทำโดย สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute: MEI) เปิดเผยว่า เมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครอง 8 จาก 15 อันดับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงหน้าร้อนทั่วโลก รายงานประจำปีฉบับนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และชี้ให้เห็นว่าแม้อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทาง
ความชื่นชอบส่วนตัวและแรงบันดาลใจส่วนบุคคลยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบัน การศึกษาครั้งนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมแบบไม่ระบุตัวตนประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ โดยไฮไลต์เทรนด์การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่น่าสนใจมีดังนี้
ญี่ปุ่นครองแชมป์ เวียดนามมาแรง
โตเกียวและโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นขึ้นแท่นจุดหมายปลายทางฮอตฮิตอันดับ 1 และ 2 ในช่วงหน้าร้อน (มิถุนายน-กันยายน 2025) โดยทั้งสองเมืองได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับในอดีต
ในขณะที่เมืองญาจางของเวียดนามได้ขึ้นมาอยู่ในอันดับเป็นครั้งแรกอย่างน่าประหลาดใจ โดยเมืองญาจางกำลังได้รับความนิยมจากเสน่ห์ของหาดทรายขาวและทิวทัศน์ริมชายฝั่งที่สวยงาม รวมไปถึงบรรยากาศยามค่ำคืนที่คราคร่ำไปด้วยชีวิตชีวา

จีนและอินเดีย ยังเป็นยักษ์ใหญ่ในเอเชีย
จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงรักษาตำแหน่งประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2024 โดยชาวจีนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่าและไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการทำวีซ่ามากนัก อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ นักท่องเที่ยวจีนยังสนใจจุดหมายปลายทางในแถบเอเชียกลางมากขึ้น เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน
ด้านอินเดียทำสถิติอีกครั้ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวนอกประเทศสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวาวอินเดียสนใจท่องเที่ยวในจุดหมายปลายทางที่หลากหลาย โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยม 3 อันดับแรกของพวกเขาคือ อาบูดาบี ฮานอย และบาหลี จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากการขยายเส้นทางบินตรงและการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและมีความกระตือรือร้นในการเที่ยวต่างประเทศ
จากปัจจัยข้างต้นทำให้ทั้งตลาดจีนและอินเดียยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของการท่องเที่ยวทั่วโลก
นักท่องเที่ยวยุคใหม่ใส่ใจประสบการณ์มากขึ้น
ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นักท่องเที่ยวเริ่มหันมาใส่ใจกับเรื่องอาหารการกิน การสัมผัสธรรมชาติ และการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแสวงหาประสบการณ์และความทรงจำที่มีคุณค่ามากกว่าการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ตัวอย่างสำคัญคือปรากฏการณ์ที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเกียนยาร์ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีชื่อเสียงจากเมนูหมูย่าง ‘บาบี กูลิง’ (Babi Guling) และเมืองควีนส์ทาวน์ในประเทศนิวซีแลนด์ ที่คราคร่ำไปด้วยร้านอาหารที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 44 ประเทศทั่วโลกในปี 2024 กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตด้านอาหารระดับโลก
นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มด้านสุขภาพ หรือ Wellness Trend Index (WTI) ของ MEI ยังพบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการผ่อนคลายและการดูแลตัวเองลำดับต้นๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถใกล้ชิดและสัมผัสกับธรรมชาติในที่พักเชิงนิเวศได้อย่างเต็มอิ่ม หรือค้นพบความสงบจากรีทรีตด้านการทำสมาธิ
ในขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์ก็กำลังมีคะแนน WTI ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนิวซีแลนด์ที่ในการจับกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม
กระแสการท่องเที่ยวแบบมีจุดมุ่งหมายชัดเจน หรือ purpose-driven travel ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น เป็นสัญญาณว่านักท่องเที่ยวยุคใหม่กำลังแสวงหาประสบการณ์จากการท่องเที่ยวที่ช่วยเติมเต็มทั้งร่างกายและจิตใจมากยิ่งขึ้น
กีฬากลายเป็นอีกแรงหนุนสำคัญ
นอกจากการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ การท่องเที่ยวเพื่อชมกีฬายังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง Baseball World Series ที่จัดขึ้นในเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล
การเปิดตัวครั้งแรกของนักเบสบอลสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดัง Shohei Ohtani ในการแข่งขัน World Series ทำให้ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นถึง 91% ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายข้ามพรมแดนทั่วไปถึง 6 เท่า ชี้ให้เห็นว่าการแข่งขันกีฬาเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้กับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากเหล่าแฟนกีฬาตัวยง

เดวิด แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นหัวหอกในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลก ภูมิภาคนี้มีจุดหมายปลายทางชื่อดังอย่างโตเกียว เซี่ยงไฮ้ โซล และสิงคโปร์ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วทุกมุมโลก”
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังประสบกับความไม่แน่นอน แต่การท่องเที่ยวก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ที่มีแรงผลักดันจากผู้คนที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีความหมายและมีความคุ้มค่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับปัจจัยรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหรือความสะดวกในการเดินทางในภูมิภาค ทำให้พวกเขาเลือกวางแผนและมองหาจุดหมายปลายทางอย่างรอบคอบ เทรนด์จึงเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวและวัตถุประสงค์ที่เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกที่เที่ยว
เงินเยนที่อ่อนค่าตลอดช่วงปี 2024 มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นการท่องเที่ยวขาเข้าของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มองหาความคุ้มค่า ที่น่าสนใจคือ การอ่อนค่าของเงินเยนเพียง 1% เมื่อเทียบกับเงินหยวน สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 1.5%
ขณะที่นักท่องเที่ยวจากนิวซีแลนด์และสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงราว 0.2% เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ที่เดินทางมาญี่ปุ่นได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเงินดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (JPY) ถึง 40% แม้ว่าราคาตั๋วเครื่องบินและโรงแรมจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
เมื่อมาดูที่อีกจุดหมายปลายทางสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ผลวิเคราะห์ของ MEI แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจากอินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) 1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.6-0.8%
การเปลี่ยนแปลงในภาคการเดินทางเพื่อธุรกิจ
องค์กรขนาดใหญ่ในปัจจุบันเริ่มลดการเดินทางในระดับโลกและหันมาเน้นการเดินทางในภูมิภาคมากขึ้น และถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วผู้คนจะเดินทางเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจน้อยลง แต่ระยะเวลาเฉลี่ยของการเดินทางกลับยาวนานขึ้น สะท้อนถึงความพยายามขององค์กรเหล่านี้ในการบริหารงบประมาณการเดินทางให้คุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างเช่น การเดินทางของนักธุรกิจจากสหรัฐฯ มายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นจาก 8.8 วัน ในปี 2020 มาเป็น 10.2 วัน ในปี 2025
พัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยวลดการฉ้อโกง
ข้อมูลของ MEI พบว่า จำนวนการฉ้อโกงในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 28% ในช่วงไฮซีซั่น ลักษณะการหลอกลวงที่พบบ่อย อาทิ การคิดราคาเกินจริงในร้านอาหารและแท็กซี่ บริษัททัวร์ปลอม และการหลอกให้จองที่พัก เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ มาสเตอร์การ์ดได้นำเทคโนโลยีป้องกันการฉ้อโกงขั้นสูงมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลและระบบความปลอดภัยที่ใช้ AI เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวจากการถูกฉ้อโกง ทำให้มั่นใจได้ว่านักเดินทางสามารถเต็มอิ่มกับการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย
แมนน์กล่าวเสริมว่า “รายงานฉบับนี้มุ่งนำเสนอแนวโน้มของพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ดมุ่งมั่นที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้งานต่อได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนายุทธศาสตร์การที่แข็งแกร่ง และสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับเหล่านักท่องเที่ยว เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต”
ภาพ: Quang Nguyen Vinh from Pexels และ Luke Hales (Getty Images via AFP)
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ถอดรหัส AWC พลิกโฉมช้างคลานสู่ “ลานนาทีค” ปั้นท่องเที่ยวยั่งยืน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine