‘การบินไทย’ ประกาศความสำเร็จแผนฟื้นฟู ทั้งลดคน-ปรับโครงสร้าง พร้อมก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่ เข้าตลาดฯ อีกครั้ง - Forbes Thailand

‘การบินไทย’ ประกาศความสำเร็จแผนฟื้นฟู ทั้งลดคน-ปรับโครงสร้าง พร้อมก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่ เข้าตลาดฯ อีกครั้ง

‘การบินไทย’ เผยความสำเร็จของการเข้าแผนฟื้นฟู ทั้งลดขนาดองค์กร ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน ปรับกลยุทธ์ฝูงบิน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ชี้เตรียมทะยานสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมการบินครั้งใหม่ที่ต่างจากเดิม โดยจะกลับมาซื้อขายในตลาดฯ อีกครั้งในไตรมาส 2/68 คาดยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ถือหุ้นลดลง


    นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเป็นอย่างดี

    "แผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส

    “โดยผลงานที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย การปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน การปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการคัดเลือกและประเมินบุคลากรที่โปร่งใส รวมถึงการปรับโครงสร้างทางการเงินอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของการบินไทย”


    การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทยมีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย

    -การปรับลดขนาดองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง เหลือประมาณ 14,000 คนในปี 2565

    -การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

    -การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Airways Mobile App เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และระบบ HR Core Value มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน

    -การปรับโครงสร้างทางการเงิน ได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

    “การบินไทยขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ มาด้วยกัน

    และในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกระบวนการออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากบรรลุเป้าหมายของแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด

    “อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ

    “รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง

    “โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ 

    "และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568” นายปิยสวัสดิ์กล่าวเสริม

    นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร, Aircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน, และ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง”

    ความสำเร็จจากการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การปรับเส้นทางบินและความถี่ของเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมถึงการยกระดับคุณภาพการบริการในทุกๆ จุดสัมผัส


    ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565

    “วันนี้ การบินไทยพร้อมที่ก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ “Fly for The New Pride” เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการบินไทยให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และการยกระดับมาตรฐานการบริการในทุกด้าน เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้โดยสาร และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมิใจที่เราจะสร้างขึ้นด้วยกัน” นายชายเสริม

    กลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ของการบินไทย ประกอบด้วย

    -การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม: โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก

    -การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร: โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์

    -การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน: เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

    -การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่: เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว

    -การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

    “ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ การบินไทยจะดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว รับมือกับความท้าทาย และปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายชายเสริม

    นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า “ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยเราสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง

    “แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

    โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำรวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย และการยกเลิกมาตรการการจำกัดการเดินทางของหลายๆ ประเทศ ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%”


    แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทฯ ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

    โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด

    นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน

    อีกทั้ง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

    และเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    โดยหลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย

    และสำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 59.01 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ

    โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567

    และคาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Airbus คาดมูลค่าตลาดบริการเครื่องบินพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกจะโตกว่า 2 เท่าภายในปี 2586

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine