Airbus A340-500 หายนะหลายหมื่นล้าน - Forbes Thailand

Airbus A340-500 หายนะหลายหมื่นล้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Mar 2015 | 04:27 PM
READ 17107

นอกจากการปรับลดอัตรากำลังคนลง 5,000 คน จากทั้งหมด 25,000 คน จะเป็นหนึ่งใน 5 มาตรการของแผนผ่าตัดใหญ่เพื่อชุบชีวิตการบินไทย  ที่กำลังเผชิญวิกฤติจนถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ "ซุปเปอร์บอร์ด" ไปแล้ว  มาตรการฟื้นฟูด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจก็คือ การให้ทบทวนเส้นทางการบินที่ขาดทุน และขายทรัพย์สินหรืออากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน

จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงในรายละเอียดว่า ภายในปีนี้จะมีแผนยกเลิกเส้นทาง ลดความถี่เที่ยวบินที่ขาดทุนต่อเนื่อง และไม่มีศักยภาพทำกำไร รวมแล้วประมาณ 10% ของเที่ยวบินทั้งหมด เช่น ยกเลิกเที่ยวภูเก็ต-กรุงโซล กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนเที่ยวบินสุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี จะลดความถี่ลง และให้สายการบินไทยสมายล์มาบินแทน ขณะที่แผนการขายสินทรัพย์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายองค์กรนั้น ส่วนแรกจะขายเครื่องบินที่ปลดระวางรวม 22 ลำ ภายในกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ Forbes Thailand ฉบับเมษายน 2557 ได้ตีแผ่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นปัญหา ที่การบินไทยต้องแบกรับภาระอากาศยานราคาแพง ที่มาพร้อมกับการเปิดเส้นทางการบินที่มีการแข่งขันสูง ในบทความ "มหากาพย์ Airbus A340-500 หายนะหลายหมื่นล้าน" โดย "อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์" ซึ่งสุดท้ายแล้วกลายเป็นบาดแผลที่ต้องได้รับการเยียวยา  

มหากาพย์ Airbus A340-500 หายนะหลายหมื่นล้าน

นโยบายเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ใช้เวลาบินเพียง 16 ชั่วโมง 50 นาที  โดยไม่ต้องแวะพักเติมน้ำมัน เพราะใช้เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อบอร์ดอนุมัติแผนจัดซื้อเครื่องบิน Airbus 8 ลำ เป็น A340-500 4 ลำ  บินในเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก และ A340-600 อีก 5 ลำ บินเส้นทางกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 5 สิงหาคม 2546  อนุมัติให้การบินไทยซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 3 ลำ และ A340-600  จำนวน 4 ลำ และเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2547 ก่อนรัฐบาลทักษิณ 1 หมดวาระลงไม่นาน อนุมัติให้ซื้อ A340-500 จำนวน 1 ลำ และ และA340-600  จำนวน 1 ลำ  ตามแผนรัฐวิสาหกิจ 2548-2550 จำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุนรวม 96,355 ล้านบาท ประกอบด้วย Airbus A380 ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 500 ที่นั่ง จำนวน 6 ลำ Airbus A 340-500 จำนวน 1 ลำ Airbus A 340-600 จำนวน 1 ลำ และ Boeing 777-ER จำนวน 6 ลำ จากนั้นต้นปี 2548  รัฐบาลทักษิณ 2 เข้ารับตำแหน่ง จึงได้มีการผลักดันเส้นทางบินตรงนิวยอร์ก จนเปิดเที่ยวบินแรกสำเร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นขาดทุน แม้จะมีเสียงทักท้วงจากพนักงานฝ่ายบริหาร แต่ก็ไม่อาจต้านแรงผลักดันจากฝ่ายการเมืองได้ เมื่อตรวจสอบแผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย พบว่าช่วงที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี มีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย และกนก อภิรดี เป็น DD มีการจัดซื้อเครื่องบินตั้งแต่ปี 2545-2547 จำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์กไม่หยุดพัก เปิดดำเนินการเที่ยวแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 นับตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์จนยุติเที่ยวบินเมื่อ 1 กรกฎาคม 2551 รวม 38 เดือน การบินไทยขาดทุนไปกว่า 7 พันล้านบาท เนื่องจาก A340-500 มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันสูง เพราะมี 4 เครื่องยนต์ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ถ้ายังไม่หยุดบินคาดว่าตัวเลขขาดทุนปี 2551 ที่ติดลบ 21,379  ล้านบาท อาจเพิ่มมากขึ้นไปอีก 2 พันกว่าล้านบาท ก่อนที่จะมีมติหยุดบิน ในรายงานการประชุมบอร์ดวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ทางฝ่ายบริหารได้สรุป 5 สาเหตุที่ต้องตัดสินใจหยุดบินเพราะขาดทุน ได้แก่
  1. ต้นทุนน้ำมันสูงกว่าร้อยละ 50  มากกว่าที่ประเมินไว้ในแผนว่าราคาน้ำมันอยู่ที่  82 เซนต์/แกลลอน  แต่ปี 2548 ราคาน้ำมันขึ้นไปที่ 1.62 เหรียญ/แกลลอน  และในปี 2551 ปรับขึ้นไปเป็น 2.76 เหรียญ/แกลลอน
  2. ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัว  รายได้เมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทจึงลดลงมาก
  3. เครื่องรุ่นนี้มี 215 ที่นั่ง แม้มีผู้โดยสารเต็มก็ยังขาดทุน
  4. ความนิยมใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลกมีน้อย โอกาสขายได้ยากหรือราคาจะตกลงมาก
  5. เส้นทางบินในตลาดอเมริกาเหนือมีการแข่งขันสูง การกำหนดราคาสูงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นถ้าฝืนบินต่อไปจะขาดทุนไปถึง 1 หมื่นล้านบาทด้วย
นอกจากอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงแล้ว A340-500 ไม่เป็นที่นิยม เพราะหลังออกวางจำหน่ายไม่นาน Boeing ได้ออกรุ่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันกว่ามาแข่ง ทั่วโลกมียอดสั่งซื้อ A340-500 ไม่เกิน 30 ลำ  ส่วนสายการบินที่ซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ทยอยปลดระวาง ทำให้ราคาตลาดเครื่องบินมือ 2 ตกลงมาก ส่วน Airbus ก็ได้ยกเลิกการผลิตรุ่นนี้ตั้งแต่ปี  2555  แม้แต่ Singapore Airlines ที่ซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ 5 ลำ ได้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการขายคืนผู้ผลิต แลกกับการซื้อเครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้งานคุ้มค่ากว่าแทน ในขณะที่การบินไทยยังจอดรอขายพร้อมภาระที่ตามมา  

เสียน้อย เสียมาก เสียยาก เสียง่าย

แม้ที่ประชุมบอร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เสนอให้หยุดบินเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก และลดเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส  พร้อมเสนอขายเครื่องบิน A340-500 ทั้ง 4 ลำ (ราคาซื้อเฉลี่ยลำละ 153.57 ล้านเหรียญ) ภายใน ปี 2552  ทว่าไม่สามารถขายได้ ต่อมาบอร์ดจึงมีมติเมื่อ 1 พฤษภาคม 2555 ยกเลิกใช้เครื่องบินรุ่นนี้ พร้อมกับได้ประกาศขายเครื่องบินทั้ง 4 ลำ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ  แต่ไม่มีผู้สนใจอย่างจริงจัง นอกจากบริษัท AvCon Worldwide ได้ยื่นข้อเสนอครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2556 เสนอซื้อ A 340-500 ลำที่ 4 ในราคา 35 ล้านดอลลาร์ และลำที่ 2 ในราคา 24 ล้านเหรียญ แต่ในเวลาต่อมาการบินไทยได้เชิญผู้ที่เคยขอข้อมูลเครื่องบิน A340-500  รวม 40 ราย ให้เสนอราคาซื้อเครื่องอีกครั้ง  ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคารายเดียวคือบริษัท สยามโกลบอล แอร์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินชบาแอร์  ขอเสนอซื้อทั้ง 4 ลำ ในราคา 88 ล้านดอลลาร์  แต่บอร์ดไม่ขาย หันมาเจรจากับ AvCon อีกครั้ง แต่ในที่สุดบอร์ดก็ไม่รับข้อเสนอ AvCon  ที่เสนอซื้อเฉลี่ยลำละ 23.5 ล้านเหรียญ เพราะราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีหลายเท่า แล้วมอบให้ฝ่ายบริหารไปศึกษาเพิ่ม จนล่าสุดโชคชัย (ปัญญายงค์) รักษาการ DD  บอกว่ามีรายใหม่สนใจซื้อทั้ง 4 ลำ แต่ราคาที่เสนอสูงกว่า คาดว่าราคาตลาดของทั้ง 4 ลำ ในปีนี้ จะต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท จากราคาซื้อเฉลี่ยลำละ 153.57 ล้านเหรียญ เมื่อปี 2548 และ 2550 มาถึงปี 2556 มูลค่าทางบัญชีของลำที่ 1-3 อยู่ที่ 55.75 ล้านเหรียญ และลำที่4 อยู่ที่ 67.07 ล้านเหรียญ และคาดว่าราคาตลาดของปี 2557 อยู่ที่ 50.9 ล้านเหรียญ และ 61.9 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ยิ่งไม่รีบตัดสินใจขาย มูลค่าของเครื่องบินก็ยิ่งหายไป ปี 2556 การบินไทยต้องรับภาระด้อยค่าเครื่องบินสูงถึง 5,426 ล้านบาท  หากจอดทิ้งไว้ต่อไป จะมีภาระด้อยค่าเครื่องบินปีละกว่า 1.3 พันล้านบาทไปจนถึงปี 2561 รวมขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินรวม 6.8 พันล้านบาท นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการเปิดเส้นทางบินและจัดหาเครื่องบิน ที่ส่งผลเสียหายต่อองค์กรมหาศาลที่ยังหาคนแสดงความรับผิดชอบไม่ได้  
ประกาศขาย A340-500 ซึ่งถูกปลดระวางมาตั้งแต่ปี 2551
  ล่าสุด (29 มกราคม) Forbes Thailand ได้เข้าเว็บไซต์ Thai Aircraft Trading ซึ่งการบินไทยจัดทำขึ้นเพื่อเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินที่ปลดระวางและรอขายต่อ พบเครื่องบินรุ่นต่างๆ รวม 16 ลำ ในจำนวนนี้ 4 ลำ คือ Airbus A340-500 ที่ซื้อมาในราคาตกลำละ 153.57 ล้านเหรียญ ไปใช้บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังนิวยอร์กนั่นเอง  
คลิ๊กเพื่อสมัครนิตยสาร Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine